Skip to main content
sharethis

รายงานวงเสวนา "กล้วยใน รัฐธรรมนูญ 60 ใครปรับ ใครรอด ?" 'ชลน่าน' ชี้ รธน.ทำให้มีระบบนิติรัฐแต่ไร้ความเป็นนิติธรรม ตัวแทนพลังประชารัฐ ยกข้อดีเปิดแคนดิเดตของนายกแต่ละพรรค 'อนาคตใหม่' ชี้ข้อบกพร่อง 4 ประการ  ปชป.ชูกระจายอำนาจ ขณะที่ตัวแทนเพื่อชาติเปิด 4 ประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ พร้อมรายงานเปิดตัว 'กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ยัง' กับภารกิจแรกแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยพะเยา กลุ่มพลังใหม่ประชาธิปไตยพะเยา จัดกิจกรรมเสวนา "กล้วยใน รัฐธรรมนูญ 60 ใครปรับ ใครรอด?" เพื่อแสวงหาโมเดลและธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการประชาชนโดยใช้กล้วยเปรียบเทียบเป็นการกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ชลน่าน ศรีแก้ว จากพรรคเพื่อไทย ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ชำนาญ จันทร์เรือง จากพรรคอนาคตใหม่  แทนคุณ จิตต์อิสระ จากพรรคประชาธิปัตย์ และรยุศด์ บุญทัน จากพรรคเพื่อชาติ

มีระบบนิติรัฐแต่ไร้ความเป็นนิติธรรม

ชลน่าน มองว่าข้อดีของรัฐธรรมนูญนี้มีเพียงอย่างเดียวคือสร้างประเทศไทยให้มีระบบนิติรัฐแต่ไร้ความเป็นนิติธรรม พูดอย่างเข้าใจง่ายๆ คือรัฐธรรมนูญให้ประโยชน์สำหรับคนเพียงบางกลุ่มแต่ไม่ตอบสนองหลายคนที่เป็นคนส่วนมากภายในประเทศ การถ่วงดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นธรรม

ด้วยการถ่วงดุลที่ไม่เป็นธรรมนี้ทำให้เกิดปัญหาระบบรัฐราชการคือการรวมศูนย์อำนาจรวมถึงการวางแผนนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนและมองว่าในยุคใดที่ใน อภิสิทธิ์ชน นายทุน ขุนศึกรวมตัวกันได้ประเทศไทยก็คงเดินหน้ายาก

ยกข้อดีเปิดแคนดิเดตของนายกแต่ละพรรค

ธณิกานต์ จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสร้างพรรคร่วมและเป็นการเปิดโอกาสให้มีกลุ่มที่หลากหลายเข้ามามีบทบาททางการเมือง และข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือมีการเปิดเผยระบุแคนดิเดตของนายกแต่ละพรรคทำให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจมากขึ้นในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหากให้ระบุเป็นรายมาตรา ยกตัวอย่าง เช่น มาตรา 25 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย ซึ่งมีการระบุและรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 60

ข้อบกพร่อง 4 ประการ

ขณะที่ ชำนาญ มองว่าข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญมี 4 ประการหลักๆ คือ

1. คำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยเฉพาะข้อบังคับของมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

2. ส.ว.มีที่มาจากการคัดสรรของ คสช. จึงไม่แปลกที่จะมีการโหวตนายกออกมาอย่างที่เห็น

3. ระบบการเลือกตั้งแบบผสมเป็นระบบการเลือกตั้งที่ไม่สามารถตรวจสอบการคำนวณคิดคะแนนในแต่ละเขตได้ทำให้ประชาชนสับสนเหมือนเลือกแค่หนึ่งแต่ได้ถึงสาม

4. ประเด็นสุดท้ายของธรรมนูญในฉบับนี้คือเป็นถนนที่แก้ไขยากจนกระทั่งไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่มีการระบุกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ

ปชป.ชูกระจายอำนาจ

แทนคุณ มองว่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือกระทั่งเผด็จการรัฐสภาเป็นตัวแบบของการวนอยู่ของวงจรรัฐประหารที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันโดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจด้วยระบบอุปถัมภ์ และทางพรรคมองว่าการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะการกระจายอำนาจคือการลดชนชั้นนำทางการเมืองและลดบทบาทให้ครอบงำทางการเมืองให้น้อยที่สุด

4 ประเด็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ

รยุศด์ มองรัฐธรรมนูญออกเป็น 4 ประเด็นดังนี้

หนึ่ง ที่มาของธรรมนูญซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการยึดอำนาจคสช. ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชน เห็นได้ชัดเจนในช่วงการทำประชามติที่มีการดำเนินคดีกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

สอง การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประชาธิปไตยเจือจาง เช่น การโหวตนายกของ ส.ว. และระบบการเลือกตั้ง ส.ว.เข้าสู่ระบบการเมืองอย่างเต็มตัว โดยส่วนตัวมองว่า ส.ว.ควรมีหน้าที่เพียงระงับยับยั้งกฎหมายเนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

สาม ผลของการใช้ธรรมนูญเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอเสียความมั่นคงสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมาบางสถาบันเพื่อครอบงำการทำงานของรัฐบาล เช่น ขั้วอำนาจของ คสช.

สี่ โดยส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ให้เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล เขาบอกว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 

'กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ยัง' กับภารกิจแรกแก้รัฐธรรมนูญ

สำหรับเสวนานี้ นอกจากกลุ่มพลังใหม่ประชาธิปไตยพะเยา จะเป็นกลุ่มหลักในการจัดแล้ว ยังได้กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ยัง (Young Activists) ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ช่วยประสานงานและสนับสนุนด้วย โดยกลุ่มดังกล่าวกิจกรรมแรกที่ดำเนินการในขณะนี้ คือ การผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนเพื่อประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง กำแพงเพชร ขอนแก่น อุบลราชธานี มหาสารคาม กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น 

'กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ยัง' เป็นกลุ่มที่มองว่าการทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการสะท้อนปัญหาในพื้นที่ของกรุงเทพ หรือส่วนกลาง เป็นส่วนใหญ่ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นในแต่ละพื้นที่ ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อส่งผลมีอิมแพคมากยิ่งขึ้น และสร้างพลังในการต่อรองอีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักกิจกรรมทั่วทุกภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน มาทำงานร่วมกันในประเด็นที่แต่ละคนสนใจ

โดยการจัดตั้งกลุ่มใช้รูปแบบ (Model) “แบบการลงแขก” เป็นการรวมกลุ่มที่อาศัย ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ เครือข่ายเพื่อนนักกิจกรรมทั่วประเทศไทย เช่น หากพื้นที่ไหนมีการจัดกิจกรรม กลุ่มจากพื้นที่อื่นจะช่วยเคลื่อนไหวแต่ละประเด็น ในรูปแบบการประสานงาน งบประมาณ หรือไปยังพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อให้เกิดพลัง และสะท้อนปัญหาในพื้นที่ หรือประเด็นที่สนใจสู่สังคมสาธารณะ  

นักกิจกรรมทั่วภูมิภาคมีการสะท้อนความคิดเห็นต่อการรวมกลุ่มในครั้งนี้ โดย ชัญญา กลุ่ม Young Pride ซึ่งทำเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทำไมถึงคิดว่าควรรวมกลุ่มนี้ขึ้นมา​ มองทิศทางของกลุ่​มว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

เรามองไปถึงการเชื่อมรวมเครือข่ายนักศึกษาที่จะคอยร่วมผลักดันกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาด้วยกันเอง ในประเด็นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ที่พวกเขาสนใจ และทิศทางในอนาคตพวกเราจะร่วมช่วยเหลือกันทำให้ภาคการผลักดันและเคลื่อนไหวนั้นเข้มแข็งขึ้น ไม่ได้ต่างคนต่างทำเฉพาะพื้นที่ของตน การรวมตัวกันจะทำให้เสียงของพวกเราใหญ่ขึ้น เพราะเราเชื่อว่าพลังของนักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงภาพสังคมให้ผันไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้

สิ่งที่อยากขับเคลื่อน​มีเรื่องอะไรบ้าง

อยากผลักดันประเด็นตามที่แต่ละบุคคลนั้นเชี่ยวชาญหรือให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งผลักดันประชาธิปไตยที่มุ่งจะผลักดันทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจกระชับมากขึ้น เช่น การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสนอนโยบายเพื่อเยาวชนและประชาชน การจัดงานเสวนาทางการเมืองเพื่อวิเคราะห์และร่วมกันผลักดันสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องสิทธิของบุคคลเฉพาะพื้นที่ การผลักดันปัญหาในแต่ละพื้นที่ หรือประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of expression) ผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นการปกป้องสิทธิ์นักศึกษาจากวิธีการรับน้องใหม่

สรุปรวมคือพวกเราให้ความสำคัญกับความหลากหลายโดยเคารพซึ่งกันและกันอย่างเสรี

ปริญญ์ อาศิรพงษ์พร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มองว่า การรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาทั่วประเทศ ได้มีส่วนออกแบบสังคมได้ด้วยตัวเอง เพื่อปรับปรุง แก้ไข สิ่งที่ผิดพลาดในอดีต รวมถึงพัฒนาสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นด้าน สวัสดิการ ด้านสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและอื่นๆ

ทิศทางของกลุ่มในอนาคต ตนมองว่า กลุ่มนี้ยังคงส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมต่อสังคม นำไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับยุคสมัย สิ่งที่อยากขับเคลื่อน คือ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นรากฐานของสังคมทั้งหมด รัฐธรรมนูญที่เอี้อประโยชน์แก่กลุ่มหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งยังคงถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บกพร่อง ดังนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงต้องการมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ

อนวัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เห็นว่าการรวมกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน บางครั้งในอดีตเด็กและเยาวชนแทบไม่ได้ใส่ใจในการเมืองมากนัก แต่ปัจจุบันวันเวลาโลกาภิวัตน์ได้เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน จึงทำให้ข่าวสารต่างๆ ค่อนข้างรวดเร็ว และการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนจึงไม่จำเป็นต้องไปจุดรวมพล แต่สามารถใช้สื่อออนไลน์เป็นเครือข่ายเชื่อมต่อหากันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เรายิ่งต้องมีเวทีหลายๆ เวที เพื่อเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์  การรวมตัวกันของนักศึกษาในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ผู้นำระดับประเทศควรให้ความสำคัญ เพราะเสียงของเด็กและเยาวชนถือเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สำคัญที่ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ตราบใดแล้วผู้นำไม่รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งจะนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างแน่นอน

ฟาเรน มอ.ปัตตานี มีความคิดเห็นต่อการรวมกลุ่มและร่วมกลุ่มด้วยว่า ณ วันนี้กลุ่มนักศึกษากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ (ส่วนกลาง) มากเกินไป จนทำให้เราไม่สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของส่วนภูมิภาคได้ ถ้ากลุ่มนี้จะแตกออกมาก็ขอให้เป็นส่วนภูมิภาคจริงๆ อิสระต่อการทำงาน ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน แต่แนวทางในการเคลื่อนไหวนี่แล้วแต่บริบทของพื้นที่ มหาวิทยาลัยอื่นจะล้อมด้วยนักการเมือง แต่ที่นี่มหาวิทยาลัยโดนล้อมด้วยปืน

สุมีนา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การรวมกลุ่มขึ้นมาแน่นอนต้องมีเป้าหมายใดๆ สักอย่างและมีเรื่องที่จะพูดคุยกัน สร้างการขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง กลุ่มนี้ที่กำลังสร้างขึ้น ก็เพื่อเป็นกลุ่มที่นศ. ที่สนใจประเด็นสังคมการเมือง พร้อมกับเพื่อนๆ ที่สนใจประเด็นคล้ายกันมาเจอกัน ถือว่าเป็น พื้นที่หนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าอย่างน้อยเราน่าจะทำอะไรได้บ้าง

ทิศทางของกลุ่ม คิดว่ารูปแบบจะเป็นอิสระ ไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน อาศัยความเป็นเพื่อน อันไหนช่วยกันได้ก็ช่วยกัน อาจจะเจอการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในวันหน้า คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่รับได้

สิ่งที่อยากขับเคลื่อน

อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น สร้างความตระหนักในสิทธิ์ เสียง อาจจะไม่ใช่ในการเมืองระดับชาติ เช่น เราควรได้รับสวัสดิการใดบ้าง

ถ้าเรื่องใหญ่ๆ ก็ความเหลื่อมล้ำ นโยบายสาธารณะที่ควรใช้ได้กับทุกคน ซึ่งมีหลายเรื่องมาก เอาเรื่องที่สนใจ ก็มีเรื่องผู้บริโภค ปัจจุบันการบริโภครุดหน้าไปมาก เจอการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น แต่การบริโภคยังถูกละเลย เช่น การบริโภคอาหารและยา มองว่า ผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่อาหารอย่างผัก เราเจอสารพิษเยอะมาก หากมองปัญหาลึกเข้าไป ตอนนี้ด้านเกษตร กำลังเจอกับการใช้สารเคมีมากเกินไป มาตรการดูแลป้องกันสินค้าบริโภคไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร

ส่วนงบประมาณในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในปัจจุบันใช้งบประมาณส่วนตัวของนักกิจกรรม และในอนาคตหลังจากนี้จะมีการขายสินค้า เช่น หนังสือ ซึ่งเขียนจากนักเรียน นักศึกษา เสื้อลวดลายต่างๆ เพื่อหารายได้ในการใช้จ่าย ระหว่างการทำกิจกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net