ร่างกาย(ไม่)ใต้บงการ: เจตจำนงเสรีในละครเรื่องใหม่ของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล

 


“คาเงะ” ธีระวัฒน์ มุลวิไล

‘The (Un)Governed Body’ ละครเรื่องล่าสุดของกลุ่มละครบีฟลอร์ กลุ่มละครร่วมสมัย กำกับโดยธีระวัฒน์ “คาเงะ” มุลวิไล เปิดแสดงที่ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ ตึกแปลน สาทร ซอย 10 เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ผลงานการแสดงแนวฟิสิคัลเธียร์เตอร์ชิ้นใหม่ของธีระวัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิด “ร่างกายใต้บงการ” ของมิเชล ฟูโกต์ รวมกับวัฒนธรรมทรงเจ้าเข้าผีในไทย ตลอดทั้งเรื่องนักแสดงพูดเพียงแค่ไม่กี่คำ แต่ใช้ร่างกายของตนแสดงออกเพื่อตั้งคำถามว่าคนเรามีเจตจำนงเสรีจริงหรือไม่ และร่างกายของเรามีใครร่วมเป็นผู้ควบคุมหรือเปล่า

ภาพของนักแสดงบนเวทีสะท้อนภาพของการประกอบพิธีกรรมที่เราคุ้นเคย อย่างการที่คนทรงเจ้านั่งตัวสั่นไปมาก่อนจะมี “เจ้า” เข้ามาสถิต หรือการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกการเคลื่อนไหวของนักแสดงคือการตามหาสมดุลระหว่างเสรีภาพกับการควบคุม ชวนให้ตั้งคำถามถึงกฎระเบียบที่มองไม่เห็นที่ควบคุมเรา ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อลองคิดดูว่าร่างทรงนั้นเป็นผู้อนุญาตให้วิญญาณอื่นเข้ามาควบคุมร่างตน ก็อาจชวนให้ตั้งคำถามไปถึงว่าเราเองเป็นฝ่ายยินยอมให้ถูกกฏระเบียบครอบงำโดยไม่ตั้งคำถามหรือเปล่า

ประชาไทคุยกับธีระวัฒน์เรื่องผลงานชิ้นล่าสุด การทำงานละครที่มีช่วงที่ปล่อยให้นักแสดงมี free will การตั้งคำถามต่อกฎระเบียบและการแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ และพื้นที่ของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย

0000

ละครเกี่ยวกับอะไร?

จากชื่อเรื่อง Unbgoverned body govern มันแปลว่าการควบคุม การครอบงำ ก็คือ อะไรคือการควบคุม ครอบงำร่างกายเรา ในชีวิตของเราถูกควบคุมอะไรบ้าง เราเชื่อว่าแต่ละคนมีการเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นตัวบอกว่าเราจะคิดยังไง มีโลกทัศน์ยังไง เราเข้าโรงเรียนเราถูกสอนยังไง นอกเหนือจากวิชาการ การอยู่ร่วมกับสังคม เราถูกสอนยังไง วิชาในโรงเรียนกำลังบอกว่าเราสังคมในอุดมคติคืออะไร และทำให้เรามีฉันทามติร่วมกัน เพื่อเป็นการควบคุมสังคม เช่น การมีมารยาทที่ดี นี่คือการควบคุมรึเปล่า แต่ถ้าไม่มีการควบคุม สังคมก็อาจจะฉิบหายวายป่วง 

ถ้าเราบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพ แล้วต้องมีการควบคุมรึเปล่า หรือจริงๆ บาลานซ์ระหว่างการควบคุมและการมีเสรีภาพ

 

การแสดงชุดนี้กำลังตั้งคำถามว่าตกลงแล้วอะไรคือการบาลานซ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพกับการควบคุม?

ใช่ เราเชื่อว่าคนเรามีฟรีวิล (free wil)l หรือเจตจำนงเสรีในการเลือกหรือไม่เลือกอะไร แต่บางทีเราอาจถูกทำให้เกิดการเลือก โดยที่คนอื่นเลือกขึ้นมา คุณเลือกได้อิสระภายใน 5 อย่าง ถ้าเราอยากได้อย่างที่ 6 7 8 ล่ะ ได้ไหม ถ้าเขาบอก 5 อย่าง แสดงว่าก็ยังมีขอบเขตการควบคุมอิสระของเรา แต่บางคนอาจคิดว่านี่คุณมีอิสรภาพในการเลือกแล้ว แต่คุณอยู่ภายใต้กฎบางอย่างที่ใหญ่กว่า ที่ทำให้เราต้องเลือกในช้อยส์ที่เขาให้มา บางคนจึงอาจมองไม่เห็นด้วยซ้ำ บางคนอาจคิดว่ามีอิสระเสรี แต่จริงๆไม่ใช่ เบื้องลึก กลไกที่มันใหญ่กว่านั้น คุณแค่ถูกวางเหมือนเกมพัสเซิล ไม่ว่าคุณจะเปิดประตูซ้ายหรือขวา เขาก็กำหนดมาหมดแล้วว่าคุณจะต้องไปเจออะไร

เราจึงตั้งคำถามว่าเรามีฟรีวิลจริงๆ เหรอ แล้วเราจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร และเราตั้งคำถามในการทำงานของเรื่องนี้ด้วย บางครั้งเราจึงลองให้นักแสดงมีฟรีวิล เหมือนเวลาคุณทำพิธีกรรมต่างๆ คุณจะมีวิถีชัดเจนว่าต้องทำสิ่งนี้ แล้วต่อด้วยสิ่งนี้ เพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง แต่มันอาจถูก interupt (รบกวน) ด้วยสิ่งอื่นที่จะมาควบคุมอีกทีก็ได้

 

 

แล้วคุณทำงานกับนักแสดงอย่างไร?

จากปีที่แล้วที่เราเริ่มโปรเจคนี้  เริ่มจากที่เราสนใจเรื่องร่างทรงเป็นหลัก ยังไม่มีประเด็นหรือเนื้อหาที่สนใจเป็นพิเศษ ค่อนข้างเปิดกว้าง พอปีนี้เราเริ่มทำ ก็ตั้งคำถามว่าการแสดงทุกการแสดงมันก็คือการควบคุมโดยผู้กำกับ มันมีช้อยส์แรกที่เคยทำขนาดว่า ครึ่งแรกของการแสดงเป็นการกำกับของผู้กำกับบนเวที คืออาจมีเสียงของผู้กำกับสั่งให้นักแสดงทำอะไร เพื่อให้คนดูเห็นว่าเรากำลัง manipulate (ฉวยใช้) นักแสดงอยู่ แล้วครึ่งหลังนักแสดงจะทำอะไรก็ได้

แต่พอทำออกมาแล้วก็ตั้งคำถามว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนเวที สำหรับผู้ชมก็คิดว่าเป็นการกำกับของผู้กำกับทั้งนั้นแหละ ดังนันเราจะมีคำว่าอิสระได้ยังไง พอมันยังเป็นโชว์ยังไงก็ยังเป็นการแสดง หมายถึงคนมาดู ซื้อตั๋วมา หลังจากทดลองแล้วจึงไม่เวิร์ค ก็ตัดช้อยส์นี้ไป 

ดังนั้นเรื่องนี้จะมีการควบคุมเยอะมาก จนถึงโมเมนต์หนึ่งที่เราปล่อย แต่ไม่ได้เยอะมาก ไม่ถึง 20% เราจะให้ช้อยส์นักแสดงว่าคุณรู้สึกหรืออยากทำอะไรก็ได้ ก็อาจจะเป็นโมเมนต์เดียวที่เรามีอิสระ

 

เวลาออกแบบการแสดง ออกมาในลักษณะไหน?

มันเป็น ฟิสิเคิลเธียเตอร์ เป็นแดนซ์ บอดี้มูฟเมนต์ มีบทพูดนิดเดียว เราจะรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องการที่คนทรงถูกเข้า เข้ามาได้ยังไง โดยการสั่งใช่ไหม  โดยการรู้ว่าจิตเราอยู่ข้างใน เราเห็นทุกอย่าง แต่เราไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ มาจากสมมติฐานแบบนี้ด้วย

เมื่อพูดเรื่องสิทธิและความชอบธรรมในการถูกควบคุม ที่ยกตัวอย่างในละครคือคนทรง เขาอยากให้ถูกควบคุม นั่นคือสิ่งที่เขาปรารถนาอยากจะเป็น เพราะนั่นคือกายศักดิ์สิทธิ ได้เป็นแล้วคนจะนับถือ มันคือสเตตัสอย่างหนึ่งของคนในสังคม สังเกตว่าร่างทรงมักมาจากสเตตัสคนธรรมดา ไม่มีใครมาจากสเตตัสยิ่งใหญ่ ผมเชื่อว่าการ connect (เชื่อมโยง) กับสิ่งที่ใหญ่กว่าทำให้เขามีความชอบธรรมในการที่จะพูดหรือดูดวง ทุกคนจะพร้อมเชื่อ เพราะคนนั้นไม่ใช่นาย ก. นาย ข. คนนั้นคือ God (พระเจ้า) นั้นคือร่างกายสมมติ 

ถามว่าสังคมมีลักษณะแบบนี้ไหม ที่คุณสามารถเชื่อใครก็ได้เลยเพราะเขามีสเตตัสที่ใหญ่กว่า ที่เขาเป็นอาจารย์ ผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยที่ไม่ต้องตั้งคำถามเลยใช่ไหม หรือคำสั่งต่างๆ กฎหมายต่างๆ เราต้องเชื่อได้เลยใช่ไหม ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่ากฎบางอย่างมันถูกสร้างขึ้นมาอย่างฉ้อฉล ไม่ชอบกล แล้วคุณจะเชื่อกฎแบบนั้นรึเปล่า เราพร้อมจะยอมรับการถูกควบคุมแบบนั้นเหรอ เมื่อคุณเห็นอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง แล้วเราจะปลดแอกตัวเองออกไปจากสิ่งที่ควบคุม ฉ้อฉล แบบนี้ได้อย่างไร

 

ซึ่งการแสดงชุดนี้มีคำตอบให้ไหม?

พอมันเป็นฟิสิคัลเธียเตอร์ คำตอบมันอยู่ที่ผู้ชม มันมีการคลี่คลายบางอย่าง แต่แล้วแต่คนดูเห็นอะไร องค์ประกอบที่เกิดขึ้นในสเปซของการแสดง ให้ความหมายอะไร ผมตั้งคำถามเรื่องการทำตามคนอื่นโดยไม่ต้องตั้งคำถามอะไร ยังใช้ได้กับสังคมอย่างนี้อยู่รึเปล่า

 

ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายถูกเอามาใช้เพียวๆ คนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนจะสามารถซึมซับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อไหม?

ผมว่าไม่เกี่ยวกัน ผมคิดว่างานแบบนี้มันไม่ครอบงำ งานนี้ปล่อยให้คนดูมีจินตนาการ มีอิสระ มากกว่า งานที่บอกว่าเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า มันก็คือการครอบงำอยู่แล้ว มันคือการตั้งจุดประสงค์เพื่อใหัคนเชื่ออะไรสักอย่าง แต่งานนี้สร้างมาเพื่อให้คนตั้งคำถาม ให้สงสัย มากกว่าจะไปหาคำตอบให้ เพราะคำตอบเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางคนอาจมองเรื่องนี้เป็นเรื่องศาสนา บางคนอาจมองว่าการเมือง บางคนอาจมองอย่างอื่น ตามแต่หมวกที่เขาใส่

 

 

ในสภาพสังคมทุกวันนี้อะไรคือความสำคัญของการกระตุ้นให้คนตั้งคำถามกับกฎระเบียบ หรือการทำตามกฎระเบียบ?

ผมคิดว่าหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมมันไม่มีมวลชนหรือการขับเคลื่อนที่แท้จริง เพราะเขาไม่ได้โดนผลกระทบอย่างถึงที่สุด เขาไม่ได้เดือดร้อน ไม่ได้แย่ เราอาจเห็นข่าวช่วงนี้เศรษฐกิจแย่ คนฆ่าตัวตาย แต่มันอาจจะต้องแย่ได้มากกว่านี้ มันถึงจะทำให้คนตั้งคำถาม ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตอนนี้เขาก็ตั้งคำถามอยู่นะ แต่เขาได้แค่บ่น มันไม่เกิดการเคลื่อนไหวที่ใหญ่พอ ผมก็ไม่รู้เพราะอะไร คนไทยมีความอดทนสูงมาก จนเกินความคาดหมายของเราว่าจะสูงได้ขนาดนี้ หรือบางทีเรารู้สึกเราทนไม่ได้แล้ว เฮ้ย มีคนทนได้อีก (หัวเราะ) เส้นความอดทนของคนไทยสูงเกินกว่าลิมิตของชาติใดในโลกจะรับได้

 

เราจะไม่เห็นคนไทยออกมาแบบฮ่องกง?

ไม่ ผมไม่เชื่อว่าอย่างนั้น มันต้องเหี้ยได้กว่านี้อีก ถ้ายุทธศาสตร์ 20 ปี ก็ต้องรอให้ 20 ปีก่อน แล้วตอนนั้นเราจะเห็น แล้วบอกว่า เออ จริงว่ะ มันแย่จริงด้วย ตอนนั้นคงเป็นรุ่นหลานเรา รุ่นหลานจะด่ารุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นย่า ทำไมไม่ทำอะไร ทำไมมรดกถึงตกมาถึงเขา แต่คนรุ่นนี้อยู่ในช่วงคาบเกี่ยว เราอยู่ในระบบอุปถัมภ์มานานพอจนกระทั่งไม่ขยับอะไรแล้ว ขณะที่คนรากหญ้าขยับแต่ก็ไม่มีพลังพอถ้าไม่มีคนชนชั้นกลางเข้าร่วมด้วย เพราะผู้มีอำนาจเขาฟังเฉพาะเสียงคนชนชั้นกลาง 

ล่าสุดมีเรื่องคนวาดรูปอุลตร้าแมนพระพุทธเจ้า ผมสงสัยว่าคนไทยนับถืออะไรกันอยู่ ลักษณะของพุทธคือการปล่อยวางไม่ยึดติดด้วยซ้ำไป กลายเป็นว่ามีขบวนการเหล่านี้ขึ้นมา อันนี้สะท้อนความเป็นไทยได้ดีที่สุด เวลาเราจะพูดถึงความจริงสักอย่าง กลายเป็นว่ามีหมอกควัน มีม่านที่พร้อมจะเข้ามาปะทะ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ผมคิดว่าน้องคนที่วาด หรือคนทำงานศิลปะที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ หรืองานที่กะเทาะ กระท้อนสังคมต่างๆ นานา มันเป็นงานที่ต้องรุ่งเรืองในยุคนี้แหละ เพราะเราเห็นความอัปลักษณ์ ความทุเรศทุรังเกิดขึ้นในหลายมิติ และด้านมากที่จะทำออกมาโดยที่ไม่รู้สึกละอาย 

ดังนั้นแม้กระทั่งเด็กก็คิดได้ ในงานไหว้ครู งานกีฬาสี เขาก็เห็นไง ดังนั้นจะมาดูถูกว่าคนทั่วไปไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ การครอบงำที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เขาก็มองเห็น แต่บางทีการปิดหูปิดตาตัวเองเพื่อที่จะทำมาหากินต่อไปได้อย่างสะดวกก็เป็นเรื่องว่าไม่ได้ ถ้าเรามีครอบครัว มีธุรกิจ บางทีก็ต้องคิดเรื่องแบบนี้

 

คิดว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะไม่อายในการตั้งคำถาม แล้วก็แสดงออกมา มากขึ้นเรื่อยๆไหม?

ผมว่ามีมาเรื่อยๆ มันเป็นแนวโน้มของโลก เขาเห็นฮ่องกง เห็นเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรม พออินเทอร์เน็ตมันสื่อสารถึงกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องเทรนด์ แต่ผมคิดว่าเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ เรื่องโลกร้อน ถุงพลาสติก สัตว์ต่างๆที่กำลังสูญพันธุ์ ความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ หรือการเห็นปัญหาของไร่นา เกษตรกร เหมือง สิ่งแวดล้อม ผมว่าเยาวชนเข้าร่วมเอง มันไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ชักชวน มาซื้อ หรือมาจ้าง ผมว่ามันหมดยุคแบบนั้นไปแล้ว ที่เขามาร่วมเพราะเขาห่วงอนาคตของเขาเอง ผมคิดว่าเขาอาจเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้ได้มากกว่าการเมืองด้วยซ้ำไป แต่ผมคิดว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่ไม่ควรจะทำให้สวนทางกันก็คือระบบการครอบงำที่ใหญ่ที่สุดซึ่งก็คือการศึกษา โรงเรียนกำลังสอนอะไร แล้วโลกภายนอกกำลังเกิดอะไรขึ้น พอเขาออกมาสู่โลกภายนอก มันไม่ใช่อย่างที่โรงเรียนกำลังจะบอกเลย ดังนั้นการปาวารณาความคิดที่เป็นแบบท๊อปทูดาวน์ ผมว่าวิธีการแบบนี้จะใช้ไม่ได้ และไม่มีทางที่จะใช้ได้อีกต่อไป ทุกอย่างมันต้องกระจายออกไป แบนออกไป แผ่ออกไป ในรัศมีที่ขนานออกไปมากกว่า ที่จะเป็นข้างบนสู่ข้างล่าง

 

คิดยังไงกับคนที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง?

เขามีสิทธิที่จะคิดได้นะ แต่ถ้าเขาเปิดหูเปิดตาเขาจะเห็นว่ามีเยอะมาก กระจายเป็นหย่อมๆ บางอย่างอาจเป็นเหมือนกิจกรรมสนุกสนาน ทำดนตรี แต่มีเนื้อหาฮุกๆ แบบอิทธิพลประเทศกูมี เราก็เห็นเด็กอยากจะแต่งแร็ป อยากจะใช้ภาษา อยากจะใช้เพลงในการพูดถึงเรื่องสังคม  

แต่ถ้าคิดว่าไม่สนใจการเมืองแบบ ทำไมไม่เดินออกไปถนนล่ะ ทำไมไม่ชูป้าย ผมว่าอันนั้นเป็นวิธีหนึ่งเท่านั้น วิธีที่จะเรียกร้องมีตั้งหลายแบบจากสิ่งที่เขาจะทำได้ เช่น การเขียน กวี ดนตรี งานศิลปะ แค่นั้นก็พอแล้วรึเปล่า จะคาดหวังว่าเขาต้องทำแบบไหน

งานศิลปะอาจไม่ใช่งานปลุกเร้าแบบงานรณรงค์ ผมยังทำงานศิลปะอยู่เป็นตัวนำ แน่นอนมีประเด็นเชิงไอเดียเรื่องการควบคุม เรื่องร่างกายใต้บงการของมิเชล ฟูโกต์ ซึ่งผมได้รับอิทธิพลมา ว่าการควบคุมคนมันมีหลายมิติ เพียงแต่ผมทำออกมาในเซ้นส์ของการแสดงงานศิลปะ มากกว่า

 

สิ่งที่ทำให้ตอนนี้ไทยไม่มีฟรีวิลคืออะไร?

คนไม่รู้จะเชื่ออะไรอีกต่อไปแล้ว มันออกมาในแนวความสิ้นหวัง การจะมีฟรีวิลมันต้องกล้าจะออกมาจากกรอบแบบเดิมๆ วิธีคิดแบบเดิมๆ ที่บล็อกเราอยู่ ความปลอดภัยมั้ง พอรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ไม่กล้าจะขยับอะไร เอาตัวเองให้รอดก่อน พอจะขยับอะไรก็คิด ฉันยังไม่รอดเลย

ฟรีวิลอาจสำแดงออกมาผ่านอะไรที่เป็นไพรเวทมากๆ อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องดำรงชีวิตด้วยซ้ำไป ผมว่าสภาวะย้อนกลับแบบนี้ทำให้คนสิ้นหวัง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันจะทำให้สังคมสิ้นหวังไปมากกว่านี้

 

จริงๆ เราอยากให้ละครเราไปถึงแมส เล่นต่อหน้าคนดูเป็นพันคนไหม?

ถ้ามีทุนให้เราก็อยากทำ องค์ประกอบแบบนี้ขึ้นกับนายทุน เพราะเราทำจากต้นทุนเราเองที่ผ่านมา แต่ถ้ามีใครชอบแนวทางของเราก็ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กร ให้เราขยับเองก็คงเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาเราก็เคยทำงานกับ EU ที่ให้ทุน หรือหน่วยงานสาธารณสุขที่เอาทุนมาให้เราทำการแสดง แต่อันนั้นก็เป็นละครกึ่งรณรงค์ เราทำตามโจทย์เขา

แต่นั้นไม่ใช่เป้าหมายเรา เป้าหมายเราอยากขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ บีฟอลร์ก็มีผู้กำกับ 4-5 คน แต่ละคนก็ขับเคลื่อนในรูปแบบของตัวเอง เราไม่มีใครครอบงำใคร 

 

คิดว่าประเทศไทยมีพื้นที่ให้ศิลปะร่วมสมัยแค่ไหน?

จริงๆหน่วยงานต่างประเทศในไทยให้ความสนใจ แต่ไม่ได้ให้มาก หน่วยงานรัฐเองก็มีหน่วยเดียวคือสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้ทุนตามรอบ มีเงินตั้งต้นไม่เยอะ การกระจายให้ศิลปินก็ได้คนละหยุมคนละหยิม ลักษณะการให้ทุนเหมือนให้มือสมัครเล่น ไม่ได้ซับพอร์ทสเกลมืออาชีพ ยังไม่มีเงินทุนแบบนั้น ซึ่งน่าเสียดาย ควรทำระบบที่เป็น Art Council ได้แล้ว ที่มีเม็ดเงินมากพอ มีคณะกรรมการที่เข้าใจเรื่องศิลปะ ในการจัดสรรหรือรับสมัครโครงการต่างๆ ได้อย่างมีความเข้าใจ ตอนนี้ยังเป็นกึ่งรัฐราชการอยู่ก็เลยยาก 

ก็ตลกดี เราอยากเป็นระดับโลก แต่ขาข้างหนึ่งก็ยังจะดึงกันอยู่ เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อ ทำให้ศิลปินต้องทำงานหนัก ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง อย่างหนึ่งก็คือถ้าไม่ให้ตังค์ก็อย่ามาควบคุม ให้ศิลปินมีอิสระอยากทำอะไรก็ทำได้

 

เท่าที่เล่นมายังไม่มีการควบคุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ?

ยัง เคยมีเรื่องบางละเมิด ของกอล์ฟ (อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์) ตอนนั้นคือมีเจ้าหน้าที่รัฐมาดูและถ่ายวิดีโอทุกรอบ เราก็ต้องเซฟตัวเองประมาณหนึ่ง เราไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง

 

หลังจากนั้นมามีผลต่อการแสดงเรื่องอื่นไหม?

ไม่นะ เรายังทำเหมือนเดิม ถ้าเรากลัว เราลดเพดานลงมา มันก็ไม่ใช่แบบที่เราอยากทำแล้ว อย่างศิลปะกับการพูดตรงๆ ยิงตรงๆ เราก็เคยทำแบบนั้น แต่ตอนนี้เราอยากสื่อสารกับคนตรงข้ามกับเราด้วยซ้ำไป เคยมีคนที่คิดตรงข้ามกับเรามาดูเหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน จริงๆ ก็อยากเห็นคนเขียนด่า เขียนได้นะ ไม่ใช่ต้องชมอย่างเดียว ผมเชื่อเรื่องความหลากหลาย แง่ว่างานศิลปะออกไปแล้วก็เป็นของสาธารณะ ใครจะชอบจะด่าก็ได้ แต่เราต้องไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ถ้ามีกระบวนการนี้ตั้งแต่ต้นก็ไม่รู้จะทำไปทำไม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท