ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงกำเนิดพระพุทธรูปในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา โดยเฉพาะในยุคเริ่มแรกและในดินแดนชมพูทวีป (อินเดีย) ส่วนในบทนี้จะเขียนถึงการปรากฏขึ้นของพระพุทธรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะประเทศไทยปัจจุบัน) หลักๆ นอกจากจะชี้ให้เห็นว่ามีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณคดีของไทยแล้ว ผู้เขียนจะกล่าวถึงความสำคัญของพระพุทธรูปที่มีต่อศึกษาพุทธศาสนาในดินแดนนี้ และจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูปในสังคมไทย

ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา1: กำเนิดพระพุทธรูป

 

พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

เครดิตภาพ https://th.wikipedia.org/wiki/ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

การปรากฏขึ้นของพระพุทธรูปในดินแดนไทย

ตามตำนานพุทธศาสนาที่เขียนขึ้นในลังกา พุทธศาสนาแผ่เข้าสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สุวรรณภูมิ) ราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่หลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะงานศิลปกรรมและปฏิมากรรม ที่ยืนยันถึงการปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของพุทธศาสนาในแถบนี้มีอายุเก่าแก่ที่สุดก็ราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 12  ซึ่งเป็นช่วงเวลาแตกต่างจากที่เราพบจากตำนานหรือคัมภีร์ทางศาสนาของลังกา หลักฐานต่างๆ ยืนยันว่าแนวคิดทางด้านศิลปกรรมของอินเดียมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระนั้นลักษณะทางศิลปกรรมที่พบในพุกามและที่ปรากฏในศาสนสถานของชวาไม่ได้มีลักษณะเดียวกันเสียทีเดียว จะมีความแตกต่างออกไปจากลักษณะศิลปกรรมอันเป็นต้นกำเนิดของตน

เช่นเดียวกันกับลักษณะทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปในประเทศไทยแม้จะได้รับอิทธิพลจากศิลปะของอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ 7 - 9) และศิลปะสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9 - 11) แต่ได้พัฒนาลักษณะศิลปกรรมของตนเองแตกต่างออกไปอย่างชัดเจนจากพระพุทธรูปที่พบในอินเดีย ลักษณะของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในแต่ละสกุลช่างและแต่ละสมัยจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะผู้สร้างถือว่าการสร้างพระพุทธรูปไม่ใช่การสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าแต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า[1]

การสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 ก่อนยุคทวารวดี โดยอาศัยหลักฐานจากศาสนสถาน พระพุทธรูปและรูปพระสงฆ์ที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเครื่องยืนยัน ลักษณะของพระพุทธรูปที่พบในบริเวรณนี้เทียบได้อย่างใกล้เคียงกับศิลปะอมราวดี กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 9 หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในดินแดนประเทศไทยเริ่มมีพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามา รู้จักการสร้างศาสนสถานและพระพุทธรูปเป็นครั้งแรกในช่วงเวลานี้ก่อนที่จะพัฒนาเป็นศิลปกรรมในสมัยทวารวดีที่แพร่หลายอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 16[2] หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลที่แตกต่างจากตำนานที่กล่าวถึงในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา

ดังที่ตำนานของชาวล้านนาได้พยายามชี้ชวนให้เชื่อว่าการสร้างหรือการกราบไหว้พระพุทธรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสืบทอดมาจากการสร้างพระพุทธรูปโดยพระเจ้าปัสเสนทิโกศลตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว “ตำนานพระแก่นจันทน์” ฉบับวัดทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่กล่าวถึงแล้ว (ในบทความตอนที่ 1) เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานและพระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงสวรรคตแล้ว พระราชโอรสของพระเจ้าปัสเสนทิโกศลนามว่าวิตตุภะ ได้ครองราชย์แทน พญาสุวัณณพรหมาได้ส่งราชทูตไปขอพระแก่นจันทน์ (อันสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าปัสเสนทิโกศล) ครั้งนั้น พระเจ้าวิตตุภะได้สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ไว้สองข้างของพระแก่นจันทน์องค์แรก (ที่พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงให้สร้างไว้) ราชทูตของพญาสุวัณณพรหมาจึงเลือกหนึ่งองค์เพื่อนำไปถวายพญาสุวัณณพรหมา พระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์ดังกล่าวประดิษฐานอยู่เมืองสุวัณณพรหมาเป็นเวลา 1,000 ปีจนเมืองสุวัณณพรหมาแพ้แก่ข้าศึก โอรสของพญาสุวัณณพรหมาคือ อาทิตยราชกุมารจึงอัญเชิญพระแก่นจันทน์ไปไว้ที่เมืองแช่ตา เมื่อเมืองแช่ตาเกิดโกลาหลขึ้น พระมหาเถรเจ้ารูปหนึ่งจึงอัญเชิญไปถวายพญาคำแดง พระแก่นจันทน์อยู่เมืองท้าวตาแหวนเป็นเวลา 10 ปีก็ถูกมหาเถรชื่อสิโวหะขโมยไปไว้ที่บ้านพุกามในเมืองแช่ตา ฝากไว้กับพรานป่าผู้หนึ่งได้ 73 ปี ต่อมาปู่โมไปทำศึกที่เมืองแช่ตาจึงนำพระแก่นจันทน์ไปไว้ที่บึงหนองบัวที่เมืองพะเยา เป็นเวลา 60 ปี เมื่อพญาสุทธิศิลป์รู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก่นจันทน์จึงนำไปไว้ที่วัดป่าแดงหลวงดอนชัยอยู่นาน 6 เดือน ต่อมาพญาติโลกราชก็ให้พระธรรมเสนาไปนำพระแก่นจันทน์มาไว้เมืองเชียงใหม่โดยผ่านเมืองน่าน เมืองแพร่ แลเมืองหริภุญชัย[3]

หากถือตามตำนานนี้ พระพุทธรูปย่อมปรากฏขึ้นในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลากว่า 1,000 ปีแล้ว แต่เมื่อพิจารณาในแง่ข้อเท็จจริง เป็นไปได้ว่าตำนานดังกล่าวนี้แต่งขึ้นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในท้องถิ่นล้านนาเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ที่กล่าวถึงโดยชินกาลมาลีปกรณ์

ชินกาลมาลีปกรณ์ วรรณกรรมของล้านนาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตำนานที่น่าเชื่อถือที่สุดในบรรดาตำนานต่างๆ ในล้านนา ได้กล่าวถึงการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสถูปองค์หนึ่งที่วัดทีฆาชีวิตสาราม โดยพญาแก้วและพระเทวีราชมารดา ในปี พ.ศ.2062 และโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วยไม้แก่นจันทน์ในปี พ.ศ.2064 ซึ่งหลังจากพระพุทธรูปองค์นี้ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ พอถึง พ.ศ.2065 พญาแก้วได้โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในวัดบุพพาราม และสุดท้ายในปี พ.ศ.2069 พญาแก้วได้อัญเชิญไปประดิษฐานในอุโบสถที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นใหม่ที่วัดมหาโพธาราม ซึ่งปัจจุบันเข้าใจกันว่าเป็นวัดเจ็ดยอด แต่ยังไม่เคยพบเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ คงเหลือแต่ซุ้มในพระอุโบสถที่กล่าวกันว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก่นจันทน์[4] ข้อนี้หมายความว่า คติความเชื่อที่ว่ามีการสร้างพระพุทธรูปมานานแล้วตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว โดยอ้างถึงพระพุทธรูปแก่นจันทน์ที่สร้างโดยพระเจ้าปัสเสนทิโกศลและนำมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังพุทธปรินิพพานนั้นเป็นแต่เพียงตำนาน ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนที่ชัดเจน เท่าที่ผู้เขียนพบขณะเขียนบทความนี้ จะมีก็แต่พระพุทธรูปปาง “พระห้ามแกนจันทน์” ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เท่านั้น

ความสำคัญในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

พระพุทธรูปและรูปเคารพอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสงฆ์และชาวพุทธยุคแรกๆ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงดินแดนของไทยปัจจุบันไว้ด้วย เช่น ที่เมืองโบราณไชยา มีพุทธสถานที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 เมื่อกล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรูปเคารพทางพุทธศาสนา ในปี พ.ศ.2477 นักโบราณคดีชาวอังกฤษคือ ควอริทช์ เวลส์ (Quaritch Wales) ได้ค้นพบพระพุทธรูปปางประทานพรสลักจากหินทรายอิทธิพลศิลปกรรมอินเดียสกุลช่างสารนาถ อายุเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 และชาวบ้านยังได้พบรูปเคารพพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ที่เมืองเวียงสระอีกหลายองค์ ที่โบราณสถานบ้านจาเละพบพระพิมพ์หลายแบบ เช่น ด้านล่างของพระพิมพ์ภาพพระพุทธเจ้าปางสมาธิประทับนั่งบนปัทมอาสน์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 13 พระพุทธรูปและรูปเคารพของพระโพธิสัตว์ที่ค้นพบนี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ลงมา การเคารพพระพุทธรูปได้กลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวพุทธในดินแดนภาคใต้ของไทยแล้ว ข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ พระพุทธรูปที่ค้นพบเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพุทธศาสนาที่คนทั่วไปเคารพนับถือในดินแดนภาคใต้ของไทยมีหลากหลายนิกาย คือ มีทั้งนิกายเถรวาท นิกายมหายาน นิกายวัชรยาน [5] นิกายเหล่านี้ล้วนยอมรับการกราบไหว้พระพุทธรูปหรือรูปเคารพด้วยกันทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า รูปลักษณ์ทางศิลปกรรมของพระพุทธรูปย่อมบ่งชี้ร่องรอยการนับถือศาสนาของชาวพุทธในดินแดนแถบนี้ว่าเป็นแบบใด ตัวอย่างที่น่าสนใจกรณีหนึ่งก็คือ การนับถือพุทธศาสนาของชาวล้านนาซึ่งในปัจจุบันนักวิชาการค้นพบว่า พุทธศาสนาที่นับถือกันอย่างแพร่หลายไม่ได้มีเฉพาะนิกายเถรวาทจากอินเดียและลังกาแต่มีการผสมผสานเอาคติความเชื่อในลัทธิมหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยานเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนแทบจะแยกไม่ออก นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานว่า คติลัทธิมหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน คงซึมซับเข้ามาในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในท้องถิ่นล้านนาจนไม่ทราบแหล่งที่มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 - 21 แล้ว หลักฐานที่สนับสนุนคือพระพุทธสิหิงค์ วัดหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับพระพุทธรูปอักโษภยะสำริดองค์หนึ่งจากบังกลาเทศ กำหนดอายุถอยไปถึงราวกลางพุทธศตวรรษที่ 13 หรือหลังกว่านั้นเล็กน้อย ลักษณะพระเศียรของพระพุทธรูปหมวดพระพุทธสิหิงค์ของล้านนาที่หล่อขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 ที่ตรงกับพระพุทธรูปมหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน คือส่วนพระอุษณียะที่สามารถถอดออกได้แลเห็นโพรงขนาดใหญ่ในพระเศียร[6]

ในส่วนภาคกลางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ก่อเกิดอารยธรรมทวารวดีขึ้นก่อนจะแพร่ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่ามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา เมื่อชุมชนบ้านเมืองในแถบนี้รับพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี นักวิชาการชี้ว่าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปในสมัยทวารวดี ชาวพุทธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในเขตจังหวัดภาคกลางได้รู้จักพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็กชนิดพกพาที่พ่อค้านำเข้ามาจากอินเดีย[7] ด้านภาคตะวันออกของไทย พุทธศาสนาได้รุ่งเรืองขึ้นในเขตเมืองศรีมโหสถควบคู่กับศาสนาฮินดูมาตั้งแต่รับวัฒนธรรมอินเดีย มีหลักฐานปรากฏว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 - 16 มีประติมากรรมในพุทธศาสนาอยู่หนาแน่นในบริเวณเมืองศรีมโหสถ ได้แก่ ประติมากรรมลอยตัวสลักด้วยหิน อาทิ พระพุทธรูปยืนปางประทานธรรม เป็นพระพุทธรูปยืนครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้งสองข้าง ช่วงพระกรทั้งสองตั้งแต่ศอกลงมา ยื่นออกมาด้านข้างเป็นแนวเส้นตั้งฉากกับพระองค์และแสดงปางเดียวกันทั้งสองพระหัตถ์ พระพุทธรูปแบบนี้ได้เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 12 ในศิลปะทวารวดีทางตอนบนของอ่าวไทย สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปยืนมีองค์ประกอบแบบสมดุลเช่นนี้จะเกิดในระยะเวลาใกล้เคียงกันกับพระพุทธรูปยืนปางอหูยมุทราที่ประดิษฐานอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดพระพุทธรูปยืนแบบทวารวดี[8]

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมต่างๆ ได้แสดงออกถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ย่อมแสดงถึงศรัทธาความเชื่อที่มีต่อพุทธศาสนา พุทธศิลป์ที่ปรากฏเหนือองค์พระปฏิมาย่อมแสดงออกถึงลักษณะความคิดด้านสุนทรียศาสตร์ ปริมาณและขนาดในการสร้างย่อมแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรมและความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในยุคนั้นๆ นอกจากนี้ พระพุทธรูปยังแสดงให้เห็นศรัทธาความเชื่อของคนไทยในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารอีกด้วย[9] คติการนับถือพระพุทธรูปปรากฏอยู่ในหลายท้องถิ่น บางครั้งเรียกว่ารูปพระเจ้า พระพุทธรูปอาจทำขึ้นจากวัสดุหลายประเภท เช่น ข้าว ไม้ หิน โลหะ เป็นต้น ในความคิดของผู้คนในสังคมไทย พระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา อีกทั้งยังมีอิทธิปาฏิหาริย์ มีอำนาจในการบันดาลสิ่งต่างๆ ให้แก่มนุษย์ได้

พระพุทธรูปจึงไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าเท่านั้น หากยังเปรียบเสมือนอารักษ์บ้านอารักษ์เมือง ชาวพุทธไทยจึงปฏิบัติต่อพระพุทธรูปเสมือนว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ดังที่เห็นได้ชัดเจนในคติการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) ตามฤดูกาลทั้งสาม[10]

การเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูป

ในปี ค.ศ.646 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12 พระสมณะเสวียนจั้ง (พระถังซำจั๋ง) เขียนบันทึกบอกเล่าการจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ในประเทศอินเดีย เมื่อไปถึงพุทธคยาและโพธิมณฑลอันเป็นสถานตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระเสวียนจั้งพบว่า “ทางด้านตะวันออกของโพธิพฤกษ์มณฑลมีวิหารสูงประมาณ 160 - 170 เฉียะ[11] ฐานล่างแต่ละข้างกว้างประมาณ 20 ก้าว ก่อด้วยอิฐสีคราม ฉาบด้วยปูนขาว ช่องเก็บพระพุทธรูปมีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกๆ ชั้น”[12] บริเวณทิศเหนือต้นศรีมหาโพธิอันเป็นสถานที่จงกรมของพระพุทธเจ้าตลอด 7 วันหลังการตรัสรู้ มีการใช้อิฐก่อเป็นฐานสูง 3 เฉียะเศษขึ้น ณ ที่แห่งนั้น

“เบื้องทิศเหนือของฐานอิฐมีวิหารใหญ่ ตั้งอยู่บนแผ่นศิลา ริมทางเดินฟากตะวันออกมีพระพุทธรูปในลักษณะแหงนพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตร พระตถาคตเจ้าขณะที่ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธินั้น พระเนตรแน่วแน่มิได้เหลือบแลสู่ที่ใดๆ ทั้งนี้เพราะพระองค์ใคร่ตอบแทนคุณงามความดีของต้นศรีมหาโพธิ จึงทรงบูชาพระมหาโพธิด้วยพุทธอิริยาบถดังกล่าว...เบื้องทิศตะวันตกของศรีมหาโพธิออกไปไม่ไกลเท่าไรนัก พระพุทธรูปสร้างด้วยแก้วกาจประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร องค์พระพุทธรูปประดับประดาด้วยอัญมณีมีค่าต่างๆ ยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ข้างหน้ามีศิลาสีครามก้อนหนึ่ง บนนั้นมีลายเส้นและสีสันแปลกๆ”[13]

 

จากคำบอกเล่าของพระสมณะเสวียนจั้ง เราพบว่าชาวพุทธในชมพูทวีปนิยมสร้างพระพุทธรูปและพระสถูปไว้ในสถานที่สำคัญตามเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจะมีอิริยาบถแตกต่างกันไป สุดแต่ว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นจะสร้างไว้เพื่อสื่อสารถึงเหตุการณ์ใดในพุทธประวัติ นอกจากที่อ้างถึงแล้วนั้น พระสมณะเสวียนจั้งยังกล่าวถึงพระพุทธรูปอีกจำนวนหนึ่งที่สร้างขึ้นรอบๆ บริเวณสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และรอบนอกโพธิมณฑล เช่น ด้านตะวันตกของสระมุจลินทนาคราช มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในวิหารเล็กๆ ด้านวิหารในป่าด้านทิศตะวันออกของสระมุจลินทนาคราชมีพระพุทธรูปลักษณะซูบผอมร่วงโรย เพื่อสื่อถึงเหตุการณ์การบำเพ็ญทุกรกิริยาของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น [14]

ในบริบทของอินเดีย พระพุทธรูปและพระสถูปสร้างขึ้นบริเวณที่มีเหตุการณ์ในพุทธประวัติเกิดขึ้น เมื่อผู้แสวงบุญจาริกเดินทางไปถึงสถานที่แห่งนั้นจะได้เห็นพระพุทธรูปในบรรยากาศแวดล้อมที่ชวนให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ พระพุทธรูปจึงถูกสร้างให้มีอิริยาบถที่สะท้อนเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ออกมา เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นในสถานที่นั้นๆ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นให้มีลักษณะสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น ช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้ ช่วงเวลาแห่งการผจญมาร ช่วงเวลาแห่งการทอดพระเนตรต้นโพธิ์ หรือจงกรมระหว่างต้นโพธิ์ หรือช่วงเวลาแห่งการแสดงธรรมเทศนาครั้งแรก เราเรียกพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถในช่วงเวลานั้นๆ ณ สถานที่นั้นๆ ว่า “ปาง” นั้น “ปาง” นี้ ซึ่ง คำว่า “ปาง” ในที่นี้ หมายถึง “เมื่อ” “ครั้ง” อันเป็นการบอกเวลา เมื่อนำมาใช้กับพระพุทธรูปที่เป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ปางนี้ ปางนั้น จึงหมายความว่า “พระพุทธองค์เมื่อครั้ง...ณ สถานที่...นั่นคือเป็นพระพุทธรูปที่แสดงรูปประวัติตอนใดตอนหนึ่งของพระพุทธองค์ ขณะที่ทรงมีสภาวะเป็นมนุษย์นั่นเอง”[15] เช่น พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธปางมุจลินทนาคราชหรือปางนาคปรก เป็นต้น

โดยปกติ มนุษย์จะอยู่ใน 4 อิริยาบถหลักคือ ยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าก็ทรงดำรงอยู่ด้วยอิริยาบถ 4 เช่นเดียวกันกับมนุษย์ทั่วไป ดังนั้น ในการสร้างพระพุทธรูปจึงสร้างให้อยู่ในอิริยาบถทั้งสี่ นอกจากแสดงอิริยาบถแล้ว ยังนิยมสร้างให้พระพุทธรูปแสดงมุทรา (สัญลักษณ์พระหัตถ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง สัญลักษณ์หรือมุทรานี้แสดงให้รู้ว่าพระพุทธรูปปางดังกล่าวสะท้อนพุทธจริยาอะไร เช่น สัญลักษณ์พระหัตถ์ของปางประทานพรย่อมแตกต่างจากสัญลักษณ์พระหัตถ์ของปางห้างพระญาติ ปางมารวิชัยย่อมแสดงสัญลักษณ์พระหัตย์แตกต่างจากปางแสดงธรรมเทศนา ซึ่งอิริยาบถของพระพุทธรูปในศิลปะอินเดีย ที่ปรากฏชัดมี 3 อิริยาบถคือ ยืน ประทับนั่ง และไสยาสน์ (นอน)

พระพุทธรูปยืนในศิลปะอินเดียแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ (1) ยืนแบบสมภังค์ คือ ยืนตรง ขารับน้ำหนักสองข้าง ไม่มีข้างใดข้างหนึ่งหย่อนพัก (2) ยืนแบบตริภังค์ คือการยืนโดยพักขาข้างใดข้างหนึ่งและทิ้งน้ำหนักลงอีกข้างหนึ่ง ตริภังค์ เป็นการหักสามส่วน คือ ลำตัว แขนท่อนบน (ของขาที่พัก) และขาท่อนล่าง (ของขาที่พัก) ส่วนท่าประทับนั่ง (อาสนะ) พระพุทธรูปในศิลปะอินเดียมีท่านั่งเพียง 3 ท่าคือ

(1) วัชราสนะ (ขัดสมาธิเพชร) คือการนั่งโดยใช้พระบาทขวาทับพระเพลา (ขาท่อนบน) ซ้าย แล้วไขว้ข้อพระบาทซ้ายยกซ้อนขึ้นประทับบนพระเพลาขวา จึงเห็นพระบาทสองข้างอยู่บนพระเพลา

(2) วีราสนะ (ขัดสมาธิราบ) คือการนั่งโดยใช้พระบาทขวาทับพระเพลาซ้าย จึงเห็นฝ่าพระบาทเพียงข้างเดียว มีสองท่าย่อยคือขัดสมาธิแบบหลวมๆ กับขัดสมาธิแบบกระชับ

(3) ปรลัมพปาทาสนะ หรือภัทราสนะ ได้แก่ การนั่งห้อยพระบาท พระพุทธรูปในศิลปะอินเดียนิยมสร้างให้นั่งห้อยพระบาทโดยพระชานุ (เข่า) ห่างกัน แต่พระบาทกลับชิด การนั่งห้อยพระบาทเกี่ยวข้องกับการประทับนั่งบนบัลลังก์ของกษัตริย์ พระพุทธรูปประทับในท่านี้เป็นการเน้นย้ำถึงคติพระพุทธเจ้าในฐานะจักรวรรตินหรือพระธรรมจักรพรรดิ ซึ่งตอบรับกับคติการแสดงธรรมจักรมุทราด้วย ท่านั่งห้อยพระบาทนี้พบในศิลปะอินเดียเหนือเท่านั้น คือพบครั้งแรกในศิลปะคุปตะ ต่อมานิยมในศิลปะวกาฏกะ-จาลุกยะตะวันตกในระยะแรกและในศิลปะปาละ ไม่ปรากฏความนิยมในอินเดียใต้ ส่วนอิริยาบถไสยาสน์ ในศิลปะอินเดียจะหมายถึงการปรินิพพานเท่านั้น ส่วนศิลปะนอกอินเดียอิริยาบถนี้อาจหมายถึงการนอนปกติก็ได้[16]

การแสดงมุทราของพระพุทธรูป ในทางประติมานวิทยา มุทรามีความหมายเฉพาะการแสดงพระหัตถ์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Gesture การแสดงมุทราของพระพุทธรูปในศิลปะอินเดีย แบ่งออกเป็น 6 มุทราหลัก ได้แก่ (1) อภัยมุทรา (ประทานอภัย) (2) วรทมุทรา (ประทานพร) (3) ธยานมุทรา (สมาธิ) (4) ภูมิสปรรศมุทรา (มารวิชัย) (5) วิตรรกมุทรา (สั่งสอน) (6) ธรรมจักรมุทรา (ปฐมเทศนา)[17]

การสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ พร้อมทั้งแสดงมุทราดังกล่าวมานี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงเรื่องราวในพุทธประวัติดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง เป็นการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นเป็นองค์ประกอบเรื่องเล่า การสร้างพระพุทธรูปและสถูปก็เพื่อให้ระลึกรู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวใดเกิดขึ้นบ้าง ศิลปินผู้สร้างสรรค์พระพุทธรูปจะจินตนาการว่า ขณะเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นนั้น พระพุทธเจ้าจะทรงมีอิริยาบถและแสดงอาการทางกายอย่างไร ตัวอย่างดังที่ปรากฏในคำบรรยายนี้

“ตอนทรงชนะมารหรือมารวิชัย มีองค์ประกอบเป็นรูปกองทัพพญามาร รูปแม่พระธรณีกำลังบีบน้ำออกจากมวยผม รูปพระพุทธองค์แสดงมุทราหรือความหมายที่พระหัตถ์โดยใช้พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาวางคว่ำเหนือพระเพลาขวา นิ้วพระหัตถ์ชี้แตะลงเบื้องล่าง อันเป็นการแสดงความหมายด้วยมือ เรียกว่า ภูมิสปรรศมุทรา หรือพระหัตถ์แสดงท่าสัมผัสธรณี

เมื่อเห็นภาพเช่นนี้คนดูก็จะทราบเรื่องราว (ซึ่งรับรู้กันมาก่อนแล้ว) ว่าเป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ประทับอยู่บนโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานอกเมืองอุรุเวละ พญามารได้ยกกองทัพมหาศาลเข้ามารบกวนให้เลิกบำเพ็ญเพียร พระพุทธองค์มิได้ทรงหวั่นไหว ได้ทรงอ้างพระบารมีที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน มีความแน่วแน่ในอันที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสพื้นปฐพี เพื่ออ้างแม่พระธรณีขึ้นมาเป็นพยานแห่งการบำเพ็ญพระบารมีอันอเนกอนันต์ที่ผ่านมาของพระองค์

แม่พระธรณีจึงขึ้นมาบีบมวยผมให้น้ำทักษิโณทกอันเป็นทานบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสมบำเพ็ญเพียรมา ที่ได้ตกชุ่มสะสมอยู่ในเกศาของพระนาง หลั่งออกมาเป็นปริมาณมหาศาลไหลบ่าพัดพากองทัพพญามารได้ต้องแตกพ่ายไป”[18]

นี่คือการบรรยายอิริยาบถและมุทราของพระพุทธรูป ซึ่งชี้ให้เห็นว่าลักษณะหรือองค์ประกอบของมุทรามีความสำคัญอย่างไร กล่าวโดยสรุปคือ พระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นเพื่อจำลองเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติแต่ละตอน ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเลือกตอนที่มีความสำคัญที่ชี้แสดงให้เห็นความเป็นมาของพุทธศาสนา ผ่านเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้และหลังการตรัสรู้ใหม่ๆ ของพระพุทธเจ้า เป็นหลัก

เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่มายังดินแดนที่ต่างออกไปและได้กลายเป็นศาสนาแบบพื้นเมือง พุทธศาสนาที่เข้ามายังประเทศไทยจากมาหลายทางจึงหล่อหลอมเข้ากับวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะผสมผสานเข้ากับแนวคิดเรื่องผีในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวัฒนธรรมพราหมณ์ฮินดูอันเป็นวัฒนธรรมที่มาจากถิ่นกำเนิดของพุทธศาสนาเอง ช่วงเวลาอันยาวนานและผ่านดินแดนต่างๆ มาหลายแห่ง ทำให้แนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปเปลี่ยนแปลงไป  

ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปในท่วงท่าพระหัตถ์สัมผัสธรณี อันเป็นที่นิยมทำกันในศิลปะไทยและมีความเข้าใจกันอย่างแน่นอนว่าหมายถึงพระพุทธรูปปางมารวิชัย ดังจะเห็นว่าในโบสถ์วิหารต่างๆ ที่มีพระพุทธรูปนั่งพระหัตถ์สัมผัสธรณีเป็นประธาน ผนังภายในโบสถ์วิหารด้านตรงกันข้ามกับพระประธานจะมีภาพเขียนพญามารและรูปแม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ทั้งพระปฏิมาและจิตรกรรมฝาผนังจึงให้ความหมายถึงพุทธประวัติตอนมารวิชัยอย่างสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม ในโบสถ์วิหารบางแห่ง ปางพระพุทธรูปกับเรื่องราวในพระพุทธประวัติอาจไม่สัมพันธ์กัน อย่างเช่น พระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ผนังด้านหน้าบรรยายเหตุการณ์ตอนมารวิชัยแต่พระพุทธแก้วมรกตประทับนั่งในพระหัตถ์ท่วงท่าสมาธิ มิใช่ท่วงท่าสัมผัสธรณีของพระพุทธรูปปางมารวิชัย นี่แสดงให้เห็นว่าคติที่จะให้พระพุทธรูปแสดงเรื่องราวของพุทธประวัติตอนนั้นตอนนี้ไม่ได้รับความสำคัญมากนัก ในสังคมไทย ดูจะมุ่งหมายให้พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมีความหมายเป็นอย่างอื่นมากกว่าจะเป็นเพียงเครื่องสื่อสารเรื่องราวทางพุทธศาสนา

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่า ท่วงท่าพระหัตถ์ของพระพุทธรูปในศิลปะไทยนั้น บางครั้งก็มิได้รับความสนใจถึงความหมายที่เป็นปางหรือพุทธประวัติจริงๆ เมื่อมีการนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ มีความสนใจแต่เพียงว่าเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานของโบสถ์หรือของเมืองเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความหมายในเรื่องราวของปางหรือพุทธประวัติที่แสดงโดยพระพุทธรูป ดังเอกสารของล้านนาประเภทพงศาวดาร ตำนานพื้นเมืองต่างๆ เมื่อกล่าวถึงการสร้างวัดก็จะสร้างพระพุทธรูป จะไม่กล่าวว่าสร้างพระพุทธรูปปางอะไร หรือในพุทธประวัติตอนใด แต่จะใช้คำพูดว่าสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นองค์ประธาน หรือบางแห่งก็จะกล่าวว่าวัดที่สร้างนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานไปเลยก็มี เนื่องจากสมัยก่อนนั้นคติการสร้างวัดเป็นการสร้างเพื่อถวายแด่พระพุทธองค์ เช่นเดียวกับพระแก้วมรกต เมื่อนำมาประดิษฐานเป็นประธานของวัดหรือของเมือง อาจมีวัตถุประสงค์อื่นอีก เพราะพระแก้วมรกตตั้งหันหน้าตรงกับประตูผี พระแก้วมรกตจึงทำหน้าที่ปกปักรักษาเมืองมิให้ความชั่วร้ายทั้งหลายเข้ามาสู่บ้านเมือง การเขียนภาพหน้าผนังพระอุโบสถหน้าพระแก้วมรกตจึงเป็นการเขียนภาพตามประเพณีช่าง ที่มีความเคยชินว่าภาพเล่าเรื่องบนผนังโบสถ์วิหารตรงข้ามกับพระประธานนั้น ต้องเขียนภาพมารผจญ โดยไม่ต้องสนใจว่ารูปพระพุทธเจ้าที่นั่งเป็นประธานในโบสถ์นั้นจะประทับอยู่ในปางอะไร[19]

อาจสรุปได้ว่า เมื่อแรกสร้างพระพุทธรูปนั้น ศิลปินสร้างสรรค์เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าในฐานะองค์ประธานของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ศาสนา อันดับแรกรูปลักษณ์ทางกายภาพของพระพุทธเจ้า (มหาบุรุษลักษณะ) กลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่เพื่อสื่อสารถึงเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยท่วงท่าอิริยาบถและการแสดงพระหัตถ์จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อสื่อสารถึงเหตุการณ์ในเรื่องเล่า พระพุทธรูปในยุคแรกนั้นๆ ต้องการให้ชาวพุทธรำลึกถึงพระพุทธเจ้าในสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าการรำลึกถึงตัวตนของพระองค์เพียงอย่างเดียว การจินตนาการรูปลักษณ์ที่อิงกับเรื่องเล่าช่วยให้เกิดศรัทธาและเข้าใจธรรมได้มากกว่าการคิดถึงแต่รูปร่างของวัตถุ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ตั้งแต่ครั้งทรงมีชีวิตอยู่ว่า การเห็นร่างกายของพระองค์นั้นเปล่าประโยชน์ พระปฏิมามีความสำคัญในฐานะสิ่งรูปธรรมที่ตอกย้ำเรื่องราวและจินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นเลิศกว่ามนุษย์ทั้งปวง ภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้าชัดเจนเด่นชัดขึ้นเมื่อเราเห็นรูปจำลองลักษณะของพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์และจดจำผ่านเรื่องราวของพระองค์ พระปฏิมาจึงถูกสร้างให้มีเรื่องเล่า แสดงอิริยาบถและมุทราที่สอดรับกับเรื่องเล่าในตำนานหรือคัมภีร์

เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป พุทธศาสนาแพร่เข้ามาในดินแดนใหม่ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นแม้จะแสดงปางบางเรื่องในพุทธประวัติแต่ก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงการเล่าเรื่องเพียงอย่างเดียว หากแต่มีการผสมผสานกับแนวความคิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ การสร้างพระพุทธรูปจึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คนสักการบูชา ไม่ได้มีไว้สำหรับเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจธรรมหรือเหตุการณ์ทางพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว พระพุทธรูปจึงไม่เพียงแต่ถูกสร้างเพื่อเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาทางศาสนธรรมโดยวัฒนธรรมพุทธศาสนาเท่านั้น ประเพณีท้องถิ่นที่พุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงก็มีบทบาทในการหลอมสร้างความคิดเกี่ยวกับการเคารพพระพุทธรูปของชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น พระพุทธรูปที่เคยมีบทบาทหลักในฐานะองค์ประธานของเรื่องเล่าจึงกลายมาเป็นองค์ประธานในโบสถ์ วิหาร หรือลานพระเจดีย์ ประดิษฐานไว้ให้ผู้คนสักการบูชา เป็นนิมิตหมายให้ผู้เข้ามายังสถานที่นั้นๆ ได้ตระหนักว่าสถานที่แห่งนี้เป็นดินแดนของพุทธศาสนา เป็นพื้นที่ที่ควรแสดงออกอย่างเคารพบูชา และต่อมา พระพุทธรูปในสังคมไทยได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีความหมายในเชิงไสยศาสตร์ไม่ใช่ในเชิงการศึกษาเพียงอย่างเดียว

 

อ้างอิง

[1] ปฐม หงษ์สุวรรณ, ตำนานพระพุทธรูปล้านนา: พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น, หน้า 80.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 81.

[3] อนุศักดิ์ เนตรานนท์, “ตำนานและอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป,” หน้า 218 - 219. พระแก่นจันทน์ยังถูกกล่าวถึงใน สังคีติยวงศ์ ที่รจนาขึ้นโดยสมเด็จพระพนรัตน ในสมัยรัชกาลที่ 1 ด้วย

[4] ม.ล.สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์, พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน (เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558), หน้า 18 - 19.

 [5] มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ปฐมบทพระพุทธศาสนาในภาคใต้ ประเทศไทย: หลักธรรมและหลักฐานโบราณคดี (นครศรีธรรมราช: ไทม์ พริ้นติ้ง จำกัด, 2557), หน้า 30 - 33.

 [6] สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์, พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ นิกายวัชรยาน, หน้า 1 - 2.

 [7] เชษฐ์ ติงสัญชลี, “ศิลปะทวารวดี-ศิลปะศรีวิชัย แรกเริ่มของอิทธิพลอินเดียในสยามประเทศ,” ใน เอกสารชุด “ศิลปะในประเทศไทย” เอกสารประกอบโครงการอบรมประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำหรับบุคคลทั่วไป, บรรณาธิการโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2550), หน้า 10.

 [8] กระทรวงศึกษาธิการ, กรมศิลปากร, สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บริษัทคัมปาย อิมเมจจิ้ง จำกัด, 2542), หน้า 38 - 39.

 [9] ศักดิ์ชัย สายสิงห์, พุทธปฏิมา: งานช่างพลังแห่งศรัทธา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2554), คำนำ.

 [10] ปฐม หงษ์สุวรรณ, ตำนานพระพุทธรูปล้านนา: พลังปัญญาทางความเชื่อและความสัมพันธ์กับท้องถิ่น, หน้า 82.

 [11] มาตรวัดระยะของจีน 1 เฉียะเท่ากับ 25 เซนติเมตร

 [12] ชิว ซูหลุน, ผู้แปล, ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547), หน้า 333.

 [13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 338.

 [14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 343 - 345.

 [15] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “คำนำเสนอ ประวัติความคิดสร้างพระพุทธรูปของไทย,” ใน ไขศรี ศรีอรุณ, พระพุทธรูปปางต่างๆ ในสยามประเทศ: ประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปตั้งแต่มหาภิเนษกรมณ์ถึงมหาปรินิพพาน. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), หน้า (7).

 [16] เชษฐ์ ติงสัญชลี, พระพุทธรูปอินเดีย, หน้า 51 - 57.

 [17] ดูรายละเอียดใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 60 - 71.

 [18] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, “คำนำเสนอ ประวัติความคิดสร้างพระพุทธรูปของไทย,” หน้า (7) - (8).

 [19] เรื่องเดียวกัน, หน้า (15)-(16).

 

ภาพปกจาก: https://twitter.com/OptimoPrincipi/status/1084473599703044099

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท