สุรพศ ทวีศักดิ์: ครึ่งหนึ่งของพระคือพราหมณ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เราต่างคุ้นเคยกันดีกับการที่พระมีชื่อเสียงหรือบรรดาผู้รู้พุทธศาสนาวิจารณ์กันบ่อยๆ ว่า ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักแยกแยะพุทธ-พราหมณ์ ที่บ้านมีทั้งหิ้งพระและศาลพระพรหม แน่นอนว่าคำวิจารณ์ทำนองนองนี้ออกมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า “ความเป็นพุทธเหนือกว่าพราหมณ์” นี่คือภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาพุทธศาสนาในบ้านเรา ที่เน้นการจำคำสอนในคัมภีร์ ขาดการศึกษาศาสนาในมิติทางประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ และมิติทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ดีพอ

ผมเพิ่งอ่านวิทยานิพนธ์ของพระท่านหนึ่งชี้ว่า “ที่พุทธศาสนาสมัยอยุธยาเสื่อมลงมาก เพราะผู้ปกครองสมัยนั้นใช้หลักพราหมณ์มากกว่าพุทธ เป็นเหตุให้ ร.1 ฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่เพื่อใช้หลักพุทธที่แท้จริง” นี่คือมุมมองที่ว่าพราหมณ์คือตัวปัญหา ไม่ว่าระดับรัฐหรือความเชื่อของชาวบ้านทั่วไป หาก “ปนเปื้อน” กับความเชื่อพราหมณ์แล้วถือว่าไม่มีเหตุผล งมงาย หรือเสื่อม

แต่ในทางประวัติศาสตร์ จากยุครัฐพุทธศาสนาแบบอโศกเป็นอย่างน้อย ชนชั้นปกครองเริ่มใช้หลักพุทธผสมพราหมณ์ในการปกครองแล้ว หลักของพราหมณ์สร้างสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองที่ล่วงละเมิดมิได้ ส่วนหลักพุทธ คือหลักการสร้างภาพลักษณ์ของผู้ปกครองว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมความเมตตา เป็นแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรม เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือเป็น “พ่อปกครองลูก” ของประชาชน

พูดรวมๆ ว่าชนชั้นปกครองในรัฐพุทธศาสนายุคอโศก ในศรีลังกา ไทย และที่อื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ ต่างมีสถานะ อำนาจ และความชอบธรรมอิงหลักพุทธผสมพราหมณ์อย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ จะบอกว่าชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ถูก แต่ถูกเพียงส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นส่วนที่น้อยกว่า) เพราะที่จริงแล้ว ศาสนาต่างหากที่สถาปนาระบบการเมืองที่กำหนดให้ชนชั้นปกครองต้องมีสถานะ อำนาจ และความชอบธรรมเช่นนั้นขึ้นมา ผู้ปกครองที่ไม่เข้าสู่ระบบอำนาจเช่นนี้ย่อมเป็นผู้ปกครองไม่ได้ จึงไม่เคยมีผู้ปกครองในประวัติศาสตร์ของรัฐแถบนี้ที่เป็นกษัตริย์ได้โดยประกาศตนว่าเป็นคนไม่นับถือศาสนาใดๆ
 
อันที่จริง เมื่อมองภาพรวมทางประวัติศาสตร์สังคมจารีตที่กินเวลายาวนานเป็นพันๆ ปี ศาสนาหลักๆ ที่อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ ต่างสถาปนา “รัฐศาสนา” ในแบบของตนเองหรือแบบผสมผสานขึ้นมาทั้งนั้น ดังนั้น ในทางประวัติศาสตร์ จึงมีรัฐฮินดู รัฐพุทธ รัฐคริสเตียน รัฐอิสลาม (เป็นต้น) เป็นปกติ 

หากมองตามกรอบคิด “รัฐนาฏกรรม” (Theatre State) ของคลิฟฟอรด์ เกียร์ซ ศาสนาในประวัติศาสตร์สังคมจารีต ไม่ได้แสดงความสำคัญที่ “ตัวคำสอน” และการปฏิบัติถูกตรงตามคำสอนในคัมภีร์ แต่เน้นความสำคัญที่ความเป็น “วัฒนธรรม” ทางการเมืองและทางสังคม ซึ่งแสดงออกผ่านสัญลักษณ์และพิธีกรรมอันอลังการต่างๆ ของวังกับวัด เพื่อสะท้อน “ความหมายรูปธรรม” ที่สัมผัสได้ชัดแจ้งด้วยสายตา ความซาบซึ้งศรัทธา และความเกรงกลัว เกี่ยวกับบุญญาธิการและสถานะอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ความรุ่งเรืองของศาสนา บ้านเมือง และประเพณีวัฒนธรรมทางสังคมหนึ่งๆ 

ความหมายเด่นๆ ที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมพุทธศาสนา คือ “จารีตประเพณีเลียนแบบกันเป็นชั้นๆ” เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังจัดวางตำแหน่งของ “พระพุทธเจ้า” ไว้สูงกว่าพระสงฆ์และฆราวาส กษัตริย์ในรัฐพุทธศาสนาที่เป็น “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” ก็เลียนแบบพระพุทธเจ้าโดยนั่งบนบัลลังก์ที่สูงกว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ขุนนาง และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ขณะที่วังของพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีและขุนนางก็จัดวางตำแหน่งของผู้เป็นนายเลียนแบบกษัตริย์ไว้สูงกว่าข้าทาสบริวาร

พระสงฆ์ถูกสมมติให้เป็นที่เคารพกราบไหว้ของคนทุกชนชั้น แต่เนื่องจากกษัตริย์เป็นผู้ปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักร พระสงฆ์จึงถูกปกครองโดยกษัตริย์ไปด้วย กษัตริย์จึงเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนสมณฐานันดรศักดิ์ จ่ายเบี้ยหวัด หรือนิตยภัตต์รายเดือนแก่พระราชาคณะฐานานุกรมและเปรียญ อีกทั้งกษัตริยยังมีบทบาท “บอกปริยัติธรรม” หรือสอนปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์อีกด้วย (เช่นพระมหาธรรมราชาลิไท พระเจ้าทรงธรรม เป็นต้น) หรือหากไม่ทรงสอนพระเอง ก็จัดให้ “ราชบัณฑิต” สอนตามพระอารามหลวงต่างๆ มองในแง่นี้พุทธศาสนาไทยในส่วนที่เป็นความรู้ ความเชื่อ ประเพณีพิธีกรรมแบบทางการก็คือ “พุทธศาสนาของราชสำนัก” มาแต่ยุคแรกๆ  

ที่ชัดเจนอีกอย่างคือ ในสังคมศาสนายุคจารีตของสยาม-ไทย นอกจากสถานะของชนชั้นปกครองจะแยกความเป็นพราหมณ์กับพุทธขาดจากกันไม่ได้แล้ว แม้แต่สถานะของ “พระสงฆ์” เองก็มีความเป็นพุทธผสมพราหมณ์อยู่ในตัวเองอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้ 

หากอ่าน “ตำนานพระปริตร” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะเห็นว่า พระสงฆ์ยุคสังคายนาครั้งที่ 1-3 มีเพียงประเพณีการ “สวดสาธยาย” คือ สวดภาษาบาลีเพื่อท่องจำคำสอนพุทธศาสนาที่รวบรวมไว้เป็นสูตรต่างๆ เท่านั้น การสวดบาลีในอินเดียทั้งผู้สวดสาธยายคำสอนและผู้ฟังต่างรู้ความหมาย (เหมือนคนไทยร้องเพลงชาติที่ทุกคนต่างรู้ความหมาย) 

แต่พอพุทธศาสนาไปที่ศรีลังกา พระที่สวดภาษาบาลีได้ย่อมไม่รู้ความหมาย หากไม่ได้เรียนไวยากรณ์และการแปลบาลี (เหมือนพระไทยทุกวัดสวดมนต์พิธีได้หมดเลย แต่แปลไม่ได้ หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ) พระศรีลังกาจึงต้องแปลบาลีเป็นภาษาสิงหลเพื่อสอนชาวศรีลังกา ขณะเดียวกันก็เกิดความเชื่อว่าภาษาบาลีเป็น “ภาษาศักดิ์สิทธิ์” เพราะเป็นภาษาบันทึกคำสอนพุทธศาสนาที่พวกตนนับถือ ต่อมาราชสำนักและคณะสงฆ์จึงสร้างประเพณี “สวดพระปริตร” 12 ตำนาน และ 7 ตำนานขึ้น ซึ่งเป็นการเลียนแบบพราหมณ์-ฮินดูที่มีประเพณีสวดสรรเสริญพระเจ้าและประกอบพิธีกรรต่างๆ มานานแล้ว

การสวดพระปริตรไม่ได้มีความหมายเพื่อท่องจำคำสอน แต่เพื่อความเป็นสิริมงคล โชคลาภ และปัดเป่าภัยพิบัติต่างๆ เริ่มจากพิธีกรรมของราชสำนักให้มีการสวด “ราชปริตร” (12 ตำนาน) ก่อน ต่อมาเกิดประเพณีสวด “พระปริตร” (7 ตำนาน) ในพิธีกรรมของชาวบ้านทั่วไป เมื่อไทยรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาก็รับเอาประเพณีดังกล่าวมาด้วย ถึงตอนนี้สถานะและบทบาทของพระสงฆ์ก็เป็น “พราหมณ์” ไปครึ่งหนึ่งแล้วเป็นอย่างน้อย เพราะพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็น “ผู้ประกอบพิธีกรรม” แบบเดียวกับพราหมณ์ ต่างกันเพียงรูปแบบพิธีกรรมและตัวบทสวดเท่านั้น แต่การทำพิธีกรรมอยู่บนฐานของ “ความเชื่อ” ที่มีความหมายในเชิงไสยศาสตร์เหมือนกัน 

ดังนั้น ต้นแบบของการผสมผสานพุทธกับพราหมณ์เป็นเนื้อเดียวกัน จึงมาจากราชสำนักและคณะสงฆ์ชั้นสูง ไม่ใช่มาจากความงมงายของชาวบ้านทั่วไป ดังที่มักกล่าวหากัน

ถามว่า พิธีแห่นางแมวขอฝน หรือพิธีกรรมแบบพระบ้านๆ สวดไล่ผีปอบเพื่อให้ชาวบ้านสบายใจ มันมีความหมายเชิงไสยศาสตร์ต่างกันอย่างไรกับกรณีที่พระราชาคณะทำพิธีพุทธาภิเษก เจิมป้าย และอื่นๆ คำตอบคือ ในเชิง “ความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้” มีแง่มุมทางไสยศาสตร์ไม่ต่างกันเลย ต่างกันเพียงรูปแบบพิธีที่อลังการหรือเป็นทางการ กับเป็นแบบบ้านๆ เท่านั้น แต่เราก็จะเห็นการตัดสินเสมอว่า พิธีกรรมแบบบ้านๆ งมงายและผิดหลักพุทธศาสนา เป็นพุทธเทียม ไม่ใช่พุทธแท้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจตัดสินว่าพิธีกรรมแบบไหนถูกหรือผิดหลักพุทธ

ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ในประเทศนี้ เช่น อะไรที่ถูกยอมรับว่าเป็น “ศิลปะ” ก็ย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจสถาปนาของราชสำนัก ศาสนา หรือชนชั้นกลาง ชาวบ้านไม่มีอำนาจสถาปนาศิลปะของตนเองได้ ศิลปะแบบบ้านๆ บางอย่างถูกยอมรับว่าเป็นศิลปะของชาติได้ ก็ต่อเมื่อผ่านอำนาจสถาปนาของกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่ชาวบ้านแล้วเท่านั้น รวมทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศีลธรรม และอื่นๆ ด้วย

ปัญหาคือ กลุ่มคนที่ทรงอำนาจในการตัดสินชาวบ้านทั่วไปนั้น พวกเขาแสดงออกราวกับรู้แจ้งทุกอย่าง และมีความเป็นอารยะเหนือกว่า แต่บางทีกลับ “ไม่รู้จักตัวเอง” เอาเสียเลย ดังเช่นบรรดาพระผู้รู้ทั้งหลาย ตัดสินชาวบ้านว่าไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือพุทธคือพราหมณ์ แต่ตนเองนั่นและคือ “ต้นแบบพุทธผสมพราหมณ์” เพราะสถานะและบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่สัมผัสเห็นได้อยู่ทุกวัด ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นสถานะที่แยกไม่ออกระหว่างความเป็นพุทธกับพราหมณ์ 

พูดตามจริงบทบาทหลักๆ ของพระสงฆ์ในยุคสังคมจารีตจนถึงปัจจุบัน คือบทบาทผู้ประกอบพิธีกรรมแบบพราหมณ์เป็นด้านหลัก พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมมากกว่าพราหมณ์หลายเท่า ปราศจากการประกอบพิธีกรรม วัดย่อมขาดรายได้ พระก็ขาดรายได้ หรือศาสนาก็สร้าง “ตลาดศรัทธา” ดึงดูดประชาชนไม่ได้ พุทธศาสนาไทยก็อาจถึงคราล่มสลายเป็นแน่

ที่ว่ามาทั้งหมด ไม่ใช่ผมต้องการเรียกร้องให้พระสงฆ์เลิกประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ให้กลับไปสู่ความเป็น “พุทธแท้” อะไรแบบนั้น แต่เพื่อจะบอกว่าเลิกเสียทีเถอะกับการประณามว่าชาวบ้านไม่รู้จักแยกแยะพุทธ-พราหมณ์ เลิกดูถูกพิธีกรรมแบบบ้านๆ ว่างมงาย ขณะที่ยังเน้นพิธีกรรมอลังการของรัฐ และพระสงฆ์ชั้นสูงหรือวัดต่างๆ ทั่วไทยก็ยังเน้นพิธีกรรมอลังการแบบพุทธผสมพราหมณ์กันมายาวนานและยังทำกันอยู่อย่างปกติ

อย่างน้อยพิธีกรรมแบบชาวบ้านๆ ก็ไม่ได้สิ้นเปลืองภาษีประชาชน ไม่ได้ถืออภิสิทธิ์พึ่งพาอำนาจและกลไกต่างๆ ของรัฐ เป็นสิ่งที่ดำเนินไปตามความเชื่อแบบบ้านๆ ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น หรือขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาแต่อย่างใด 

ในสังคมสมัยใหม่ ใครก็ไม่ควรผูกขาดอำนาจตัดสินว่า ความเชื่อของชาวบ้านทั่วไปมั่วซั่วงมงาย ตราบที่เขาไม่หันมามองตัวเอง และไม่เคยตระหนักรู้ว่าระบบโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ตนเองปกป้องนั่นแหละ ที่เป็นระบบครอบงำกดขี่อย่างซับซ้อนและลึกซึ้งเพียงใด และไม่ตระหนักรู้แม้กระทั่งว่า ขณะที่ตนกำลังประกาศความรู้แจ้งและศีลธรรมอันสูงส่งแก่ผู้คนอยู่นั้น ตนเองคือส่วนหนึ่งของความมืดมนทางปัญญา และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาสองมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมายาวนาน 

 

ที่มาภาพ: http://topicstock.pantip.com/isolate/topicstock/2009/04/M7719789/M7719789.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท