Skip to main content
sharethis

รัฐ 17 รัฐในอเมริกายื่นฟ้องรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กรณีพยายามแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์โดยตัดส่วนที่สำคัญออกไปอย่างการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ซึ่งถูกมองว่าจะสามารถใช้ข้ออ้างด้านเศรษฐกิจมาเป็นตัวชี้วัดในเรื่องการคุ้มครองแทนการใช้วิทยาศาสตร์

ภาพหมีกริซลี่ หมีสายพันธุ์หนึ่งที่พบได้บริเวณทวีปอเมริกาเหนือ (ที่มาภาพ: nps.gov)

27 ก.ย. 2562 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (25 ก.ย. 62) ในสหรัฐฯ มีการฟ้องร้องจาก 17 รัฐร่วมกับวอชิงตันดีซีและเมืองนิวยอร์กซิตี ในเรื่องที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์พยายามตัดเนื้อหาการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ออกจากรัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act หรือ ESA) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ

ซาเวียร์ เบเคอร์รา อัยการแคลิฟอร์เนียผู้นำการฟ้องร้องในเรื่องนี้กล่าวว่าในช่วงที่พวกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มันถึงเวลาแล้วที่จะเสริมความเข้มแข็งให้กับความหลากหลายทางชีวภาพของโลกแทนที่จะทำลายมัน เบเคอร์รากล่าวอีกว่าสิ่งเดียวที่เขาอยากจะให้หมดไปคือ "นโยบายป่าเถื่อนของรัฐบาลทรัมป์ที่ทำให้ระบบนิเวศน์ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง"

มีการยื่นฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวนี้ที่ศาลแขวงประจำแขวงทางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย แกรี เคลย์ตัน ประธานองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แมสส์ออดูบอน กล่าวว่าการแก้ไขกฎหมายลดการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของรัฐบาลทรัมป์นั้นเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ยังคง "ทำสงครามทำลายธรรมชาติของอเมริกา"

รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ของสหรัฐฯ นั้นเป็นกฎหมายที่ออกมาในสมัยปี 2516 ซึ่งให้การคุ้มครองพืชและสัตว์มากกว่า 1,600 ชนิด และเป็นกฎหมายที่ช่วยทำให้เกิดการอนุรักษ์สัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย ตัวมานาทีฟลอริดา วาฬสีเทา และหมีกริซลี

อย่างไรก็ตามรัฐบาลทรัมป์ทำการแก้กฎหมายนี้เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาโดยระบุยกเลิกการให้สถานะคุ้มครองโดยอัตโนมัติต่อพืชหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และกำหนดให้มีการใช้เรื่องเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาเรื่องการคุ้มครอง ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการเดิมของกฎหมายนี้ที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเรื่องการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้

ในคำฟ้องร้องของ 17 รัฐ ระบุว่าการแก้กฎหมายนี้ "ละเมิดการใช้ภาษากฎหมายแบบเรียบง่าย ละเมิดวัตถุประสงค์ของ ESA รวมถึงละเลยประวัติศาสตร์การบัญญัติกฎหมายนี้ ละเมิดการตีความกฎหมาย ESA ในทางศาลก่อนหน้านี้ที่มีผลผูกมัด และละเมิดแนวทางการระมัดระวังป้องกันล่วงหน้าเพื่อคุ้มครองสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์และถื่นที่อยู่ทางธรรมชาติที่มีความสำคัญ"

นอกจากนี้คำฟ้องร้องยังระบุกล่าวหาว่ารัฐบาลทรัมป์ล้มเหลวในการจะ "พิจารณาและเผยแพร่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญจากการกระทำนี้ ที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐฯ (NEPA)"

เมารา ฮีลลีย์ อัยการจากรัฐแมสซาชูเซตต์ส ที่ร่วมฟ้องร้องในครั้งนี้ด้วยระบุว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการจัดส่วนสำคัญของกฎหมายคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ออก พวกเขาจะไม่ยอมให้รัฐบาลทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อให้บริษัทเชื้อเพลิงเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้เร็ว

ทั้ง 17 รัฐที่ร่วมฟ้องร้องในครั้งนี้ได้แก่ โคโลราโด คอนเนคติคัต อิลลินอยส์ มิชิแกน เนวาดา นิวเจอร์ซี นิวเม็กซิโก นิวยอร์ก นอร์ทแคโรไลนา โอเรกอน เพนซิลเวเนีย โรดไอส์แลนด์ เวอร์มอนต์และวอชิงตัน

ก่อนหน้าที่รัฐเหล่านี้จะมีปฏิบัติการ ก็เคยมีการต่อต้านการแก้กฎหมาย ESA จากกลุ่มแนวร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสัตว์มาก่อนเมื่อเดือนที่แล้ว

เรียบเรียงจาก

17 States File Suit to Stop Trump Administration's Crippling of Endangered Species Act, Common Dreams, Sep. 25, 2019

Environmentalists warn Trump 'weakening' endangered species protections, BBC, Aug. 12, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Endangered_Species_Act_of_1973

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net