Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Barcelona คือศูนย์กลางใหญ่ของแคว้นกาตาลุญญาแห่งสเปน ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ภาษากาตาลัน กินอาหารกาตาลันและยังคงวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบกาตาลัน รวมทั้งมีการเฉลิมฉลองวันชาติของตัวเองอย่างยิ่งใหญ่ที่ใจกลางเมืองทุกวันที่ 11 กันยายนของทุกๆ ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1714  ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านอกจากการเฉลิมฉลองแล้วมันยังเป็นการแสดงจุดยืนถึงข้อเรียกร้องแห่งการเป็นอิสระจากสเปน ของผู้คนกาตาลันอีกด้วย
เราได้เก็บภาพบรรยากาศและบทสัมภาษณ์เล็กน้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองและเรียกร้องอิสรภาพเพื่อการปกครองตนเองของผู้คนในแคว้นกาตาลัน

บรรยากาศการเดินขบวนเรียกร้องเอกราชของชาวกาตาลัน ณ ศูนย์กลางเมืองบาร์เซโลนา

รูปขบวนพาเหรดเริ่มต้นเวลาสายๆ ของวันที่ 11 กันยายนตามจุดสำคัญต่างๆ ของเมืองท่ามกลางสายตาของนักท่องเที่ยวที่แห่มาสัมผัสอากาศอุ่นสบายและชายหาดในบาร์เซโลน่า  กิจกรรมเริ่มต้นด้วยความสนุกสนานมีทั้งการร้องเพลงเล่นดนตรีหรือแม้แต่การแข่งขันต่อตัว Castellers ของกลุ่มต่างๆ ที่ฝึกซ้อมเพื่อมาแสดงโชว์ในงานวันนี้

ผู้คนเดินขวักไขว่ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ร่วมริ้วขบวนที่สวมใส่เสื้อสัญลักษณ์ดวงดาวสีเหลืองพร้อมกับข้อความเรียกร้องขอเอกราช LA NOSTRA SENTNCIA INDEPENDENCIA พร้อมธงชาติกาตาลันหลากหลายขนาด ทั้งที่ถือด้วยมือและผูกเป็นผ้าพันคอหรือผูกไว้ที่เอว เป็นความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพบเห็น

แต่นอกจากความตื่นตาตื่นใจจากริ้วขบวนและการรวมตัวกันของผู้คนแล้วสิ่งที่ซ่อนอยู่ในการเรียกร้องเอกราชนี้ก็คือการเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองกาตาลันด้วย

สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองไขว้กันเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แพร่หลายในการรณรงค์ให้รัฐบาลสเปนปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวกาตาลัน

เสียงตะโกนกึกก้องของผู้ร่วมขบวนสื่อสารไปถึงความต้องการเป็นเอกราชจากสเปนของพวกเขาอย่างชัดถ้อยชัดคำ เป็นจังหวะประกอบเสียงปรบมือ เราเดินทางไปรอบรอบเมืองตามสถานที่สำคัญต่างๆ มีบางส่วนที่หยุดพักทานอาหารกลางวันเราจึงได้โอกาสเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มวัยรุ่นที่มาร่วมงาน โดยหลักการเบื้องต้นของเราก็คือ ถามก่อนว่า พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ไหม ทำไมให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารและไม่ก่อให้เกิดการเสียเวลาหากว่าเราสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง 

เราเริ่มต้นเดินเข้าไปทักเด็กหนุ่มที่ยืนโบกธงอยู่ใจกลางกลุ่มเพื่อน Excuse me ,Can you speak English ? น้องเขาตอบมาว่าไม่ได้และหันไปสะกิดเพื่อนผู้หญิงที่นั่งอยู่ใกล้ๆ สื่อสารกันสักพักก็ส่งน้องผู้หญิงมาให้เป็นคนตอบคำถามแทน ในขณะที่ตัวเองก็เรียกเพื่อนคนอื่นๆ ให้มันร้องวงฟังด้วยกันพร้อมกับยืนลุ้นอยู่ใกล้ๆ  


Nuria Copez

เราเริ่มถามคำถามแรกเป็นคำถามพื้นฐานอยากให้น้องช่วยอธิบายขบวนพาเหรดวันนี้ให้ฟังหน่อยว่ามันคืออะไร สาวน้อย Nuria Copez วัย 16 ปี คงคิดว่าเราเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งความจริงเราก็เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปนั่นแหละ เธอตอบคำถามทั่วไปสำหรับนักท่องเที่ยวว่าวันนี้เป็นวันชาติกาตาลัน จัดขึ้นทุกวันที่ 11 กันยายนจะมีการเดินขบวนจุดพลุเพื่อเฉลิมฉลองและประกาศความเป็นชาติที่แยกออกจากความเป็นสเปนอย่างชัดเจน

“เธอเป็นคนกาตาลันใช่ไหม” เราถามเพื่อนำไปสู่คำถามต่อไป

“ใช่ค่ะ ฉันเป็นกาตาลัน” เธอตอบฉะฉานแล้วอธิบายต่อว่าเธอเข้าใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องเพื่อเอกราชของกาตาลัน 

“แล้วเธอคิดว่าคนสเปนที่ไม่ใช่กาตาลันจะรู้สึกอย่างไรกับการเรียกร้องนี้ของชาวกาตาลัน” เราถามเจาะจงลงไปถึงความคิดเห็นของเยาวชนกาตาลัน

“ฉันคิดว่าชาวสเปนทั่วไปเข้าใจเรานะ แต่คนที่ไม่เข้าใจคือคนที่มีอำนาจและควบคุมพวกเราต่างหาก รัฐบาลสเปนไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของเราและเขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเป็นเอกราช” เธอตอบด้วยแววตามั่นใจ

“แล้วตัวเธอเองละ ทำไมเธอถึงอยากให้กาตาลันได้รับเอกราช” เราถามต่อไป

“ฉันอยากให้เราได้รับเอกราชเพราะเราสามารถเป็นได้ เราเป็นประเทศที่ดีได้ เราดูแลผู้คนของเราได้ และแน่นอนที่สุดว่า ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นกาตาลัน ไม่ใช่สเปน” (I feel Gatalun not Spanish) คำตอบนี้ของเธอทำให้ฉันอึ้งไปชั่วขณะ จึงเริ่มเปลี่ยนแนวคำถามให้ใกล้ตัวคู่สนทนามากขึ้น

“ปกติเธอพูดภาษากาตาลัน แต่เธอต้องเรียนภาษาสเปนในโรงเรียนด้วยใช่ไหม มันเป็นปัญหากับเธอหรือเปล่า” 

“การเรียนภาษาสเปนของฉันไม่เป็นปัญหาเลย เพราะอย่างไรเราก็ต้องสื่อสารกับคนสเปนอื่นๆ และมันก็สำคัญในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่อื่นๆ ในสเปน และฉันยังชอบเรียนภาษาอังกฤษด้วยนะ แต่สำหรับฉัน ฉันคิดว่าการเรียนภาษาควรจะเป็นสิทธิของพวกเรา เราควรจะเลือกได้ว่าเราอยากเรียนหรือไม่” เธอตอบพร้อมรอยยิ้มมั่นใจแววตาเปล่งประกาย

เราบอกลากันเพื่อฉันจะได้ออกไปดูส่วนอื่นๆ ของขบวนที่ประกอบไปด้วยข้อความเรียกร้องเอกราชและป้ายรณรงค์เพื่อการปล่อยนักโทษการเมืองกาตาลัน เราเดินตามขบวนไปจนถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแห่งบาร์เซโลน่า (Universitat de Barcelona) ผู้คนบางส่วนนั่งพักจากการเดินขบวน บางส่วนเคลื่อนตัวไปข้างหน้าสลับสับเปลี่ยนกันไปอย่างเป็นระบบแต่ก็เหมือนไร้ระบบ

เราเห็นธงที่สกรีนรูปนักโทษการเมืองสีเหลืองผืนใหญ่พร้อมผู้คนวันกลางคนไปจนถึงสูงวัยที่ล้อมรอบราวสี่ห้าคน เราเดินเข้าไปหาผู้คนกลุ่มนั้นพร้อมคำถามเดิมคือ “Can you speak english” ใช่ มีแน่นอน 
Boi ชายวัยกลางคนคือตัวแทนที่ถูกส่งมาคุยกับเรา หลังจากเราแนะนำตัวและแสดงความสนใจเรื่องนักโทษการเมืองกาตาลัน เขาเล่าว่านักโทษการเมืองกาตาลันมีประมาณ 10 คน และถูกจองจำมากว่า 2 ปีแล้ว จากการออกมาเรียกร้องเอกราชจากสเปน ซึ่งแต่ละคนอาจจะถูกตัดสินจำคุกอย่างน้อย 25 ปี และยังมีผู้คนอีกประมาณ 1,000 คนที่อาจจะถูกจับกุมเพราะการเรียกร้องเอกราชนี้ 

“คุณส่งต่ออุดมการณ์เพื่อเอกราชนี้ให้กับลูกของคุณอย่างไร” เราตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

“เราไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย สิ่งที่เราทำคือทำให้พวกเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งโดยพาเขาไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเรา” เขาตอบพร้อมกับชี้มือไปที่เด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่พาเข้าร่วมกิจกรรม

“นั่นแปลว่าคุณไม่คิดว่าคุณจะได้เอกราชในเร็วๆ นี้ใช่ไหม” เราถามต่อไป

“มันคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะรัฐบาลสเปนพูดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็ยังพยายามต่อไป เราให้กำลังใจกันเสมอ ทั้งกำลังใจต่อครอบครัวของนักโทษการเมืองและทุกๆ คนที่เป็นกาตาลัน เราสร้างประชาธิปไตยที่ดีในขบวนของเราก่อน และเราเชื่อว่าเราจะชนะ ถ้าเราทำให้ผู้คนรู้สึกถึงการต่อสู้จากภายใน”

ก่อนจะจากกันพวกเขาฝากข้อความหนึ่งที่อธิบายว่าเพราะอะไรพวกเขาจะต้องใช้ประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องที่ยาวนานนี้และเพราะอะไรพวกเขาจึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมที่สร้างกำลังใจให้แก่ผู้คนไปพร้อมๆ กัน 

“ถ้าเราใช้ปืน เราแพ้”

แล้วเขาก็ชี้ชวนให้เราเดินเข้าไปดูตรงกลางขบวนเพื่อให้ได้เห็นกิจกรรมอื่นๆ ที่เริ่มปักหลักอยู่บริเวณถนนหน้ามหาวิทยาลัย 


castellers การแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวกาตาลัน
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนต่างมีส่วนร่วมในการแสดงนี้



การแสดงจากเยาวชนชาวกาตาลัน

เมื่อเริ่มเดินเข้าไปในจุดที่ขบวนปักหลัก เราก็พบความคล้ายคลึงกันกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53 ที่มีเวทีแยกย่อยหลายเวที มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้ง castellers ของกลุ่มต่างๆ การล้อมวงประสานเสียงที่พาลให้นึกถึงกิจกรรมของ จิ้น กรรมาชน มีซุ้มขายของระดมทุนหลากหลายซุ้ม และป้ายนำเสนอเรื่องราวของนักโทษการเมือง เวทีย่อยสำหรับปราศรัยต่างๆ


การร้องเพลงประสานเสียงที่มีเนื้อหาระลึกถึงชนชาวกาตาลันในจุดพักขบวน

แต่ที่เราประทับใจที่สุดก็เห็นจะเป็นเวทีของกลุ่ม LGBT กาตาลันที่ประดับด้วยธงกาตาลันสีรุ้งมีผู้คนล้อมรอบมากมายพร้อมส่งเสียงเชียร์อย่างออกรส และแน่นอนที่สุดว่า ณ แคว้นกาตาลันแห่งนี้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ขบวนการผู้หญิงที่นี่เข้มแข็งไปถึงระดับนโยบาย  


เวทีของ LGBT ที่เข้าร่วมกับการเรียกร้องเอกราช เป็นเวทีที่มีสีสันและผู้คนเข้าร่วมมาก

กิจกรรมยามค่ำคืนนั้นคึกคักกว่าตอนกลางวัน แต่เราก็เพลียเกินกว่าจะลุกออกไปร่วมฉลอง ได้แต่กลับมานอนคิดเอาว่า อะไรกันนะที่ทำให้พวกเขากล้าหาญประกาศว่าตนต้องการเอกราชได้อย่างนี้ อะไรกันนะที่ทำให้พวกเขากล้าหาญที่จะเปิดเผยความต้องการของตนเองต่อสาธารณะทั้งการเดินขบวนใจกลางเมือง ทั้งการประกาศจุดยืนเรื่องนักโทษการเมือง การส่งต่อชุดอุดมการณ์ไปสู่คนรุ่นต่อไป ภาพในหัวหลายภาพปรากฎพร้อมคำถามเหล่านี้ ทั้งภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการเรียกร้องของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่มีอะไรให้คำตอบเราได้อย่างชัดเจน มีเพียงบรรยากาศที่ติดตาอยู่เท่านั้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net