Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์เลือกตั้งอิสราเอล พรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยอาหรับในอิสราเอลก็เริ่มมีคะแนนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงระดับท็อปแต่ก็มีอิทธิพลมากพอจะลดทอนอำนาจของเนทันยาฮูในสภาได้


ที่มาภาพประกอบ: Zachi Evenor (CC BY 2.0)

ในอิสราเอลมีการจัดการเลือกตั้งสภาคเนสเซตอย่างกระทันหันเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรครัฐบาลเดิมคือพรรคลิคุดนำโดยเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จากการเลือกตั้งช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ โดยที่ถึงแม้ว่าการนับคะแนนล่าสุดผลจะยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการแต่ผลการนับคะแนนมากกว่าร้อยละ 98 ตอนนี้ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยอาหรับในอิสราเอลก็เริ่มมีคะแนนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงระดับท็อปแต่ก็มีอิทธิพลมากพอจะลดทอนอำนาจของเนทันยาฮูในสภาได้

นิตยสาร Foreign Policy ระบุถึงการเลือกตั้งล่าสุดสภาคเนสเซตครั้งล่าสุดในอิสราเอลที่พรรคการเมืองลิคุดนำโดยเบนจามิน เนทันยาฮู กับพรรคสายกลางบลูแอนด์ไวท์ที่นำโดยอดีตผู้นำทหารเบนนี กันต์ซ มีคะแนนนำคู่คี่สูสีในฐานะพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในอิสราเอล แต่ก็ไม่มีพรรคใดเลยที่มีหนทางชัดเจนในการสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ จากสมาชิกสภาที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามา 120 คน

ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความยุ่งเหยิงในเรื่องการเมืองระหว่างพรรคระดับท็อป แต่ในขณะเดียวก็แสดงให้เห็นถึงความหวังที่พรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับในอิสราเอลจะสามารถต่อสู้คัดง้างทางการเมืองได้มากขึ้นในสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอิสราเอล และสามารถลดการกุมอำนาจของเนทันยาฮูได้

กลุ่มพรรคการเมืองอาหรับ 4 พรรคเล็กๆ ได้รวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมืองแนวร่วมฝ่ายซ้ายกลางที่เรียกว่าเดอะจอย์นต์ลิสต์ จากผลการนับคะแนนร้อยละ 98 ของทั้งหมดระบุว่าพวกเขามีคะแนนมาเป็นอันดับที่ 3 และได้ที่นั่งในสภาไปแล้วอย่างน้อย 13 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าที่ผลการสำรวจเคยคาดการณ์ประเมินไว้

Foreign Policy ประเมินว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้กลุ่มพรรคการเมืองในอิสราเอลจะยื้อแย่งพันธมิตรกันในการจัดตั้งพรรคแนมร่วมรัฐบาล โดยที่จอย์นต์ลิสต์ดูจะเข้าหาพรรคสายกลางบลูแอนด์ไวท์มากกว่าพรรคของเนทันยาฮู จากการที่หัวหน้าพรรคเคยติดต่อหารือกับพรรคบลูแอนด์ไวท์ อะหริก รูดนิตซกี นักวิจัยจากสถาบันประชาธิปไตยอิสราเอลกล่าวว่า พรรคแนวร่วมอาหรับแสดงออกแบบนี้เป็นเชิงส่งสัญญาณว่าเสียงของชาวอาหรับไม่ควรจะถูกเพิกเฉยและพวกเขาต้องการทำให้เนทันยาฮูพ่ายแพ้

ประเทศอิสราเอลมีชาวอาหรับสัญชาติอิสราเอลเป็นประชากรร้อยละ 20 ของประเทศ การที่กลุ่มพรรคใหญ่ๆ แนวทางเดิมจะร่วมมือจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกันนั้นเป็นไปได้ยากทำให้กลุ่มพรรคจอย์นต์ลิสต์ต้องเลือกว่าจะเข้าร่วมกลุ่มใด

มีอีกกลุ่มหนึ่งคือพรรคยิสราเอลเบเทย์นูของ อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน เขามีท่าทีต่อต้านอาหรับอย่างชัดเจนและแถลงปฏิเสธจะเข้าร่วมกับกลุ่มพรรคจอย์นต์ลิสต์ พรรคยิสราเอลเบเทย์นูเป็นฝ่ายขวาทำตัวเป็นผู้เสมือนผู้ตัดสินที่ในการขับเคี่ยวระหว่างเนทันยาฮูกับกันต์ซคือการที่ถ้าหากเขาเข้าร่วมกับพรรคใดพรรคนั้นก็จะชนะการจัดตั้งรัฐบาล นั่นทำให้จอย์นต์ลิสต์จะกลายเป็นฝ่ายถ่วงดุลอำนาจชี้นำนี้ถ้าหากพวกเขาสนับสนุนพรรคของกันต์ซ พวกเขาสามารถโหวตลงมติในเรื่องนโยบายที่จะเป็นเป็นประโยชน์ต่อชุมชนของชาวอาหรับรวมถึงสามารถยืนยันที่จะปฏิรูปกฎหมายต่อต้านชาวอาหรับและต่อต้านนโยบายเมินเฉยต่อชาวอาหรับได้

แต่ถ้าหากว่าแผนการไม่เป็นไปตามที่คาดเนื่องจากกลุ่มของเนทันยาฮูกับกันต์ซร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลกันเอง ไอมาน ออดาห์ ก็จะยังคงได้เป็นผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้าน โดยที่ตำแหน่งนี้ในอิสราเอลมีอำนาจในการเข้าร่วมหารือรายสัปดาห์กับนายกรัฐมนตรีและเข้ารับฟังการแถลงในที่ประชุมด้านความมั่นคงที่ปิดลับได้

มีการประเมินว่าที่พรรคสายอาหรับได้รับคะแนนเสียงอย่างมากในครั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มชาวอาหรับเข้าร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในครั้งนี้ เทียบกับเมื่อเดือน เม.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 49 ถือว่าน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เพราะในตอนนั้นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกำลังรู้สึกรำคาญการเมืองอิสราเอล

นักวิเคราะห์มองว่าการที่พรรคแนวร่วมอาหรับสามารถเข้าสู่การเมืองระบบสภาในครั้งนี้ได้ถือเป็นความสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ เพราะออดาห์เป็นผู้แทนของประชาชนชาวอาหรับรุ่นที่ต้องการให้มีตัวแทนของพวกเขาอยู่ในสภา จากเดิมที่ในประวัติศาสตร์การเมืองอิสราเอลตลอด 71 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองของอาหรับเป็นพรรคเล็กๆ ที่ไม่ส่งผลอะไรและมักจะถูกกีดกันจากพรรคชาวยิวเพราะชาวอาหรับเหล่านี้ต่อต้านเรื่องความเป็นรัฐยิว รวมถึงมักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้ส่งเสริมชาวปาเลสไตน์มากเกินไป

เอราน ซิงเกอร์ นักข่าวด้านกิจการอาหรับและบรรณาธิการสื่อสาธารณะอิสราเอลกล่าวว่าแรงผลักดันพรรคการเมืองอาหรับนี้มาจากการเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นเยาว์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้วย พวกเขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมรัฐบาล พวกเขาไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน ไม่อยากถูกกีดกันเป็นชายขอบ


เรียบเรียงจาก
An Unlikely Winner in Israel’s Election, Foreign Policy, 18-09-2019
https://foreignpolicy.com/2019/09/18/an-unlikely-winner-in-israels-election/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/September_2019_Israeli_legislative_election
https://en.wikipedia.org/wiki/Avigdor_Lieberman

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net