กอ.รมน.ยุคใหม่ใหญ่กว่าเดิม: หูตา-แขนขากองทัพ แทรกซึมทุกสมัย กระจายทุกพื้นที่

ก่อนหมดอำนาจ คสช. ทิ้งทวนออกคำสั่งขยายอำนาจ กอ.รมน.หน่วยงานปราบ ‘ผี’ ของรัฐไทยมาตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์ ได้งบนับหมื่นล้านมาต่อเนื่อง ขยายสาขาคลุม 77 จังหวัด ดึงหลายหน่วยร่วมแม้แต่อัยการ แหล่งข่าวระดับจังหวัดระบุ คสช.ไม่อยู่ กอ.รมน.ก็ทำอยู่แล้วในการจับตาทุกกลุ่มเคลื่อนไหว พ.ร.บ.ความมั่นคงให้อำนาจเรียกคุย (คนละคำกับ 'ปรับทัศนคติ') แถมทำโครงการพัฒนาทุกด้าน ช่วยดันสารพัดนโยบาย คสช. รวมถึงอบรมมวลชนทั่วประเทศด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยม

กอ.รมน.รับไม้ต่อ หลัง คสช.หมดอำนาจ งัด พ.ร.บ.ความมั่นคง ดูแลแก้ปัญหา

ไทยรัฐออนไลน์ 19 มิ.ย.2562

เมื่อผ่านการเลือกตั้ง คสช.ย่อมไม่มีอำนาจเต็มเช่นเดิม การควบคุมสังคมแบบเบ็ดเสร็จ การใช้การทหารนำการเมือง ปฏิบัติการนอกเหนือกระบวนการยุติธรรมปกติ รวมถึงการออกประกาศ คำสั่ง ตามแต่คณะรัฐประหารเห็นสมควรเป็นอันต้องยุติลง

แล้วใครจะดูแล “ความมั่นคง” หรืออีกนัยหนึ่งคือ ควบคุมการต่อต้านรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม

กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นหน่วยงานที่ประชาชนไทยจำเป็นต้องทำความรู้จักไว้ให้ดี เพราะถือกำเนิดมา สอดส่อง แทรกซึม ควบคุม การต่อต้านของกลุ่มต่างๆ มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปราบสมัยผีคอมมิวนิสต์ จนถึงผีทักษิณ และยังคงเฝ้าระวังผีอื่นๆ อยู่จนปัจจุบัน

คสช. “คุมตัวปรับทัศนคติ” - กอ.รมน. “เชิญตัวมาซักถาม”

หลังมีข่าว “การส่งไม้ต่อ” ระหว่าง คสช.-กอ.รมน. ข้อถกเถียงหรือคำถามสำคัญที่สังคมสงสัยคือ กอ.รมน.จะมีอำนาจคุมตัวคน(ฝ่ายตรงข้ามรัฐ/รัฐบาล)เข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติเหมือน คสช.ไหม 

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า กอ.รมน.มีอำนาจของตัวเองตามพ.ร.บ.ความมั่นคง (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่อำนาจในการเรียกปรับทัศนคติ หากเป็นอำนาจเชิญมาให้ข้อมูลและไม่สามารถกักตัวใครไว้ได้

ด้าน พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน.ยืนยันใกล้เคียงกันว่า การเชิญตัวบุคคลตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นการเชิญตัวมาให้ข้อมูล ไม่เหมือนกับที่ คสช.ดำเนินการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ไม่เหมือนอย่างไรโฆษก กอ.รมน.ไม่ได้อธิบาย

ส่วนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ตั้งข้อสังเกตไปไกลกว่านั้นว่า แม้คสช.สิ้นสภาพไปแล้ว แค่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่สามารถให้ ‘เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย’ คุมตัว ค้นบ้านบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล และนำตัวไปสอบสวน 7 วันยังคงอยู่ แม้วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อธิบายว่า คสช.ไม่มีแล้วก็ตั้งเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ได้แล้ว แต่ไอลอว์โต้แย้งว่า จนปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าพนักงานฯ ที่ตั้งไปแล้วจะถูกยกเลิกด้วยหรือไม่ ยังสามารถดำเนินการตามคำสั่งเดิมได้หรือไม่ เพราะคำสั่งไม่ได้ถูกยกเลิก แถมรัฐธรรมนูญให้การรองรับ

หยุดยุคคอมมิวนิสต์ แต่ กอ.รมน.ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“เรื่อง คสช.ส่งไม้ต่อให้ กอ.รมน. ไม่มีอะไรน่ากังวล” 

ข้าราชการพลเรือนในจังหวัดหนึ่งซึ่งนั่งเป็นส่วนหนึ่งใน กอ.รมน.จังหวัดให้ความเห็น เหตุผลของเขาก็คือ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ กอ.รมน.ทำอยู่แล้ว !

กอ.รมน.เป็นหน่วยงานลูกผสมที่ผสมข้าราชการพลเรือนเข้ามาร่วมทำงานกับ ทหาร ตำรวจ แต่ดูเหมือนพลเรือนจะไม่มีบทบาทอะไรมากนัก เบื้องต้นเราคงต้องทำความเข้าใจโครงสร้างหลักของ กอ.รมน.เสียก่อน

  • นายกรัฐมนตรี เป็น ผู้อำนวยการ หรือ ผอ.รมน.
  • ผู้บัญชาการทหารบก เป็น รอง ผอ.รมน.
  • เสนาธิการทหารบก เป็น เลขาธิการ

สามส่วนนี้ล็อคสเป็ค จากที่เมื่อก่อนนายกฯ ตั้งพลเรือนคนไหนเป็น รอง ผอ.รมน.ก็ได้ ยังไม่นับว่าในทางปฏิบัติตำแหน่งบริหารในหน่วยงานย่อยของ กอ.รมน. ก็เป็นทหารทั้งหมด ปัจจุบัน กอ.รมน.สามารถขยายสาขาออกไปได้ครบ 77 จังหวัดตามโครงสร้างที่กำหนดในพ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงมองว่า นี่เป็นการขยายอำนาจของทหารในบริบทเชิงสถาบัน หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า institutionalization of military power

แม้มีผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะเป็น ผอ.รมน.จังหวัดแต่ละจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติคนที่ใหญ่ที่สุดคือ แม่ทัพภาค

  • ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน.จังหวัด
  • รอง ผอ.รมน.จังหวัดถูกกำหนดให้เป็นเจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รมน.เท่านั้น
  • กอ.รมน.จังหวัดขึ้นกับ ผอ.กอ.รมน. ภาค ซึ่งก็คือ แม่ทัพภาค

ที่สำคัญ ก่อน คสช.จะหมด “อำนาจทางการ” ลง ได้มีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 ซึ่งนิยาม “ความมั่นคงใหม่” ให้กว้างไกลกว่าเดิมและเพิ่มตัวละครเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ กอ.รมน.ระดับภาคและระดับจังหวัดอีกมาก ซึ่งสุรชาติ มองว่า นี่เป็นการตีความงานความมั่นคงแบบครอบจักรวาล และทำให้ กอ.รมน.กลายเป็นซูเปอร์กระทรวง หรือกระทั่งเป็น “รัฐบาลน้อย” แฝงอยู่ในรัฐบาลพลเรือน

“การขยายบทบาททหารในระดับภาค ซึ่งมีแม่ทัพภาค (ผอ.รมน.ภาค) เป็นประธานนั้น มีการดึงเอาอธิบดีอัยการภาค ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค เข้ามาเป็นองค์ประกอบใหม่ ...โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาอัยการภาคเข้ามาอยู่ในโครงสร้างนี้ ฝ่ายอัยการควรจะต้องถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม การจัดเช่นนี้จึงอาจถูกตีความได้ว่างานอัยการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟ้องร้องคดีในทางกฎหมายจะอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารด้วย” สุรชาติยกตัวอย่างไว้ในบทความหนึ่ง

ควบคุมการเคลื่อนไหวทุกชนิด

ขณะที่แหล่งข่าวในกอ.รมน.จังหวัดหนึ่งระบุว่า กอ.รมน.แต่ละจังหวัดจะมีคณะทำงานของตัวเอง โดยผู้ว่าฯ นั่งเป็นประธานก็จริง แต่สิ่งที่จะรายงานผู้ว่าฯ คือ งานนโยบาย งานการข่าวเท่านั้น เวลาประชุมระดับปฏิบัติการ รองผอ.รมน.ซึ่งเป็นฝ่ายทหารจะเป็นคนประชุมแทน นอกจากนี้ยังมีการประชุมโต๊ะข่าวทุกเดือนระหว่าง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จับตาการเคลื่อนไหวทุกอย่างในพื้นที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มการเมือง แต่รวมถึงชาวบ้านที่คัดค้านโครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชนด้วย

“แม้ไม่มีการเข้าไปคุกคาม แต่เรามีข้อมูลหมด มีการติดตามตัวบุคคลด้วย พื้นที่ละหลายสิบคนจนถึงหลักร้อยแล้วแต่ความเข้มข้นในการเคลื่อนไหว”  แหล่งข่าวกล่าว

“งานข่าว” ดูจะเป็นประเด็นสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งในสายตากองทัพ แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2560 หมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ก็มีการเพิ่มบทบาทกองทัพโดยเฉพาะเรื่องการข่าวกรอง มาตรา 52 ระบุว่า รัฐต้องพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กำลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย 

บทบาทงานข่าวและปฏิบัติการจิตวิทยาของหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ รวมถึง กอ.รมน.นั้นมีมาโดยตลอด แม้แต่หลังการเลือกตั้งซึ่ง คสช.สิ้นอำนาจอย่างเป็นทางการแล้ว การติดตามพรรคการเมืองในการลงพื้นที่ยังคงมีความเข้มข้น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงแรงกดดันที่ได้รับจากการลงพื้นที่จังหวัดในภาคอีสานเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

“เราจัดกิจกรรมไว้ 3 กิจกรรม พบปะสมาชิก พบปะนักธุรกิจพูดคุยถึงปัญหาเศรษฐกิจ และพบปะผู้สมัครท้องถิ่นพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ท้องถิ่น สุดท้ายเราได้จัดกิจกรรมเดียว ผู้ว่าฯ โทรมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ไล่บี้ทีมจังหวัดของเรา โรงแรมที่เราจองสถานที่ไว้แล้วก็โทรไปหาเจ้าของโรงแรมว่าไม่ให้รับ พอมันเจอบี้เรื่อยๆ ทีมจังหวัดของพรรคก็จิตตก สุดท้ายก็ยกเลิกทุกงานไป อีกครั้งหนึ่ง พอผมร่วมกิจกรรมที่จังหวัดหนึ่งแล้วกลับมาถึงกทม. ปรากฏว่าทีมจังหวัดโดนทหารเข้าพบ เขาพยายามจะเข้ามาทุกช่องทางที่จะดักไม่ให้ประชาชนได้สัมผัสกับธนาธร คนไหนไปเจอเราปุ๊บเจ้าหน้าที่เข้าเลย อย่างน้อยก็ไปถ่ายรูป การคุกคามแบบนี้มีอยู่ตลอด” ธนาธรกล่าว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า ในช่วง คสช.มีอำนาจเต็มนั้น กลไกที่ถูกใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ มณฑลทหารบก (มทบ.) เป็นหลัก โดยแม่ทัพภาคคือ ผอ.รมน.ภาค เป็นผู้สั่งการหรือคุมทิศทาง

“เขาใช้หน่วยทหารในพื้นที่มากกว่าที่จะไป กอ.รมน.จังหวัด เต็มที่ก็แค่กำชับให้เราให้ความร่วมมือกับทหารในเรื่องต่างๆ หลังรัฐประหารใหม่ๆ จะเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะหัวหน้าในส่วนจังหวัดทุกเดือน แต่หลังจากไม่มี คสช.แล้วก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะใช้เครื่องมืออย่าง กอ.รมน.แค่ไหน อย่างไร” แหล่งข่าวในจังหวัดให้ความเห็น

ในมุมของข้าราชการพลเรือนนั้น ดูเหมือนคนส่วนใหญ่น่าจะอยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกอ.รมน.จังหวัด เพราะนอกจากจะได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมแล้ว ที่สำคัญยังมีการนับเวลาราชการแบบทวีคูณ เช่น ระหว่างรับราชการได้มีโอกาสเข้ามามีตำแหน่งอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน.จังหวัด 5 ปี ช่วงนั้นจะถูกนับเวลาราชการเป็น 10 ปี ซึ่งจะส่งผลเพิ่มการคำนวณบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ

ส่วนเอกสารการส่งมอบภารกิจจาก คสช. สู่ กอ.รมน.จังหวัดนั้นก็ระบุถึงภารกิจหลายด้าน เช่น การติดตามกลุ่มเป้าหมายที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง, การติดตามเฝ้าระวังสื่อโทรทัศน์ โทรคมนาคม ระบบการติดต่อสื่อสาร สถานีวิทยุชุมชน และสื่อออนไลน์, การควบคุมระบบคมนาคม ตั้งด่าน ตั้งจุดตรวจเพื่อสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมาย, การควบคุมการเคลื่อนไหวการชุมนุม, การปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า กำจัดผู้มีอิทธิพล ฯลฯ, การปฏิบัติการกิจการพลเรือน เช่น การช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และอีกสารพัดสิ่งไปกระทั่งถึงการกำจัดผักตบชวาในคูคลอง

เหล่านี้คือบทบาทที่ขยายกว้างขึ้นของ กอ.รมน.ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการทำงานกับมวลชนผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ รวมถึงเข้าไปสนับสนุนผลักดันโครงการของรัฐบาลในยุคของ คสช.อีกด้วย เช่น การเข้าไปร่วมกับโครงการประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน

ก่อนจะไปดูผลงานระยะสั้นที่ผ่านมาของกอ.รมน. เราอาจต้องทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของ ‘องค์กรปราบผี’ ของรัฐไทยเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น

ประวัติศาสตร์ กอ.รมน. 

ต้องย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2500 ที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์แผ่ขยายมาจนถึงประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หลังสู้รบกันมาพอควร รัฐไทยพบว่าการใช้ความรุนแรงอย่างเดียวไม่ประสบผล จึงเริ่มเน้นงาน “ซอฟท์” หรือการพัฒนาให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ (C.I.A.) พี่ใหญ่ที่คอยปราบคอมมิวนิสต์ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการช่วยจัดตั้งองค์กรมวลชน ผสานการพัฒนาเข้ากับการทหาร และวางแผนปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อเอาชนะสงครามแย่งชิงประชาชน

กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) จึงเกิดขึ้นในปี 2508 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 มีวัตถุประสงค์เริ่มต้นคือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ “ความมั่นคง” ถูกตีความกว้างขึ้น งานจำพวกขุดคลอง สร้างถนน ฝึกอาชีพ ฯลฯ กลายเป็นงานหลักขององค์กรด้านความมั่นคงแห่งนี้ ทำไปพร้อมๆ การจัดตั้งความคิดให้ชาวบ้าน ต่อมาในปี 2516 ได้เปลี่ยนชื่อให้ดูซอฟท์ลงอีกเป็น กอ.รมน.หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  


ดูภาพใหญ่

พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาบทบาทกอ.รมน.ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เคยเขียนบทความระบุว่า ในช่วงปี 2516-2519 ที่เกิดกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” หรือการกำจัดคอมมิวนิสต์กำลังรุนแรง เชื่อกันว่า กอ.รมน. เป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลังกลุ่มฝ่ายขวา เช่น นวพล กระทิงแดง อภิรักษ์จักรี รวมทั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกทั้งเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้านนับพันคนในจังหวัดพัทลุงเมื่อปี 2515 หรือเหตุการณ์ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” รวมถึงการสังหารประชาชนและเผาหมู่บ้านที่บ้านนาทราย จังหวัดหนองคายในปี 2517 โดยไม่เคยมีใครต้องรับผิดต่อกรณีความรุนแรงทั้งหมดนี้

หลังสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ในปี 2543 สมัยนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย มีการประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่องค์กรปราบคอมมิวนิสต์อย่าง กอ.รมน.กลับยังได้รับการต่อชีวิต โดยชวนได้ประกาศใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2542 มารองรับการมีอยู่ขององค์กรนี้ โดยให้ทำเรื่องยาเสพติด ความมั่นคงชายแดน การข่าว ปฏิบัติการจิตวิทยา ต่อมาในสมัยทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้ กอ.รมน. ลดบทบาทในการจัดการปัญหาภาคใต้ลง และมีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 158/2545 มาแทนที่

การอยู่ได้โดยคำสั่งนายกฯ นั้นดูจะไม่ค่อยมั่นคงเท่าไรนักสำหรับ กอ.รมน. เพราะการยุบเลิกองค์กรก็สามารถใช้คำสั่งนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน

หลังการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทำคลอด กอ.รมน.โฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิมเพราะมีความมั่นคงสูงเหมือนสมัยปราบคอมมิวนิสต์ด้วยการทำให้มีสถานะทางกฎหมายหนักแน่นผ่าน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 กำหนดโครงสร้างและการใช้อำนาจของ กอ.รมน.โดยตรง

คำถามสำคัญคือ ภัยคุกคามในช่วงนั้นสำหรับทหารคืออะไร หากใครจำได้ มันเป็นช่วงเวลาของการต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างหนักนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีการก่อร่างขบวนการคนเสื้อแดงที่กว้างขวางทั่วประเทศ  

ความยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่

ปัจจุบัน กอ.รมน.ได้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท มีเจ้าพนักงานราว 6,000 คนทั่วประเทศ ไม่นับรวมที่ทำงานในส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งยังมีอาสาสมัครความมั่นคงภายในทั่วประเทศ 500,000-600,000 คน และมีคนในเครือข่ายข้อมูลข่าวสารอีกหลายหมื่นคน ตัวเลขนี้อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.พีรวัฒน์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.

ขณะเดียวกับเมื่อดูงบประมาณของ กอ.รมน. ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นต้นมา เทียบกับงบประมาณของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงมานาน ก็พบว่ากอ.รมน. ได้รับงบประมาณมากกว่าหลายเท่าตัว และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ข้อมูล: สำนักงบประมาณ   (ดูภาพใหญ่)             

เอกสารยุทธศาสตร์ กอ.รมน. พ.ศ. 2560-2564 ในส่วนของสถานการณ์ความมั่นคง ได้ระบุหัวข้อ “ภัยความมั่นคง” หลักที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือถึง 10 หัวข้อซึ่งสะท้อนความกว้างขวางของงาน กอ.รมน.รวมถึงการจัดอันดับภัยความมั่นคงได้เช่นกัน ประกอบด้วย 1. การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. ความเห็นต่างและความขัดแย้งทางความคิดของคนภายในชาติ 3. สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4. ภัยคุกคามไซเบอร์ 5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 6. แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง 7. การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 8. ปัญหายาเสพติด 9. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10. ผลกระทบที่เกิดจากข้อตกลงและพันธกรณีระหว่างประเทศต่อความมั่นคงภายใน

แล้วตามพ.ร.บ.ความมั่นคง กอ.รมน.มีอำนาจอะไรบ้าง

สรุปให้รวบรัดก็คือ ในภาวะไม่ปกติแต่ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ครม.สามารถมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่และระยะที่กำหนดไว้ได้ โดย 1.ใช้อำนาจหน้าที่แทนหน่วยงานรัฐอื่น 2.ออกข้อกำหนด ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กอ.รมน. 3.ห้ามประชาชนเข้าหรือออกจากพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ 4.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (curfew) 5.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 6.ห้ามใช้เส้นทางหรือยานพาหนะ 7.ห้ามบุคคลใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ 8.เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานร่วมสอบสวนคดีความทางอาญาในฐานะพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ 

นอกจากนี้พ.ร.บ.ความมั่นคงยังกำหนดว่า บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำดังกล่าวข้างต้นนี้ “ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่าปัจเจกบุคคลไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผ่านศาลปกครองได้ ขณะที่ถ้าจะฟ้องศาลอาญาและศาลแพ่งเกี่ยวกับข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดของกอ.รมน.ก็ทำได้ต่อเมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว แปลความได้ว่า ต่อให้คำสั่งดังกล่าวของรัฐละเมิดกฎหมายและสิทธิของประชาชน ศาลยุติธรรมก็ไม่สามารถสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ 

การจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา

เป็นที่รับรู้ว่า งานหลักที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของกอ.รมน.คือ การทำงานมวลชน เป็นการสร้างความคุ้นเคย ซื้อใจ กระทั่งจัดตั้งมวลชนให้มีแนวความคิด ความเชื่อ ดังที่กองทัพต้องการ

ในสมัยยุคปราบคอมมิวนิสต์ ประชาชนบางกลุ่มได้รับแจกและฝึกให้ใช้อาวุธ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ คอยรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มเป้าหมายให้กับเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ 

งานของพวงทองระบุว่า ก่อนปี 2521 มวลชนภายใต้การจัดตั้งของทหารและมหาดไทยมีมากกว่า 20 กลุ่ม เช่น กองอาสารักษาดินแดน, ราษฎรอาสาสมัคร, ราษฎรรักษาความสงบและพัฒนาหมู่บ้าน, ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน, ไทยอาสาป้องกันตนเอง, อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน, ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม, กองกำลังติดอาวุธ, กลุ่มเสียงชาวบ้าน, กลุ่มบางระจัน เป็นต้น แต่เกิดปัญหาความซ้ำซ้อน หลายกลุ่มไร้ประสิทธิภาพ และแย่งชิงงบประมาณกันเอง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้ยุบกลุ่มต่างๆ ให้มารวมกัน โดยกลุ่มหลักที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันได้แก่

1) ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)
2) กองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ (กนช.)
3) โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)
4) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
5) อาสารักษาดินแดน (อ.ส.)
6) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
7) ลูกเสือชาวบ้าน 

กลุ่มที่ 1-4 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. โดยตรง ส่วนกลุ่มที่ 5 และ 6 สังกัดกรมการปกครอง กลุ่มที่ 7 ขึ้นกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน และได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ปี 2515 แม้ว่ากลุ่มที่ 5-7 จะไม่ได้ขึ้นกับ กอ.รมน. โดยตรง แต่ กอ.รมน. เข้าไปมีบทบาทในการวางแผน-อบรม-ระดมมวลชนเหล่านี้ให้ทำกิจกรรม

หลังรัฐประหารปี 2549 บทบาทของ กอ.รมน. ปรากฏให้เห็นตามรายงานของสื่อมวลชนมากขึ้น และบทบาทบางอย่างคล้ายกับสิ่งที่เคยปฏิบัติในช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เช่น การเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม, จัดตั้งและฟื้นฟูองค์กรมวลชนขึ้นมาใหม่, ระดมมวลชนของตนให้ทำกิจกรรมสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และต่อต้านฝ่ายตรงข้าม 

งานจัดตั้งมวลชนยุค 4.0

นอกจากนี้พวงทองตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของ กอ.รมน. ในการจัดตั้งมวลชนเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหารปี 2557 มีการใช้กลไกกอ.รมน.ในการระดมความเห็นทั่วประเทศเกี่ยวกับแผนการปรองดอง การปฏิรูป (เวทีปรองดองต่างจังหวัดห้ามนำมือถือเข้า กอ.รมน.แจง ไม่ต้องการให้นำความเห็นไปขยายความ 2017-03-07)

ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะที่กลุ่มนักศึกษาประชาชนรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญถูกจับกุมและฟ้องศาลดำเนินคดีฐานผิดพ.ร.บ.ประชามติมากมาย แต่รัฐใช้ กอ.รมน.ในการ “สร้างความเข้าใจ” เรื่องร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ  (กอ.รมน. พร้อมนำมวลชนหนุน กรธ.ทำความเข้าใจร่าง รธน. 2016-05-07)

“หาก กรธ. (คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ) ร้องขอมา กอ.รมน.พร้อมนำกลุ่มพลังมวลชนเช่น ลูกเสือชาวบ้าน ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) มวลชน กอ.รมน. กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (กนช.) และหมู่บ้านอาสาพัฒนาเพื่อป้องกันตนเอง (อพป.) มาให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของทางราชการ เชื่อมั่นว่าการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์จะเข้าถึงประชาชนโดยตรงทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง” โฆษก กอ.รมน.กล่าว

