FTA Watch หวั่นผลกระทบเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป ยันทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม

เอฟทีเอ ว็อทช์ ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีการรื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ชี้อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม เกิดระบบผูกขาดภาคเกษตร กระทบต่อการเข้าถึงยาในราคาถูก เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเจรจา และการออกมาตรการเยียวยาต้องให้ผู้ได้ประโยชน์มีส่วนรับผิดชอบ

ตัวแทนผู้ยื่นจดหมาย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ และ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ตรงกลางและขวามือ) ผู้รับ - อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายมือ)

23 ก.ย. 2562 เอฟทีเอ ว็อทช์ เครือข่ายภาคประชาสังคมได้ออกจดหมายเปิดผนึกกรณีการรื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ต่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โดยกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น ข้อผูกพันแบบทริปส์พลัส ในด้านการเกษตร ที่จะทำให้เกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรแบบครบวงจร ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเกษตรกรรายย่อย รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในราคาไม่แพงและระบบสุขภาพ เนื่องจากการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตรที่ยาวนานเกินกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก การกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ และการจำกัดการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ รวมไปถึงการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้

นอกจากนี้ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังเรียกร้องให้นำผลการศึกษาผลกระทบของเอฟทีเอด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health Impact Assessment (HIA) และ Environmental Health Impact Assessment (EHIA)) ทุกฉบับมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาอีกหรือไม่และใช้เป็นข้อมูลในช่วงการเจรจา และในการเจรจาควรจัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเตรียมเนื้อหาการเจรจาอย่างเท่าเทียม ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้

ท้ายสุดการออกมาตรการรองรับหรือมาตรการเยียวยาใดๆ จากผลกระทบของเอฟทีเอ ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ มีส่วนในการรับผิดชอบต่อความผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพ ชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม

 

เรื่อง การรื้อฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป

เรียน  รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

 

พวกเราคือกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ได้ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ รวมถึงในแง่มุมที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปนั้นกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนมีข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลนโยบายด้านนี้ดังต่อไปนี้

 

1.เมื่อปี พ.ศ. 2552 ก่อนที่การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะเริ่มขึ้น คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นขึ้นทั่วประเทศและพบว่า ข้อห่วงกังวลที่ชัดเจน คือ การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก (ข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวก หรือ ทริปส์พลัส) ในด้านการเกษตร ข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกจะทำให้เกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรแบบครบวงจร ที่จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตของชุมชน และเกษตรรายย่อย ในด้านระบบสุขภาพ ข้อผูกพันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในราคาไม่แพงและระบบสุขภาพ เนื่องจากการผูกขาดผ่านระบบสิทธิบัตรที่ยาวนานเกินกว่ามาตรฐานขององค์การการค้าโลก การกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ และการจำกัดการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อการสาธารณสุขของประเทศ   นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งจะทำให้มีการบริโภคมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการคุ้มครองการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ แม้ว่ารัฐจะกำหนดให้มีนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน แต่ขัดผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ  ทั้งนี้ การคุ้มครองการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในทุกมิติ  ข้อกังวลเหล่านี้ไม่ได้เกินจริง แต่มาจากการศึกษาและวิเคราะห์ร่างความตกลงที่สหภาพยุโรปเคยเสนอมาในการเจรจาครั้งที่แล้ว  สิ่งนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายพึงตระหนักตั้งแต่ก่อนที่จะรื้อฟื้นการเจรจา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะนี้นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก เพื่อกล่าวคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยช่วยให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล อันเป็นที่ชื่นชมและถือเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตานานาประเทศ และหลายประเทศกำลังเดินหน้าผลักดันให้มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ เช่นเดียวกับไทย  แต่ถ้าประเทศไทยเดินหน้ารื้อฟี้นการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป โดยให้มีข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงุทน อย่างที่เคยปรากฏในร่างความตกลงฉบับก่อน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของไทยจะได้รับผลกระทบร้ายแรง จากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมากและการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ทั้งในคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การสหประชาชาติ ที่นายกฯ ของไทยกำลังไปร่วมประชุม ในข้อที่ 51 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชน เป้าหมายที่ 3 ที่ว่าด้วยสุขภาพ และในปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ก็ได้กล่าวย้ำความจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าถึงยา วัคซีน และเวชภัณฑ์จำเป็นต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรม และไม่ควรให้ความตกลงการค้าใดๆ และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ด้งนั้นแล้ว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จึงควรตระหนักและคำนึงถึงประเด็นในเรื่องความสอดคล้องทางนโยบายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการสาธารณสุข

 

2. เมื่อเจ็ดปีที่แล้วตอนที่เริ่มการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนอ้างความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดทำเอฟทีเอ เพื่อไม่ให้สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)  อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาพบว่า แม้สินค้าบางรายการของไทยถูกตัด GSP ไปแล้ว แต่การส่งออกไม่ได้ลดลง สินค้าส่งออกบางรายการกลับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตัวเลขการลงทุนของสองฝ่ายก็ไม่ได้ลดน้อยลง  ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนงานศึกษาและข้อมูลของทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนที่สนับสนุนให้เร่งเจรจา เพราะอาจมีอคติและให้ข้อมูลตัวเลขผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจาที่เกินจริง และในทำนองเดียวกัน อาจให้ข้อมูลตัวเลขด้านผลกระทบในกรณีที่ไทยไม่ทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่รุนแรงเกินจริง

 

3. ในการเจรจารอบที่เคยผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้จัดทำการศึกษาผลกระทบของเอฟทีเอด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health Impact Assessment (HIA) และ Environmental Health Impact Assessment (EHIA)) และกระทรวงพาณิชย์และสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ศึกษาและมีรายงานหลายฉบับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรรวบรวมงานศึกษาเหล่านี้ทุกฉบับและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาอีกหรือไม่และใช้เป็นข้อมูลในช่วงการเจรจา

 

4. ในการเจรจารอบที่เคยผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเตรียมเนื้อหาการเจรจาอย่างเท่าเทียม เช่น การจัดให้มีการหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมทั้งรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล  ถ้ามีการรื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมาอีกครั้ง ขั้นตอนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและทุกหัวข้อของเนื้อหาการเจรจาความตกลง ต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย อย่างแท้จริง และไม่น้อยไปกว่าเดิม  อีกทั้งไม่ควรเลือกปฏิบัติรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม

 

5. การออกมาตรการรองรับหรือมาตรการเยียวยาใดๆ จากผลกระทบของเอฟทีเอ ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ มีส่วนในการรับผิดชอบต่อความผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพ ชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องพิจารณาจัดเก็บภาษีรายการใหม่จากภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่ได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้น ในอัตราที่สมเหตุสมผลและเพียงพอต่อการเยียวยาจริง

 

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาควิชาการ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลการศึกษาต่างๆ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากที่สุด และไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุกผลเสียกระจายดังที่เคยเป็นมา

     

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ     

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่ทำงานติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท