สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ก.ย. 2562

ผู้ประกันตนอายุครบ 55 สิ้นสภาพลูกจ้าง ขอรับเงินชราภาพได้

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างว่า จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ณ เดือน ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และยังไม่มารับเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพกับสำนักงานประกันสังคมจำนวน 448,167 ราย

ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ออกหนังสือแจ้งผู้ประกันตนให้มารับ แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า กรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่มารับ สาเหตุดังกล่าวนั้นมาจากที่อยู่ปัจจุบันของผู้ประกันตนไม่ตรงตามบัตรประจำตัวประชาชน หรือที่ให้ไว้กับสำนักงานประกันสังคม

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมขอให้ผู้ประกัน ตนหมั่นตรวจสอบข้อมูลของตนเอง หากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่รีบแจ้งสำนักงานประกันสังคมเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง

สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับหนังสือ หากมีคุณสมบัติครบตามข้อกำหนดของการขอรับเงินชราภาพดังกล่าวข้างต้น สามารถติดต่อขอรับเงินชราภาพเพียงนำบัตรประชาชนมาติดต่อกับสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งได้ทันที โดยไม่ต้องรอหนังสือแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม

อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิและเงินชราภาพ หรือมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือผ่านทาง www.sso.go.th

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/9/2562

รมว.แรงงาน ยืนยันแรงงานกัมพูชาได้รับสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมการหารือระดับทวิภาคีกับ นายอิทธิ์ ซัมเฮง (H.E. Ith Samheng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพกัมพูชา พร้อมคณะ ณ อัปสรา พาเลส รีสอร์ทและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่ง H.E. Ith Samheng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพกัมพูชาได้แสดงความยินดีในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับตำแหน่งใหม่ และขอขอบคุณไทยที่ได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือด้านแรงงานในกลุ่มประเทศ CLMTV

รัฐมนตรีว่าการะทรวงแรงงาน ได้กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองดูแลสิทธิแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และขอให้ทางการกัมพูชาประชาสัมพันธ์ให้แรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และไม่เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้เสียหายของการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ สำหรับแรงงานกัมพูชาที่ได้รับผ่อนผันและใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุนั้น รัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้เข้ามาต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศกัมพูชา โดยจะดำเนินการให้กระบวนการมีความสะดวก รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ที่มา: ไบรท์นิวส์, 17/9/2562

ก.แรงงาน ช่วย 187 ลูกจ้างไวต้าฟู้ด ยื่นฟ้องศาลเรียกค่าจ้างค้างจ่าย 2.4 ล้านบาท

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี่ (1989) จำกัด จ.กาญจนบุรี กรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาลูกจ้างของบริษัท ไวต้าฟู้ดแฟคทอรี่ (1989) จำกัด และบริษัทในเครือ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานแรงงานภาค 7 เพื่อเรียกค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง ซึ่งกรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานลูกจ้างสามารถใช้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานก็ได้ โดยครั้งนี้ลูกจ้างประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล กระทรวงแรงงานจึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยมอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานกับชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมในการจัดทำเอกสารประกอบสำนวนการฟ้องคดียื่นต่อศาลแรงงานภาค 7

นายสุทธิ กล่าวว่าเบื้องต้นมีลูกจ้างใช้สิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลจำนวน 187 คน เป็นลูกจ้างของบริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคตอรี่ (1989) จำกัด ลูกจ้างยื่นคำร้องจำนวน 108 คน บริษัท แวนด้าแฟคตอรี่ จำกัด จำนวน 16 คน และลูกจ้างของบริษัท แวนด้าพรีเสิร์ฟฟู้ด จำกัด จำนวน 61 คน รวมเป็นเงิน 2,478,378 บาท

นอกจากนี้ ยังมีลูกจ้างของบริษัท แวนด้าโฟรเซ่น จำกัด ที่ยังไม่ทราบจำนวนค่าจ้างค้างจ่ายซึ่งพนักงานตรวจแรงงาน ได้แจ้งให้ทางบริษัทนำเอกสารรายละเอียดการค้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคนให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี ในวันนี้ (วันที่ 17 ก.ย.) นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือและติดตามคดีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/9/2562

กลุ่มแท็กซี่รวมตัวประท้วงยื่นหนังสือคัดค้าน Grab เตรียมฟ้องศาลปกครองฯ ยื่นขอเยียวยา 8,500 ล้านบาท พ่วงปรับขึ้นราคา

นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และสมาชิกกว่า 50 คน ได้รวมตัวประท้วงยื่นหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม โดยกล่าวว่า คัดค้านการทำให้ Grab เสรีทุกรูปแบบหรือการอนุญาตให้รถป้ายดำมาวิ่งบริการผู้โดยสารเนื่องจากเป็นการเอาเปรียบผู้ขับขี่แท็กซี่ถูกกฎหมายเราะมีต้นทุนเรื่องกฎระเบียบต่างๆที่ถูกกว่าเกือบ 200% ต่อปี โดยผู้ขับขี่ Grab มีต้นทุน 8,000 บาทต่อปี และผู้ขับขี่แท็กซี่มีต้นทุนมากกว่า 25,000 บาทต่อปี

นอกจากนี้ผู้ขับขี่แท็กซี่สาธารณะยังต้องเสียค่าใช้จ่ายการติดตั้งแอพพลิเคชั่น Taxi Ok มากกว่าคันละ 20,000 บาท ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเยียวยาค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ด้วย หากจะเปิดเสรีบริการขนส่งผู้โดยสารแบบ Ride Hailing Service ซึ่งคาดว่าจะเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาท

สำหรับการเปิดเสรี Grab นั้นเป็นการผูกขาดบริษัทเอกชนเจ้าเดียวให้เข้ามาแข่งขันในตลาดขนส่ง เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อเปิดทางให้กับเอกชนเข้ามาผูกขาด

ดังนั้นหากกระทรวงคมนาคมยังนิ่งนอนใจ สมาคมจะรวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครองสูงสุดตั้งแต่ คณะทำงานกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปจนถึง นายกรัฐมนตรี พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ดีการออกมาประท้วงในวันนี้ไม่ต้องการเจอตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะเจอกันไปก็เปล่าประโยชน์ รัฐมนตรีมีแค่รับเรื่องไปพิจารณาแต่ไม่เคยมีการดำเนินการใดใดตามข้อเรียกร้องของสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ทั้งนี้ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. กลุ่มแท็กซี่จะเข้าพบนายกฯ ที่รัฐสภาใหม่ บริเวณเกียกกาย

นายวรพล กล่าวว่าหากจะเปิดเสรี Grab ต้องมีการตรวจสอบยานพาหนะและผู้ให้บริการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียนตามข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ทว่าเจ้าหน้าที่ ขบ. มีไม่เพียงพอ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ Grab ได้แน่นอน โดยตนเชื่อว่าหากเปิดเสรีจะมีผู้ขับขี่ Grab จำนวนมากไม่จดทะเบียนแล้วนำรถมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร อาจจะจดทะเบียนไม่ถึง 10 คันด้วยซ้ำจากปริมาณผู้ให้บริการนับแสนคัน เนื่องจากปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกยังไม่สามารถเข้มงวดการจับกุมรถแท็กซี่ที่หมดอายุแล้วนำมาวิ่งได้เลย จะไปเอาอะไรกับควบคุมผู้ขับขี่ Grab

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่า การที่ประชาชนสนับสนุน Grab นั้นทางผู้ขับขี่แท็กซี่ก็พร้อมเดินหน้าแข่งขันหากเปิดเสรี แต่ถ้าวันนึงแท็กซี่ไม่มีบริการแล้วประชาชนจะรู้สึก โดยเฉพาะพี่น้องจากต่างจังหวัดที่เข้ามาในกรุงเทพ นอกจากนี้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เป็นคนมีประสบการณ์ขับขี่แท็กซี่ เป็นเพียงคนที่อยู่บ้านแล้วพิมพ์ข้อความอยู่กับคีย์บอร์ด ส่วนที่มีการท้าทายให้แท็กซี่หยุดวิ่งเพื่อทดสอบว่าประชาชนจะเดือดร้อนหรือไม่หากไม่มีแท็กซี่นั้น คงทำไม่ได้เพราะพี่น้องแท็กซี่ต้องทำมาหากิน อีกทั้ง Grab ยังคิดค่าโดยสารแพงกว่าแท็กซี่ปกติอีกด้วย

นายวรพลกล่าวถึงข้อเรียกร้องที่ยื่นให้กับกระทรวงคมนาคมว่า มีอยู่ 6 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1.กรณีอนุมัติให้รถยนต์นั่งบุคคลป้ายดำ หรือแกร็บ (Grab) ให้ถูกกฎหมาย 2.กรณีอุปกรณ์แท็กซี่โอเคที่ไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องหาทางชดใช้และเยียวยาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคืนให้กับผู้ประกอบการแท็กซี่ทุกคัน หากมีการอนุมัติให้แกร็บวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้เกิดเหตุมีการแข่งขันทางด้านธุรกิจกันมากเกินไป รวมทั้งไม่สามารถกำหนดราคามาตรฐานได้ จนถึงต้องประกาศให้บริการในราคาค่าโดยสารที่ต่ำเกินกว่ามาตรฐานในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการแท็กซี่หรือพนักงานขับรถไม่สามารถดำเนินการแข่งขันทางด้านธุรกิจได้ การจำกัดความเร็วของรถ ติดตั้งฟิล์มกรองแสง

3.การปรับใช้อายุแท็กซี่จาก 9 ปีเป็น 12 ปี 4.ใบสั่งนำไปจ่ายที่โรงพักใดก็ได้ทั่วประเทศไม่เปรียบเทียบปรับ ณ จุดตั้งด่าน ไม่ยึดใบขับขี่ 5.เร่งรัดหาข้อสรุปการปรับขึ้นราคาค่าบริการของแท็กซี่ปัจจุบัน และ 6.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาแก้ไขกฎหมาย โดยมาจากตัวแทนกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะ

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมาคมฯ ประชุมหารือและมีมติเห็นชอบควรทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับอาชีพคนขับรถแท็กซี่สาธารณะที่ถูกต้อง มีใจรักในงานบริการ หากกระทรวงมีการพัฒนาแท็กซี่ขอให้ทัดเทียมอยู่ในรูปแบบภายใต้กฎหมายเดียวกัน ระเบียบ วิธีการ ข้อบังคับ กฎกติกา รวมทั้งต้นทุนการนำรถยนต์มาใช้ประกอบอาชีพ ลักษณะรูปลักษณ์และมาตรฐานเดียวกัน คาดว่าความเดือดร้อนจะไม่เกิดกับคนขับแท็กซี่อย่างเดียว แต่กระทบถึงครอบครัว ที่มีจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และอาจส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย การโจรกรรมจะเกิดขึ้นและความวุ่นวายอีกมาก

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าจะนำข้อเรียกร้องไปเสนอ รมว.คมนาคม ต่อไป ขณะนี้ต้องรอกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รวบรวมข้อเรียนร้องและแนวทางแก้ไขของกลุ่มแท็กซี่ทั้งหมด เสนอกลับมายัง รมว.คมนาคม หลังจากนั้นค่อยนัดประชุมใหญ่หารือกันอีกครั้ง โดยจะมี รมว.คมนาคมเป็นประธาน

สำหรับข้อเรียกร้องครั้งนี้ ต้องการแก้ปัญหาให้รถแท็กซี่ถูกกฎหมาย ทั้งรถแท็กซีที่มีอายุการใช้งาน 9 ปี ต้องปลดระวาง ประมาณ 30,000-40,000 คัน ยังมีวิ่งบริการแข่งกับรถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายอยู่ โดยให้จำกัดรถเหล่านี้ออกจากระบบ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายที่ถูกต้อง โดยกลุ่มนี้ไม่ได้มองในเรื่องปรับขึ้นค่าโดยสารเลย

ทั้งนี้ตามนโยบายของ รมว.คมนาคม ส่วนไหนที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของแท็กซี่ได้ วันนี้แท็กซี่โอเคอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก รายปีที่สูง ตรงไหนที่ลดได้จะพิจารณาให้ แต่ผู้โดยสารที่ใช้บริการต้องมีความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุกับแท็กซี่ต้องสามารถติดตามตัวผู้มากระทำผิดได้ ไม่ใช่ลดความปลอดภัยและราคาค่าโดยสารที่ถูกลง ขณะนี้ยินดีรับข้อเสนอของทุกกลุ่ม เพราะจะได้ไม่มีข้อโต้แย่งเมื่อมีการประกาศใช้

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 17/9/2562

ศาลแรงงานภาค 7 รับคดีโรงงานเบี้ยวค่าแรง ให้เวลา 15 ไกล่เกลี่ยจ่ายคนแรงคนงานทั้งหมด

นายอัฉจริยะ เรืองรัตน์พงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 270 คน คนไทย 5 คน จากหน้าโรงงาน ทยอยขึ้นรถกระบะเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณศาลาด้านหลังศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศาลแรงงานภาค 7 โดยแรงงานบางส่วนขี่รถ จยย.มาเอง

วัตถุประสงค์ที่นายอัฉจริยะ เรืองรัตน์พงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และบรรดาแรงงานชาวเมียนมา เดินทางมาครั้งนี้ก็เพื่อต้องการเรียกร้องให้ทางโรงงานจ่ายเงินค่าแรงที่ติดค้างกับแรงงานอยู่ 3 เดือน โดยนายอัฉจริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาที่โรงงานเบี้ยวค่าแรงคนงานหมักหมมมานาน โรงงานค้างค่าแรงคนงานพม่ามาเป็นเวลา 3 เดือน 6 งวด ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานได้รับความเดือดร้อนสาหัส เห็นว่ามีคนงานบางส่วนได้รับค่าแรงไปเพียงแค่บางส่วน ไม่ทราบจริงๆ ว่าทำไมเจ้าของโรงงาน ถึงไม่จ่ายค่าแรงให้แก่คนงานให้หมด ลูกๆ ก็เป็นหมอคนดัง เงินทองก็มีมากมายเอาไปซ่อนไว้ทำไม ไม่จ่ายให้หมดไปเดียว

ตนเองจะไม่ต้องมาดูแลเรื่องนี้อีก ไปทำงานอย่างอื่นที่มีอีกมากมาย นายจ้างมาบังคับให้ทำงานหากไม่ทำ ก็จะไม่จ่ายค่าแรง ถึงว่าเป็นแรงงานบังคับตามมาตรา 6/1 จำคุกไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ต่อแรงงาน 1 คน ซึ่งวันนี้ได้เตรียมไว้ 5 ปาก ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เป็นตัวลูกข่ายของการค้ามนุษย์ ทางบริษัทมันไม่มีอะไรแน่นอน เรื่องนี้ออกมาพูดกันลอยๆ ก็รู้สึกยินดีที่ทางฝ่ายนายจ้างออกมาตื่นตัวนำเงินมาจ่ายลูกจ้างไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังเหลืออยู่อีก จริงๆ แล้วเงินก็ไม่ใช่จำนวนมากมายอะไร หากตรงไปตรงมานำมาจ่ายเรื่องก็จบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 11.00 น.ของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่สวัสดิ์การคุ้มครองจากกระทรวงฯ กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทางศาลแรงงานภาค 7 ได้เดินทางมาถึง และทำการตรวจเช็ครายชื่อของแรงงานต่างด้าวว่ามีชื่อตรงกับในกนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวพื้นที่หรือไม่

จากนั้นนายอัฉจริยะ พร้อมทั้งทีมทนายความได้เดินทางขึ้นไปที่อาคารที่ทำการของศาลแรงงานภาค 7 และในเวลา 12.00 น.นายอัฉจริยะ ได้เดินลงมาพร้อมกล่าวกับแรงงานสัญชาติเมียนมา จำนวน 270 คน แรงงานคนไทย 5 คน รวมทั้งผู้สื่อข่าวและ พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ กันตะยศ ผกก.สภ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ว่า ศาลแรงงานภาค 7 รับฟ้องกรณีโรงงานจ่ายค่าแรงไม่ตามเวลาที่กำหนดจนเกิดปัญหาต้องเข้าพึ่งศาล โดยทางศาลแรงงานภาค 7 ให้เวลา 15 วัน เพื่อนัดทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาไกล่เกลี่ย หากไม่มาตามนัด จะดำเนินการตามกฎหมายแรงงานต่อไป

มีรายงานข่าวว่า กรณีที่นายอัฉจริยะ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำแรงงานต้องสงสัยว่าจะป็นแรงงานบังคับตาม พรบ.ค้ามนุษย์ 2562 จำนวน 4 รายเดินทางเพื่อไปให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วนงานสอบสวนปากคำว่า จะเข้าข่ายค้ามนุษย์หรือไม่

ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานซึ่งประกอบด้วยพนักงานสอนสวน สภ.ท่ามะกาฯ เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดฯ เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดฯ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฯ พนักงานอัยการจังหวัดฯ พ.ต.อ.สำราญ กลั่นมา ผกก.ตม.จ.กาญจนบุรี พ.ต.อ.ณัฐวุฒิ กันตะยศ ผกก.สภ.ท่ามะกาฯ และหน่วยงานที่เกั่ยวข้อง

มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่ไปนั่งรอสอบสวนปากคำแรงงานทั้ง 4 คนที่ต้องสงสัยว่าจะเข้าข่ายว่าเป็นแรงงานบังคับ ต่างต้องรอเก้อ เนื่องจากไม่พบ หรือมีวี่แววว่าจะมีการนำแรงงานต้องสงสัยว่าจะเป็นแรงงานบังคับทั้ง 4 คนมาให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนปากคำแต่อย่างใด

ที่มา: สยามรัฐ, 16/9/2562

กรมการจัดหางาน จับมือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส เปิดชำระค่าธรรมเนียมทำงานต่างด้าวในเซเว่น อีเลฟเว่น

“นางเพชรรัตน์ สินอวย” อธิบดีกรมการจัดหางาน และ “นายวีรเดช อัครผลพานิช” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด รลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินหลักประกัน ตอบโจทย์อำนวยความสะดวกนายจ้าง-คนต่างด้าว สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาจ่ายต่อคนไม่เกิน 1 นาที

นางเพชรรัตน์ กล่าว ว่า กรมการจัดหางานได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ได้เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานต่อไปได้ สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นการลดภาวะการขาดแคลนแรงงาน ส่งเสริมปัจจัยพื้นฐานในภาคการผลิตอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศ ในส่วนของแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการตามสิทธิที่พึงได้

ทั้งนี้กรมการจัดหางานได้อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ และลูกจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในด้านการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินหลักประกันผ่าน บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด จะทำให้สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเข้าคิวต่อแถวยาว และยังสามารถทำนอกเวลาราชการได้ด้วย โดยมีอัตราค่าบริการ 10 บาท สำหรับการชำระเงินค่าธรรมเนียม 1 รายการ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

“สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการ เมื่อนายจ้าง/สถานประกอบการหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้รับแบบบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่รับรองแล้ว ให้ไปยื่นขอตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลและยื่น ขอตรวจลงตราที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว จากนั้น จึงไปยื่นขอชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินหลักประกัน (กรณีที่นายจ้างไปดำเนินการเอง) ที่จุดให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยชำระเป็นจำนวนเงิน 1,910 บาท แบ่งเป็น ค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท ค่าธรรมเนียมขออนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท และค่าบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน และสำหรับนายจ้างที่ต้องวางเงินหลักประกันจะต้องชำระเงินอีกจำนวน 1,010 บาท แบ่งเป็น เงินหลักประกัน 1,000 บาทต่อแรงงาน 1 คน และค่าบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส 10 บาท ” นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว

ด้าน “นายวีรเดช” กล่าวว่า บริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส ได้พัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และศักยภาพสูงมาให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในการเปิดบริการรับชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน และเงินหลักประกัน

สำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพียงใช้เอกสารที่มีแถบบาร์โค้ดมาชำระเงินค่าธรรมเนียม จากนั้นรับสลิป และ SMS เป็นหลักฐานยืนยัน นอกจากนี้ทางบริษัทยังพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้งาน สามารถอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย และลดต้นทุนต่อผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทได้ร่วมกับกรมการจัดหางานในการรับชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานก่อนแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ทำให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวได้รับความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการเปิดให้บริการรับชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินหลักประกันในครั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 16 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2563 และในอนาคตจะมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเคาน์เตอร์เซอร์วิสแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ด้วยจำนวนจุดให้บริการที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมงกว่า 12,500 สาขา ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

สำหรับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่จะต้องดำเนินการดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 2,001,379 คน แบ่งเป็น กลุ่มแรงงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเดิม และกลุ่มจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ เมื่อปี 2561

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/9/2562

สนร.บรูไนเยี่ยมแรงงานไทยไข้สูง-นายจ้างไฟเขียวกลับไทย

วันที่ 16 ก.ย. 2562 นางนภวรรณ โกละกะ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน เดินทางไปเยี่ยม นายพีรพล เจริญผลโชคชัย แรงงานไทย บริษัท Loong Ji SDN BHD ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ซึ่งมีอาการตัวร้อนไข้ขึ้นสูง และแขนขาอ่อนแรง ก่อนเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล RIPAS เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา

โดยสนร.บรูไน ได้ให้การช่วยเหลือและดูแลตั้งแต่วันแรกที่ นายพีรพล เข้าโรงพยาบาล พร้อมทั้งได้ส่งล่ามเข้าไปดูแลระหว่างพบแพทย์ เนื่องจากลูกจ้างไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงทำให้มีปัญหาในการสื่อสารกับแพทย์เจ้าของไข้ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

ทั้งนี้นายพีรพล แรงงานไทย เดินทางมาทำงานที่ประเทศบรูไนพร้อมด้วยภรรยา ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561 ปัจจุบันทำงานมาแล้ว 9 เดือนกว่า ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล เบื้องต้น สนร.บรูไน ได้ติดต่อสอบถามนายจ้างทราบว่า นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด

อย่างไรก็ตามในส่วนของนายพีรพลแจ้งว่า หากมีอาการดีขึ้นต้องการเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมด้วยภรรยา เพื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน ทาง สนร.บรูไน จึงได้ประสานกับนายจ้าง ซึ่งนายจ้างได้ยินยอมให้ลูกจ้างเดินทางกลับไปพักผ่อนรักษาตัวที่ประเทศไทยได้ โดยนายจ้างจะดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายบัตรโดยสารเครื่องบินให้ทั้งหมด ขณะนี้นายพีรพล ลูกจ้างมีอาการดีขึ้นตามลำดับและคาดว่า จะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ภายในสองวันนี้

ที่มา: ข่าวสด, 16/9/2562

ตลาดอิ่มตัว เผยนักบินจบใหม่ตกงานกว่า 600 ชีวิต

นายสนอง ยิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยว่า ปัจจจุบันพบว่ามีอัตราว่างงานของนักบินไทยที่จบใหม่มากถึง 600 คน โดยทั้งหมดยังไม่สามารถหาสังกัดได้ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการส่งเสริมให้เกิดการผลิตบุคลากรในส่วนนักบินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มอัตราการจ้างงานในตำแหน่งนักบินที่เพิ่มสูงในอดีต

อย่างไรก็ตาม ตลอด 3 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าเกิดปัญหานักบินจบใหม่ว่างงานมากขึ้น เนื่องจากอัตราการจ้างงานส่วนหนึ่งถูกนักบินต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ซึ่งประเด็นนี้อาจจะขัดต่อหลักการ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และการกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสงวนอาชีพนักบินไว้สำหรับคนไทย กระนั้นก็ตามจาการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีคนต่างด้าวทำงานในตำแหน่งนักบินจำนวน 113 คน จาก 13 บริษัทที่ให้บริการ โดยได้รับใบอนุญาตทำงานในแบบธุรกิจ 12 คน และได้รับอนุญาตให้ทำงานแบบ BOI อีก 101 คน

ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้รับทราบถึงปัญหาที่นักบินไทยเพิ่งจบใหม่ว่างงาน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ดีอย่างมาก โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ประชาสัมพันธ์ รวมถึงแนะแนวให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งใจจะมาเรียนด้านการบิน และสาขาที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ ว่าตลาดนักบินเริ่มอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว เพราะมีการผลิตบุคลากรออกมาเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการบรรจุ

"ต้องการให้เด็กนักเรียน หรือผู้ปกครองแนะนำบุตรหลานไปเรียนสาขาอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ และจากนี้จะกำชับให้กวดขันเรื่องการทำงานของนักบินต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นอีกทางในการช่วยแก้ปัญหานักบินไทยล้นตลาด" รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: smartsme.co.th, 13/9/2562

ชี้เด็กยากจนจบ ม.3 ไม่เรียนต่อ ต้องเข้าระบบ-พัฒนาฝีมือแรงงาน

13 ก.ย. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจัดประชุมชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เดินหน้า “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)” เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” ยกระดับรายได้มากกว่า 300 บาท ต่อวัน เสริมอาชีพมั่นคงต่อยอดคุณภาพชีวิตที่ดี

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าในแต่ละปีมีนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แต่ไม่ได้เรียนต่อเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยปีละ 80,000 - 100,000 คน โดยเฉพาะปีการศึกษาล่าสุด (2561) มีจำนวนถึง 147,644 คน นักเรียนเหล่านี้ เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีเนื่องจากครอบครัวยากจน ในฐานะแรงงานไร้ฝีมือได้ค่าจ้างรายวันเพียงค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั้งนี้หากได้บูรณาการการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวหลังจบการศึกษาภาคบังคับก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปีแล้ว จะช่วยให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานมีฝีมือ ทำให้มีรายได้ค่าจ้างสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนดำเนินโครงการนำร่อง “โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)” ปีการศึกษา 2561 ผลการดำเนินโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี เด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมีทักษะด้านอาชีพ เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานมีฝีมือมีรายได้ค่าจ้างสูงขึ้นเป็น 350 - 500 บาทแต่วัน มากกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันนี้ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ 4 กระทรวงหลัก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานในสังกัดในระดับจังหวัด และการประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับนักเรียนที่จะจบการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป และในเดือน พ.ย. 2562 นี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/9/2562

คสรท.เสนอรัฐออกโครงการประกันรายได้แรงงาน เชื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัว ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ติดลบ รวมถึงมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากขึ้น ทำให้นายจ้างเริ่มที่จะปลดพนักงานบางส่วนออก ดังนั้น ในอนาคตจะเห็นคนตกงานมากขึ้น จึงขอเสนอให้ภาครัฐออกโครงการประกันรายได้ให้กับแรงงาน เหมือนกับโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งหากแรงงานรายใดที่ยังไม่ได้ค่าแรงตามเกณฑ์ ภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างให้ ทั้งนี้ มองว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/9/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท