'ใช้ยาอย่างสมเหตุผล'-'รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง' 2ระเบียบวาระใหม่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) มีมติบรรจุเพิ่ม 2 ระเบียบวาระใหม่ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้  “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล” และ “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” หลังจากก่อนหน้านี้ประกาศไปแล้ว 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ “การทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว”

23 ก.ย.2562 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 5/2562  นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. ในฐานะประธานการประชุมฯ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุเพิ่ม 2 ระเบียบวาระเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ คือ 1.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง และ 2.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง หลังจากก่อนหน้านี้มีการอนุมัติระเบียบวาระไปแล้ว 2 เรื่อง คือ 1.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน 2.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว

นพ.สมชาย พีระปกรณ์ อนุกรรมการวิชาการ กล่าวถึงกระบวนการได้มาซึ่ง ระเบียบวาระการจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ว่า ก่อนหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอวาระนี้ ได้มีการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรภาคองค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกัน และในสายกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) อีกทั้งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่จัดก่อนหน้านี้หลายครั้งก็ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและให้ความสำคัญในการติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการวิเคราะห์ข้อมูลมาอย่างรอบด้าน รวมถึงมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในระบบโรงพยาบาล รวมถึงมีฐานวิชาการทั้งระหว่างประเทศและในประเทศไทย แต่จุดอ่อนสำคัญที่พบคือในระดับชุมชนยังไม่มีกระบวนการที่ดีนั

นพ.สมชาย กล่าวต่อไปว่า การยกระดับจากการเข้าถึงยาขึ้นมาเป็นการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่เพียงแค่บุคลากรสาธารณสุข แต่ต้องรวมถึงประชาชนด้วย จึงเสนอเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง”  ซึ่งมีคำใหญ่ๆ คือ “การจัดการเชิงระบบ” แปลว่าไม่ได้ดูเฉพาะในชุมชนแต่ต้องดูทั้งประเทศ “ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล” แปลว่ามองผลกระทบระดับประเทศ “ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” คือชุมชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนาและขับเคลื่อนในเรื่องนี้

นิสิต ศักยพันธ์ อนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า ระเบียบวาระรวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง เป็นประเด็นที่เสนอโดยสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์จากที่ต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องจากยุทธศาสตร์มะเร็งแห่งชาติที่มีการเสนอมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ไม่ได้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทำให้โรคมะเร็งยังคงเป็นโรคที่มีสาเหตุการตายสูงสุดของคนไทย อีกทั้งการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องมะเร็งให้ประชาชนได้รับทราบยังน้อยมาก คณะแพทยศาสตร์จึงพยายามหาทางออกด้วยการทำความเข้าใจประชาชนเรื่องโรคมะเร็งให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันการเจ็บป่วย และเพื่อทำให้ผู้ป่วยอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีความสุขและมีพลังใจต่อสู้กับโรคมะเร็ง

นิสิต กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการทำงานได้เชิญเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกระบวนการ อาทิ มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง มูลนิธิสุขภาพไทย อโรคยาศาล เครือข่ายเพื่อนมะเร็งไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมควบคุมโรค สสส. สปสช. รวมถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมาเน้นเรื่องของการตรวจคัดกรอง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง การสร้างรับรู้ของประชาชนให้เกิดความเข้าใจต่อโรคมะเร็งอย่างถูกต้องและไม่หวาดกลัวจนเกินไป รวมถึงการสร้างความเข้าใจว่าผู้ป่วยมีทางเลือก มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอย่างไรในบั้นปลาย ฯลฯ

นพ.กิจจา เรืองไทย ประธาน คจ.สช. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อระเบียบวาระที่เคยประกาศไปแล้วเดิมคือ วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว เปลี่ยนเป็น วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อยกระดับความสำคัญเรื่องวิถีเพศภาวะให้ครอบคลุมปัญหาสุขภาพที่กว้างกว่าเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งครอบครัวในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมแรกที่หล่อหลอมเรื่องเพศภาวะถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก อีกประการคือ กรมสุขภาพจิตมีแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561–2580 ที่กล่าวถึงการเสริมพลังสุขภาพจิตของครอบครัวอยู่แล้ว คณะทำงานฯ จึงเตรียมการเสนอให้กรมสุขภาพจิตนำเรื่องวิถีเพศภาวะเข้าไปใช้ในแผนปฏิบัติการของกรมฯ

อนึ่ง การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ตามแนวทางของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้จัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2551 จนถึงปี 2562 นับเป็นครั้งที่ 12 แล้ว เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายจากกระบวนการสมัชชาฯ กว่าแปดสิบมติที่มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติทั้งในระดับชาติและระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยมี 4 ระเบียบวาระที่จะมีเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ 1) ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน 2) วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาพจิตครอบครัว 3) การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง และ 4) รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท