สุรพศ ทวีศักดิ์: ระบบศีลธรรมพุทธสาแหรกพราหมณ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรามีวิธีอ่าน “ภควัทคีตา” ได้หลายแบบ จะอ่านเพื่อหาปรัชญาความหลุดพ้น หรือ “โมกษะ” ตามคติฮินดู หรือจะอ่านเพื่อหาหลักจริยธรรมส่วนบุคคลมาใช้ในชีวิตก็ได้ ในที่นี้ผมอ่านในแง่ “ปรัชญาการเมือง” ที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าในภวัทคีตาเกี่ยวกับการทำสงครามของชาวอารยันที่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันเอง หลังจากพวกเขาบดขยี้ชาวทราวิฑที่เป็นชนพื้นเมืองราบคาบไปแล้ว ตั้งแต่ตอนเข้ามายึดครองดินแดนที่ต่อมาพวกเขาขนานนามว่า “ภารตะ” ขอให้ลองพิจารณาข้อความตอนหนึ่ง (สำนวนแปลของสมภาร พรมทา)

รบเถิดอรชุน! เพราะหากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ก็ยังเปิดประตูรอท่านอยู่ แม้นหากว่าท่านมีชัย ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็รอให้ท่านครอบครองอยู่แล้ว จงวางใจให้เสมอในสุขและทุกข์ ในลาภและความเสื่อมลาภ ตลอดจนในชัยชนะและความพ่ายแพ้ แล้วเตรียมพร้อมเพื่อการรบเถิด ทำได้อย่างนี้ท่านจึงจะปลอดพ้นจากบาป

เราจะเข้าใจ “ไอเดียหลัก” ของข้อความข้างบนชัดขึ้น หากใช้มุมมอง “วงศาวิทยา” (genealogy) ที่ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงว่า “คุณธรรมของนักรบ” ในภควัทคีตาคือ “สาแหรก” เดียวกันกับ “คุณธรรมผู้ปกครอง” ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์ และอรรถศาสตร์ในวัฒนธรรมทางปัญญาแบบพรหามณ์-ฮินดู 

ธรรมศาสตร์ระบุว่าพระเจ้าสร้างระบบวรรณะสี่มา และกำหนดให้วรรณะกษัตริย์เป็นผู้ปกครองหรือนักรบ ส่วนอรรถศาสตร์เน้นว่า คุณธรรมผู้ปกครอง (หรือรัฐ) แยกต่างหากจาคุณธรรมของคนทั่วไป เช่น ถ้าคนทั่วไปฆ่าคนย่อมผิดเสมอ แต่การฆ่าคนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ รักษาอำนาจ และขยายอำนาจถือเป็น “คุณธรรมที่จำเป็น” ของผู้ปกครอง เช่น ผู้ปกครองอาจสั่งให้ฆ่าสัตว์แม้กระทั่งมนุษย์ในพิธีบูชายัญเพื่อความรุ่งเรืองของบ้านเมืองก็ย่อมได้ หรือเพื่อจะรักษาไว้ซึ่งอำนาจและความมั่นคงของรัฐ ผู้ปกครองที่ดีก็อาจฆ่าญาติ มิตร บุตรธิดา ภรรยา แม้กระทั่งพ่อแม่ของตนเองก็ย่อมได้

แล้วภควัทคีตาก็มารับหน้าที่เชื่อมโยงธรรมศาสตร์กับอรรถศาสตร์เข้าด้วยกัน ผ่านการให้คำอธิบายที่ “แสนจะโรแมนติก” ว่า การทำหน้าที่ของนักรบปราบฝ่ายอธรรม (ในทางปฏิบัติกันจริงๆ ฝ่ายตรงข้ามก็คือ “ฝ่ายอธรรม” ทั้งนั้นแหละ) ที่จำเป็นต้องฆ่านั้น ผู้ปกครองหรือนักรบจะต้อง “วางจิตใจ” ในการฆ่าด้วยมุมมองแบบไหนจึงจะไม่รู้สึกผิดบาป ดังนั้น เมื่ออรชุนรู้สึกหดหู่ท้อแท้ที่จะต้องฆ่าเพื่อนพ้องน้องพี่ของตนเอง พระเจ้าในชื่อ “กฤษณะ” จึงเทศนาธรรมข้างต้นปลุกเร้าให้รุกรบ “ด้วยมุมมองที่มีแต่ได้ ไม่มีอะไรต้องเสีย” ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีรออยู่ข้างหน้าเสมอ และต้องฆ่า “ด้วยจิตว่าง” จากสุขทุกข์และทุกสิ่ง เพื่อจะไม่ต้องมีความรู้สึกผิดบาปใดๆ ค้างคาใจอีกเลย

นี่คือคุณธรรมผู้ปกครองที่ “ถูกสร้างโดยชนชั้นสูง” คือวรรณะกษัตริย์กับพรหามณ์ ภายใต้ระบบสังคมการเมืองระบบวรรณะสี่ ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ระบบวรรณะเป็นระเบียบทางสังคมที่พระเจ้ากำหนดมา แต่คนเราจะเกิดมาในวรรณะไหนนั้นขึ้นอยู่กับ “กรรมเก่า” ที่ทำมาต่างกัน ดังนั้น ที่ใครเกิดมาในวรรณะนั้นๆ มันจึงยุติธรรมแล้ว เพราะเป็นผลกรรมที่ตนเองทำมา และระบบวรรณะก็เป็น “ลิขิตของพระเจ้า” ที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันจึงเป็นระบบที่พระเจ้าบอกว่ายุติธรรมอย่างสอดรับกับความยุติธรรมตามกฎแห่งกรรมพอดิบพอดี 

เมื่อคำสอนเรื่องระบบวรรณะและกฎแห่งกรรมถูกสร้างโดยชนชั้นปกครอง และชนชั้นปกครองคือกลุ่มคนผู้ “ผูกขาดอำนาจ” ควบคุมกฎของระบบดังกล่าว ความ “แยบยล” ของพวกเขาก็คือ การสอนว่าชาวบ้านทั่วไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตย่อมเป็นกรรมชั่วและต้องได้รับผลกรรมชั่วเสมอ แต่หากผู้ปกครองต้องฆ่าคนอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ลูกเมีย เพื่อนพ้องน้องพี่ เพื่อรักษาอำนาจ ย่อมถือเป็น “ธรรม” หรือเป็น “หน้าที่” ที่จำเป็นต้องทำ และการฆ่าเหล่านั้นหาได้ผิดบาปไม่ หากรู้จักวางจิตใจให้ “ว่าง” ไม่ยึดติดในการฆ่า ก็ย่อมไม่ได้รับผลกรรมชั่วใดๆ แถมหากชนะในสงครามก็ได้เป็นใหญ่ในโลก หากตายประตูสวรรค์ยังรอรับอยู่ (โปรดนึกถึงวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ไว้เถิออรชุน!)

ในวงวิชาการพุทธศาสนาบ้านเรา มีการวิจารณ์กันว่าที่พระบางรูปเทศนาว่า “อาชีพทหารเป็นอาชีพชั่ว เพราะเป็นปาณาติบาต” อาจดู “ไม่แฟร์” สำหรับคนที่เขาทำหน้าที่ปกป้องประเทศ แล้วพยายามจะหาแง่มุมตีความคำสอนพุทธว่ามี “บาปที่จำเป็น” เพื่อให้เห็นว่าพุทธก็แฟร์?  

แต่ที่จริงแล้ว ถ้าวงวิชาการพุทธในบ้านเรามองอะไรใน “มุมกว้าง” มากกว่าเน้นการตีความ “คำสอน” ในคัมภีร์ เราก็จะเห็นอย่างชัดแจ้งว่า ไม่จำเป็นต้องเหนื่อยไปหาแง่มุมจากคำสอนพุทธศาสนามา “ตีความ” สนับสนุน “บาปที่จำเป็น” เลย เพราะชนชั้นปกครองครองใน “รัฐพุทธศาสนา” ตั้งแต่ยุคอโศกเป็นต้นมา (เป็นอย่างน้อย) เขาใช้คุณธรรมผู้ปกครองในสาแหรกอรรถศาสตร์, ธรรมศาสตร์, ภควัทคีตาควบคู่กับจักรวรรดิวัตรและทศพิธราชธรรมมาตลอดยุคประเพณีอยู่แล้ว โดยถือว่า “คุณธรรมพราหมณ์-พุทธคือสาแหรกเดียวกัน” สถานะและอำนาจของชนชั้นปกครองในรัฐพุทธผสมพราหมณ์ ย่อมอิงความชอบธรรมจากคุณธรรมสาแหรกเดียวกันนี้มายาวนาน

พระเจ้าอโศกทำสงครามฆ่าญาติๆ และขยายอาณาเขต มีคนล้มตายเป็นแสนๆ ก็ด้วยการใช้คุณธรรมผู้ปกครองแบบอรรถศาสตร์ที่แต่งโดยเกาฏิลยะ ปุโรหิตของปู่ตัวเองอยู่แล้ว เมื่อหันมานับถือพุทธจึงสถาปนารัฐพุทธศาสนา และแสดงภาพลักษณ์จักรพรรดิธรรมราชาแบบพุทธ แต่สถานะของเขายังยึดคติพราหมณ์-ฮินดู เพราะเขายังคงเป็นวรรณะกษัตริย์ และยังใช้อำนาจเด็ดขาดตามหลักธรรมศาสตร์และอรรถศาสตร์เช่นเดิม 

เล่ห์เพทุบายของชนชั้นปกครองที่ “เน้น” ไว้ในอรรถศาสตร์ก็คือ ในยามจำเป็นผู้ปกครองต้องแน่วแน่ที่จะใช้ความโหดเหี้ยม เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งอำนาจ แต่ในยามปกติต้องแสดงออกเสมอว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมความเมตตา ห่วงใยทุกข์สุขของพสกนิกรทุกลมหายใจเข้าออก และเป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรม เพื่อให้ประชาชนศรัทธาและมองผู้ปกครองเสมือน “บิดาปกครองบุตร” ดังนั้น ที่มีการเปรียบเทียบอรรถศาสตร์กับ “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ของมาคิอาเวลลี จึงดูสมเหตุสมผลด้วยประการฉะนี้

จักรพรรดิธรรมราชาอโศก ก็แสดงให้ผู้ใต้ปกครองรับรู้ผ่านหลักจารึกอโศกว่า เขาคือ “บิดาปกครองบุตร” ที่รักประชาชนเหมือนลูกของตนเองและทรงงานหนักแทบไม่มีเวลาพักผ่อน สะท้อนว่าคุณธรรมผู้ปกครองแบบพุทธในความรับรู้ของคนยุคก่อนคือ “สาแหรกหนึ่ง” ของธรรมศาสตร์, อรรถศาสตร์ และภวัทคีตา มิพักต้องบอกว่า ความหลุดพ้นที่เรียกว่า “นิพพาน” ก็เป็นสาแหรกหนึ่งของ “โมกษะ” (เพียงแต่มีรายละเอียดต่างกัน) ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมแบบพุทธ ก็เป็นอีกสาแหรกหนึ่งของกฎแห่งกรรมแบบพราหมณ์-ฮินดูด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น เมื่อพุทธศาสนาสอนว่า คนวรรณะไหนก็มีสิทธิ์ทำกรรมดี กรรมชั่ว และปฏิบัติตามมรรคเพื่อบรรลุนิพพานได้เสมอกัน ก็สอนต่อไปด้วยกว่า คนเกิดมาในวรรณะสูง ต่ำ รวย จน ก็เพราะเคยทำกรรมดีกรรมชั่วมาต่างกัน ทัศนะพื้นฐานทางศีลธรรมเช่นนี้ จึงไม่เคยเป็นพลังให้เกิด “ขบวนการเคลื่อนไหว” ของชาวพุทธในอินเดียเพื่อต่อต้านระบบวรรณะอย่างชัดเจน (ยกเว้นในยุค ดร.อัมเบดการ์ ที่เขาตีความหลักการพุทธเข้ากับ “ความคิดสมัยใหม่” แล้ว)

เมื่อชนชั้นปกครองสยาม-ไทยนำพุทธศาสนามาสร้าง “จักรวาลวิทยารูปปิรามิด” ผ่านวรรณกรรมยอดนิยม “ไตรภูมิพระร่วง” ก็ย่อมสอดรับกับรูปปิรามิดของระบบสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสพอดิบพอดี เช่นเดียวกับคำสอนสอนเรื่องกฎแห่งกรรมของพราหมณ์-ฮินดู สอดรับกับระบบวรรณะสี่ในอินเดียได้พอดิบพอดีนั่นแล 

ที่พยายามหาแง่ตีความหลัก “กรรม” แบบพุทธว่า “เน้นความเสมอภาคเท่าเทียม” มากกว่ากรรมแบบพราหมณ์-ฮินดูนั้น ถ้าคุณไม่สามารถยกตัวอย่างได้สัก “เหตุการณ์เดียว” ในประวัติศาสตร์ว่ามีไหมที่เกิดขบวนการชาวพุทธในไทยอ้างความเท่าเทียมตามหลักกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านระบบศักดินาไทย ก็ย่อมแปลว่า การตีความเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับความรับรู้และเข้าใจเรื่องกรรมแบบพุทธ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมชนชั้นของสังคมไทย (และที่อื่นๆ ) ที่นับถือพุทธในประวัติศาสตร์

เมื่อยกตัวอย่างที่ผมตั้งคำถามไม่ได้ ก็มักจะโยน “อุจจาระ” (ใช้ “คำสุภาพ” ตามมาตรฐานวัฒนธรรมอันดี) ให้คนอื่นว่า ระบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสเกิดจาก “อิทธิพลของพราหมณ์” ไม่ใช่พุทธ พุทโธ่เอ๋ย ประชากรพราหมณ์แค่หยิบมือเดียวเองครับ เขาจะมีอิทธิพลวางระเบียบของรัฐและวัฒนธรรมทางสังคมเท่ากับพุทธที่เป็นศาสนาของชนชาติไทย และเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่ยุคสุโขไทย ตามที่วงวิชาการพุทธบ้านเรายืนยันกันได้ไงเล่า

ปัญหาที่ต้องคิดคือ นี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว การศึกษาพุทธศาสนาแบบเป็นวิชาการบ้านเรา “เป็นวิชาการ” จริงๆ หรือ ถ้ายังศึกษาเปรียบเทียบพุทธกับศาสนาอื่นๆ บนทัศนะพื้นฐานว่า “พุทธคือพ่อทุกศาสนา” หรือเปรียบเทียบพุทธปรัชญากับปรัชญาอื่นๆ แล้วได้ข้อสรุปว่า “พุทธปรัชญาคือพ่อของทุกปรัชญา” ด้วยมุมมองที่ว่า ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่เขาศึกษา “เรื่องเล็กๆ” ส่วนพุทธเราศึกษา “เรื่องใหญ่ๆ” หรือแม้แต่ในทางจริยศาสตร์และประวัติศาสตร์การใช้ปรัชญาการเมืองแบบพุทธปกครองในรัฐพุทธราชาชาตินิยม จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังยึดประเพณีตีความเน้นการอ้างศีลธรรมอวยชนชั้นบน และสนับสนุนสถานะและอำนาจของชนชั้นบนให้ “ลอยนวล” จากความรับผิดชอบทางศีลธรรมตามมาตรฐานของสังคมการเมืองสมัยใหม่เสมอ 

หาใช่แต่เท่านั้น แม้แต่ปัญญาชนพุทธในบ้านเรา ก็แสดง “การกระทำทางสาธารณะ” บนสำนึกทางศีลธรรมพุทธในแบบชนชั้นนำนั่นเอง (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เช่น เขียนถึงการรับเงินมาชุมนุมทางการเมืองของชาวบ้านในเชิงว่า ชาวบ้านไม่รู้หลักการ และตกเป็นเหยื่อ ขณะที่เขียนว่าตนเองเป็น “มนุษย์หลักการ” และเป็นผู้ที่ “ถูกพระพุทธเจ้าปั้นมาให้เป็นคนแบบนี้” ทว่ากลับไปทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งรับเบี้ยประชุมแต่ละครั้งน่าจะมากกว่าชาวบ้านรับค่าจ้างมาชุมนุม 300 บาท ตามที่ตนเขียนถึง นี่ก็คือตรรกะ “ความชั่วที่จำเป็น” ต้องร่วมงานกับฝ่ายรัฐประหารเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองเช่นนั้นหรือ (ตามคัมภีร์อรรถศาสตร์  “ผู้ปกปครองฆ่าคนเพื่อรักษาอำนาจเป็นคุณธรรม แต่ชาวบ้านฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นกรรมชั่ว ปัญญาชนพุทธรับเบี้ยประชุมจากการทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐประหารไม่ผิดหลักการ แต่ชาวบ้านรับเงินมาชุมนุมทางการเมืองผิดหลักการ” ตรรกะเดียวกัน! แต่หากมองจากคำสอนพุทธะอย่าง “ซื่อตรง” ชาวบ้านน่านับถือกว่าแน่ๆ)  

หากเป็นเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง พุทธศาสน์ศึกษาก็ไม่มีความหมายเป็นพุทธศาสน์ศึกษา มากไปกว่าการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้กับคุณวิเศษสูงส่งของพุทธศาสนาและชนชั้นปกครอง ท่ามกลางสภาพความเป็นจริงที่ชนชั้นปกครองยุคปัจจุบัน ยังทรงอำนาจไม่เห็นหัวประชาชนในฐานะผู้บัญญัติกฎและคุมกฎ ซึ่งพวกเขาสามารถฉีกกฎเพื่อกดหัวประชาชนชนได้เสมอ หรือแม้แต่จะไม่ปฏิบัติตามกฎที่พวกเขาเขียนขึ้นเลยก็ได้ นี่สะท้อนอะไร หากไม่ใช่สะท้อนการกระทำที่สอดรับกับทัศนะพื้นฐานทางศีลธรรมแบบพุทธสาแหรกพราหมณ์ ที่ถูกผลิตสร้างและผลิตซ้ำโดยชนชั้นส่วนปลายปิรามิดและเครือข่ายอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังที่กล่าวมา 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท