สปสช. ยกปัจจัยสำเร็จหลักประกันสุขภาพไทย ออกแบบระบบรองรับการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย

ไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเวทีคู่ขนานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74 ที่สหรัฐฯ สปสช.ร่วมอภิปรายย้ำระบบหลักประกันสุขภาพของไทยออกแบบให้รองรับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ อันจะทำให้ระบบยั่งยืนและเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 เมื่อเวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 74 ซึ่งมีวาระการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage – UHC) รัฐบาลไทยร่วมเป็นเจ้าภาพกับองค์การอนามัยโลกจัดเวทีอภิปรายคู่ขนานในหัวข้อ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Making Voices heard: Social participation for equity and accountability in pathways towards UHC) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นวิทยากร ร่วมกับ พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO)

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในนโยบายพื้นฐานเพื่อประชาชนที่หลายๆ ประเทศที่ยังไม่บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนกำลังเร่งดำเนินการ เนื่องจากได้เห็นผลประจักษ์ชัดแล้วว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกจากจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้จริง แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่แค่เรื่องของโรงพยาบาลและ สปสช. กลไกสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือภาคประชาสังคม เราไม่อาจสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาได้ หากปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างของไทยชัดเจนอย่างมากว่า การเกิดขึ้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่วนหนึ่งมาจากการเรียกร้องของประชาชนเอง และเมื่อการเมืองและภาครัฐตอบสนอง ภาคประชาสังคมไม่ได้หยุดแค่การเรียกร้องและรอรับการบริการจากรัฐ แต่พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงเข้าร่วมการทำงานในทุกขั้นตอนในรูปแบบของคณะทำงาน ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพของไทยนั้น ถูกออกแบบให้รองรับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่ สปสช.ไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง แต่เราทำผ่านกลไกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ ทั้งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายผู้ป่วย ประชาสังคม โรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“จากประสบการณ์ของไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รูปแบบของการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมนี้จะถูกนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ การสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ ระบบนี้จะยั่งยืน และจะเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อไป เจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่รัฐบาล และไม่ใช่หน่วยงานรัฐที่ดูแล สปสช.เป็นเพียงกลไกส่วนหนึ่งที่คอยจัดการเท่านั้น แต่เจ้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือประชาชนทุกคน ในประเทศไทยนั้น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกเรียกว่าเป็นสมบัติของประชาชน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท