ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรตัดสิน นายกฯ เชิญราชินีปิดประชุมสภา "ผิดกฎหมาย"

ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรมีคำตัดสินเอกฉันท์ ให้การตัดสินใจของนายกฯ บอริส จอห์นสัน ขอพระราชทานราชินีเสด็จฯ ปิดประชุมสภา 2 สัปดาห์นั้นผิดกฎหมายและเป็นโมฆะ เหตุ กระทบพื้นฐานประชาธิปไตยและการทำงานของสภาตามรัฐธรรมนูญ คาด ส.ส. มีเวลาไปทำเรื่อง 'เบร็กซิท' เพิ่มก่อนเส้นตาย 31 ต.ค. 62

บอริส จอห์นสัน นายกฯ สหราชอาณาจักรคนปัจจุบัน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

24 ก.ย. 2562 บีบีซีรายงานว่า ศาลฎีกาของสหราชอาณาจักรมีคำตัดสินให้การระงับการประชุมรัฐสภาของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เป็นระยะเวลาราว 2 สัปดาห์เพื่อเปิดประชุมวาระสมัยใหม่ กระทบต่อหลักการประชาธิปไตยและถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทางรัฐสภาอังกฤษระบุว่า กำลังประมวลผลคำพิพากษา โดยเลดี เฮล ประธานศาลฎีการะบุเกี่ยวกับผลคำตัดสินว่าพฤติกรรมของบอริสมี "ผลต่อพื้นฐานแห่งประชาธิปไตยของพวกเราอย่างรุนแรง"

"การตัดสินใจให้สมเด็จพระราชินีมาปิดสมัยประชุม (prorogue) ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะว่ามันไปมีผลถึงการก่อกวนหรือขัดขวางรัฐสภาในการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญโดยอย่างไม่มีสาเหตุที่มีเหตุผล"

เลดี เฮลกล่าวว่าองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 11 คนลงมติอย่างเอกฉันท์ให้การปิดสมัยประชุมสภาเป็นโมฆะ คือไม่มีผลทางกฎหมาย ถือเสมือนว่าไม่เคยมีการปิดสมัยประชุมสภาโดยบอริสเกิดขึ้น และประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป

จอห์น เบอร์คาว ประธานสภาผู้แทนราษฎรยินดีกับคำตัดสินของศาล และเขาจะปรึกษาหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างเร่งด่วนต่อไป ในขณะที่เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้าน ระบุว่าบอริสควรพิจารณาเรื่องการยังดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกฯ เอียน แบล็คฟอร์ด หัวหน้าพรรคแห่งชาติสกอตติชก็เรียกร้องให้บอริสลาออกเช่นกัน

คำตัดสินของศาลอาจนำไปสู่การกลับมาประชุมสภาอีกครั้ง เป็นโอกาสให้รัฐสภาสามารถจัดทำรายละเอียดการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้อีกครั้งก่อนเส้นตายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 จากเดิมที่สภาจะไม่มีการประชุมจนถึง 14 ต.ค.

การระงับการประชุมสภาที่บอริสกระทำไปนั้นเป็นอำนาจตามกฎหมายของฝ่ายบริหาร แต่ก็สร้างกระแสความไม่พอใจทั้งในสภาและสาธารณชนอย่างมาก เนื่องจากเส้นตายของการออกจากอียูใกล้เข้ามา แต่สภายังไม่สามารถผ่านข้อตกลงรายละเอียดต่างๆ ในการออกจากอียู หรือที่เรียกว่า "ข้อตกลงการถอนตัว (Withdrawal Agreement)" ได้ 

ไคลฟ์ โคลแมน นักข่าวสายกฎหมายของบีบีซีวิเคราะห์ว่าคำตัดสินของศาลฎีกาสะท้อนความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในการวินิจฉัยพฤติกรรมของนายกฯ ในช่วงที่สหราชอาณาจักรกำลังประสบภาวะวิกฤตจากความพยายามจะออกจากสหภาพยุโรป

อะไรทำให้สหราชอาณาจักรร้อนรนเมื่อนายกฯ ขอเชิญราชินีเปิดประชุมรัฐสภา

ขณะนี้การทำงานของรัฐสภามีความสำคัญต่อ ‘เบร็กซิท’ มาก เพราะสภาจะต้องพิจารณาและลงมติรับรองให้มีเอกสารข้อตกลงการถอนตัว (Withdrawal agreement) ที่เป็นข้อตกลงที่จะอธิบายรายละเอียดทางกฎหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพของคนอียูในสหราชอาณาจักร หรือคนสหราชอาณาจักรที่อยู่ในประเทศกลุ่มอียู มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในการปรับตัวจากการออกจากระบบตลาดและภาษีเดียว (การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเสรี เก็บภาษีเท่ากัน) ของอียู ไปจนถึงเงินที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายให้กับอียูในการถอนตัว นอกจากนั้นยังจะต้องมีการทำข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างปฏิญญาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูอีกด้วย

ที่ผ่านมา ร่างข้อตกลงการถอนตัวถูกมติสภาตีตกไปแล้วถึง 3 ครั้งในสมัยรัฐบาลเธเรซา เมย์ หากถึง 31 ต.ค. สภาฯ ยังไม่มีมติรับรองร่างข้อตกลงฯ สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากอียูไปแบบไม่มีข้อตกลงรองรับหรือที่เรียกกันว่า ‘โนดีลเบร็กซิท (No deal Brexit)’ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะการออกจากระบบตลาดเดียวชั่วข้ามคืนนั้นอาจตามมาด้วยภาวะคอขวดในการตรวจสอบสินค้าเข้า-ออกสหราชอาณาจักร และอาจกระทบกับปากท้องของประชาชนสหราชอาณาจักรที่ปัจจุบันพึ่งพาอาหารจากอียูถึงร้อยละ 30 

รายละเอียดในร่างข้อตกลงฯ ที่เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดจนไม่สามารถมีมติรับรองในสภาได้ คือเรื่องของเขตแดนระหว่างพื้นที่รอยต่อระหว่างไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่เป็นสมาชิกอียูอันเป็นเขตแดนทางภาคพื้นดินแห่งเดียวที่มี หรือที่เรียกว่า Backstop ที่จะยังคงปล่อยให้พื้นที่รอยต่อนั้นไม่มีเขตกั้น ด่านตรวจ หรือการตรวจตราสินค้าระหว่างกันเหมือนเดิม นอกจากนั้น ไอร์แลนด์เหนือยังจะมีสถานภาพผูกพันทางกฎหมายบางส่วนในระบบตลาดเดียว หากสหราชอาณาจักรไม่สามารถมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูได้หลังจากมีเบร็กซิท รายละเอียดเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจกระทบถึงการคงอยู่ของสหราชอาณาจักรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หากไอร์แลนด์เหนือมีเอกสิทธิ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าส่วนอื่นๆ ของประเทศ

แปลและเรียบเรียงจาก

Supreme Court: Suspending Parliament was unlawful, judges rule, BBC, Sep. 24, 2019

UK Supreme Court rules Boris Johnson's suspension of Parliament unlawful, Euronews via Reuters, Sep. 24, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท