'ไทย-แอฟริกาใต้' หารือความร่วมมือสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน

“ไทย-แอฟริกาใต้” หารือทวิภาคีความร่วมมือสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เผยแอฟริกาใต้อยู่ระหว่างพัฒนาหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น และขอให้ไทยเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประชาชน

24 ก.ย.2562 รายงานข่าวจากทีมสือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมาเวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.ซเวลลินิ แอล มไคซ์ (Dr.Zwelini L Mkhize) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศแอฟริกาใต้ ประสานงานขอพบ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือความร่วมมือพัฒนาหลักประกันสุขภาพระหว่างประเทศ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมหารือด้วย

นพ.มไคซ์ กล่าวว่า ประเทศแอฟริกาใต้อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแอฟริกาใต้ (National Health Insurance, NHI) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข และตั้งเป้าหมายที่จะให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคการเงินมาขวางกั้น 

“ไทยและแอฟริกาใต้เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีสถานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่ไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและใช้เป็นเครื่องมือลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้ การหารือครั้งนี้แอฟริกาใต้ขอให้ไทยเป็นที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพเช่นที่ไทยทำได้มาแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ กล่าว

นพ.สำเริง กล่าวว่า จากการหารือทวิภาคีในครั้งนี้ แอฟริกาใต้ต้องการเรียนรู้บทเรียนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบสาธารณสุขของโลก เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งประเด็นที่แอฟริกาใต้ให้ความสนใจนั้น จะเป็นความสนใจในองค์รวมว่า วิธีการบริหารจัดการของไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง และการที่ไทยเราใช้งบประมาณไม่มาก จุดนี้สามารถนำไปปรับใช้ภายในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร  ซึ่งเบื้องต้นไทยตอบรับด้วยความยินดี และปัจจุบันประเทศไทยก็เป็นที่ปรึกษาการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลายประเทศ ที่เพิ่งลงนามผ่านไป คือ สาธารณรัฐเคนยา สำหรับประเทศแอฟริกาใต้นั้น หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

เน้นย้ำ “สุขภาพคือการลงทุน”

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC Chamber) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.สำเริง ร่วมอภิปรายการประชุมคู่ขนานของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage – UHC)

นพ.สำเริง กล่าวว่า หากเราต้องการบรรลุเรื่องความเท่าเทียม การพัฒนาอย่างทั่วถึง และความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะประชากรชายขอบและกลุ่มเปราะบาง

นพ.สำเริง กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วเรามักจะมองประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางในฐานะ “เส้นทางสุดท้าย” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้น เราทำตรงข้ามกัน ไทยตระหนักว่า ประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางเป็น “จุดเริ่มต้น” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเรา ด้วยเหตุนี้ หลักประกันสุขภาพของไทยจึงเริ่มจากประชากรที่มีรายได้น้อยก่อนในปี 2518 และขยายมายังกลุ่มแรงงานในระบบด้วยระบบประกันสังคมในปี 2533 ก่อนจะบรรลุหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าในปี 2545

ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพของไทยมีวิสัยทัศน์ว่า ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นโดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงินมาขวางกั้น ซึ่งนี่คือการพัฒนาอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leaving no one behind)  

นพ.สำเริง กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ผลจากการที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ได้พิสูจน์แล้วว่าการที่รัฐลงทุนด้านสุขภาพเพื่อประชาชนนั้น ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 20 ที่สำคัญหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้ในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ทางอ้อมและสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน เท่ากับว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยลดความยากจนได้ ซึ่งนี่คือการสร้างความมั่งคั่งสำหรับทุกคน

“จากประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย จะเห็นได้ว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ จากความเชื่อเดิมที่ว่า สุขภาพคือค่าใช้จ่าย มาเป็น สุขภาพคือการลงทุน โดยเริ่มจากประชากรกลุ่มชายขอบและเปราะบางที่เคยถูกมองเป็นหลักไมล์สุดท้าย ต้องเป็นหลักไมล์แรกที่ต้องพิชิต เพื่อให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จเช่นที่ไทยเคยทำได้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นอกจากนี้ นพ.สำเริง ยังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพของไทยว่า การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียนั้น จะทำให้เกิดธรรมาภิบาลซึ่งจำเป็นสำหรับหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ทั้งยังรวมไปถึง ความโปร่งใส ความรับผิดรับชอบ หลักนิติธรรม ความเป็นธรรมและความเพียงพอด้วย

นพ.สำเริง กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยได้ออกแบบระบบการกำกับดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นโครงสร้างการกำกับดูแลที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วม คณะกรรมการทั้ง 30 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้งภาคประชาสังคม (เป็นสตรี 4 ใน 5 คน)  ผู้ให้บริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อดีตข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ โดยมีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีการถ่ายทอดสดทุกครั้ง ทำให้ทราบถึงบทบาทที่เข้มแข็งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท