อัยการสั่งฟ้องหญิงชาวอุบลฯ ข้อหายุยงปลุกปั่น-อั้งยี่-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุสวมเสื้อดำสหพันธรัฐไท

อัยการสั่งฟ้อง กาญจนา หญิงชาวอุบลฯ ข้อหายุยงปลุกปั่น-อั้งยี่-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุสวมเสื้อดำสหพันธรัฐไท

(เสื้อที่ถูกระบุว่ามีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท : ที่มา แฟ้มภาพ)

23 ก.ย.2562 ความคืบหน้าคดีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ล่าสุดวันนี้ (23 ก.ย.62) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 นัดสั่งฟ้อง กาญจนา (นามสมมุติ) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา 209 และข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 8 และ มาตรา 14 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อันเป็นเท็จ ประกอบกับ มาตรา 33 การริบทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด มาตรา 38 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป มาตรา 4 ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยกาญจนาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 11 พ.ย. 62 เวลา 13.30 น.

อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง บังอาจร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนิน มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบโดยกฎหมาย

จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่ม และประชาชนทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไป บริเวณห้ามสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร

กรณีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลไว้ว่าสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 กาญจนาใส่เสื้อแจ๊กเก็ตสีดำถือธงขาว-แดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทในห้างสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี แล้วส่งต่อกันในสื่อออนไลน์ ก่อนกาญจนาจะถูกควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อยู่ 4 วัน ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวกาญจนาไปส่งที่บ้าน โดยไม่ได้มีการดำเนินคดี แต่ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค. 61 นางกาญจนาได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ควบคุมตัวเธอขึ้นรถตู้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนนำตัวกลับไปส่งที่บ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 14 ธ.ค. 61 จากนั้น วันที่ 25 ธ.ค. 61 นางกาญจนาจึงได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองอุบลฯ ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นางกาญจนาให้ข้อมูลว่า ในระหว่างถูกควบคุมหลายวันดังกล่าวนั้น เธอถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสอบปากคำหลายครั้ง

โดยภาพรวมคดีนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปไว้ว่ากลุ่มคดีสหพันธรัฐไทมีการควบคุมตัวบุคคลซึ่งออกมาเคลื่อนไหวโดยการใส่เสื้อสีดำ ตั้งแต่กลางปี 2561  แต่ในช่วงเกิดเหตุวันที่ 5 ธ.ค.61 มีการควบคุมตัวบุคคลไปไว้ในค่ายทหารหลายพื้นที่ และยังมีการติดตามควบคุมตัวบุคคลซึ่งออกมาแสดงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องล่าสุดเป็นการจับกุมตัวชูวิทย์(สงวนนามสกุล) ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ที่ผ่านมาเป็นรายที่ 19

สำหรับองค์กรสหพันธรัฐไทนั้น มีความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2561 และมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีเพราะเกี่ยวพันกับกลุ่มนี้ 19 คน แบ่งเป็นหลายคดีต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สาธารณชนได้รับทราบเรื่องราวของสหพันธรัฐไทกันอย่างกว้างขวางเป็นกรณีที่ทหารดำเนินการติดตามจับกุมบุคคลที่มีเสื้อยืดดำติดแถบสีขาวแดงอยู่ในครอบครองที่เบื้องต้นยังไม่มีใครรู้จักกันดีนักว่าแถบสีดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท 

กระทั่งกลุ่มสหพันธรัฐไทกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งจากการนัดรวมตัวกันใส่เสื้อดำเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2561 ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารไปติดตามขัดขวาง รวมถึงควบคุมตัวบุคคลตามมาซึ่งเหตุการณ์คุมตัวบุคคลยาวต่อเนื่องอยู่เกือบสัปดาห์ แต่เท่าที่ศูนย์ทนายความฯ รับทราบก็เหมือนจะไม่ได้มีการดำเนินคดีกับบุคคลใดจนกระทั่งเข้าสู่ปี 2562 ที่มีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้นตามมา และมีการติตดามจับกุมตัวผู้ที่กำลังดำเนินการขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR กลับมาจากประเทศมาเลเซียอีกด้วย

แต่อีกเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันและไม่กล่าวถึงไม่ได้คือกรณีการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยการเมืองไทยจำนวน 3 คนที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท คือ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันดีในผู้ที่ติดตามการเมืองไทย, กฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด และ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง แม้ว่าจะมีการอ้างกันว่าพวกเขาถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามและถูกส่งกลับไทยแล้วตั้งแต่ 8 พ.ค.2562 แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท