Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมไม่รู้เรื่องความเคลื่อนไหวในฮ่องกงมากกว่าชาวบ้านทั่วไป ถ้าสรุปอะไรผิดพลาด ก็เพราะสรุปตามข่าวในสื่อ ไม่ได้ลงพื้นที่ศึกษาจริง แม้ว่าฐานความรู้จะอ่อนเพียงไร แต่คิดว่าฮ่องกงน่าจะให้บทเรียนแก่ไทยได้อย่างดี

เพราะแยกไม่ออกระหว่างความปรารถนาส่วนตัว และการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ทำให้ผมคิดตลอดมาว่า ไม่โดยทางใดทางหนึ่งที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ในที่สุดเผด็จการทหารไทยก็จะถอนตัวออกไป แต่หลังการเลือกตั้ง สถานการณ์ตามความเป็นจริงบังคับให้ผมต้องยอมรับว่า แม้ได้ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนแสดงเจตจำนงของตนอย่างชัดแจ้งว่า ไม่ต้องการให้ คสช.สืบทอดอำนาจ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม สื่อที่สมมุติว่า “เสรี” ขึ้นเพราะบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่เสรีภาพของบุคคลก็ยังถูกจำกัดไม่ต่างจาก 5 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่จำกัดด้วยวิธีอ้อมกว่าเท่านั้น

หน่วยงานรัฐยังประเมินว่า ทหารจะอยู่ในอำนาจสืบไปอีกนาน ผู้บังคับบัญชาแม้แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัย จึงพร้อมเป็นเครื่องมือกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้แก่อำนาจทหารอย่างไร้ความละอายสืบมา และคงจะสืบไปด้วย

ดังนั้น อย่างไรเสีย ในวันใดวันหนึ่ง และด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ประชาชนก็ต้องลงถนนจนได้

แต่ยุทธวิธี “มวลมหาประชาชน” ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ 14 ตุลา ไม่ช่วยให้ประสบชัยชนะอีกแล้ว ทั้งยังต้องสูญเสียจำนวนมาก (กว่าที่ทางราชการไทยยอมรับ) เงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายทหารสามารถใช้ความรุนแรงได้เต็มที่เหมือนในสมรภูมิ ก็เพราะแม้แต่เมื่อฝ่ายทหารปราชัย ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติสังหารหมู่ประชาชนก็ลอยนวลเสมอ

ดังนั้น หากต้องลงถนนอีก ต้องจำกัดความสูญเสียให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ซึ่งไม่ง่าย) และต้องประสบความสำเร็จในการเอากองทัพออกจากการเมืองอย่างถาวร ความเคลื่อนไหวของประชาชนในฮ่องกงจึงน่าจะให้บทเรียนแก่ไทยเพราะเหตุนี้

และเท่าที่ความรู้เท่าหางอึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกงที่ผมมีอยู่ ผมขอสรุปบทเรียนดังนี้

1. ยุทธภูมิของการเผชิญหน้าหลักต้องเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลา อีกทั้งสลายตัวได้เร็วก่อนที่การปะทะจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากเกินไป แม้ว่าการปะทะยังมีความจำเป็น เพราะให้ภาพความอ่อนแอของฝ่ายอำนาจได้ชัดเจน แต่อย่ามุ่งเอาชนะใน “การรบ” ให้นึกถึงชัยชนะใน “สงคราม” ดีกว่า (ใช้ศัพท์ของสงคราม เพื่อความเข้าใจง่ายเท่านั้น ถึงอย่างไรก็ต้องสำนึกเสมอว่า แม้เราชนะในที่สุด ปฏิปักษ์ของเราก็ยังจะอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเราตลอดไป) การเลือกยุทธภูมิจึงมีความสำคัญ เพราะต้องมีทางหนีทีไล่ที่ดี ส่วนใหญ่ของผู้ถือ “แผนที่” จริงของเมือง และเชี่ยวชาญพื้นที่เมืองยิ่งกว่าใครอยู่ฝ่ายประชาชน คือผู้ขี่มอ’ไซค์รับจ้าง

ปักหลักเพื่อ “ป่วน” (disrupt) อำนาจ ก็ทำได้ เมื่อมีเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าปลอดภัย

2. รัฐฮ่องกงมีข้อจำกัดที่ไม่อาจทำสงครามกับประชาชนอย่างเต็มที่ได้ ฐานะศูนย์กลางทางการเงินใหญ่ระดับโลกเช่นนั้น ฮ่องกงย่อมเผย (expose) ตนเองแก่นานาชาติมากกว่าไทยหลายเท่า ทหารไทยไม่ห่วงเรื่องนี้ เพราะถึงอย่างไรประเทศไทยก็ไม่มีความสำคัญแก่โลกเท่าฮ่องกง ดังนั้นยุทธวิธีล่าสุดที่ฝ่ายทหารได้พบใน 2553 ก็คือสร้าง “ภาวะล้อมเมือง” (state of siege) ขึ้น ประชาชนในเมืองทุกคนกลายเป็นศัตรู

ยุทธวิธี “ภาวะล้อมเมือง” ตรึงคนจำนวนมากในเมืองให้หยุดอยู่กับที่ จะเผชิญกับยุทธวิธีนี้อย่างไร ฮ่องกงไม่ได้ให้บทเรียนในเรื่องนี้ จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเมืองใหญ่ขนาดกรุงเทพฯ ทหารไทยมีกำลังพอจะ “ล้อมเมือง” ได้ทั่วถึงจริงหรือ และช่องโหว่-ทั้งในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และในปฏิบัติการ-จะอยู่ตรงไหน?

3. การเคลื่อนไหวในฮ่องกงไม่มี “แกนนำ” ที่เด่นชัดนัก ในแง่หนึ่งก็อาจเป็นจุดอ่อน แต่อีกแง่หนึ่งกลับเป็นจุดแข็ง เพราะยากที่จะถูก “เด็ดหัว” ปัญหาที่ควรต้องคิดก็คือจะแปลงจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งได้อย่างไร

หนึ่งในจุดอ่อนของการไม่มี “แกนนำ” เด่นชัดก็คือ จะวางยุทธวิธีได้อย่างไร นับตั้งแต่จะชุมนุมที่ไหน ไปจนถึงจะสื่อ “สาร” อะไรและอย่างไรในการชุมนุมประท้วง (เช่นปิดตาข้างหนึ่ง ไปจนถึงทำให้ต้องเปลี่ยนสายการเดินรถเมล์ หรือหยุดรถไฟใต้ดิน อันเป็นการป่วนที่กระทบถึงสังคมในวงกว้าง แสดงถึงความไร้สมรรถภาพของรัฐที่จะรักษาความเป็นปกติหรือ normalcy ไว้ได้)

เท่าที่ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ก็คือ ยุทธวิธีของประชาชนฮ่องกงเกิดจากการอภิปรายของสาธารณชนผ่านเครื่องมือสื่อสาร น่าจะมีการถกเถียงถึงจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละยุทธวิธี และน่าจะมี “แกนกลาง” กลุ่มหนึ่งซึ่งมีลักษณะลื่นไหลอย่างมาก สามารถสื่อสารระหว่างกันโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ฝ่ายรัฐไม่อาจเจาะเข้าไปได้ แม้ว่า “แกนนำ” ไม่ได้มีบทบาท “นำ” การชุมนุมโดยตรง แต่ก็เป็นผู้กำหนดสถานที่และวางประเด็นได้ในระดับหนึ่ง

จุดอ่อนดังกล่าวกลายเป็นจุดแข็ง เพราะยุทธวิธีได้รับฉันทานุมัติอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็เปิดให้บุคคลมีความคิดริเริ่มในการประท้วงได้มาก จนยากที่รัฐจะสามารถตามตอบโต้ได้ทันในทุกเรื่อง

นอกจากนี้ ยังช่วยกระจายการประท้วงไปได้กว้างขวาง เพราะคนที่เลือกจะไม่เข้าร่วมการชุมนุม ก็อาจติดป้ายหรือแต่งกายสนับสนุนการประท้วงอย่างปลอดภัยได้ด้วย เพราะรู้ประเด็นการประท้วงอยู่แล้ว ข้อความหรือศิลปะข้างถนน (graffiti) ช่วยสร้างบรรยากาศของความ “อปกติ” ให้ขยายไปทั่วทั้งสังคม

4. การสื่อสารส่วนตัวและการเชื่อมต่อระหว่างกันมีความสำคัญมาก สถานการณ์ในฮ่องกงพิสูจน์ให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่มีศักยภาพที่ทำให้ผู้ประท้วงสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างที่รัฐไม่อาจปิดกั้น (หนังสือพิมพ์, วิทยุ, และโทรทัศน์ถูกปิดเมื่อไรก็ได้) แต่ศักยภาพนี้จะปรากฏเป็นจริงจนใช้การได้ ต้องมีความรู้ทางดิจิทัลเทคโนโลยีพอจะควบคุมและเปิดช่องทางสำหรับการสื่อสารใหม่ๆ ที่รัฐตามไม่ทัน ในเมืองไทยมีผู้เชี่ยวชาญระดับนี้จำนวนมาก จะระดมความเชี่ยวชาญของพวกเขาและขยายเทคนิคดังกล่าวในช่วงลงถนนอย่างไร ต้องคิดให้ดี จนถึงเตรียมการทำ “เล่นๆ” ไปก่อนก็ได้
 

5. ต้องทำให้การเคลื่อนไหวยืนระยะให้ได้นานประหนึ่งไม่มีทางจบ นอกจากชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาชน การยืนระยะให้นานให้ผลดีแก่ความเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนอย่างน้อยสามประการ

ก.แม้ว่าทหารไทยพร้อมจะใช้อาวุธหนักกับประชาชนของตนเอง แต่กองทัพไทยมีความแตกแยกภายในมาตั้งแต่หลัง 2475 เพราะกองทัพไม่ยอมให้มีการควบคุมจากส่วนกลาง เหตุดังนั้น หากทหารส่วนที่เป็นหัวหอกปราบปรามประชาชนไม่สามารถเอาชนะได้ในเร็ววัน ส่วนอื่นของกองทัพจะรีรอไม่เสริมกำลัง หรือถึงที่สุดก็ฝ่าฝืนคำสั่ง กรณีตัวอย่างเห็นได้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาและพฤษภาอำมหิต

ข.การยืนระยะได้ยาวนาน จะเป็นเวลาให้กรอบเป้าหมายทางการเมืองของฝ่ายประชาชนชัดเจนขึ้น เช่นไม่เพียงแต่ทหารยอมกลับเข้ากรมกองอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ชัดเจนว่าจะปรับปรุงโครงสร้างของกองทัพให้อยู่ในบังคับของรัฐบาลพลเรือนได้อย่างไรในภายหน้าด้วย เป็นต้น

ค.การยืนระยะทำให้การต่อสู้ของฝ่ายประชาชนเป็นที่จับจ้องในสายตาโลก ความใส่ใจของสื่อทั่วโลกช่วยยับยั้งการใช้ความรุนแรงของทหารได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ยับยั้งรัฐบาลทหารและสมุนนักการเมืองไว้บ้าง เพราะจะทำให้การบริหารต่อไปยากลำบากขึ้นหากถูกแซงก์ชั่นจากนานาชาติ

6. ในกรณีฮ่องกง พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องคิดให้ดีว่า ถ้าใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด จะคุ้มทุนด้านเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและยาว กับทุนด้านการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ ทั้งสองด้านช่วยยับยั้งมิให้การประท้วงในฮ่องกงสิ้นสุดลงด้วยการนองเลือดเหมือนจัตุรัสเทียน อัน เหมิน ในกรณีไทย เหตุยับยั้งดังกล่าวไม่แรงเท่า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารหรือกองทัพจะใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึก, ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน, หรือก่อรัฐประหารซ้ำ

มาตรการเหล่านี้ล้วนทำให้กองทัพสามารถใช้หน่วยราชการเป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพของประชาชนได้อย่างถูกกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้กลไกรัฐไม่ต้องกังวลกับความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากรัฐบาลทหารเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ปัญหาจึงอยู่กับฝ่ายประชาชนที่จะทำอย่างไรให้มาตรการเหล่านี้ไม่อาจหยุดยั้งการเคลื่อนไหวบนท้องถนนได้ ฮ่องกงให้บทเรียนอยู่เหมือนกัน เพราะรัฐเคยออกคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือสลายการชุมนุม แต่ไม่อาจควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม รัฐฮ่องกงยังไม่เคยออกคำสั่งเช่นห้ามออกจากเคหสถาน หรือห้ามเข้าเขตหวงห้าม อันเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยสามารถทำได้ภายใต้กฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ถึงอย่างไร ฮ่องกงก็ไม่มีกำลังตำรวจเพียงพอจะบังคับใช้กฎหมายกับ
ฝูงชนอย่างได้ผล ซึ่งเมื่อเทียบกับไทยแล้ว รัฐสามารถระดมกำลังทหารและตำรวจเป็นจำนวนมากกว่าตำรวจฮ่องกงหลายเท่า

นี่จึงเป็นปัญหาที่ต้องศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของประชาชนในสังคมอื่นนอกจากฮ่องกง อาจมีบทเรียนให้ประชาชนอาจใช้ประโยชน์ได้

7. จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็พอมองเห็นได้ว่า หากจะต้องลงถนนกันด้วยยุทธวิธีใหม่ๆ เหล่านี้ กรุงเทพฯ ย่อมเป็นศูนย์กลางของเวทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ จึงมีทางหนีทีไล่จำนวนมาก มวลชนที่ไม่พอใจรัฐบาลทหารมีจำนวนมาก (แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ อย่างเดียวกับที่ผู้ประท้วงในฮ่องกงก็ไม่ใช่ทั้งหมดของคนฮ่องกง), สื่อนานาชาติเข้าถึงง่าย, เชื่อมต่อกับเมืองในเขตปริมณฑลอีกหลายเมืองทำให้อาณาบริเวณของการเคลื่อนไหวใหญ่มากจนเกินกว่าจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมได้หมด ฯลฯ

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าหัวเมืองจะไม่มีบทบาทเสียเลย การประสานงานที่ดีจะช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวไปทุกเมืองใหญ่ ซึ่งจะช่วยตรึงกำลังทหาร, อส., ตชด., ให้ไม่อาจเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ได้สะดวก

นี่เป็นบทเรียนจากฮ่องกงที่ได้จากความรู้เท่าหางอึ่ง ประโยชน์ของมันจึงไม่ได้อยู่ในเนื้อความซึ่งคงผิดๆ ถูกๆ แต่อยู่ที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเราทุกคน ในการช่วยกันค้นหาและเสริมสร้างบทเรียนการเคลื่อนไหวของประชาชนไทยและคนชาติอื่นๆ จากประสบการณ์จริงของคนซึ่งเคยต่อสู้กับเผด็จการมาแล้ว ชนะบ้างแพ้บ้าง ล้วนให้บทเรียนอันทรงคุณค่าทั้งสิ้น ประสบการณ์เหล่านี้จะสามารถปรับให้ได้ผลอย่างไรในประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนไปมากแล้วนี้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1670032

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net