ถ้าฝ่ายค้านในสภาฯไม่มีวาระที่ก้าวหน้า การชูธงต่อต้านสืบทอดอำนาจเผด็จการก็ไร้ความหมาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งทั่วไป (เลือกตั้งเพื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ก่อนที่ ส.ส. จะไปเลือกนายกรัฐมนตรี) ที่ฝ่ายใดรวม ส.ส. ได้มากก็ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคที่ไม่ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ต่อไปจะขอใช้คำว่า “ฝ่ายค้านฯ )

พรรคฝ่ายค้านฯ ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการประสานงาน หรือ “วิป” เช่นเดียวกับพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่ส่วนในทางปฏิบัตินั้น ผู้เขียนก็เคยเห็นทั้งพรรคฝ่ายค้านฯ ที่ประสานงานกันระหว่างพรรค แต่ก็มีบางสมัยที่พรรคฝ่ายค้านทำงานกันแบบ “ประสานงา” ขาดเอกภาพ มีความขัดแย้งกันเอง

จนกระทั่งในสภาผู้แทนราษฎรสมัยปัจจุบันที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ และมีรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีปรากฏการณ์สำคัญที่น่าจับตามองในสภาฯ ก็คือการที่พรรคฝ่ายค้านฯ ทั้งหมด 7 พรรค มีการจับมือกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ก่อนการประชุมเพื่อเลือกบุคคลเป็นนายกฯ จนกระทั่งเมื่อแคนดิเดตของ 7 พรรคเหล่านี้ เป็นฝ่ายแพ้อย่างเฉียดฉิว (หากว่าเสียงของวุฒิสภา 250 คน มากันแบบไม่เป็นเอกภาพ ฝ่ายรัฐบาลจะชนะการโหวตแบบตกที่นั่งลำบาก) ทั้ง 7พรรคนี้ก็รวมตัวกันทั้งในสภาและนอกสภา ในชื่อ “7 พรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาชน” หรือบางทีก็เรียก “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” 

พรรคฝ่ายค้านฯ ทั้ง 7 พรรค อันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ที่มีจำนวน ส.ส. สามารถลงมติในวันเลือกนายกรัฐมนตรีให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถึง 245 เสียง (ในสภาฯ ที่มี ส.ส. 500 คน ไม่นับ 250 สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่เสียงเทให้คุณประยุทธ์แบบไม่แตกแถว) ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานประสานงานกันแข็งขันในการแสดงจุดยืนต่างๆ มีกิจกรรมการลงพื้นที่ พบปะประชาชนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แลดูมีความเป็นเอกภาพกันอย่างมาก

โดยที่ภาพลักษณ์ของ 7 พรรคฝ่ายค้านฯ จุดโฟกัสจะโดดเด่นไปที่บทบาทของ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่มีอุดมการณ์แนวเสรีนิยมประชาธิปไตย และมีคนชายขอบกลุ่มต่างๆเป็นปีกของพรรค ทั้งคนพิการ คนชนชาติพันธุ์ แรงงาน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชน เป็นต้น มีข้อเสนอที่ค่อนข้างก้าวหน้า (Progressive) ได้รับการตอบรับจากคนรุ่น Generation Y และ Z อย่างล้นหลาม ด้วยความที่คนกลุ่มนี้เติบโตและจำความมากับความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินและการออกแบบกติกาประเทศที่ไม่เป็นธรรมภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ในครั้งที่เป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร 

พรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นปรากฏการณ์ของทั้งคนรุ่นใหม่ และคนชายขอบกลุ่มต่างๆ แต่ทั้งนี้ผู้เขียนต้องขออธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ยังมีผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบอื่นมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ เช่นความพยายามเป็นพรรคของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) ของพรรคมหาชน การรวมกันตั้งพรรคของชนเผ่าชาติพันธุ์ การเกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคการเมืองต่างๆ

แต่จากการทำงานในสภาในช่วงที่ผ่านมา มีสิ่งที่โดยส่วนตัวของผู้เขียน เห็นพ้องกับประเด็นที่นำการขับเคลื่อนโดยพรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นวาระที่ผู้เขียนสนับสนุนในฐานะภาคประชาชนมานานแล้ว และเมื่อมันถูกขับเคลื่อนโดยพรรคอนาคตใหม่เป็นแกนหลัก ผู้เขียนย่อมหวังผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นด้วยพลังของพรรคอนาคตใหม่ที่ผนวกกับอีก 6 พรรคที่จับมือกันอย่างเหนียวแน่น

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้เข้าชื่อสนับสนุนการเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการสิทธิความหลากหลายทางเพศ” เป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร (และได้เขียนบทความอธิบายความสำคัญลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์) ซึ่งผู้เขียนก็เห็นอยู่แล้วว่าโอกาสเป็นไปได้ยากมากมาตั้งแต่ขั้นที่เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับฯ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าในขั้นของการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ญัตตินี้จะแพ้ด้วยคะแนน ไม่เห็นชอบ 365 : เห็นชอบ101 คะแนน ! สะท้อนว่า มีเสียงของ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้านฯ อีก 6 พรรค ซึ่งเป็นแนวร่วมของพรรคอนาคตใหม่หายไปมากกว่าครึ่งในเรื่องนี้ !

สิ่งที่น่าผิดหวังคือ เสียงของพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านที่หายไปในเรื่องนี้ อยู่ในพรรคการเมืองบางพรรคที่ก็เคยออกมาหาเสียงประเด็น LGBT+ มีการพยายามชูภาพผู้หญิงข้ามเพศภาย (Trans Women) ในพรรค ซึ่งแม้ต่อให้บุคคลเหล่านั้นในพรรคไม่ได้ชนะการเลือกตั้งเข้าสภา แต่การออกมาหาเสียงก็ถือเป็นสัญญาประชาคมของพรรคแล้ว 

หากไม่ทำงานต่อในประเด็นนี้ เท่ากับเสียสัจจะต่อประชาชน !

ต่อมามีญัตติจากพรรคอนาคตใหม่ออกมาในเรื่อง การตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) เพราะมีประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนและความมั่นคงทางอาหารธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่เป็นข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ 

ในจุดนี้ผู้เขียนไม่ลงรายละเอียดในส่วนเรื่องการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับEEC แต่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรทำการศึกษารอบด้านอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขาดหายไปในช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งเราอาจจะพลาดโอกาสในการพบทางออกที่ดีร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมกับพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร อย่างเช่นการผลักดันให้โครงการวางตัวในจังหวัดที่ลึกเข้าไปเล็กน้อย ห่างจากท่าเรือแหลมฉะบังแต่ไม่ห่างมาก ซึ่งสามารถทำได้ เป็นต้น 

แต่สุดท้ายญัตตินี้ก็แพ้มติในสภาฯ ด้วยคะแนน ไม่เห็นชอบ 232 : เห็นชอบ 223 เสียง !

เสียงของ 6 พรรคแนวร่วมของพรรคอนาคตใหม่หายไปอีกแล้ว ! ผิดกันสิ้นเชิงกับเสียงในวันที่ลงมติเลือกนายกฯ ที่วันนั้นไม่อยากจะคิดด้วยซ้ำว่า หากสมาชิกวุฒิสภา 250 คนเข้ามาร่วมการลงมติในวันนั้นไม่ได้ หรือมาแล้วเสียงแตก คุณประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ในที่นั่งลำบากขนาดไหน !

ที่จริงผู้เขียนก็คิดเช่นกันว่า การเรียกร้องอะไรต่างๆ ผู้เขียนควรเรียกร้องกับคนที่เป็นรัฐบาลในเวลานี้ แต่ปรากฏการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ดูมีความก้าวหน้านั้น จะน่าพึงพอใจมากกว่านี้อย่างมาก หากมีพลังเอกภาพที่ชัดเจนในวาระประชาชนที่มีความก้าวหน้า (Progressives) ในประเด็นสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อันเป็นประเด็นที่รัฐบาลชุดก่อนภายใต้นายกฯ คนเดียวกันได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ผลงานสอบไม่ผ่าน !

การร่วมมือแข็งขันเพียงเพื่อต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ภาค2 ภายใต้คำกล่าวอ้างว่า “หยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการ” จะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง หากขาดวาระทางสังคมที่มีความก้าวหน้ามากกว่า เพราะความจริงที่ต้องยอมรับคือ 7 พรรคเหล่านี้ไม่ได้เข้าสภามาด้วยเพียงแค่เสียงต่อต้านเผด็จการจากการยึดอำนาจ แต่ยังมีเสียงของคนรุ่นใหม่ที่มองคุณประยุทธ์เป็นสัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำและล้าหลังอีกด้วย

หากฝ่ายค้านฯ อีก 6 พรรคไม่ยกระดับในเรื่องนี้ การชูหยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการ ก็อาจไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง!  

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เป็นกรรมการบริหาร คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และยุวชนประชาธิปไตย รุ่น 1/2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท