นิธิ เอียวศรีวงศ์: จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่ (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นิธิ เอียวศรีวงศ์: จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่ (1)

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ”

นี่คือคำขวัญของรัฐสมัยใหม่ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรัฐราชวงศ์, รัฐราชสมบัติ, รัฐอภิสิทธิ์ชนทุกชนิด หรือรัฐประชาชาติก็ตาม เพราะรัฐสมัยใหม่เป็นรัฐทำสงคราม (warring state) ทั้งนั้น เหนือกว่ารัฐทำสงครามชนิดใดที่เคยเกิดมาแล้วในประวัติศาสตร์ รัฐทำสงครามคือรัฐที่ยอมสละทรัพยากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรคน, เศรษฐกิจ หรือสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสร้างสมรรถนะในการทำสงครามได้ทุกขณะ และมักใช้สงครามเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเปิดเผยบ้าง โดยนัยยะบ้าง ไม่ใช่เฉพาะความสัมพันธ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่แฝงอยู่โดยนัยยะในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ด้วย

นั่นคือเหตุผลว่า ในรัฐสมัยใหม่ทุกแห่งย่อมมีกองทัพประจำการอยู่ด้วยเสมอ ทั้งไม่ใช่กองทัพที่เกิดจากการระดมพลในหมู่ชาวนาหรือกรรมกรให้ถืออาวุธเข้ารบกับข้าศึกศัตรูเฉพาะครั้งเฉพาะคราว แต่เป็นกองทัพที่ต้องได้รับการฝึกปรือให้เหมาะที่จะทำสงครามสมัยใหม่ คือกองทัพต้องสามารถใช้อาวุธได้หลากหลายชนิดตามความเหมาะสมและจำเป็นในการรบแต่ละอย่าง รวมทั้งมีความสามารถในการส่งกำลังบำรุง และสามารถปฏิบัติการได้อย่างสอดประสานกันทุกหน่วย

จึงทำให้จำเป็นต้องมีกองทัพประจำการ เพื่อฝึกทหารให้สามารถทำการรบแบบใหม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ใช้อาวุธประจำการได้คล่องเท่านั้น แต่ต้องฝึกให้แต่ละคนกลายเป็นเซลล์หนึ่งของอินทรีย์ใหญ่ ที่ปฏิบัติการโดยประสานกันเหมือนร่างกายมนุษย์

พูดง่ายๆ กองทัพสมัยใหม่ทำการรบไม่เหมือนกับกองทัพโบราณที่เกณฑ์ชาวนามาเป็นทหาร ไม่ใช่เพราะอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่เท่านั้น แต่เพราะกองทัพทำงานสอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ในยุโรป กองทัพพัฒนาการสื่อสารภายในมาก่อนเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จะเกิดขึ้น เช่น การตีธง, การใช้กระจกสะท้อนแสง, การใช้ม้าเร็ว, การใช้สัญญาณควัน ฯลฯ)

รัฐสมัยใหม่ใช้กองทัพประจำการซึ่งเป็นกองทัพสมัยใหม่ ดังนั้น ต่างจึงเป็นรัฐทำสงคราม คิดดูแล้วกัน แม้หวังตั้งสงบ ยังต้องเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงดำรงรักษากองทัพประจำการไว้ แต่ควรคิดเลยไปถึงการระดมทรัพยากรของรัฐมาใช้ด้วย

กองทัพสมัยใหม่ของไทยก็เหมือนกองทัพสมัยใหม่ของรัฐอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนชาวนามาเป็นทหารประจำการ แวดล้อมศูนย์กลางซึ่งเป็นนายทหาร ที่ได้รับการฝึกปรือวิชาการทหารสมัยใหม่ของตะวันตก ในประเทศอาณานิคม นายทหารคือคนผิวขาวซึ่งผ่านโรงเรียนทหารในยุโรป (หรืออินเดีย) มาแล้ว ในเมืองไทยคือลูกหลานผู้ดีที่ถูกส่งไปเรียนวิชาทหารในยุโรป

แต่ดังที่กล่าวในตอนที่แล้วว่า ชาวนาไม่ใช่นายสีนายสาซึ่งทำเป็นแต่การเกษตร เขาเป็นนักรบซึ่งเคยเข้า “สงคราม” จริงมาแล้ว แต่เป็นสงครามนอกประวัติศาสตร์ คือรบกับคนในชนบทด้วยกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ฉะนั้น เขาจึงมีประเพณีการรบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการรบของกองทัพสมัยใหม่

ปัญหาของกองทัพสมัยใหม่ของไทยคือ จะกลืนนักรบชาวนาให้กลายเป็นทหารในกองทัพสมัยใหม่ได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงสร้างคนกล้าหาญเชี่ยวชาญการต่อสู้ แต่เป็นเซลล์หนึ่งของอินทรีย์กองทัพสมัยใหม่ด้วย

สิ่งแรกที่ต้องทำคือฝึกระเบียบวินัยอย่างหนัก จุดมุ่งหมายหลักไม่ใช่เพื่อให้ดูสวยงามเป็นระเบียบ เป็นศักดิ์ศรีของกองทัพ แต่เพื่อละลายนักรบชาวนาซึ่งมีความเป็นปัจเจกสูงมากให้กลายเป็นเซลล์ส่วนหนึ่งของอินทรีย์กองทัพสมัยใหม่ (นักรบชาวนาตัดสินใจเองว่าจะรบหรือหนีเมื่อไร-ปฏิบัติการเป็นกลุ่มก้อนได้เพียงไม่กี่ด้าน) ดังนั้น นับตั้งแต่เข้าค่ายวันแรก เครื่องแบบ, ทรงผม, รองเท้า, สำนวนภาษา ฯลฯ จึงถูกทำให้เหมือนกันหมดก่อน ยังไม่พูดถึงกิน-นอน-กิจวัตรประจำวัน ฯลฯ หรือ “ชีวิต” ก็ถูกทำให้กลายเป็นแบบแผนตายตัวอันเดียวกันด้วย

แต่กองทัพสมัยใหม่มีกำเนิดมาเก่าแก่พอสมควร หากนับจาก พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฉบับแรกในสมัย ร.5 ก็ตกราว 120 ปีมาแล้ว คือ 4 ชั่วอายุคน หรือตั้งแต่รุ่นเทียดเป็นต้นมา ในขณะที่สงครามชนบทหรือสงครามชาวนาก็ได้เบาบางไปจนหมดในราวต้นทศวรรษ 2490 (เมื่อปราบ “อ้ายเสือ” ไปจนแทบไม่เหลือรายใหญ่อีก) ระเบียบวินัยของกองทัพหลายอย่างซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลอมละลายนักรบชาวนาให้กลายเป็นทหารก็ไร้ความหมาย แต่ก็ยังบังคับกันอยู่ในกองทัพ จึงทำให้อธิบายแก่สังคมไม่ได้ และฟังดูเป็นจำอวดไปเป็นอันมาก

เรื่องของความเชื่อฟังอย่างเข้มงวด โดยไม่ต้องถามหรือแม้แต่คิด แต่เดิมก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือทำให้นักรบชาวนากลายเป็นเซลล์หนึ่งของอินทรีย์กองทัพสมัยใหม่ เพราะนักรบชาวนาตัดสินใจเองในแทบจะทุกเรื่อง แต่วิธีฝึกความเชื่อฟังอาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะทหารเกณฑ์ไม่ใช่นักรบชาวนาอีกต่อไป การฝึกความเชื่อฟังที่ไร้ความหมายไปแล้วนี้จึงนำไปสู่การ “ซ่อม” ที่รุนแรงเกินเหตุ ดังที่เป็นข่าวให้ได้ยินอยู่เสมอ

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความเป็นปัจเจกของนักรบชาวนากับความเป็นปัจเจกของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นต่างกัน นักรบชาวนาไม่ได้ต้องการรักษา “ความเป็นตัวของตัวเอง” แต่ต้องการรักษาผลประโยชน์เฉพาะตัว ซึ่งแยกออกจากผลประโยชน์ของทีม แรงงานในโรงงานเคยชินกับการเชื่อมโยงงานของตนกับงานของคนอื่น ผลสำเร็จจึงเกิดขึ้นได้ ทั้งในโรงงานที่ดี ผลสำเร็จซึ่งมากขึ้นหรือดีขึ้นยังนำมาซึ่งผลตอบแทนสูงขึ้นแก่แรงงานด้วย (ไม่ใช่กำไรเข้ากระเป๋านายทุนทั้งหมด)

ผมคิดว่ากีฬาประเภททีมของไทยดีวันดีคืนในทุกวันนี้ เหตุสำคัญมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมมากกว่า เพราะมีกระทรวงกีฬา, เงินอุดหนุน, สมาคมกีฬา ฯลฯ

กองทัพที่มีความเป็นปึกแผ่นภายใน (solidarity) เป็นกองทัพที่เข้มแข็ง ทุกกองทัพจึงต้องหาวิธีสร้างความเป็นปึกแผ่นดังกล่าว ว่ากันว่าในกองทัพของโลกตะวันตก สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ทหารโดยสนับสนุนให้ทหารสร้างความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นในกลุ่มทหารเล็กๆ ในหมวดหมู่เดียวกัน เรียกว่าระบบเพื่อนตาย (buddy) ทหารเข้าทำการรบด้วยสำนึกจะปกป้องกันและกัน ฮึกเหิมประจัญบานกับศัตรูตามอารมณ์ของเพื่อน buddy หรือโกรธแค้นที่ buddy ถูกยิง

กองทัพไทยสร้างความเป็นปึกแผ่นเช่นนี้อย่างไรในหมู่ทหาร ตามความเข้าใจของผม จากการพูดคุยกับเพื่อนที่เคยเป็นทหารเกณฑ์ ก็คือความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับผู้บังคับบัญชา ซึ่งในสมัยหนึ่งใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับทหารอย่างใกล้ชิด ขนาดแบ่งทรัพยากรในมือตนแจกจ่ายเลี้ยงดูลูกน้อง จนพูดกันในสมัยก่อนว่า “เมียทหารนับขวด เมียตำรวจนับแบงก์” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จำลองเอาความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบเก่ามาใช้กับการฝึกทหารในปัจจุบัน ก็น่าสนใจดีนะครับ ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ทหาร “รับจ้าง” ที่เคยไปรบในลาวเล่าอะไรให้ฟังถึงการรบอันห้าวหาญภายใต้ผู้บังคับหมวดหรือหมู่เสมอ

แต่ดูเหมือนความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในกองทัพจะหายไปเสียแล้ว เพราะกองทัพไม่ต้องรบ หรือเพราะความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทำงานไม่ค่อยได้ผลในสังคมไทยปัจจุบัน หรือเพราะอะไรผมก็ไม่ทราบ

กล่าวโดยรวมๆ การฝึกทหารของกองทัพไทยยังไม่ค่อยต่างจากเมื่อเริ่มสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 120 ปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมาก ไม่มีนักรบชาวนาเหลืออยู่ หรือแม้แต่ประเพณีของสงครามชนบทก็ตายสนิทไปแล้ว ส่วนใหญ่ของคนไทยทำงานอยู่ในภาคบริการและอุตสาหกรรม แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตร เกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่เต็มตัว ถึงอยู่เต็มตัว ก็กลายเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากเกษตรยังชีพ

เราต้องไม่ลืมว่าในช่วงระหว่างทศวรรษ 2500 จนถึงทศวรรษ 2520 กองทัพของคนที่ต้องปล่อยผมให้ยาว ไม่สามารถหาเครื่องแบบเดียวกันให้ทหารได้ทั่วถึง สวมรองเท้ายางรถยนต์ ฯลฯ เอาชนะกองทัพคนผมเกรียน, เครื่องแบบหรู และสวมบู๊ตเหมือนกันหมด ไปได้ในหลายประเทศทั่วโลก

พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้คิดถึงเรื่องอุดมการณ์ กองทัพปฏิวัติตอกย้ำอุดมการณ์ผ่านการปฏิบัติเกือบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกัน, ความสัมพันธ์ระหว่างกัน, การให้ความหมายแก่ปฏิบัติการทุกประเภท หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ทั้งนี้ใช่ว่ากองทัพสมัยใหม่อื่นๆ ไม่เห็นความสำคัญของอุดมการณ์

กองทัพไทยปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทยมาแต่แรก แต่ความหมายชาตินิยมแบบไทยนั้นบันดาลใจคนปัจจุบันได้น้อยลง ยังไม่พูดถึงว่าตัวอุดมการณ์ชาตินิยมเองในโลกปัจจุบันก็มีปัญหาในเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่นในยามเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ นายทุนประชารัฐย่อมพอใจจะนำทุนไปลงในประเทศอื่นมากกว่า ไม่ต่างจากรัฐเองก็รู้ดีว่าการแข่งขันของประเทศเล็กๆ ในโลกปัจจุบันมีพลังเพิ่มขึ้นได้ด้วยการลดนัยยะสำคัญในทุกมิติของเส้นพรมแดนชาติลง แล้วเกาะกลุ่มกับเพื่อนบ้านเพื่อการต่อรอง เช่นเดียวกับคนไทยซึ่งอยู่ชายแดน ย่อมให้น้ำหนักแก่การกระทำของรัฐบาลในเวียงจันทน์และพนมเปญน้อยกว่าความสัมพันธ์กับญาติและชุมชนในอีกฟากหนึ่งของพรมแดน

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ อุดมการณ์ชาตินิยมแบบไทย ไม่ช่วยให้กองทัพเข้มแข็งขึ้นได้เสียแล้ว การยิ่งกลับไปตอกย้ำก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น จนกว่าจะมุ่งพัฒนาอุดมการณ์ให้มีความหมายต่อชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน เช่น บวกประชาธิปไตยเข้าไปในชาตินิยม หรือเปลี่ยนชาตินิยมไทยให้เน้นความเสมอภาคยิ่งขึ้น ฯลฯ ก็แล้วแต่จะคิดและถกเถียงกันนะครับ

ในพม่า กองทัพดึงเอาทรัพยากรส่วนรวมมาแจกจ่ายทหาร แม้ว่าพม่าอาจมีทรัพยากรส่วนรวมน้อย แต่การแจกจ่ายก็ทั่วถึงทั้งกองทัพ เช่น มีเงินเดือนน้อยไม่พอกิน ฉะนั้น ทหารจึงได้รับข้าวแจกทุกเดือนเพื่อให้ครอบครัวอยู่ได้ กองทัพมีร้านค้าของตนเอง ซึ่งมีสินค้ามากกว่าตลาด และหลายประเภทก็ถูกกว่าด้วย กองทัพมีโรงเรียนซึ่งรับเด็กที่เป็นลูก-หลานทหาร (ครับ ทหารไม่ใช่นายทหารอย่างเดียว) ให้ได้เรียนฟรี ฯลฯ การเป็นทหารพม่าคือการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐค่อนข้างพร้อมมูล

แต่เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจขยายตัว โดยเฉพาะจากการลงทุนของจีน และการลงทุนของ “เจ๊ก” ประชารัฐในพม่า ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดค่าต๋งแก่นายทหาร รายได้ของกองทัพส่วนนี้ไม่ได้กระจายไปยังทหารทั้งกองทัพ แต่กระจุกอยู่กับนายทหาร ซึ่งหลายคนมั่งคั่งเสียจนต้องเอาเงินไปฝากแบงก์สิงคโปร์

การรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทย ก็ทำให้เงินเดือน+เงินพิเศษ+ค่าต๋งของนายทหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็น่าสังเกตว่าเงินเดือนและสวัสดิการทหารเกณฑ์ (และทหารนอกสัญญาบัตร) ขึ้นช้ามาก หรือไม่เพิ่มเลย

ในสภาพที่นายทหารล้วนเป็นเสี่ย แต่พลทหารและทหารชั้นผู้น้อยยังอัตคัดอยู่เหมือนเดิม จะปลูกฝังอุดมการณ์อะไรให้มีความหมายและแรงบันดาลใจแก่ทหารได้เล่าครับ

อันที่จริง ผลอย่างหนึ่งของข้อเสนอพรรคอนาคตใหม่ให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร คือการนำเอาพลังตลาดมาให้แก่พลทหารเกณฑ์นั่นเอง ส่วนจะได้ผลแค่ไหนผมไม่แน่ใจ เพราะพลังตลาดในเมืองไทยนั้นบิดเบี้ยวด้วยการตรึงตราของการผูกขาดเสียจนคนจนไม่เหลือทางเลือกอะไรมากนัก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_232199

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท