Skip to main content
sharethis

เอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อปี 2557 มีข้อมูลขายเฮลิคอปเตอร์ AH-6i พร้อมอุปกรณ์เสริมสนับสนุน 24 ลำให้ซาอุดิอาระเบียในราคาราว 7.5 ล้านบาท ในขณะที่เอกสารส่งขายให้ไทยระบุ ซื้อ 8 ลำพร้อมอาวุธ อุปกรณ์เสริมและสนับสนุนในราคาราว 1 หมื่น 2 พันล้านบาท ด้านโฆษก ทบ. ออกมาแก้ข่าว ราคา 1.2 หมื่นล้านเป็นราคาเต็ม ที่สั่งซื้อ 8 ลำอยู่ในวงเงิน 4.2 พันล้านบาท

เฮลิคอปเตอร์ AH-6i (ที่มา:Aviation International News)

26 ก.ย. 2562 ในเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีข้อมูลการขายเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนโจมตีขนาดเบา AH-6i รุ่นเดียวกับที่มีข่าวการทำเรื่องขายให้ไทยเมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 2562) ให้กับซาอุดิอาระเบียในปี 2557

เอกสารเป็นสัญญาในวันที่ 29 ส.ค. 2557 ระบุว่า บริษัทโบอิ้งได้รับสัมปทานให้ผลิตและจัดส่งเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวจำนวน 24 ลำ พร้อมชุดอุปกรณ์สำรอง และเครื่องมือสนับสนุนภาคพื้นดิน สนนราคา 234,700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 7,498,665,000‬ บาท (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ 29 ส.ค. คือ 31.95 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) 

ในขณะที่การซื้อขายกับไทย เอกสารของหน่วยงานความร่วมมือด้านความมั่นคงของกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยได้ส่งคำขอซื้อ AH-6i จำนวน 8 ลำ พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนรวมราคาทั้งสิ้น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12,236,000,000 ล้านบาท เอกสารมีการแจกแจงรายการอาวุธและระบบสนับสนุนการบิน แต่ไม่ได้แจกแจงราคาแยกย่อย

ในส่วนการซื้อขายกับไทยนั้น วันนี้ (26 ก.ย. 62) ผู้จัดการรายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกได้เปิดเผยว่าโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 กำหนดความต้องการขั้นต่ำ 31 เครื่อง ในปีนั้นได้รับอนุมัติให้จัดหาเข้าประจำการเป็นล็อตแรกก่อน 8 เครื่อง โดยล็อตสองได้ขออนุมัติอีก 8 เครื่องรวมระบบอาวุธ เครื่องควบคุมการยิง กล้องตรวจการณ์ ชิ้นส่วนควบคู่สำหรับซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนซ่อมสำหรับการส่งกำลัง (ASL) เป็นระยะเวลาสองปี รวมถึงการก่อสร้างโรงเก็บอากาศยาน พร้อมด้วยเครื่องช่วยฝึก (Simulator) และหลักสูตรการฝึกอบรม ในวงเงิน 4,226 ล้านบาท ส่วนรคา 1.2 หมื่นล้านบาทในเอกสารสหรัฐฯ นั้น เป็นลักษณะการเปิดกรอบการจัดหาให้ไทยแบบเต็มระบบโดยเฉพาะเรื่องระบบอาวุธ 

สหรัฐฯ ขาย ฮ. ตามคำขอไทย 8 ลำพร้อมอุปกรณ์ราคา 1 หมื่น 2 พันล้าน

AH-6i เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ดัดแปลงจากเฮลิคอปเตอร์รุ่น MD AH-6 ลิตเติ้ลเบิร์ด แต่มีการใส่เทคโนโลยีจากเฮลิคอปเตอร์โจมตีรุ่นโบอิ้ง AH-64E อะปาเช่ โดย AH-6i ถูกออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุนระยะใกล้กับกองกำลังภาคพื้นดิน และใช้เพื่อทำลายเป้าหมายที่เป็นยานยนต์อย่างรถถังหรือรถหุ้มเกราะแบบอื่นๆ 

ก่อนหน้านี้ไทยซื้อยานเกราะลำเลียงพล สไตรเกอร์ (Stryker M1126) เป็นไปตามการจัดหาในปีงบประมาณ 2562 ที่ ทบ.ได้ซื้อ 37 คัน คันละประมาณ 80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,960 ล้านบาท และสหรัฐฯให้เปล่าอีก 23 คัน โดยกองทัพบกมีเป้าหมายจะจัดตั้งกรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ที่มียานเกราะบุรรจะในอัตราประมาณ 100 คัน

สถาบันวิจัยด้านสันติภาพนานาชาติสตอคโฮล์ม (SIPRI) รายงานแนวโน้มการซื้อขายอาวุธในระดับโลก ประจำปี 2561 ว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกอาวุธอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 36 ของสัดส่วนการตลาด รองลงมาเป็นรัสเซีย (21) ฝรั่งเศส (6.8) โดยมีจีนอยู่อันดับที่ 5 (5.2) ส่วนไทยเป็นผู้นำเข้าอาวุธมากเป็นอันดับที่ 27 ของโลก มีผู้ขายหลักคือเกาหลีใต้ ยูเครนและจีน ตามลำดับ

แปลและเรียบเรียงจาก

Contracts for Aug. 29, 2014, US Department of Defense, Aug. 29, 2014

US DoD confirms Saudi AH-6I deal, FlightGlobal, Sep. 2, 2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net