Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายศิลปิน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) จัดงานเสวนาหัวข้อวัฒนธรรมชาติพันธุ์กับความเป็นอยู่ในสังคมไทย มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเข้าร่วมกว่าร้อยคน

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่าแม้นายกรัฐมนตรีทุกสมัยจะบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์  จึงต้องมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติในมาตรา 1 ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรพหุวัฒนธรรม จะแบ่งแยกมิได้ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากขาดตระหนักในการทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน นำไปสู่การใช้กฏหมายและอำนาจที่ทำความเดือดร้อนให้กลุ่มชาติพันธุ์ 

นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมเสริมว่า อีกหนึ่งแนวทางการแก้ไขคือกลุ่มชาติพันธุ์ต้องรวมกลุ่มในการกำหนดข้อเรียกร้องร่วมกัน เพื่อนำไปสู่อำนาจการต่อรอง และนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง 

ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชาวม้งจากพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต้องกำหนดทิศทางวัฒนธรรมของตน เพื่อดำรงอัตลักษณ์ไว้ไม่ให้หายไป เห็นด้วยที่กำหนดพหุวัฒนธรรมในรัฐธรรมนูญ และมุ่งผลักดันด้านกฎหมาย เน้นให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการออกแบบพระราชบัญญัติสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ และเขตวัฒนธรรมพิเศษ 

นายเกรียงไกร ชีช่วง ตัวแทนจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมกล่าวต่อว่า ควรส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์รุ่นใหม่ภูมิใจในอัตลักษณ์ของตน อีกทั้งผลักดันให้เกิดการรับรองสัญชาติไทยจากภาครัฐอย่างทั่วถึง และยังต้องเน้นการกระจายอำนาจ เพื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ 

นอกจากนั้นภายในงานยังมีการนำเสนอศิลปะการแสดง การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ และสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมทั้งร่วมจุดเทียนเพื่อรำลึกถึง “บิลลี่” นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกฆาตกรรม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net