เปิดตัว ครช. เตรียมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผนึกกำลัง 28 องค์กร ประเดิมเวทีแรก 5 ต.ค.

19 ก.ย. 2562 อนุสรณ์ อุนโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดเวทีแถลงข่าวว่า เหตุที่ต้องตั้งคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เปิดเพราะเห็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ 2560 หลายประการ และหากจำได้คนที่เข้าร่วมเป็น ครช. ครั้งนี้ก็คือกลุ่มคนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างการลงมติเห็นชอบจากประชาชน ทางกลุ่มก็ยอมรับการบังคับใช้ เมื่อมาถึงการเลือกตั้งทางกลุ่มก็คาดหวังว่า จะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่กลับพบว่ายังมีความคลางแคลงใจกับการเลือกตั้งอยู่ รวมทั้งเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาก็มีความพยายามในการบิดเบือนผลการเลือกตั้งโดยใช้สูตรพิสดารในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. จนที่สุดได้ คสช. กลับมาอีกครั้ง ในรูปแบบที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อนุสรณ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนฐานะของประชาชนที่เป็นองค์ประธานแห่งสิทธิ ให้กลายเป็นผู้รับการสงเคราะห์ รัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนประชาชนถูกทำให้ตัวเล็กลง สังคมก็จะเล็กลงไปเช่นกัน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้เขากล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีกลุ่มอื่นได้ประกาศตัวว่าจะเป็นกำลังหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อในความแตกต่างหลากหลาย จึงได้มีการพูดคุยกันเพื่อตั้ง ครช. ขึ้นมา

สำหรับโดยเป้าหมายของ ครช. อนุสรณ์ชี้ว่าในระยะสั้น จะสร้างความรับรู้และความเข้าใจปัญหาของรัฐธรรมนูญในกลุ่มคนทุกภาคส่วนของสังคม และพยายามกระตุ้นให้เกิดความรู้สึก และเจตจำนงค์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดมติมหาชน นอกจากนี้จะพยายามนำเสนอประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งรีบแก้ไข และเมื่อหยิบยกมาพูดในที่สาธารณะแล้วจะสามารถระดมการสนับสนุนจากคนในสังคม และอีกเรื่องที่จะทำคือ การหาแนวทาง หรือกลไก ที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้

อนุสรณ์ กล่าวว่า ครช. ประกอบด้วยบุคคล สถาบัน และกลุ่มต่างๆ ที่มีจุดยืนเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นมั่นคงด้านประชาธิปไตยมาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยแบ่งได้ดังนี้

ภาควิชาการ คือ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 2. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 3. เครือข่ายนักวิชาการราชภัฎราชมงคลเพื่อพลเมือง (ครพ.) 4.เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) 5.กลุ่มเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ 6.เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนส.จชต.) 7.สมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตรศาสตร์ 

ภาคนิสิตนักศึกษา คือ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) 2.ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษา ม.เชียงใหม่ 3.เสรีเกษตรศาสตร์ 4.ดาวดิน 5.องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี 6.กลุ่มโกงกาง 7.นักเยาวชนนักกิจกรรม 

ภาคประชาชน สมัชชาคนจน 2.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 3.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 4.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 5.ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย 6.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 7.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) 8.กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 9.กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) 10.เครือข่ายสิทธมนุษยชนปาตานี (HAP) 11.เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ 12. เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า 13.ขบวนการอีสานใหม่ 14.เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) 

ทั้งนี้ทางกลุ่มมีกิจกรรมคือ การสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าอยากแก้แก้เรื่องอะไรด้วยวิธีไหน โดยจะเปิดเผยในวันที่ 5 ต.ค. มีการเสวนาโดย 6 พรรคการเมืองคือ เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา พร้อมเดินสายไปยังมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยวันที่ 10 ธ.ค. เป็นงานปิดกิจกรรมรอบ 3 เดือนแรก สรุปผลการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท