สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ก.ย. 2562

สั่งตั้งทีมศึกษา "อาชีพอิสระ" รูปแบบใหม่ รวมพริตตี้ เหตุไม่เข้า กม.จ้างงานเดิม หวังดูแลคุ้มครอง

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับอาชีพพริตตี้ที่ไม่มีกฎหมายไหนคุ้มครองสวัสดิภาพ ว่า ตรงนี้ก็เหมือนแพลตฟอร์มเวิร์กเกอร์ เป็นรูปแบบการจ้างงานใหม่ๆ มีการศึกษาอยู่ เรียนว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้ละเลย หรือยกตัวอย่างกรณี ฟู้ดแพนด้า ซึ่งคนที่มาทำอาชีพนี้เขาไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของฟู้ดแพนด้า แต่เป็นการรับงานจากแอปพลิเคชัน และแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ความสัมพันธ์ของนายจ้างลูกจ้างไม่ได้เกิดตามกฎหมายเดิม ดังนั้น ตอนนี้กระทรวงแรงงาน โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาอาชีพอิสะรูปแบบใหม่ๆ ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอาชีพพริตตี้ด้วย

“เราต้องตามโลกให้ทัน ความสัมพันธ์ ของนายจ้างลูกจ้างเดี๋ยวนี้ไม่ได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้สั่งงานกันทางโทรศัพท์มือถือ นายจ้างแทบไม่รู้เรื่องเลย คนทำแอปฯ ก็แทบไม่รู้เรื่อง เหมือนกันกับโมเดลลิง ส่งพริตตี้ไปทำงาน บางครั้งเขาประสานการทำงานกันเอง เราก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าศึกษาแล้วมีอะไรที่เราทำได้เราทำแน่ ตราบใดที่ไม่ผิดศีลธรรม ไม่กดขี่กัน” นายสุทธิ กล่าวและว่า เบื้องต้นจะมีการเดินหน้ามาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม เริ่มตรงนี้ก่อน อย่างน้อยๆ ก็จะมีความคุ้มครอง มีหลักประกันในชีวิต

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/9/2562

เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน เข้าพบ รมว.กระทรวงแรงงาน หลังเกิดกระแสเลิกจ้างพนักงานธนาคารไม่น้อยกว่า 5,000 คน หลังการควบรวมกิจการธนาคารธนชาต กับธนาคารทหารไทย

วันนี้ (27 ก.ย.2562) นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน หรือ BFUN และคณะ เข้าหารือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ถึงผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กับ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

นายไวทิต กล่าวว่า การควบรวม 2 ธนาคาร ทำให้พนักงานมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต และความมั่นคงในการทำงาน ถึงสถานะความดำรงอยู่ในการเป็นพนักงาน หลังจากควบรวมกิจการแล้วเสร็จว่า พนักงานจะยังคงสถานภาพการเป็นพนักงานของธนาคารอยู่หรือไม่ รวมถึงสภาพการจ้างหลังควบรวมกิจการ เนื่องจากมีกระแสการเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 5,000 คน การลดอัตรากำลังลงทั้งสองธนาคาร จึงต้องร่วมหาแนวทาง รวมถึงแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันการละเมิดต่อพนักงาน การบีบพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยขอให้คุ้มครองพนักงานธนาคารตามมาตรา 13 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่ให้โอนสิทธิและหน้าที่ของพนักงานตามไปด้วยหลังการควบรวมกิจการ

ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีการเลิกจ้างขึ้น

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าหากเกิดกรณีการเลิกจ้างขึ้นจริง จะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานในการดูแลพนักงานธนาคารที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับสิทธิความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างครบถ้วน รวมถึงเตรียมมาตรการการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามภารกิจของกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้จะดำเนินการประสานหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารฯ เพื่อรับทราบข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานเกี่ยวกับสถานภาพความดำรงอยู่ของพนักงานต่อไป

ที่มา: ThaiPBS, 27/9/2562 

รัฐมนตรีต่างประเทศคูเวต ระบุต้องการแรงงานจากไทยเพิ่มมากขึ้น

น.ส.บุษฏี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับ Sheikh Sabah Al-Khaled Al-hameg Al-sabah รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศคูเวต ในระหว่างเดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 74 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ไทยกับคูเวตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมา 56 ปี และทั้ง 2 ฝ่ายยังหาช่องทางที่จะเพิ่มพูนมูลค่าการค้าการลงทุนให้มากขึ้น โดยคูเวตสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในด้านเกษตรกรรมและการประมง เพราะเห็นว่าไทยสามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน จึงอยากเรียนรู้จากประเทศไทยมากขึ้น และเห็นช่องทางที่ให้ประชาชนของ 2 ประเทศมีการติดต่อกัน จึงจะส่งเสริมการท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวิชาการ

น.ส.บุษฎี กล่าวว่า รัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศเห็นตรงกันที่จะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม จึงมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของ 2 ประเทศในระดับรัฐมนตรี และหวังว่าจะลงนามได้ภายในปีนี้ หรือปีหน้า เพื่อใช้เป็นกลไกในการติดตาม หรือเสนอแนะในการผลักดันความร่วมมือต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของคูเวตยังระบุด้วยว่า ต้องการแรงงานจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทย ในคูเวตประมาณ 3000 คน หากมีคณะกรรมาธิการร่วมของ 2 ประเทศ จะช่วยทำให้สามารถติดตามผลและข้อเสนอแนะต่างๆให้เป็นรูปธรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของคูเวตมาเยือนไทย เพื่อจะได้มีโอกาสตามประเด็นที่ติดตามสนใจร่วมกันด้วย

น.ส.บุษฎี กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ทั้งไทยและคูเวต เป็นสมาชิกของประเทศคู่เจรจาในกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศคูเวตชื่นชมไทยที่เป็นผู้นำเสนอกรอบนี้ และผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในความร่วมมือต่างๆ และยังได้สอบถามถึงสถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งการเป็นประธานอาเซียนของไทย และสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้ชี้แจงถึงบทบาทของอาเซียน ในความพยายามแก้ไขปัญหาผู้พลัดถิ่นในยะไข่ด้วยการเจรจา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/9/2562 

ดีเดย์ เพิ่มค่าตอบแทนเกษียณอายุ/ค่าชดเชยลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เริ่มบังคับใช้ 27 ก.ย. 2562

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งขยายสิทธิให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกัน ครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายของการทำงาน 300 วัน และลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน รวมทั้ง เพิ่มค่าตอบแทนความชอบในการทำงานของลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปี ขึ้นไป และพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ให้ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายของการทำงาน 400 วัน ซึ่งสิทธิการได้เงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนี้ จะมีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย. 2562 นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทน คุณงามความดีของลูกจ้างที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่องค์กรมาเป็นระยะเวลายาวนาน

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างในภาคส่วนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบข้อมูล ที่ถูกต้อง ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งสร้างความเข้าใจ พร้อมทั้งให้ข้อมูลทั้งในส่วนของหลักการ เหตุผล และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องภายใต้ความสัมพันธ์ อันดีต่อกัน หากนายจ้างและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 02 245 9559 หรือสายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: โลกวันนี้, 27/9/2562 

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่เขต 14 ร่อนหนังสือสั่งเลิกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ทุกอัตราเผยไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ

เพจ สมัครงาน สอบราชการ ซึ่งเป็นแฟนเพจที่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การสมัครงานราชการ การจ้างงาน ได้โพสต์หนังสือของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 4 ซึ่งเป็นคำสั่งให้ลูกจ้างชั่วคราวทุกอัตราหยุดปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป หรือในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 24 ก.ย. หรือเมื่อวานนี้ โดยส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียนในสังกัด และมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรอัตราลูกจ้างชั่วคราวปี 2562 ใหสถานศึกษาในสังกัด โดยสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 2562

โดยอัตราจ้างประกอบด้วย พนักงานราชการ 19 อัตรา ครูอัตราจ้างวิกฤ 36 อัตรา บุคลากรทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 19 อัตรา ธุรการโรงเรียน 42 อัตรา ธุรการโรงเรียน 48 อัตรา พี่เลี้ยงเด็กพิการ 34 อัตรา นักการภารโรง 21 อัตรา และครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน 25 อัตรา

โดยขณะนี้ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ให้ลูกจ้างชั่วคราวทุกอัตราหยุดปฏิ บัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ระหว่างรอการจัดสรรอัตราและงบประมาณ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อนวยการสถานศึกษา ในการบริหารอัตรากำลัง และจะก่อหนี้ผูกพันได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วเท่านั้น ลงนามโดย นายกิตติภัช กนกธาดาสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ 14

นอกจากนี้ในช่องแสดงความเห็น มีหลายพื้นที่เริ่มส่งเข้ามาว่ามีคำสั่งให้ลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานเขตการศึกษาต้องถูกคำสั่งระงับการปฏิบิติหน้าที่เช่นกัน

ที่มา: PPTV36, 25/9/2562 

กสร.ร่วมมือนิคมฯ สินสาคร ยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยมีมาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001-2010) เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการ และเป็นการแสดงออกถึงการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากคู่ค้าในเวทีการค้าโลก นำไปสู่การขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานได้อย่างยั่งยืน เพื่อขยายการดำเนินการดังกล่าวไปสู่สถานประกอบกิจการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม กสร. ได้ร่วมกับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกและห่วงโซ่การผลิตหนาแน่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีสถานประกอบกิจการและแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ในการดำเนินโครงการรณรงค์ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการได้ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานและเผยแพร่เชิญชวนให้จัดทำมาตรฐานแรงงานไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว มีสถานประกอบกิจการสมาชิกนิคมฯ จัดทำมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 55 แห่ง ได้รับการรับรอง 3 แห่ง ประกาศแสดงตนเอง (Self-declaration) 52 แห่ง จากสถานประกอบกิจการของทั้งสองนิคมฯ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 128 แห่ง ทั้งนี้สถานประกอบกิจการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยตั้งแต่ระดับพื้นฐานขึ้นไป สามารถต่อยอดโดยการขอใช้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T-Mark) ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่รับรองคุณภาพการผลิตที่คำนึงถึงสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และตัวของผลิตภัณฑ์ จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้สถานประกอบกิจการมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมั่นคง

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2563 กสร. พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพและยกระดับการจัดทำมาตรฐานแรงงานไทยในนิคมฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถขอการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่น ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานแรงงานไทยต่อไป

ที่มา: โลกวันนี้, 26/9/2562 

สกสว.ชี้ AI แย่งงานคนเสี่ยงตกงาน 12 ล้าน

วันที่ 26 ก.ย.2562 สำนักงานคณะกรรมการ​ส่งเสริม​วิทยาศาสตร์​ วิ​จัยและ​นวัตกรรม ​(สกสว.) โดยโครงการกิจกรรม​การเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกสว. จัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง "รูปแบบการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนของไทย: การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และโอกาส" ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ​

ผศ.ดร. สุกานดา เหลืองอ่อน ลูวิส ผู้อำนวยการภารกิจ​วิเคราะห์​สถานการณ์​ด้าน ววน.ในและต่างประเทศของ สกสว. ได้กล่าวว่า ทาง สกสว. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงได้สนับสนุนทุนโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับแนวความคิดดังกล่าว โดยจำนวนนั้นมีงานวิจัยที่น่าสนใจอีก 4 โครงการ ศึกษาเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษี บทบาทภาคการบริการ ความเสี่ยงในตลาดแรงงาน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นทีมนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​

ตอนหนึ่งจากงานเสวนา ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์​ หรือ AI เข้ามาทดแทนแรงงานคน พบว่าอนาคตแรงงานไทย​อาจตกงานได้มากถึง 12 ล้านคน โดยอาชีพเสี่ยงจะเป็นกลุ่มที่มีทักษะและการศึกษา​ต่ำ เช่น พนักงานโรงงาน, เสมียน ยิ่งคนที่มีอายุมากกว่า 44 ปี เสี่ยงตกงานได้ถึง 5 ล้านคน สำหรับคนว่างงานจะได้รับเงินประกันสังคมจากภาครัฐ แต่ถือว่ายังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในระยะยาว รัฐควรเร่งสนับสนุนเชิงรุกให้เกิดการ reskill ในทุกระดับ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนให้เพิ่มงานในฟังก์ชั่น​อื่น รวมถึงการวางหลักสูตร​การศึกษาที่ทันสมัยปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

ที่มา: บ้านเมือง, 26/9/2562 

อดีตสายเอ็น รับเป็นอาชีพเสี่ยงถูกข่มขืน แต่ไม่ควรถูกละเมิด องค์กรสตรี จี้ออกกม.คุ้มครอง ตั้งสหภาพพริตตี

(25 ก.ย.) ที่โรงแรมแมนดาริน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเวทีเสวนา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว และการคุกคามทางเพศ” โดยถอดบทเรียนจากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือลันลาเบล พริตตีสาว โดยภายในงานมีกิจกรรมตัวแทนเครือข่ายเยาวชนและผู้เข้าร่วม ช่วยกันพับนกกระดาษ อ่านบทกวี และยืนสงบนิ่งเป็นการให้เกียรติและไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต

น.ส.เอ (นามสมมติ) อดีตสาวเชียร์เบียร์ที่คลุกคลีกับวงการพริตตีสายเอ็น กล่าวว่า จากที่เข้าไปสัมผัสโดยตรงและคนรอบข้าง พบว่า วงการนี้มีความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างมาก เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลวนลามคุกคามทางเพศ แม้ปัจจุบันตัวเองจะห่างจากอาชีพนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่พอทราบจากน้องๆ เด็กเอ็นว่า เป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะโดน แน่นอนมีบางคนยินยอมพร้อมใจไปจบกันบนเตียง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้สังคมมองคนทำอาชีพนี้แบบเหมารวม พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในทุกๆ อาชีพ รวมทั้งพวกน้องๆ เหล่านี้ก็ไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิด ถูกมอมเหล้า มอมยา เพื่อบังคับข่มขืนทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามีจำนวนมากที่ถูกล่วงละเมิด ไปจนถึงถูกข่มขืน แต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาบอกความจริง และนึกไม่ออกว่าใครจะช่วยได้ จึงทำให้ผู้ก่อเหตุเกิดภาวะย่ามใจและกระทำซ้ำกับคนอื่นๆ อีก กลายเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น

“บางคนมีวิธีการเอาตัวรอดในการรับงานเช่น ไม่ดื่มเหล้าแก้วคนอื่น มือไม่ห่างแก้วเหล้าตัวเอง มีการประมาณตัวเองว่าดื่มได้แค่ไหน ซึ่งแต่ละคนจะมีเทคนิคการดื่มที่ไม่เหมือนกัน เพราะพริตตีสายเอ็นต้องดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว แต่แม้จะมีการดื่มหนักทุกวันพวกเขาจะมีการออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง กินอาหารเสริม ดีท็อกตับ จะมีใครบ้างที่รู้ว่ามีน้องๆ จำนวนมากที่ต้องทำเพื่อหาเงินเลี้ยงดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัว ส่งน้องเรียน หรือแม้แต่ส่งตัวเองเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในวงการนี้กันนาน เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องมีงานอื่นทำ มีครอบครัว ที่พูดไม่ได้สนับสนุนให้ใครเข้ามาเดินทางสายนี้ เพราะถึงที่สุดแล้วที่เราคิดว่าเอาตัวรอดได้ เวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันมันยากมากที่จะรอดได้” นางสาวเอ กล่าว

น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับการดื่มที่แตกต่างกันระหว่างเพศ เช่น เมื่อผู้ชายเมาทำร้ายร่างกายภรรยา คนในสังคมจะมองว่าเพราะเขาเมาเลยทำให้ขาดสติ แต่ในทางกลับกันอย่างคดีของลันลาเบล สังคมจะมองว่าก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้แล้วใครก็สามารถล่วงละเมิดทางเพศได้ หรืออาจจะมองไปว่าเป็นความผิดของผู้หญิงที่พาตัวเองไปในที่แบบนั้น ซึ่งความคิดเหล่านี้มันเป็นความคิดในเชิงอำนาจที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ผู้ชายสามารถดื่มเหล้าได้เวลาทำผิดจะมีข้ออ้างที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงดื่มจนเมาจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี การถูกละเมิดทางเพศก็เป็นเพราะตัวเองทั้งสิ้น แม้แต่กฎหมายเองยังไม่ให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง

“เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า จะลบมายาคติที่มองผู้หญิงที่ดื่มว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี และผู้ชายทำอะไรก็ได้ในร่างกายของผู้หญิงเหล่านี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรหรือแม้แต่จะมีอาชีพขายบริการทางเพศก็ตาม ถ้าไม่ใช่ในเวลาทำงานของเขา ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์จะล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงได้” น.ส.นัยนา กล่าวและว่า สำหรับคดีการเสียชีวิตของน้องลันลาเบล มีนัยยะที่สำคัญต่อสังคมรวมทั้งโลกโซเซียล ต่างเรียกร้องให้หาความจริง ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องลบมายาคติของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะต้องเข้ามาจัดการ ออกกฎหมายคุ้มครองทุกอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีอาชีพต่างๆ เช่น พริตตีได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ผู้ประกอบอาชีพอย่างพริตตีควรจะมีพื้นที่และเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง เหมือนกับสหภาพแรงงานต่างๆ และในส่วนของครอบครัว ควรสั่งสอนลูกหลานที่เป็นผู้ชายว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะไปทำร้ายร่างกายใคร หรือล่วงละเมิดใคร การให้เกียรติเคารพในเนื้อตัวร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์

นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษ หากดื่มเกินปริมาณส่งผลต่อประสาท การเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ ซึ่งหากพบเห็นใครที่มีอาการเหล่านี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดยการจัดท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆกัน ค่อยๆพลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด ร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติด จะส่งผลให้เกิดอาการเมาหมดสติและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะสารเสพติดในกลุ่มยานอนหลับ

นพ.พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า รูปแบบการดื่มในปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก หากเป็นลักษณะจัดแข่งขันดื่มกันเองที่บ้าน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หากเป็นการดื่มในร้าน มีการเชียร์ให้ดื่ม แข่งดื่ม จัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย อันนี้ ผิดมาตรา 30 และ มาตรา 32 แน่นอน ส่วนกรณีนี้มีโทษทางอาญาร่วมด้วย เพราะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

“ตัวกฎหมายเน้นเอาผิดการขาย มากกว่าเอาผิดการดื่ม ซึ่งไม่ควบคุมในเรื่องปริมาณการดื่ม แต่จะกำหนดช่วงเวลาการขายสุรา และกำหนดเพียงบางสถานที่ห้ามขายเท่านั้น เช่น วัดโรงเรียน หน่วยงานราชการ ดังนั้นจึงต้องออกอนุบัญญัติเพิ่มเติม เบื้องต้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเป็นประธาน เพื่อเสนอให้มีการปรับเพิ่มอนุบัญญัติให้สอดรับกับสถานการณ์การดื่มที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้อยากฝากเตือนว่า การแข่งกันดื่มสุรา บังคับดื่ม ดื่มหนักดื่มให้หมดในเวลารวดเร็ว มันไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง”นพ.พงศ์ธร กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/9/2562 

อดีต พนง.เอเพ็กซ์ ได้งานใหม่แล้ว 84 คน กลับภูมิลำเนา 28 คน อยู่ระหว่างหางานใหม่ 35 คน

25 ก.ย. 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทเอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จ.สมุทรสาคร ที่ถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านการทดลองงาน จำนวน 147 ราย ว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครได้ประชุมร่วมกับชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร และฝ่ายบุคคลของบริษัทฯ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ โดยมี นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร เป็นประธานจัดการประชุม พบว่า สามารถหางานใหม่ให้พนักงานที่ไม่ผ่านการทดลองงานได้งานทำได้แล้ว 84 คน ในจำนวนนี้ 18 คนได้เข้าทำงานแล้ว ที่เหลืออีก 66 คนบริษัทฯ จะมารับตัวเพื่อเข้าทำงานในวันที่ 26 ก.ย. ส่วนอีก 28 คน มีความประสงค์ที่จะกลับภูมิลำเนา สำหรับ 35 คน กำลังอยู่ในระหว่างการติดต่อประสานงานเพื่อขอทราบความต้องการ ทั้งนี้ มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่มีความประสงค์จะรับคนงานเพิ่ม ได้แก่ บริษัทพีซิชั่น พริ้นท์ จำกัด บริษัท มารีนโกลด์โปรดักส์ จำกัด รับจำนวน 300 อัตรา บริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟฟิก จำกัด รับจำนวน 15 อัตรา และบริษัท นาสป้า เอเซีย จำกัด รองรับการสมัครงานให้กับผู้ที่ไม่ผ่านการทดลองงาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/9/2562 

คนงานใน จ.ชลบุรี ประท้วงไม่ได้ค่าแรง บริษัทขอทยอยจ่ายอ้างขายของยังไม่ได้

วันที่ 24 ก.ย. 2562 เวลา 12.00 น. พนักงานของบริษัทผลิตเครื่องครัวแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.ชลบุรี ประมาณ 200 คน รวมตัวประท้วงเนื่องจากโรงงานไม่ได้จ่ายค่าแรงงานทั้งหมด 5 วิกๆ ละ 15 วัน รวมเป็นเงิน 7 ล้านบาท ทำให้คนงานไม่มีเงินค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ค่าเช่าบ้าน รวมทั้งต้องกู้หนี้ยืมสินจากเงินกู้นอกระบบร้อยละ 10-20 จึงได้มาร้องเรียนนายสมบูรณ์ ผดุงไทยธรรม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเหมือน และที่ปรึกษา อีอีซี ภาคตะวันออก และยังได้มีการชูป้ายประท้วงมีข้อความว่า “ผู้ว่าช่วยผมด้วยครับ เมียผมฆ่าตัวตายใครรับผิดชอบ” “เอาเงินเดือนของเราคืนมา ลูกเมียจะอดตายอยู่แล้ว” “ผู้ว่าช่วยทีคนงานจะอดตายอยู่แล้ว”

การเรียกร้องในครั้งนี้ทางบริษัทได้ต่อรองขอจ่ายเพียง 1 วิกเท่านั้น หลังจากนั้นจะทยอยจ่ายให้ภายหลัง แต่คนงานทั้งหมด 230 คน ยืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมทั้งหนี้สินที่กู้ยืมมา จึงได้อยากจะให้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าสินค้าที่ส่งไปค้าขายนั้นยังไม่ได้รับเงิน จึงไม่มีเงินจ่ายค่าพนักงาน

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ตนรับเรื่องร้องเรียนมานานนับเดือนแล้ว พยายามเจรจากับทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับการแนะนำให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้มีการเจรจาเบื้องต้นแล้วจะจ่ายให้ 1 วิกก่อน แต่พนักงานไม่ยอม และจะมีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ซึ่งจะต้องรอดูผลการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ยอมรับว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้การค้าขายไม่ดีตามไปด้วย

ด้านนายบรรจง อาษานอก อายุ 53 ปี พนักงานฝ่ายผลิตหม้อเคลือบกล่าวว่า จากกรณีที่โรงงานค้างค่าแรงงานนั้น ส่งผลให้นางสุภาพ จันทเสน อายุ 38 ปี ภรรยาของตนเองเครียดจัด เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง จึงได้ตัดสินใจดื่มยาฆ่าตัวตายไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา เงินก็ไม่มีค่าทำศพ พนักงานต้องช่วยกันบริจาคเงินและช่วยค่าทำศพ ยอมรับว่าช่วงนี้พนักงานในโรงงานลำบากมาก เพราะบริษัทไม่ได้จ่ายค่าแรงงานมาแล้ว 5 วิกๆ ละ 15 วัน ซึ่งแต่ละคนเงินเดือนเฉลี่ย 1-2 หมื่นบาทเศษ แต่โรงงานจะจ่ายให้วิกเดียว 5-6 พันบาท ได้รับมาก็ไม่พอใช้หนี้ที่กู้ยืมกันมา อยากโรงงานช่วยเหลือพนักงานด้วยเพราะบางคนทำงานมานาน 10-20 ปี โดยได้ค่าแรงงานวันละ 330 บาท ซึ่งไม่เคยมีการปรับค่าแรงงานแต่อย่างใด

นอกจากนี้พนักงานยังได้เรียกร้องให้ทางโรงงานช่วยเหลือ เนื่องจากการรวมตัวในครั้งนี้ต้องการเพียงเงินค่าแรงของแต่ละคนเท่านั้นที่ทำไป ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องขึ้นค่าแรงงานหรือเงินโบนัสแต่อย่างใด ซึ่งการเจรจาที่จะเกิดขึ้นนั้นอยากให้ทางโรงงานเห็นใจพนักงานด้วย

ที่มา: Workpoint News, 24/9/2562 

ก.แรงงาน ช่วยพนักงานทดลองงาน บ.เอเพ็กซ์ ถูกเลิกจ้าง ประสานโรงงานในพื้นที่สมุทรสาคร จัดงานรองรับได้ 744 อัตรา พร้อมติดตามการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

วันนี้ (24 ก.ย.) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง ว่า จากการที่พนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริง พบว่า การเลิกจ้างดังกล่าวมีสาเหตุจากบริษัทฯ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงได้ใช้มาตรการลดจำนวนการผลิต และเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งบริษัทฯ มีระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน มีลูกจ้างที่ทดลองงานจำนวน 329 คน ผ่านการทดลองงาน 109 คน โดยบริษัทฯ ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 จำนวน 155 คน และเตรียมเลิกจ้างเพิ่มเติมอีก 65 คน รวม 220 คน ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 3.56 จากลูกจ้างทั้งหมดของบริษัทที่มีจำนวน 6,185 คน ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแก่นายจ้างลูกจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะติดตามการจ่ายค่าจ้างและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของนายจ้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นายสุทธิ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างเพิ่มเติม กระทรวงแรงงานได้ประสานกับสถานประกอบกิจการในพื้นที่ จ.สมุทรสาครที่มีความประสงค์ จะรับพนักงานในเบื้องต้นมีสถานประกอบกิจการแจ้งความจำนงหลายแห่ง ประกอบด้วย บริษัท มารีนโกลด์โปรดักส์ จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ แจ้งความประสงค์จะรับลูกจ้าง เข้าทำงานจำนวน 300 อัตรา ตำแหน่งฝ่ายผลิต, บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ แจ้งความประสงค์รับลูกจ้างที่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไป จำนวน 50 อัตรา ตำแหน่งตรวจสอบ และบริษัท แคล-คอมพ์ อิเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ประสงค์รับจำนวน 100 คน และยังมีบริษัทอื่นๆ อีก 33 บริษัท ซึ่งมีความประสงค์รับลูกจ้าง จำนวน 294 อัตรา รวม 744 อัตรา ทั้งนี้ได้แจ้งให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทราบแล้ว

"นอกจากนี้ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จำนวน 73 แห่ง จะร่วมกันหาแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างด้วย โดยจะหาตำแหน่งงานว่างและรับสมัครงาน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีงานทำและอยู่ในพื้นที่เดิม อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานจะติดตามให้ความช่วยเหลือลูกจ้างอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป" นายสุทธิ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/9/2562 

สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ส.ค. 2562 คนว่างงาน 3.82 แสนคน รอฤดูกาล 8.0 หมื่นคน

สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.08 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.62 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.82 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.0 หมื่นคน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบส5นการณ์แรงงานกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า จำนวนผู้มีงานทำลดลง 6.7 แสนคน (จาก 38.29 ล้านคน เป็น 37.62 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 2.1 หมื่นคน (จาก 4.03 แสนคน เป็น 3.82 แสนคน)

ผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ1.31 แสนคน เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ พบว่าในจำนวนผู้มีงานทำ 37.62 ล้านคนมีผู้ทำงานต่ำกว่าระดับ 1.31 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของผู้มีงานทำทั้งหมดซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีงานทำ แต่ยังมีเวลาที่ต้องการทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง

ประสบการณ์ทำงานของผู้ว่างงาน ผู้ว่างงาน 3.82 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.88 แสนคนและเคยทำงานมาก่อน 1.94 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากภาคการบริการและการค้า ภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรม ตามลำดับ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 23/9/2562 

โรงงาน 'เอเพ็กซ์' นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ระบุไม่ได้บรรจุพนักงาน 140 คน ที่ยังไม่ผ่านทดลองงานเท่านั้น

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2562 จากกรณีที่ในโซเชียลมีเดียมีการโพสต์รูปภาพพนักงานของบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภายในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ถนนเจษฎาวิถี-พันท้ายนรสิงห์ ต.โคกขาม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร มีการเลิกจ้างพนักงาน 140 คน ที่ไม่ผ่านทดลองงาน สาเหตุการผลิตที่ลดลงเพราะพิษเศรษฐกิจ และยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ชี้แจงว่า จากการชี้แจงของฝ่ายบริหาร เป็นเพียงแค่ไม่ได้บรรจุพนักงานที่ยังไม่ผ่านทดลองงานเท่านั้น ปัจจุบันทางบริษัทมีพนักงานทั้ง 2 โรงงาน ใน 2 นิคมอุตสาหกรรม จำนวนเกือบ 1 หมื่นคน แต่เนื่องจากแนวโน้มการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง และการขยายงานไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย จึงมีการวางแผนปรับลดจำนวนพนักงานบางส่วน จำนวน 140 คนที่อยู่ในช่วงทดลองงาน ซึ่งไม่ได้กระทบต่อพนักงานประจำแต่อย่างใด

ด้านเฟซบุ๊ก Apex Activity ได้เผยแพร่วีดีโอคลิป #SaveAPEX เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา โดยนายบิล ชู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับครอบครัวของเรา สิ่งที่จำเป็นต้องใช้ เราก็ต้องใช้ สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ต้องเฟซ เราถึงจะสามารถเดินต่อไปได้ ผ่านอุปสรรคครั้งนี้ และจะสามารถดูแลพนักงานได้มากขึ้น ขณะที่นายศราวุธ ครุธแก้ว ผู้จัดการอาวุโส ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้หาวิธีที่จะทำให้กิจการเดินไปต่อ ทั้งการหยุดวันทำงาน หยุดค่าล่วงเวลา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กลุ่มผู้บริหารสัญญาว่าถึงเวลาจะได้เจอกันอีก

ในตอนท้าย ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทฯ ได้ต่อสู้ และมีมาตรการต่างๆ มาเป็นระยะเวลา 3-4 เดือน และมิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ด้วยในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามทางการค้า ระหว่างประเทศมหาอำนาจจีนกับอเมริก และญี่ปุ่นกับเกาหลี ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทฯ ที่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่สามารถหลบเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ จึงทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องมีการปรับลดกำลังพนักงานเข้าใหม่ที่ยังไม่ผ่านทดลองงานในการผลิตลง มิใช่การปลดหรือจ้างพนักงานเก่าออกตามความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน บริษัทฯ และทีมผู้บริหารทุกระดับชั้น จะพยายามฟันฝ่าร่วมกันทำงานกับพนักงานเก่าให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน และเมื่อใดที่เศรษฐกิจของบริษัทฟื้นตัวกลับขึ้นมา พนักงานใหม่กลุ่มนี้จะได้กลับเข้ามาทำงานเป็นคนแรกในโครงการ Book fore ต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/9/2562 

สมาคมค้าปลีกเพิ่มตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ยืนยันไม่กระทบแรงงาน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภายหลังการเจรจาทางธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จากผู้ประกอบการรายใหญ่จากจีน ว่าปัจจุบันเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และเครื่องอำนวยความสะดวกในไทยมีประมาณ 11,000 เครื่องทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าปีละ 10% โดยในอนาคตอาจจะเห็นเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมีจำนวนมากกว่าสาขาร้านสะดวกซื้อ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า เป็นการเพิ่มความสะดวกสบาย เพราะสามารถตรวจสอบสต๊อกสินค้าได้อย่างแม่นยำ แต่ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ โดยผู้ค้าปลีกยังคงต้องการแรงงานเบื้องหลังอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้พัฒนาระบบจัดการ, ระบบบัญชี และระบบขนส่งสินค้า ดังนั้น ในอนาคตแรงงานไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีมากขึ้น

สำหรับภาพรวมตลาดค้าปลีกในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 3.6 ล้านล้านบาทโดยปีนี้มีแนวโน้มเติบโต 2.5-2.6 % ซึ่งต้องติดตามผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักมากน้อยแค่ไหน

ที่มา: news.ch7.com, 22/9/2562 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท