Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจน จัดเวทีพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 3 'ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-อนาคตใหม่-ประชาชาติ' รับฟังปัญหาชาวบ้านความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ

22 ก.ย. 2562 สมัชชาคนจน จัดเวทีพรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 3 ตอน การแย่งชิงทรัพยากรจากคนจน กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ ณ ศูนย์กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ บ้านร้านตัดผม ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยเชิญผู้แทนพรรคการเมือง ร่วมรับฟังปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพรจากกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ

โดยมีพรรคการเมืองที่สนใจร่วมรับฟังปัญหา เพียง 4 พรรค ทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.จังหวัดชุมพร ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ นายสมยศ หนูหนอง หัวหน้าสาขาพรรคชาติไทยพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช และนายสามารถ ศักดิ์แก้ว ผู้ช่วย ส.ส. ธีระ วงค์สมุทร ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ นายมนตรี นายบุญจรัส รองโฆษกประชาชาติ และนางอนงค์ ล่อใจ กรรมการบริหารพรรค ผู้แทนพรรคประชาชาติ 

นายพิชัย จันทร์ช่วง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ เป็นผู้นำเสนอปัญหา โดยระบุว่ากรมชลประทานได้เริ่มทำการศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับลุ่มน้ำชุมพรตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยในเบื้องต้นได้พิจารณาอ่างเก็บน้ำท่าแซะเพื่อการชลประทาน ต่อมาระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค. 2561 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.ชุมพร ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และชมรมธนาคารจังหวัดชุมพร(กกร.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชุมพร จึงผลักดันโครงการพัฒนาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งหนึ่งในแผนโครงการเหล่านั้นคือเสนอเรื่องการทบทวนโครงการอ่างเก็บน้ำท่าแซะ วงเงิน 3,800 ล้านบาท ที่เสนอโดยโครงการชลประทานจังหวัดชุมพรโดยไม่สนใจความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และทางเลือกอื่นๆในการจัดการน้ำที่ยั่งยืน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ห่วงกังวลต่อปัญหาด้านผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำกินและพื้นที่ที่อยู่อาศัยของราษฎรมากกว่า 500 ครอบครัว ผลกระทบต่อพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ด้านทิศเหนือ อันเป็นป่าฝนต้นน้ำแหล่งสุดท้ายของจังหวัดชุมพรที่คงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงและพื้นที่ป่าจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวรหากมีการสร้างเขื่อน รวมทั้งความเสี่ยงเรื่องเขื่อนอาจแตกหากเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนท่าแซะตั้งอยู่บนรอยเลื่อนระนอง ซึ่งรอยเลื่อนแห่งนี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2555 เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4 ริกเตอร์ แต่ครั้งนั้นโชคดีที่มีความลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ 10 กิโลเมตร จึงไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก และเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่

นายพิชัย ได้ชี้แจงต่อว่า โดยสถานการณ์ล่าสุด กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เพื่อคัดค้านขอให้ถอดเรื่องดังกล่าวและขอให้ยกเลิกโครงการอ่างเก็บน้ำท่าแซะ(เขื่อนท่าแซะ)ด้วยหวั่นเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและชุมชนของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้สัญญาด้วยวาจากับชาวบ้านว่าจะนำเรื่องอ่างเก็บน้ำท่าแซะ(เขื่อนท่าแซะ)ออกจากข้อเสนอของจังหวัดในการเสนอโครงการพัฒนาเข้าสู่ที่ประชุม ค.ร.ม. สัญจรที่จังหวัดชุมพร เมื่อเดือนกันยายน 2561 และยังไม่มีความคืบหน้าใดใดออกมา 

นายพิชัย จันทร์ช่วง ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ตนอยากให้ทุกคนได้คิดสักนิดว่าน้ำท่วมชุมพร อย่างมากก็ท่วมวันสองวัน แต่ถ้าโครงการเขื่อนท่าแซะแล้วเสร็จ ตนและพี่น้องอีกกว่า 500 ครอบครัว จะถูกน้ำท่วมทั้งชีวิต” 

หลังการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผู้แทนพรรคการเมือง มีความเห็นต่อกรณีการสร้างเขื่อนท่าแซะไปในทิศทางเดียวกันว่า หากยังไม่มีความชัดเจนก็ยังไม่ควรสร้างเขื่อน เพราะจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน โดย

นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส. จังหวัดชุมพร ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ทำงานในระดับท้องถิ่น ตนไม่เคยทอดทิ้งพื้นที่ คอยช่วยแก้ปัญหามาตลอด และได้เจรจากับผู้เกี่ยวข้องว่า หากไม่ชัดเจนจะสร้างเขื่อนทำไม ที่น้ำท่วมมันประกอบด้วยหลายตำบล ปัญหาตอนนี้คือ พี่น้องที่อยู่ด้านบนเดือดร้อน การชลประทานไม่แก้ปัญหา แต่พอถึงเวลากลับบอกจะสร้างเขื่อน “ปัญหาความไม่แน่ชัดในการสร้างเขื่อนท่าแซะ ทำให้ชาวบ้านด้านบนและด้านล่างทะเลาะกัน พอน้ำท่วมชาวบ้านด้านล่างก็ไปกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดให้สร้างเขื่อน ทำให้คนด้านบนเดือดร้อนก็ไปกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดว่าไม่เอาเขื่อน เมื่อตนสอบถามชลประทานก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนสักครั้งว่าจำเป็นจริงหรือไม่ในการสร้างเขื่อนท่าแซะ ดังนั้น เมื่อข้อมูลไม่ชัดเจนก็ไม่ควรสร้าง” 

ในความเห็นซึ่งจะนำเสนอข้อมูลไปยังหัวหน้าพรรคเพื่อแก้ปัญหานี้คือ  1. เสนอให้ยกเลิกโครงการเพราะยังไม่มีเหตุผลความจำเป็น 2. ต้องมีการเจรจากันระหว่างคนด้านบน และคนด้านล่างโดยมีตัวแทนรัฐบาลมาเป็นคนกลาง เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน

นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าที่มีการนำเสนอว่าทำไมไม่ควรสร้างเขื่อนที่ท่าแซะ ตนมาในฐานะพรรคการเมืองขอทำหน้าที่นำเสนอปัญหาเข้าสู่สภา วันนี้ต้องฝากตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูแลกระทรวงเกษตรว่าไม่ควรสร้างเขื่อน ซึ่งรัฐบาลน่าจะรับฟัง ปัญหาทั้งหมดที่เขื่อนท่าแซะกลับมาอีกครั้ง คือ การเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนในการประชุม ค.ร.ม.สัญจรที่จังหวัดชุมพร เมื่อปี 2561 เป็นข้อเรียกร้องจากกลุ่มธุรกิจ คือสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการแย่งชิงทรัพยากร กลุ่มธุรกิจพยายามจะทำระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และต้องหาแหล่งน้ำรองรับ เช่นนี้ คือ การไม่สนใจคนจน ไม่สนใจพี่น้อง มองไม่เห็นคนจน “การต่อสู้ของพี่น้องต้องร่วมกันระหว่างประชาชนและพรรคการเมืองในสภา ตนในฐานะผู้แทนราษฎร ก็จะนำเสนอการแก้ไขปัญหาในระบบสภา การทำงานในสภา คือ การรับความเดือดร้อนของพี่น้องไปหาวิธีแก้ไข การสร้างเขื่อนไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาภัยแล้ง พี่น้องต้องร่วมมือกันกับฝ่ายการเมืองเพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน” 

นายสมยศ หนูหนอง หัวหน้าสาขาพรรคชาติไทยพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายให้มารับฟังการสร้างเขื่อนท่าแซะ เท่าที่ได้เห็นพื้นที่ตามความเป็นจริง คนที่รู้ข้อมูลเบื้องต้นลึกซึ้งคือคุณศิริศักดิ์ ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นและระดับประเทศ และเห็นว่าพี่น้องในพื้นที่ยังรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากร เพราะไม่เช่นนั้นคงย้ายถิ่นตั้งแต่มีพายุเกย์ แต่ตอนนี้ได้สร้างฐานะ ความเป็นอยู่ในชุมชน มีโรงเรียน มีวัด มีต้นทุนในการพัฒนา การแก้ปัญหา 30 ปีที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนท่าแซะ ไม่ใช่คำตอบของพี่น้องท่าแซะและชุมพร ตนในฐานะตัวแทนพรรครับข้อมูลตรงนี้ และนำเสนอเพื่อให้มีการดำเนินงานโดยเร็ว

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ผู้แทนพรรคประชาชาติ กล่าวว่าพรรคประชาชาติมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และร่วมกับ BOI และ 7 พรรคฝ่ายค้าน คัดค้านการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม พื้นที่นี้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ตอนนี้ยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะสร้างเขื่อนในพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ดีกินดีทำไม ในนามพรรคไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการสร้างเขื่อนในพื้นที่อยู่ดีกินดีอยู่แล้ว

นายสุพจน์ อาวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ผู้แทนพรรคประชาชาติ กล่าวว่าในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านจะนำเรื่องเข้าสภาเมื่อมีการเปิดประชุมในวาระแรก และจะขอให้มีตัวแทนพื้นที่ไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ๗ พรรค ในวันพฤหัสบดีแรกของการเปิดประชุม โดยพรรคฝ่ายค้านจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง การประสานงานทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการแก้ไข และถ้าในเวลาที่เหมาะสมจะเชิญตัวแทนพรรคฝ่ายค้านมาลงพื้นที่ที่ท่าแซะอย่างเพื่อพบกับพี่น้องประชาชน” 

ภายหลังเสร็จการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผู้แทนพรรคการเมืองได้ร่วมกันจับมือถ่ายภาพเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า ทั้งผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะผนึกกำลังในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net