Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ: ความหัวร้อน เป็นแรงบันดาลใจอันประเสริฐ (ในการคิดและเขียน)

ขอแนะนำตัวก่อนละกัน ผมชื่อโมโตกิ ลักษมีวัฒนา อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเรียกสั้นๆว่าสิงห์ดำรุ่น 64 ก็ได้ครับ บทความนี้ผมเขียนเพื่อโต้ตอบบทความ “ดีแล้วที่สโมฯ รัฐศาสตร์ไม่บ้าตามวาทกรรมโลกจะแตก” โดยคุณ (ไม่ค่อยอยากใช้คำนำหน้าที่ “มีอารยะ” นี่เลย) อรรถพล ซึ่งเขียนโต้ตอบบทความ “โลกจะแตก น้ำจะท่วมโลก แต่สโมฯ รัฐศาสตร์ก็ยังจัดกิจกรรมไร้อนาคต” ที่เขียนโดยคุณเสียงเล็กๆ ที่ไม่ดังครับ (ขออนุญาตย่อว่า “คุณเสียงเล็ก” นะครับ)

อ๋อผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ใครเป็นผู้ชายใครเป็นผู้หญิง หรือใครจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยครับถ้าผมเกิดเข้าใจผิดเรื่องพื้นหลังของผู้เขียนสักคนที่ผมอาจจะพาดพิงในบทความนี้ (ยิ้ม)

ทำไมผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา? ส่วนหนึ่งก็เพราะผมรู้สึกโมโหปนงงงวยกับบทความของคุณอรรถพล ในทางหนึ่งคุณอรรถพลกล่าวว่า “หวังว่าจะคุยกันอย่างมีอารยะ” แต่ในเวลาเดียวกันก็กล่าวด้วยว่า “จากที่ดูการใส่อารมณ์ในบทความ น้องคงเป็นผู้หญิงด้วย เรียกว่าน้องคงไม่มีปัญหาใช่ไหม” และ “เกรตา ธันเบิร์ก เด็กผู้หญิงที่เป็นโรคออทิสติกวัย 16 ปี” อย่างเป็นธรรมชาติจนน่าตกใจ มันทำผมงงไปเลยทีเดียวว่า “ความมีอารยะ” ของคุณอรรถพลมันคืออะไรกันแน่? ถ้าหากคุณหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ฟังดูหยาบคาย (คุณอรรถพลกล่าวว่า “โดยเฉพาะเด็กๆ ก็บ้าตาม (ขอประทานโทษใช้คำหยาบ)”) คุณจะพูดเหยียดเพศก็ไม่เป็นไร[1] พูดถึงคนที่เป็นออทิสติคในแง่ลบก็ไม่เป็นไรงั้นหรือ?

แน่นอนคุณอรรถพลอาจจะไม่ได้คิดว่านี่เป็นการเหยียด หรือกระทั่งคิดว่า “การเหยียด” ไม่ใช่ปัญหา ในแบบที่พวกฝ่ายขวาโลกตะวันตกพูดกัน อย่างไรก็ตามการมุ่งวิจารณ์ลักษณะของตัวบุคคล (ad hominem) ไม่ใช่การโต้แย้งที่ดีหรือ “มีอารยะ” เท่าไหร่ เพราะคุณไม่ได้พยายามหักล้างเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามอย่างซื่อสัตย์ แต่กลับใช้การยกตนข่มท่าน มองว่าความ “เป็นพี่” ของตนเองมีความเหนือกว่า “ผู้หญิงเจ้าอารมณ์” และ “คนออทิสติค” ทำให้การกล่าวว่า “อยากแลกเปลี่ยน” “อย่างมีอารยะ” เป็นเพียงข้ออ้างลมๆ แล้งๆ ที่คุณกล่าวอย่างขอไปที

นอกจากนั้นแล้วผมคิดว่าสิ่งที่คุณทำ เป็นการเอา “อารมณ์ความรู้สึกที่คุณมีต่อผู้หญิงและคนออทิสติค” เป็นตัวตั้ง ไม่อิงข้อมูลหรือความเป็นจริง คิดง่ายๆ เลยว่าคุณขาดข้อมูลเกี่ยวกับคุณเสียงเล็ก แต่กลับฟันธงว่าคุณเสียงเล็กเป็นคน “ใช้อารมณ์” และเป็น “ผู้หญิง” แน่นอน หรือการที่คุณไม่แยแสกับข้อมูลความแตกต่างทางการแพทย์ระหว่างออทิสติคกับแอสเพอร์เจอร์[2] ซึ่งเป็นโรคที่คุณเกรธาเป็น การที่คุณไม่ให้ความสำคัญกับการเอาข้อมูลพวกนี้มาใช้ในการโต้แย้ง มันก็ทำให้ผมคิดไม่ออกว่าคุณเอาอะไรมารับรองข้อโต้แย้งเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของคุณ

...อ้าวเดี๋ยวสิ ถ้าเราย้อนกลับไปประโยคแรกๆ ของบทความคุณแล้วอิงตรรกะของคุณ แปลว่าคุณเป็นผู้หญิง? แต่คุณใช้คำว่า “ครับ” เป็นคำลงท้ายอยู่นี่นา หรือว่าแบบนี้ผมเป็นคนเหยียดเพศเสียแล้ว ที่ไปเหมารวมว่าผู้หญิงต้องใช้คำว่า “คะ/ค่ะ” เป็นคำลงท้ายอย่างเดียว?

ความลักลั่นงงงวยนี้แหละครับที่ผมอยากเชื่อมโยงเรื่องนี้ให้เข้ากับประเด็นที่ดูมีความเป็นวิชาการมากขึ้น ผมอยากชวนทุกท่านลองคิดเรื่อง “ความคิดอนุรักษ์นิยม” กันสักหน่อย และทำไมผมถึงคิดว่าปฏิกิริยาของคนอย่างคุณอรรถพลต่อคุณเสียงเล็ก และปฏิกิริยาตอบโต้ต่อคุณเกรธาที่เราเห็นกันในสื่อทั้งไทยและเทศ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “อนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ” ที่เหมือนจะมีประเด็นที่น่าขบคิดอยู่ (บางประเด็นที่คุณอรรถพลยกมานั้นเป็นข้อโต้แย้งที่ผม “เห็นด้วย” ด้วยซ้ำ!) แต่สุดท้ายแล้วชุดเหตุผลเหล่านั้นมักนำไปสู่ข้อสรุปที่ขัดกับความเป็นจริง และยังสร้างข้อโต้แย้งที่ขัดแย้งในตัวเองโดยที่ไม่รู้สึกตัว (หรือที่เราอาจจะเรียกได้ว่า “ตรรกะวิบัติ”) ครับ

1) ว่าแต่ว่า “อนุรักษ์นิยม” คืออะไรกันแน่?

ตามคำถามด้านบนเลยครับ Stanford Encyclopedia of Philosophy นิยาม “อนุรักษ์นิยม” ว่าเป็นแนวคิด หรือปรัชญาที่ “ตั้งข้อสงสัยกับการใช้เหตุผลแบบเป็นนามธรรม และให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริง ทำให้จำกัดพื้นที่ในการปฏิรูปทางการเมือง” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันเป็นคำที่ “ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่ามันคืออะไร” และมักถูก “ใช้เป็นคำเรียกกลุ่มคนฝ่ายขวาที่มีจุดยืนระหว่างเสรีนิยม (liberalism) และฟาสซิสม์ (fascism)”[3]

นิยามที่จับต้องไม่ได้แบบนี้ นำไปสู่คำถามว่าอะไร - หรือว่า “ใคร” “ความเชื่อ ความคิดแบบไหน” - เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “อนุรักษ์นิยม” กันแน่? ถ้าเราพูดถึงอนุรักษ์นิยมในไทย เราก็คงคิดถึงคนที่สนับสนุนระบบอาวุโส (เช่นการพูดถึงระบบ SOTUS ของคุณอรรถพล) ในมิติการเมืองเราอาจจะพูดได้ว่าคนอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มจำพวกที่ไม่เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองสามารถมาจาก “คุณลักษณะ” บางอย่างของผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นบารมีหรือความเป็น “คนดี”

แต่ถ้าเรามองดู “อนุรักษ์นิยม” ในสหรัฐอเมริกา เราอาจจะได้คนที่ต่อต้านการทำแท้งและการแต่งงานของกลุ่มคนรักเพศ โดยการอ้างศาสนาและ “ศีลธรรม” ส่วนในแง่ของระบบการเมือง เราคงไม่เจออนุรักษ์นิยมอเมริกาที่สนับสนุนการโค่นล้มระบบการเลือกตั้งเท่าไหร่[4] ยิ่งไปกว่านั้นเรายังสามารถเจอคนที่สนับสนุนการพกอาวุธปืน (ระดับอาวุธสงคราม) อย่างถูกกฎหมาย โดยอ้าง “สิทธิส่วนบุคคล” ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศ

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตเห็นสิ่งเดียวกับที่ผมรู้สึก นั่นคือ “อนุรักษ์นิยม” ดูไม่ได้มีแก่นสารชัดเจน ในทางกลับกันมีจุดยืนที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงด้วยซ้ำ เช่น ผมรู้สึกว่า “อนุรักษ์นิยม” ในประเทศไทย มีความเปิดกว้างต่อสิทธิของกลุ่มคนรักร่วมเพศมากกว่าในสหรัฐฯ แต่ “อนุรักษ์นิยม” ในสหรัฐฯ มีความยอมรับในระบบการเลือกตั้งมากกว่าในไทย นอกจากนั้น “อนุรักษ์นิยม” ในบริบทเดียวกันยังมีความย้อนแย้งในตัวของมันเองด้วย เช่นในกรณีของสหรัฐฯ พวกเขาสนับสนุนสิทธิการถือครองอาวุธสงครามโดยการอ้าง “สิทธิของปัจเจกชน (individual right)” แต่ไม่สนับสนุนสิทธิในการแต่งงานของกลุ่มคนรักร่วมเพศ ทั้งๆ ที่นั่นก็เป็นหนึ่งใน “สิทธิของปัจเจกชน” ที่พวกเขากล่าวอ้างในกรณีสิทธิการถือครองอาวุธปืน

ถ้า “อนุรักษ์นิยม” ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายแบบนี้ แปลว่าพวกเขาเป็น “คนโง่” เป็น “สลิ่ม” ที่ไม่เข้าใจปรัชญา ความย้อนแย้งทางตรรกะ ที่ติดอยู่กับความเชื่อเก่าๆ ล้าสมัยหรือ? ผมขอเลือกตอบว่า “ไม่” ครับ อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเราโง่เกินไป หรือเป็น “คนอ่อนวัยที่ขาดประสบการณ์” ที่จะเข้าถึงความจริงของอนุรักษ์นิยม แต่ผมอยากเสนอว่าความคิดอนุรักษ์นิยม (หรือคนที่เรียกตัวว่าเป็น “อนุรักษ์นิยม”) นั้นมีธรรมชาติเป็น “ปฏิกิริยา (reactionary)” ต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม ทำให้ความเชื่อของอนุรักษ์นิยมในแต่ละพื้นที่ แต่ละยุคสมัยนั้นขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการที่ต้อง “ทำตัวตรงข้าม” กับความเปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การ “ขาดแก่นสาร” ดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม “อนุรักษ์นิยม” ก็ยังมีจุดร่วมที่ผมมองว่าเราสามารถสังเกตเห็นได้ในบทความของคุณอรรถพลด้วย

จุดร่วมดังกล่าวคือ “ความย้อนแย้งในข้อโต้แย้ง” และ “สิ่งที่ผลักดันปฏิกิริยา” ซึ่งผมจะขออภิปรายในอีก 2 ส่วนต่อจากนี้


2) ความย้อนแย้งในข้อโต้แย้งของฝ่าย “อนุรักษ์นิยม” โดย Hirschman

ในที่นี้ผมขอยกหนังสือ The Rhetoric of Reaction (1991) โดย Albert O. Hirschman[5] สิ่งที่ Hirschman เสนอในหนังสือเล่มนี้คือ เมื่อมองข้อโต้แย้งของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัย ตั้งแต่ปัญญาชนที่ต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 การต่อต้านการขยายสิทธิในการเลือกตั้งในศตวรรษที่ 19 และการต่อต้านรัฐสวัสดิการในศตวรรษที่ 20 แล้วจะสังเกตได้ว่า ข้อโต้แย้งของคนเหล่านี้มีเนื้อหาปลีกย่อยที่ต่างกันก็จริง (เพราะมันเป็นปฏิกิริยาต่อคนละประเด็นและคนละช่วงเวลา) แต่โครงสร้างพื้นฐานทางตรรกะมีจุดร่วมกันอยู่ แบ่งได้เป็น “ข้อโต้แย้ง 3 ข้อของปฏิกิริยา (the three theses of reactions)” ได้แก่ “ข้อโต้แย้งความบิดเบือน (perversity thesis)” “ข้อโต้แย้งความเปล่าประโยชน์ (futility thesis)” และ “ข้อโต้แย้งความอันตราย (jeopardy thesis)” (Hirschman, 1991; 4-8) โดย Hirschman ได้จัดแบ่งนักคิดอนุรักษ์นิยมชื่อดังในแต่ละยุคสมัย อย่างเช่น Burke, Tocqueville, Hayek, Huntington ไว้เป็นหมวดหมู่ในตารางของเขาในบทที่ 5 (ibid.; 152) ตามลักษณะข้อโต้แย้งที่นักคิดแต่ละคนใช้

ในบทความของคุณอรรถพล ผมสังเกตเห็น “ข้อโต้แย้งเปล่าประโยชน์” ซึ่งมุ่งวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงโดยการอ้างว่า ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่โง่เง่าไร้ประโยชน์ เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นการชิงสุกก่อนห่าม มองไม่เห็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เช่นในส่วนที่คุณอรรถพลกล่าวว่า “สโมสรนิสิต เป็นตัวแทนนิสิตมาจากการเลือกตั้ง […] จึงเป็นเรื่องผิด” หรือ “น้องคงรู้ใช่ไหมครับว่าอาจารย์คณะเราไม่ค่อยสนับสนุนงบให้นิสิตทำกิจกรรมเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เราเป็นคนทำกิจกรรมเพื่อคณะ” เป็นการสื่อว่าการที่คุณเสียงเล็กพยายามฝืน “ความเป็นจริง” เหล่านี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงของคุณเสียงเล็กเป็นเรื่องที่ล้มเหลว และคุณอรรถพลเป็น “รุ่นพี่” ผู้หวังดีที่ช่วยมา “อธิบาย […] จนเข้าใจ” ตรงกันได้

หรือการที่คุณอรรถพลกล่าวว่า “ทั้งที่เราก็เห็นว่า มีมาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาจำนวนมาก เอาเฉพาะที่ไทย การคืนพื้นที่ป่า ให้คนบุกรุกออกไป เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาล” ก็เป็นการใช้ข้อโต้แย้งความไร้ประโยชน์ในอีกมุมหนึ่ง ที่จะสื่อว่าคุณเสียงเล็ก หรือคุณเกรธา อยู่เฉยๆ ก็ดีแล้ว เพราะความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นอยู่ เพียงแต่พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่เยาว์วัยเกินกว่าที่จะเข้าใจก็เท่านั้นเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพวกเขาคนรุ่นใหม่ จึงเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์

ในขณะเดียวกัน คุณอรรถพลก็ใช้ “ข้อโต้แย้งความบิดเบือน” เช่นกัน เช่นการที่คุณอรรถพลกล่าวว่า “วาทกรรมจากเกรตากำลังทำให้ไทยไม่พัฒนาเทียบเท่าประเทศโลกที่หนึ่ง และน้องคือหนึ่งในคนที่กำลังชักจูงให้คนอื่นเข้าใจผิด” เป็นการพยายามสื่อว่าการพยายามอนุรักษ์ อาจเป็นความตั้งใจที่ดี แต่อาจถูกบางฝ่ายชักจูงบิดเบือนจนนำไปสู่การขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศโลกที่สามได้ สอดคล้องกับโครงสร้างตรรกะของ “ข้อโต้แย้งความบิดเบือน” ที่ Hirschman สังเกตเห็นว่า มันเป็นการพยายามวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงผ่านการเสนอว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้อาจมาจากความหวังดี แต่มันจะนำไปสู่การบิดเบือนความหวังดีนั้นในท้ายที่สุด” ซึ่ง Hirschman ยกตัวอย่าง Burke ที่มักยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ที่นำไปสู่ความรุนแรงในสังคม (Hirschman, 1991; 14-15)

หนึ่งในข้อสังเกตที่ Hirschman ตั้งกับข้อโต้แย้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือการที่ข้อโต้แย้งเหล่านี้มีความย้อนแย้งอยู่ เช่นหากเรามองดู “ข้อโต้แย้งเปล่าประโยชน์” กับ “ข้อโต้แย้งความบิดเบือน” ที่คุณอรรถพลกล่าวมา เราก็จะสับสนว่าตกลงคุณอรรถพลคิดอย่างไรกับนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติกันแน่? ในแง่หนึ่งเขากล่าวว่ามันจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเจริญทางเศรษฐกิจได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็กล่าวว่านโยบายคืนพื้นที่ป่า (ซึ่งเป็น “หนึ่งในความพยายามของรัฐบาล”) เป็นสิ่งที่น่ายกย่องเชิดชู ถ้าเช่นนั้นแล้วคุณอรรถพลต้องการทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทยหรือ? จุดยืนอันกำกวมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาวิจารณ์ (ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ระยะสั้นระยะยาว) เป็นสิ่งที่ Hirschman อภิปรายในเชิงประวัติศาสตร์ไว้อย่างละเอียด และผมรู้สึกว่าคุณอรรถพลก็มีปัญหาความกำกวมนั้นอยู่เช่นกัน

ผมมองว่าความย้อนแย้งในตรรกะของฝ่ายอนุรักษ์นิยมนี้ เกิดขึ้นจากการที่ข้อโต้แย้งเหล่านี้ถูกมองเป็นเพียง “เทคนิค” ในการมีปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มิใช่เหตุผลรองรับจุดยืนของพวกเขา ลองคิดแบบนี้ครับ ปกติมนุษย์เราจะเชื่อว่าตัวเองพบเจอเหตุผลและข้อมูลบางอย่าง จึงมีจุดยืน ความเชื่อบางอย่างขึ้นมา (“เหตุผลมาก่อนจุดยืน”) แต่สำหรับ “อนุรักษ์นิยม” นั้นกระบวนการนี้มันสลับด้านกัน กล่าวคือจะมีความเชื่อที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี” ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยมีการหาเหตุผลรองรับตามมา (“จุดยืนมาก่อนเหตุผล”) การโต้แย้งถกเถียงของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงไร้แก่นสาร เพราะมันเป็นการกระทำเพื่อสนอง “ความสะใจ” ที่ได้วิจารณ์ฝ่ายที่ทำการเปลี่ยนแปลง แต่ “เนื้อหา” ของการวิจารณ์นั้นมีความสำคัญรองลงมา


3) การวิเคราะห์สิ่งที่ผลักดัน “ปฏิกิริยา” โดย Robins

อย่างไรก็ตาม เราต้องคิดต่อไปอีกว่า แล้วอะไรเป็นสิ่งที่ผลักดันให้คนอย่างคุณอรรถพล ต้องลำบากเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ประชาไทกันล่ะ? ในเบื้องต้นผมลองวิเคราะห์เนื้อหาบทความของคุณอรรถพล และพบว่า “เทคนิคการโต้แย้ง” ของเขาสอดคล้องกับเหล่านักอนุรักษ์นิยมในอดีต ทั้งในแง่ของโครงสร้างตรรกะและปัญหาความย้อนแย้ง คราวนี้ผมอยากลองคิดดูว่า “อะไร” เป็นปัจจัยที่ทำให้อนุรักษ์นิยม “มีปฏิกิริยา” ต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ตรงนี้ผมขอยกงานเขียนเกี่ยวกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า The Reactionary Mind (2011) โดย Corey Robins ที่ผมคิดว่าจะทำให้เรามองเห็นภาพได้มากขึ้นว่าอนุรักษ์นิยม มีปฏิกิริยาต่ออะไร

หนังสือของ Robins เน้นศึกษาแนวคิดและพฤติกรรมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมสหรัฐฯ ทั้งปัญญาชน นักการเมือง หรือผู้นำทางศาสนาอย่างกว้างขวาง โดย Robins ตั้งข้อสังเกตว่า จุดร่วมที่อนุรักษ์นิยมมีอยู่คือ “ความพยายามที่จะทวงคืนอำนาจกลับมา หลังจากที่เคยมีประสบการณ์การถือครองอำนาจบางอย่าง” มาก่อน (Robins, 2011; 4) ซึ่งอำนาจดังกล่าวนี้มิใช่แค่อำนาจทางการเมืองในระดับการปกครองบ้านเมือง แต่เป็น “อำนาจในพื้นที่ส่วนตัว” (ibid.; 13) ซึ่งในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ก็หนีไม่พ้นประเด็นเช่นการเลิกทาส การเลือกตั้งของผู้หญิง การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน ฯลฯ การถูกท้าทาย (หรือรู้สึกว่าถูกท้าทาย) อำนาจที่เป็นส่วนตัวนี้เอง ที่เราสามารถมองได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนของปฏิกิริยาโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้พวกเขาต้องนำเอาเทคนิคการโต้แย้งต่างๆ นาๆ มาปกป้องจุดยืนของตน

แม้ว่าข้อเสนอของ Robins เป็นสิ่งที่พัฒนามาจากการศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่ผมคิดว่าเราสามารถประยุกต์มันมาใช้วิเคราะห์บริบทสังคมไทยได้บ้าง ถ้าเรานำเอากรอบ “อำนาจในพื้นที่ส่วนตัว” นี้มาวิเคราะห์บทความคุณอรรถพล เราก็จะเห็นภาพของคนรุ่นเก่าที่กำลังรู้สึกถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งสังเกตได้ง่ายจากการที่เขาแทนตนเองว่าเป็น “พี่” คุณเสียงเล็กเป็น “น้อง” คุณเกรธาเป็น “เด็กออทิสติคอายุ 16 ปี” ที่มี “เด็กๆ บ้าตาม” หรือการที่เขาปกป้องระบบ SOTUS ซึ่งเขาตีความว่าเป็นระบบที่ “รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ที่แก่กว่า” กล่าวคือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “รุ่นพี่” มีอำนาจเหนือ “รุ่นน้อง” ที่ต้องเคารพ สะท้อนให้เห็นถึงความโหยหาวันวานอันหวานชื่น ที่รุ่นน้องไหว้รุ่นพี่ในชุดนิสิตถูกระเบียบที่คุณอรรถพลเคยถือครองอยู่ และต้องการจะยึดกลับมา


บทสรุป: ทำไมถึงเป็น “อนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ”

ผมได้อภิปรายเกี่ยวกับ “อนุรักษ์นิยม” แบบกว้างๆ ไปแล้ว ในบทสรุปนี้ผมขออธิบายว่าทำไมผมถึงกล่าวว่าคุณอรรถพล หรือความคิดอนุรักษ์นิยมแบบคุณอรรถพล เป็น “อนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ” หลักๆ คือ “ความไม่เนียน” และ “ความไม่ทันสถานการณ์รอบข้าง” ครับ

ว่าด้วย “ความไม่เนียน” ก่อน ประเด็นแรกเป็นการวิพากษ์งานของ Hirschman ในระดับหนึ่งคือ เขาได้แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งใน “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” แต่ถ้าเราคิดดูดีๆ แล้ว มันเป็นเรื่องปกติมิใช่หรือที่มนุษย์วิญญูชนจะมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป เพราะพวกเขาต่างมีความคิด ประสบการณ์ และวาทศิลป์ที่ต่างกัน ในแง่นี้ “ความย้อนแย้ง” ที่ Hirschman แสดงให้เราเห็นเป็นปัญหาความไร้แก่นสารของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมก็จริง แต่ก็มิใช่การแสดงให้เห็นว่านักคิดอนุรักษ์นิยมแต่ละคน เป็นคนที่มีตรรกะวิบัติ มีข้อโต้แย้งที่ย้อนแย้งในตัวเอง

แต่คุณอรรถพลกลับทำการย้อนแย้งนั้นด้วยตัวคนเดียว ภายในบทความเดียว กล่าวคือเขาหยิบยืมข้อโต้แย้งต่างๆ นาๆ มามั่วซั่วโดยไม่หวนกลับไปคิดถึงความเสมอต้นเสมอปลายทางเหตุผล ทำให้คนอ่านอย่างผมที่จบแค่ป.ตรี ไม่มีทางเทียบเท่านักคิดชื่อดังอย่าง Hirschman ได้ ยังสามารถเห็นความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเขียนแสดงจุดยืนของคุณอรรถพลมีความสะเปะสะปะ เขียนวิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสโมฯกับนิสิตอยู่ดีๆ ก็กระโดดไปกระแนะกระแหนอาจารย์ที่ตนไม่ชอบ แสดงให้เห็นถึงการขาดการกลั่นกรองจุดยืนของตนเอง

สำหรับ “ความไม่ทันสถานการณ์รอบข้าง” อาจต้องเรียกว่าความไม่ทันเทคโนโลยีก็ได้ครับ โลกออนไลน์สมัยนี้มันพัฒนาไปไกล ข้อมูลต่างๆ มีอยู่รอบตัว คลิ๊กเมาส์ไม่กี่ครั้งก็ได้ข้อมูลที่เราต้องการแล้ว เช่นความแตกต่างระหว่างแอสเพอร์เจอร์กับออทิสติค ผมยอมรับว่าไม่ได้รู้อย่างละเอียดทั้งเรื่องการจัดหมวดหมู่ และความแตกต่างของพฤติกรรม แต่ผมก็ค้นหาจนเอามาอ้างอิงในบทความนี้ได้ หรือเรื่องของความพยายามในการรักษาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่คุณอรรถพลกล่าวถึง ค้นคว้านิดเดียวก็เจอบทความเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย EIA[6] ได้ ทำให้เรารู้สึกสงสัยว่า “รัฐบาล” ของคุณอรรถพลพยายามอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า สมัยนี้การ fact-check (ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล) คนอื่นมันทำได้ง่ายมาก คุณอรรถพลเขียนบทความมานี่ไม่ฉุกคิดบ้างเลยหรือครับ ว่าตนอาจโดนคนอื่นท้วงติงได้?

การที่คุณอรรถพล “ยืม” ข้อโต้แย้ง[7]ของแนวคิดโพสโมเดิร์น อย่างการวิเคราะห์ว่าการอ้างวิทยาศาสตร์เป็นการสร้างวาทกรรมรูปแบบหนึ่งได้ (ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเห็นด้วยกับคุณด้วยซ้ำ[8]) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเหมือนกัน การไปอ้าง “นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล” เพื่อหักล้างประเด็นของ “วาทกรรม” เป็นอะไรที่ตลกมาก เพราะคุณวิพากษ์วาทกรรมหนึ่ง แต่กระโดดเข้าไปหาอีกวาทกรรมหนึ่งโดยไม่คิดอะไรเลย ผมเข้าใจว่านักวิทยาศาสตร์ที่คุณพาดพิงคือ Ivar Giaever ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1973[9] ซึ่งเราก็น่าจะคิดได้ทันทีเลยว่า นักฟิสิกส์เป็นคนที่น่าเชื่อถือที่สุดในประเด็นวิทยาศาสตร์สภาพอากาศจริงหรือ? ตกลงคุณอรรถพลตั้งคำถามกับวาทกรรมเป็นหรือเปล่า?

คุณอรรถพลเป็น “อนุรักษ์นิยมคุณภาพต่ำ” เพราะเขาไม่คิดจะพยายามปกป้องจุดยืนของตนเองให้ดีหรือชัดเจน เขาไม่รู้ตัวในความย้อนแย้งที่ตนเองเขียนไป สักแต่ว่าจะเขียน “ปฏิกิริยาตอบโต้” เพื่อความพอใจของตนเอง และเขาไม่ใส่ใจสภาวะรอบข้างพอที่จะค้นคว้าหาข้อมูลปกป้องจุดยืนตนเอง ดังที่ผมพยายามแสดงมาในบทความที่คงยาวเกินจนทุกท่านเบื่อแล้ว

สุดท้ายนี้ผมขอฝากเรื่องหนึ่งกับคุณอรรถพลครับ ท่านนายกประยุทธ์ จันทรโอชาได้กล่าวในไม่นานมานี้ ว่าให้พวกเราคนไทยใช้ Google เพื่อเพิ่มพูนความรู้เพื่อทำงานให้ประเทศชาติ ผมทำแล้วนะครับ ผมหวังว่าคุณก็ทำอยู่เหมือนกัน

 

 

อ้างอิง

[1] Arwa Mahdawi, “The term ‘crazy’ shouldn’t be thrown around lightly - ask any women,” The Guardian, https://www.theguardian.com/lifeandstyle/commentisfree/2016/aug/07/term-crazy-shouldnt-be-thrown-around-lightly-ask-any-woman

[2] “Asperger’s Syndrome,” Autism Society, https://www.autism-society.org/what-is/aspergers-syndrome/

[3] “Conservatism,” Stanford Encyclopedia of Philosophy, https://plato.stanford.edu/entries/conservatism/

[4] “Globally, Broad Support for Representative and Direct Democracy,” Pew Research Center, https://www.pewresearch.org/global/2017/10/16/globally-broad-support-for-representative-and-direct-democracy/

[5] ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น เลขหน้าที่อ้างอิงจึงอาจไม่ตรงกับเลขหน้าฉบับภาษาอังกฤษ

[6] “ภาคประชาชนจี้ ยกเลิกร่าง กม. สิ่งแวดล้อม ชี้สอดไส้ม.44 ทำโครงการก่อนประเมินEIA,” The Standard, https://thestandard.co/environmental-law-gathering-call-for-eia/

[7] การที่อนุรักษ์นิยม “ยืม” ข้อโต้แย้งที่ปกติแล้วฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้ามักเป็นผู้ใช้ เป็นสิ่งที่ Robins ได้กล่าวถึงบ่อยครั้งในหนังสือของเขา

[8] Andrew C. Revkin, “My Climate Change,” ISSUES in Science and Technology, https://issues.org/my-climate-change/

[9] “Ivar Giaever,” Wikipedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Ivar_Giaever

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net