Skip to main content
sharethis

21 ก.ย. 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังจากที่เข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมานั้น

สมาคมฯ ได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส. แต่ละคนพบว่าในส่วนของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้แจ้งว่าได้ให้กู้ยืมเงินแก่พรรคอนาคตใหม่ 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 จำนวน 161,200,000 บาท และสัญญาที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 จำนวน 30,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 191,200,000 บาท ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที (FCCT) ในหัวข้อ อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่ (What is the future of Future Forward?) เมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค. 2562 ในการบรรยายตอนหนึ่งนายธนาธรได้กล่าวถึง การบริหารการเงินของพรรคอนาคตใหม่ว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ ปัจจุบันตนจึงให้เงินทางพรรคยืมไปแล้วน่าจะประมาณ 105 หรือ 110 ล้านบาท รวมทั้งไม่ตรงกับคำพูดของคุณพรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่พูดในรายการ “ฟังหูไว้หู” เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 ทางช่อง 9 MCOT HD โดยระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้ยืมประมาณ 250 ล้านบาท พร้อมคิดดอกเบี้ย

นิติกรรมดังกล่าว ตาม พรป.พรรคการเมือง 2560 ม.62 ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ให้ทำได้ ซึ่งสมาคมฯได้นำความไปร้องเรียนต่อ กกต.ไว้แล้วเมื่อ 21 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา และ กกต.ได้เรียกสมาคมฯ ไปไต่สวนเพิ่มเติมแล้ว แต่เนื่องจากพยานหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ของคุณธนาธร เป็นหลักฐานผูกมันตามข้อเท็จจริงโดยปริยาย

ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความพร้อมพยานหลักฐานไปยื่นเพิ่มเติมให้กับ กกต.เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน และเอาผิดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ตาม ม.66 วรรคสอง ประกอบ ม.125 ซึ่งอาจต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท  และให้ศาลสั่งเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกําหนด 5 ปี  และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านที่กําหนดไว้ตามมาตรา 66 ให้ตกเป็นของกองทุนพัฒนาฯ พรรคการเมืองได้

โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 23 ก.ย. 2562 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.

'จรุงวิทย์' เตรียมเสนอ กกต.พิจารณา สัปดาห์หน้า 

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้าน เพื่อดำเนินกิจการพรรคว่าสัปดาห์หน้าสำนักงาน กกต.จะส่งเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีดังกล่าว นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่ากฎหมายพรรคการเมืองไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เมื่อตรวจสอบกฎหมายพรรคการเมืองพบว่าเรื่องเงิน รายได้ และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 เขียนไว้ต่างกัน 

ปี 2550 มาตรา 53 (7) ได้กำหนดให้มีรายได้อื่น พรรคจึงอาจมีรายได้จากการกู้ยืมเงินได้ โดยในอดีตที่ผ่านมาก็มีถึง 20 พรรคการเมืองกู้ยืมเงินโดยอาศัยบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในการหารายได้ และมีการระบุไว้ในรายงานงบดุลประจำปีของพรรคที่รายงานต่อ กกต. แต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา 62 ไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่องรายได้อื่นแล้วและกำหนดประเภทของรายได้ไว้ 7 ประการ การที่พรรคจะกู้ยืมเงินมาเป็นรายได้ไม่น่าจะทำได้  

ซึ่งรายได้ 7 ประการของพรรคการเมือง ตามมาตรา 62 ประกอบด้วย 1.เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ 3.เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรค 4. เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค 5.เงินทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการบริจาค 6. เงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 7.ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net