แม้แต่การผลักดันนโยบายของรัฐบาล คสช.ในช่วงหลังรัฐประหาร ทางกอ.รมน.ก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างดี โดยมีการเข้าไปอบรมเรื่อง “ประชาธิปไตย” “เศรษฐกิจพอเพียง” ในหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 70,000 หมู่บ้าน ผ่านโครงการประชารัฐในชื่อ ไทยนิยมยั่งยืน โดยคัดเลือกชาวบ้านราว 120 คนต่อหมู่บ้านร่วมพูดคุยถึงความต้องการพัฒนาพื้นที่และรับการอบรมดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการอบรมในสถานศึกษาทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย เช่น โครงการเพชรในตม, เยาวชนคนดีคนเก่ง, ทำดีเพื่อพ่อฯลฯ และขยายไปทำกิจกรรมกับกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่มศาสนา เช่น สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ, ชมรมผู้นำชุมชนมุสลิมรักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-ซิกข์รักษาความมั่นคงภายใน, ชมรมไทย-อินเดียรักษาความมั่นคงภายใน, กลุ่มบิ๊กไบค์ไทยใจรักแผ่นดิน, และกลุ่มออฟโรดไทยใจรักแผ่นดิน เน้นย้ำอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  รวมถึงการให้จับตาสอดส่องมวลชนด้วยกันเองทั้งในสังคมและในโลกไซเบอร์ 

สอดส่องกดปราบ-เสริมอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม

พวงทอง กล่าวว่า กอ.รมน.ยุคใหม่ มีบทบาทด้านแรก คือ สอดส่องและกดปราบกลุ่มการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ด้านที่สองคือ เสริมสร้างอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยการขยายฐานมวลชนผ่านการจัดตั้งอบรมด้วยกลไกของระบบราชการ ทั้งกลไกของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. หรือในการอบรมครูและนักเรียน รวมถึงบรรดา อสม. มวลชนเหล่านี้ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำ อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” ตามวาระโอกาสวันสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดทั้งปี พร้อมๆ กับเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐคอยสอดส่องพฤติกรรมของคนในแวดวงและชุมชนของตนและบนโลกไซเบอร์เพื่อรายงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจัดตั้งเครือข่ายข่าวภาคประชาชน ‘007 สายข่าวความมั่นคง’ ที่ให้ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที

แล้วการจัดตั้งมวลชนเช่นนี้ได้ผลระดับไหน มวลชนที่ถูกจัดตั้งเหล่านี้เชื่อในอุดมการณ์หลักของรัฐหรือไม่

พวงทองให้ความเห็นว่า ไม่ใช่ทั้งหมดที่ผ่านการอบรมจะต้องเชื่อในอุดมการณ์หลักของรัฐ แต่พวกเขาจำเป็นต้องมา เนื่องจากความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น ถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านขอให้มาอบรม เขาก็ช่วยไป  บางคนอยู่ในกลุ่มมากว่า 20 ปี แต่เมื่อถามมุมมองทางการเมืองเขากลับไม่เห็นด้วยกับแนวคิด ‘ภัยความมั่นคง’ แบบนี้ เพียงแต่เขาไม่ลาออกเนื่องจากได้รับเงินเดือนที่มั่นคง

“ยิ่งนานวันอุดมการณ์เหล่านี้ยิ่งมีเสน่ห์น้อยลง คนรุ่นใหม่ทั้งในเมืองและชนบทคงอินน้อยลงเรื่อยๆ การใช้วิธีการปราบปรามจะยิ่งมากขึ้น มีปรากฎการณ์จับนักกิจกรรมไปทำร้าย ความรุนแรงที่เราเห็นคือแนวโน้มในอนาคต ถ้าอุดมการณ์เข้มแข็งพอจะไม่ต้องใช้ความรุนแรงมาก แต่ตอนนี้อุดมการณ์เอาไม่อยู่โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากัน มวลชนเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เผชิญหน้ากับมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ 6 ตุลาคม” พวงทองกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าว กอ.รมน.ในพื้นที่มองต่างไป  

“มวลชนของ กอ.รมน.ไม่มีตัวตนจริง กอ.รมน. ใช้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม.บ้าง เพราะต้องการสายข่าว ลูกเสือชาวบ้านคือใคร ก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการครูเกษียณแก่ๆ ไม่น่ากลัวเท่า ‘ฟ้าของพ่อ’ ในแง่ความมีพลัง หรือถ้าจะกังวลเรื่องมวลชนที่มีความเป็นปึกแผ่นและเป็นระบบ เราอาจต้องมองไปที่กลุ่มใหม่ๆ อย่างกลุ่มจิตอาสามากกว่า” แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าว

ในตอนหน้าเราจะลองทำความรู้จักกับโครงการใหญ่ที่ก่อตัวมาไม่กี่ปีอย่างโครงการจิตอาสา 904

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท