Skip to main content
sharethis

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต คาดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นเป็นผลบวกต่อภาคการลงทุนระยะยาว แต่เฉพาะหน้าประเมินคนไทยว่างงานมากขึ้นและรายได้ลดลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี 


ที่มาภาพประกอบ: Nick Youngson CC BY-SA 3.0 ImageCreator

22 ก.ย. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าคาดว่าอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยที่จะประกาศผลในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้โดยธนาคารโลกน่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เป็นผลบวกต่อภาคการลงทุนระยะยาว ประสิทธิภาพของระบบราชการเพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและการทำให้เกิด Digital Transformation ในระบบราชการและในการบริการของภาครัฐบางหน่วยงาน มีการนำระบบออโตเมชันหรือระบบอัตโนมัติมาให้บริการมากขึ้น โดยรัฐบาลสามารถลดขนาดของระบบราชการลงมาได้โดยไม่กระทบต่อการให้บริการ 

อย่างไรก็ตามภาครัฐไทยยังติดปัญหาการมีกฎระเบียบและขั้นตอนมากเกินไป จำเป็นต้องผ่อนคลายกฎระเบียบเพิ่มขึ้นและลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย การมีกฎระเบียบยุ่งยากซับซ้อนและการเป็นรัฐราชการแบบรวมศูนย์ทำให้การแก้ปัญหาไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดล่าสุด คือ กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสานโดยเฉพาะที่อุบลราชธานี มาตรการการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอาจติดขัดจากโครงสร้างการบริหารประเทศที่มีการกระจายอำนาจลดลง กระจายอำนาจการคลังน้อยลง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ช้าลง ด้อยประสิทธิภาพลงและมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือไม่เพียงพอ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมรุนแรงกว่าที่คาดเพราะน้ำท่วมขังในระยะสูงยาวนาน ทำให้ทรัพย์สินและพืชผลเสียหายหนัก พื้นที่เกษตรกรรมต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูยาวนานขึ้น การฟื้นฟูและเยียวยาหลังน้ำลดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเนื่องจากประชาชนในพื้นที่อุทกภัยขาดรายได้เป็นเวลานานและมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นโยบายประกันรายได้เกษตรกรในสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรมในวงกว้างจะไม่มีประสิทธิผลเพราะจะไม่มีความชัดเจนทางด้านข้อมูลและข้อมูลที่แจ้งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และเกิดภาระงบประมาณจำนวนมากและเกษตรกรในพื้นที่อุทกภัยจะไม่มีผลผลิตจริง 

ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด คนไทยจะว่างงานมากขึ้นและรายได้ลดลงในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจภายใน เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี อาจขยายตัวเพียง 2.9% การว่างงานยังเป็นผลจากส่งออกหดตัว การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคมติดลบมากกว่า 4% นำเข้าเดือนสิงหาคมติดลบถึง 14.6% สะท้อนสภาวะการลงทุนและการส่งออกในระยะต่อไปไม่สดใส รวม 8 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 166,091 ล้านดอลลาร์ ลดลง -2.2% การนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านดอลลาร์ ลดลง -3.6% การส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปหดตัว -1.2% และ 
-6.2% ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัว -16.0% เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน-5 และเอเชียใต้หดตัว -24.6% และ -20.0% ตามลำดับ มีโอกาสน้อยมากที่ภาคส่งออกจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสี่ คาดว่าสถานการณ์อาจจะกระเตื้องขึ้นช่วงต้นปีหน้ามากกว่า

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคส่งออกรวมทั้งการลงทุนการบริโภคภายในที่ขยายตัวต่ำในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานอย่างชัดเจน ภาคการผลิตกลุ่มอุปกรณ์ขนส่งหดตัว -10.7% จากประมาณการเดิม กลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเลคทรอนิกส์ -9.5% จากประมาณการเดิม กลุ่มเคมีภัณฑ์ -6.9% จากคาดการณ์ไว้เดิม กลุ่มเหมืองแร่ -3.4% กลุ่มยานยนต์หดตัว -3.2% จากการคาดการณ์เดิมในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯอาจจะปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ระดับ 2.8% ลงมาอีก 

ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า กลุ่มแรงงานที่มีระดับรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือนจะถูกลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาแทนที่มากที่สุด ส่วนกลุ่มแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างมากที่สุดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ความมั่นคงในงานและการคาดการณ์รายได้อนาคตลดลงทำให้การบริโภคสินค้าคงทนลดลง ยอดขายอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net