ความเห็นกฤษฎีกาปี 25 ระบุชัดคนเคยต้องโทษจำคุกในต่างประเทศ สมัคร ส.ส. ไม่ได้

  • พบความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2525 ต่อกระทรวงมหาดไทย ระบุชัดผู้เคยต้องโทษจำคุกในต่างประเทศไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หากยังไม่พ้นพ้นโทษมาตามเวลาที่กำหนด ถ้ายึดความเห็นนี้ และหากธรรมนัสเคยถูกจำคุกจริง เวลานี้ถือว่าพ้นโทษตามกฎหมายกำหนดแล้ว
  • แต่ รธน. 2560 มาตรา 96(10) ระบุถึงการเป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิรับเลือกตั้งในกรณีที่เคยถูกพิพากษาเกี่ยวกับคดียาเสพติดด้วย ซึ่งหากธรรมนัสเคยถูกจำคุกจริง แล้วสามารถเทียบเคียงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2525 ได้ ถือว่า ธรรมนัสมีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครเป็น ส.ส.
  • กระนั้นก็ตามในข้อเท็จจริง ธรรมนัส ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน แล้ว แต่คำถามคือ พ.ร.บ.ล้างมลทิน ของไทยสามารถล้างมลทิน ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศได้หรือไม่ 

สำหรับกรณีของ ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นประเด็นถกเถียงตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้าถึงเรื่องการ เคยต้องโทษจำคุกที่ประเทศออสเตรเลีย สืบเนื่องจากการลักลอบขนยาเสพติดประเภอเฮโรอีนเข้าประเทศนั้น โดยเป็นเรื่องที่สื่อออสเตรเลียได้นำคำพิพากษามาเผยแพร่

ทางด้านธรรมนัส ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปในช่วงของการตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนเองไม่เคยต้องโทษจำคุก และศาลไม่มีคำพิพากษานั้น เพียงแค่ผ่านกระบวนการ plea bargaining (การต่อรองการเพื่อสารภาพ) เท่านั้น โดยตนถูกกักขังอยู่เพียง 8 เดือนหลังจากนั้นได้ถูกส่งตัวไปยังดูแลเยาวชนที่เป็นผู้ต้องขัง และกลับมานอนในสถานที่ที่ทางการออสเตรเลียจัดไว้ให้ โดยชีวิตในลักษณะนี้เป็น 4 ปี ก่อนที่รัฐบาลออสเตรเสียมีนโยบายให้ตนกลับมาประเทศไทย โดยไม่มีโทษใดๆ ติดตัว ทั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาตนก็ได้รับการล้างมลทินจาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน แล้ว

อย่างไรตามความขัดแย้งกันระหว่างข้อมูลระหว่างการชี้แจงโดยตัวธรรมนัส และข้อมูลที่สื่อออสเตรเลียอ้างว่านำมาจากคำพิพากษาของศาลนั้น ยังไม่มีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องจากทางรัฐบาลไทย และเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะค่อยๆ เงียบลงไป โดยที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เพียงว่า กรณีของธรรมนัส นั้นเป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องตรวจสอบดูว่า พ.ร.บ.ล้างมลทิน นั้นจะสามารถล้างความผิดในอดีตได้หรือไม่

ประชาไทพบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 เรื่องเสร็จแล้ว ที่ 276/2525 บันทึก เรื่อง หารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ปัญหาการตีความมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2521)

โดยเป็นเรื่องที่ กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือ ที่ มท 0314/5574 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2525 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและให้ความเห็นถึงกรณี ที่ มาตรา 96 (5) ได้กำหนดผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ

มาตรา 96 (5) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

โดยขอความเห็นว่า บุคคลต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น หมายรวมถึง กรณีบุคคลที่เคยถูกพิพากษาจำคุกในต่างประเทศด้วยหรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในเวลานั้น อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นว่า ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5)

โดยให้เหตุผลว่า 1.เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปเข้าสมัครรับเลือกตั้ง มูลเหตุน่าจะมาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น  ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่กระทำผิดโดยประมาทเพราะความผิดดังกล่าวผู้กระทำผิดไม่มีเจตนากระทำผิด หรือความผิดลหุโทษ ซึ่งถือเป็นความผิดเล็กน้อยเพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน  ดังนั้น การที่บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก กฎหมายจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า 5 ปี เพื่อให้โอกาสประชาชนได้ติดตามพฤติการณ์  และเพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตน

2.หากตีความให้การจำคุกตามมาตรา 96 (5) หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียว ย่อมจะเป็นผลทำให้ผู้ที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศมาแล้วใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นประโยชน์ ซึ่งจะเป็นผลทำให้สภาพบังคับตามข้อ 1. ไม่บังเกิดผลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่ลักษณะความผิดบางประเภทซึ่งผู้กระทำผิดได้กระทำลงในต่างประเทศเป็นความผิดที่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดฐานปล้นทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามความเห็นดังกล่าวยืนอยู่บนฐานของรัฐธรรมนูญ 2521 แต่ปัจจุบันนี้ไทยบังคับรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในมาตรา 98 ได้ระบุถึงลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เอาไว้เช่นกัน

(7) ระบุว่า เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิด อันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อย่างไรก็ตาม หากเทียบเคียงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกามาเทียบเคียง กรณีธรรมนัส หากมีการตรวจสอบยืนยันชัดเจนแล้วว่า เคยต้องโทษจริง จะไม่สามารถใช้มาตรานี้ได้เนื่องจากได้พ้นโทษมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว

แต่ (10) ระบุว่า เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

หากพิจารณาตามมาตรา 96 (10) ก็จำเป็นต้องดูว่า หากธรรมนัส เคยต้องโทษจริง หรือถูกพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า ในประเทศออสเตรเลีย จะสามารถเทียบเคียงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 276/2525 ได้หรือไม่ และที่สำคัญไปกว่านั้นจะมีการพิจาณรากรณีที่ ธรรมนัส ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ว่าสามารถครอบคลุมไปถึงการล้างมลทินไปถึงเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศได้หรือไม่

0000000

อย่างไรก็ตามตรวจสอบพบอีกว่า ที่ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จแล้วที่ 562/2554 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีความเห็นที่เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลไทย และคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ว่า บุคคลใดเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศจึงไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามในการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การตรากฎหมายหรือกฎเพื่อใช้บังคับภายในประเทศใด ย่อมต้องอยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ และองค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการย่อมใช้อำนาจได้จำกัดภายในเขตอธิปไตยของแต่ละรัฐนั้นเท่านั้น กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกล่าวถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความให้รวมถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ เพราะจะขัดกับหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ เว้นแต่หากผู้ตรากฎหมายประสงค์จะยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายไทยด้วย 

นอกจากนี้ โดยที่กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ประเภทของความผิด องค์ประกอบของความผิด เงื่อนไขการลงโทษ และวิธีพิจารณาคดีอาญาไว้แตกต่างกัน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุด กรณีใดเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษของกฎหมายแต่ละประเทศอาจแตกต่างจากกฎหมายไทย โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิด และกฎหมายของบางประเทศก็อาจไม่มีเรื่องความผิดลหุโทษดังเช่นกฎหมายไทย ด้วยเหตุนี้ หากตีความให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ และการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จะส่งผลให้การบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ มีความลักลั่นและไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งตามมาเป็นอย่างมาก

เรื่องเสร็จที่ ๕๖๒/๒๕๕๔

 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

เรื่อง การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร ๐๕๐๘/ท ๒๖๑๓ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวกับการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ และการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาที่ผ่านมามีบุคลากรของส่วนราชการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาในต่างประเทศและศาลต่างประเทศได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุก จึงมีประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระเบียบทั้ง ๒ ฉบับ ดังนี้

๑. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖

ข้อ ๑๐ (๓) กำหนดให้บุคคลที่พึงได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้น เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ข้อ ๒๐ (๒) กำหนดให้กรณีผู้ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาล แม้คดียังไม่ถึงที่สุด ก่อนการเสนอขอพระราชทานในปีใด ให้กระทรวง ทบวง กรม แจ้งพฤติการณ์ดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทราบด้วย และคณะกรรมการฯ อาจมีมติให้รอการพิจารณาการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับผู้นั้นไว้ก่อนก็ได้

๒. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๗ (๒) กำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์กรณีเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อมิให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและเพื่อให้การพิจารณาการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นไปตามระเบียบทั้ง ๒ ฉบับ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย ดังนี้

๑. กรณีเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จะต้องพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้อ ๑๐ (๓) และข้อ ๒๐ (๒) หรือไม่ ประการใด

๒. กรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจะต้องพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๗ (๒) หรือไม่ ประการใด

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า โดยปกติการตรากฎหมายหรือกฎเพื่อใช้บังคับภายในประเทศใด ย่อมต้องอยู่ในขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ และองค์กรของรัฐไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการย่อมใช้อำนาจได้จำกัดภายในเขตอธิปไตยของแต่ละรัฐนั้นเท่านั้น กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกล่าวถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความให้รวมถึงคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ เพราะจะขัดกับหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ เว้นแต่หากผู้ตรากฎหมายประสงค์จะยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายไทยด้วย ย่อมต้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ดังเช่นพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๒ (๖) ที่บัญญัติห้ามมิให้คนต่างด้าวที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร  ดังนั้น เมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ ข้อ ๑๐ (๓) กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่พึงได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ว่า ต้องเป็นผู้ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และข้อ ๒๐ (๒) กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาจมีมติให้รอการพิจารณาขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ก่อนได้ หากผู้ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา และอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาล แม้คดียังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว โดยมิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ กรณีจึงย่อมหมายความเฉพาะคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลไทย หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของประเทศไทย หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความเพื่อให้หมายความถึงคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายเรื่องขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ

นอกจากนี้ โดยที่กฎหมายของแต่ละประเทศย่อมกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ประเภทของความผิด องค์ประกอบของความผิด เงื่อนไขการลงโทษ และวิธีพิจารณาคดีอาญาไว้แตกต่างกัน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นคำพิพากษาที่ถึงที่สุด กรณีใดเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษของกฎหมายแต่ละประเทศอาจแตกต่างจากกฎหมายไทย โดยการกระทำอย่างเดียวกัน กฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิด และกฎหมายของบางประเทศก็อาจไม่มีเรื่องความผิดลหุโทษดังเช่นกฎหมายไทย ด้วยเหตุนี้ หากตีความให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ และการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จะส่งผลให้การบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ มีความลักลั่นและไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งตามมาเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรณีที่บุคคลใดเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศจึงไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามในการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๑๐ (๓) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ และกรณีที่บุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและอยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนของต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาในศาลต่างประเทศ จึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่คณะกรรมการพิจารณาการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะมีมติให้รอการพิจารณาขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับผู้นั้นไว้ก่อนตามข้อ ๒๐ (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยฯ

ประเด็นที่สอง เห็นว่า การที่ข้อ ๗ (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ว่าต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยมิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้รวมถึงคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยศาลต่างประเทศด้วย กรณีจึงย่อมหมายความเฉพาะการเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยศาลไทยเท่านั้น ดังเหตุผลที่ได้อธิบายไว้ในประเด็นที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ กรณีที่บุคคลใดเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยศาลต่างประเทศ จึงไม่ต้องด้วยเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๗ (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ

 

 

(ลงชื่อ) อัชพร  จารุจินดา

(นายอัชพร  จารุจินดา)

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

 

ขอบคุณรองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับข้อมูลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี 2525 และปี 2554  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท