Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การประท้วงเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาในเมืองไคโร อะเล็กซานเดรีย และสุเอซ เป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมัวที่ปกคลุมประเทศอียิปต์มาตั้งแต่ปี 2013 หลังจากที่การปฏิวัติลุกฮือ “อาหรับสปริง” ถูกทำลายโดยกองทัพ

ในเมืองมาฮาลา ซึ่งเป็นเมืองที่มีย่านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็มีการประท้วงเช่นกัน มาฮาลา เคยเป็นศูนย์กลางการประท้วงของกรรมาชีพที่ล้มมูบารัคใน“อาหรับสปริง”

ตั้งแต่กรกฏาคมปี 2013 เมื่อกองทัพไฮแจ๊กการประท้วงที่ต่อต้านประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม และก่อรัฐประหารเพื่อตั้งคณะทหารเผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งนายพล เอล์ซิซี หัวหน้ากองทัพ เป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความสับสนของประชาชน รัฐบาลได้จับนักโทษการเมืองเข้าคุก 40,000 คน และฆ่าประชาชนกว่า 3000 คน นอกจากนี้ประชาชนหลายร้อยคนก็ “หายไป”

ปัจจุบันนี้อียิปต์มีรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ต่างจากไทย เพราะกองทัพใช้กลไกต่างๆ เพื่อโกงการเลือกตั้ง แต่ข้อแตกต่างจากไทยคือตอนนี้เริ่มมีการชุมนุมของมวลชนบนท้องถนนท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายของทหาร ที่ใช้ทั้งก๊าซน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนจริง

สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือครั้งนี้ในอียิปต์ คือการใช้อินเทอร์เน็ดและโซเชียลมีเดีย เพื่อเปิดโปงการคอรรัปชันของประธานาธิบดีนายพล เอล์ซิซี  โดยนักธุรกิจชื่อ มูฮัมหมัด อาลี ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ มีการปลุกระดมให้คนออกมาประท้วง

แต่เบื้องหลังความโกรธแค้นของประชาชนที่นำไปสู่การลุกฮือครั้งนี้คือสภาพเศรษฐกิจ และการขาดสิทธิเสรีภาพโดยสิ้นเชิง

รัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา” ของทหารอียิปต์ ได้ใช้นโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยมสุดขั้วขององค์กร ไอเอ็มเอฟ มาตั้งแต่ปี 2016 ผลคือประชาชนหนึ่งในสามมีสถานภาพต่ำกว่าเส้นความยากจน คือมีรายได้น้อยกว่า US$1.40 ต่อวัน

เนื่องจาก มูฮัมหมัด อาลี เคยเป็นนักธุรกิจที่ร่วมมือกับเผด็จการทหารแล้วแตกแยกกับพวกนั้น วัตถุประสงค์ของเขาคงจะไม่ใช่เพื่อสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ แต่วิดีโอที่เขาโพสต์ในอินเทอร์เน็ด กลายเป็นชนวนที่ทำให้คนตัดสินใจที่จะออกมาประท้วง

“องค์กรสังคมนิยมปฎิวัติอียิปต์” ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ออกมาประท้วง และตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนเริ่มหายกลัว แต่ที่สำคัญคือประชาชนจะต้องจดจำบทเรียนจากการลุกฮือคราวที่แล้ว โดยเฉพาะตอนที่มีการขับไล่ประธานาธิบดี มูรซี่ เพราะในสถานการณ์แบบนี้มักจะมีคนฉวยโอกาสยึดอำนาจ แทนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือประชาชน สิ่งที่ควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการประท้วงครั้งนี้คือการผลักดันให้ทหารออกจากรัฐบาลและการเมืองโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ขับไล่นายพล เอล์ซิซี คนเดียว

สองปีหลังการลุกฮือ “อาหรับสปริง” ประธานาธิบดี มูรซี่ จากพรรคมุสลิม ปกครองประเทศแต่ไม่ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนระบบ และหันไปจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา ประชาชนจำนวนมากจึงออกมาแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลในปี 2013 แต่ในยุคนั้นประชาชนจำนวนมากถูกหลอกให้ไว้ใจกองทัพ ซึ่งในที่สุดก็ยึดอำนาจและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคเผด็จการก่อนปี 2011

คราวนี้มวลชนไม่ควรไว้ใจใครที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือกลุ่มนักธุรกิจ ประชาชนต้องนำตนเองจากรากหญ้า แต่ต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อสร้างการนำและเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่การลุกฮือตามธรรมชาติที่ไร้การจัดตั้ง

พวกเราในประเทศไทยที่กำลังต้านเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ควรศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์และที่อื่นอย่างดี และไม่หลงเชื่อว่าการค้านรัฐบาลในรัฐสภา หรือการตั้งความหวังกับ “ผู้ใหญ่” หรือนักธุกิจ จะนำไปสู่การสร้างสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

 

อ่านเพิ่ม:
จะล้มเผด็จการอียิปต์ได้อย่างไร?
การปฏิวัติอียิปต์ ปัญหาการนำ

เผยแพร่ครั้งแรกใน: turnleftthai.wordpress.com/2019/09/29

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net