ระเบิดแก่งสะพือ ไม่ใช่การแก้ปัญหาน้ำท่วมอุบล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วิกฤติน่ำท่วมอุบลราชธานี ในครั้งนี้ (ปี 2562) ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มีการสรุปข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น ไว้ดังนี้ 
 
มีพื้นที่ประสบภัยสะสม จำนวน 25 อำเภอ (อุบลราชธานีมีทั้งหมด 25 อำเภอ) 174 ตำบล (อุบลราชธานีมีทั้งหมด 219 ตำบล) มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,362 หมู่บ้าน (อุบลราชธานีมีหมู่บ้านทั้งหมด 2,469 หมู่บ้าน) มีประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 159,629 ราย พื้นที่เกษตร ได้รับความเสียหาย จำนวน 639,556 ไร่ โดยความเสียหายนี่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2562 

ความเสียหายนี้ยังไม่รวมถึงผู้ประกอบการ ห้างร้าน รีสอร์ท ร้านอาหาร รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ บ้านเรือน และทรัพย์สินที่เสียหายเพราะถูกน้ำท่วม ที่ยังไม่มีการประเมินมูลค่า อย่างเป็นทางการ ซึ่งคงเป็นมูลค่าที่คงจะมากมายมหาศาล 

วิกฤติน้ำท่วมอุบลราชธานีในครั้งนี้ ยังใช้เวลาท่วมขังนานมากกว่า 1 เดือน และอาจใช้เวลาอีกนับเดือน จึงจะเข้าสู่สภาพปกติ 

ด้วยสภาพที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ปลายทางน้ำ ที่จะต้องรองรับมวลน้ำจากภาคอีสาน 10 จังหวัด ที่ไหลมารวมตัวกันที่อุบลราชธานี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง และไหลออกทะเลที่ประเทศเวียดนาม 

ดังนั้น จังหวัดอุบลราชธานีจึงมักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเหนือ และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ ซึ่งในปีนี่ (2562) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วม มาจากการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ 

ท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วมอุบลราชธานี ครั้งนี้ ได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต หลายแนวทาง แต่มีแนวทางหนึ่งที่ถูกน้ำเสนอ และกำลังจะถูกผลักดัน คือ “การระเบิดแก่งสะพือ) เพื่อเปิดทางน้ำ ด้วยหวังว่าจะทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขง ได้เร็วขึ้น 

ผมไม่รู้ว่า ผู้ที่เสนอให้ “ระเบิดแก่งสะพือ” ได้เข้าใจระบบนิเวศน์ของแม่น้ำมูน มากน้อยขนาดไหน แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำมูน ผมใคร่ขอนำเสนอข้อมูล เผื่อจะเป็นประโยชน์ สำหรับพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

แก่งสะพือ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี (M7) ประมาณ 50 กิโลเมตร (ตามทางน้ำ) โดยมีความสุงที่ระดับ (ประมาณ) 115 ม.รทก. จากระยะทางจาก M7 มาถึงแก่งสะพือ จะมี แก่ง มีคัน น้อย ใหญ่ เป็นตะพักกั้นน้ำมาเป็น ระยะ ๆ โดยมีพื้นที่ “แก่งบุ่งมะแลง” หรือ “แก่งสว่าง” ที่ห่างจาก M7 ประมาณ 20 กิโลเมตร มีความสูงที่ระดับ (ประมาณ 115 ม.รทก. และถัดลงมา ก่อนถึงแก่งสะพือ จะมี “แก่งปากโดม” มีความสูงที่ระดับ (ประมาณ) เกือบ 115 ม.รทก. ซึ่งเป็นระดับความสูงเท่า ๆ กันกับแก่งสะพือ 

จากข้อมูลนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการระเบิดแก่งสะพือ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะมีแก่งอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่าง M7 กับแก่งสะพือ ทดน้ำไว้อยู่ 

ที่นำเสนอเช่นนี้ ไม่ใช่แนะนำว่า ต้องระเบิดแก่งออกให้หมดทุกแก่ง ตั้งแต่ แก่งบุ่งมะแลง (แก่งสว่าง) แก่งปากโดม และ แก่งสะพือ ออกให้หมด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องการระเบิดแก่งเพื่อเปิดทางน้ำ เป็นแนวทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และแก้ปัญหาที่ผิด ยิ่งไปกว่านั้น จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ขึ้นมาอีกด้วย ที่สำคัญ แก่งสะพือ เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองอุบลราชธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยว สำคัญที่สร้างรายได้มายาวนาน ...คิดผิด คิดไหม่ เถอะครับ...

สำหรับข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากและเป็นบริเวณกว้าง และช่วงเวลาน้ำท่วมขังยังใช้เวลานานมาก ไม่ใช่แค่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่แทบจะบอกได้ว่าท่วมแทบจะทุกปี เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ในช่วงเดือนสิงหาคม  กันยายน และตุลาคม จะเป็นช่วงฝันร้ายของคนอุบล ที่ต้องผวา กับสถานการณ์น้ำว่าจะเกิดน้ำท่วม หรือไม่ และน้ำจะท่วมขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดใจมากว่า จังหวัดอุบลราชธานี กลับไม่มีแผนป้องกัน หรือแผนการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเลย เท่าที่ผมเห็นทำกันอยู่ ก็เป็นแค่เพียงการแก้ไขสถานการณ์ เท่านั้น

ผมมองว่าสาเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหา น้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี ซ้ำซาก มีสาเหตุ ดังนี้

1. ที่ตั้งของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำของลุ่มน้ำมูน (แม่น้ำชีเป็นสาขาของแม่น้ำมูน) กว่า 69,701 ตร.กม. แต่มีสภาพเป็น “คอขวด” เพราะพื้นทีริมน้ำ (พื้นที่บุ่ง - ทาม ) หรือ “แก้มลิง” กลายเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จึงปิดกั้น ขวางทางน้ำ ในขณะที่ร่องลำน้ำเดิม (มูนหลง) คือ “กุดปลาขาว” ถูกรุกล้ำจนไม่มีสภาพเป็นร่องลำน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ที่มีสภาพเป็นคอขวดอยู่แล้ว เกิดการอัดเอ่อของน้ำจนล้นตลิ่งเข้าหลากท่วมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูน ดังที่เห็นอยู่เป็นประจำ

 2. น้ำต้นทุนมีมากเกินไป: น้ำต้นทุนในแม่น้ำมูน คือน้ำที่เกิดจากการเก็บกักของเขื่อนปากมูล ซึ่งปกติเขื่อนปากมูลจะเก็นน้ำอยู่ที่ระดับ 107 – 108 ม.รทก. การกักเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล จึงทำให้แม่น้ำมูนมีน้ำต้นทุนในลำน้ำมาก ซึ่งเมื่อเกิดฝนตกหนัก หรือมีน้ำด้านบนจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน ไหลลงมา ก็จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

3. ทางน้ำไหลเข้าเมืองมากกว่าทางน้ำไหลออก: แม่น้ำชีมีความยาว 765 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำมูน มีความยาว (จากต้นแม่น้ำมูนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำชี) ประมาณ 550 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมกัน 43,563,135 ไร่ ซึ่งน้ำจากแม่น้ำทั้งสองสาย ไกลลงมารวมกีนก่อนถึงตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 25 กิโลเมตร และแทบทุกปี น้ำจากแม่น้ำทั้งสองสาย ก็มักจะมีพร้อมกัน และไหลลงมาพร้อมๆ กัน แต่ยังโชคดีที่ถูกชะลอไว้ด้วยสภาพความคดโค้งของลำน้ำ มูนช่วงหาดคูเดื่อ ทำให้ความแรงของน้ำลดลง แต่ทางเดินน้ำก็ถูกบีบแคบลงในบริเวณตัวเมือง และยังเหลือทางน้ำแค่ทางเดียวคือลำน้ำมูน ทำให้ปริมาน้ำไหลเข้ามากกว่าปริมาณน้ำไหลออก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชบ่อย ๆ ซ้ำซาก ดังที่เป็นอยู่
 
สรุปโดยรวม เมื่อน้ำต้นทุนมีมาก ประกอบกับน้ำเหนือที่มาจากด้านบน มาจากแม่น้ำใหญ่สองสาย ที่ตั้งตัวเมืองเป็นคอขวดน้ำไหลออกทางเดียว สภาพเช่นนี้จึงเอื้อให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย และท่วมขังนาน ขณะที่การระบายน้ำออกก็ทำได้ยากมาก อุบลจึงเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก 

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก

1. ลดปริมาณน้ำไหลเข้า: การที่จะลดปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี คือการควบคุมน้ำในแม่น้ำมูน และแม่น้ำชี ซึ่งทำได้ยากมากเพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของเขื่อนอีกจำนวนมาก และด้วยจำนวนเขื่อนที่มากนี้ ยังทำให้เกิดความเสี่ยงซ้อนขึ้นมากอีก เพราะเนื่องจากว่าเขื่อนแต่ละแห่งมักจะเก็บกักน้ำไว้แทบจะเต็มเขื่อนอยู่แล้ว ดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี เมื่อปี 2560 ก็เกิดจากน้ำล้นเขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำมากเกินระดับเก็บกัก จึงต้องเร่งระบายน้ำออกเพื่อรักษาตัวเขื่อนไว้ (กลัวเขื่อนแตก) ส่วนน้ำท่วมอุบลราชธานีในปัจจุบัน (ปี 2562) ซึ่งมีปริมาณฝนตกเป็นวงกว้างทำให้เขื่อนในแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำมูน ได้แก่ เขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา (ศรีสะเกษ)  และแม่น้ำชี ได้แก่ เขื่อนวังยาง (มหาสารคาม) เขื่อนพนมไพร (ร้อยเอ็ด) และเขื่อนธาตุน้อย (เขื่องใน อุบลราชธานี) มีสภาพน้ำมากเกินระดับเก็บกัก จนต้องปล่อยน้ำไหลผ่านตรงลงสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี จนทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้  (21-09-2562) 
ดังนั้นการที่จะลดปริมาณน้ำไหลเข้า ซึ่งเป็นน้ำเหนือด้านบนตัวเมืองอุบลราชธานี จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

2. ลดน้ำต้นทุน: การจะลดน้ำต้นทุนในลำน้ำมูน จะทำได้ก็ต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งก็จะมีคำถามว่าทำได้หรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรไหมหากต้องเปิดประตูระบายน้ำเขือ่นปากมูล เพราะเหมือนกับว่าเป็นการยกเลิก หรือการปลดระวางเขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล ถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เขื่อนปากมูลก็จะทำการเดินเครื่องปั่นไฟเพื่อให้เกิดความเสถียรของไฟฟ้าในระบบ (เขื่อนปากมูลไม่ใช่เขื่อนผลิตไฟฟ้าหลัก) ซึ่งเมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งเหตุผลนี้ฟังดูมีน้ำหนัก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มาจำนวนมาก และเรามีการพัฒนาระบบสายส่งเชื่อมโยงกันหมดแล้ว นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้สร้างสถานีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ในปัจจุบันเหตุผลหลักของการเก็บกักน้ำเขื่อนปากมูล คือการเก็บน้ำไว้สำหรับผลิตน้ำประปา ของเมืองอุบลราชธานี (เรื่องน้ำประปาจะอธิบายในลำดับต่อไป)

การเปิดประตูเขื่อนปากมูล หรือการปลดระวางเขื่อนปากมูล จะทำให้ระดับน้ำที่ M7 มีระดับอยู่ที่ 105 ม.รทก. ซึ่งอยู่ต่ำกว่าตลิ่งแม่น้ำมูน ถึง 7 เมตร ขณะที่ระดับน้ำในลำน้ำมูน ก็จะยังมีน้ำอยู่ประมาณ 6 เมตร หรือครึ่งหนึ่งของความลึกของลำน้ำมูน (ระดับท้องน้ำต่ำสุดอยู่ที่ 99 ม.รทก. ) ซึ่งเกิดจากการที่แก่งธรรมชาติหลายแก่งเป็นตะพักกักน้ำไว้ (ตามรูปที่ 1(แนวเส้นสีดำ)) แม่น้ำมูนจึงมีน้ำอยู่จากหนึ่ง (ต้องคำนวณอีกทีว่าน้ำที่เหลือมีกี่ลูกบาศก์) สำหรับเป็นน้ำในการนำไปผลิตน้ำประปาได้

3. ฟื้นทางน้ำเดิม: เดิมบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูน มีสภาพลุ่มต่ำในฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากไหลผ่าน แต่ความการพัฒนาความเติบโตของเมืองทำให้พื้นที่เหล่านั้นถูกปลูกสร้างเป็นอาคาร บ้านเรือน รวมทั้งทางน้ำเดิม หรือ “มูนหลง” ทั้ง “ร่องกุดปลาขาว” และ “กุดศรีมังคละ” บางช่วงได้ถูกรุกล้าปิดกั้น และยังมีวัชพืชจำพวกผักตบชวา อัดแน่นเต็มแอ่งน้ำ จนพื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำ ทำให้น้ำที่หลากท่ามไม่สามารถไหลผ่านได้

หากฟื้นทางน้ำเดิมให้ ก็จะทำให้เป็นการเปิดทางน้ำเพิ่มอีกเส้น  ในช่วง “กุดศรีมังคละ” และ “กุดปลาขาว” ได้ ก็จะทำให้เป็นทางผ่านของน้ำให้ไหลออกได้อีกทาง ซึ่งจะทำให้การพร่องน้ำทำได้มากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ทางน้ำที่เปิดใหม่ จะทำให้มีแหล่งน้ำดิบสำหรับน้ำไปผลิตเป็นน้ำปะปา ได้อีกทางด้วย
 
 เราใช้งบประมาณในแต่ละปีจำนวนมหาศาล ในการสร้างถนนให้รถ แล้วทำไมเราจะใช้งบประมาณในการฟื้นทางน้ำเดิมไม่ได้

 แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ ก็จะต้องถูกนำไปศึกษา รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุม เพื่อให้แนวทางที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก เกิดจากความร่วมมือ ความเห็นพ้องของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท