Skip to main content
sharethis

รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุถึง 4 เหตุฉุกเฉินจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในการออก พระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ทั่วไปตาม ม. 172 ประกอบด้วย 1. รักษาความปลอดภัยของประเทศ 2. รักษาความปลอดภัยสาธารณะ 3. รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 4. ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

30 ก.ย.2562 จากกรณีวันนี้ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วน ของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยระบุไว้เป็นหมายเหตุประกอบท้าย พ.ร.ก. ว่า "..เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้" นั้น

ประชาไท จึงชวนมาทำความรู้จัก 'พระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.'  โดยใน รัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า การออก พ.ร.ก.นั้น บัญญัติมี 2 ประเภท คือ 1. พระราชกำหนดทั่วไปตามมาตรา 172 และ 2. พระราชกำหนดที่เกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราตามมาตรา 174 ซึ่งในที่นี้จะเน้นที่ พ.ร.ก.ทั่วไปตามมาตรา 172 

โดยในมาตรา 172 บัญญัติไว้ว่า 

ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกําหนดนั้นต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา โดยไม่ชักช้า ถ้าอยู่นอกสมัยประชุมและการรอการเปิดสมัยประชุมสามัญจะเป็นการชักช้า คณะรัฐมนตรี ต้องดําเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกําหนดโดยเร็ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติหรือสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติแต่วุฒิสภาไม่อนุมัติและสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกําหนดนั้นตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบต่อกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกําหนดนั้น

หากพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่งมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด และพระราชกําหนดนั้นต้องตกไปตามวรรคสาม ให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีอยู่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก มีผลใช้บังคับต่อไปนับแต่วันที่การไม่อนุมัติพระราชกําหนดนั้นมีผล

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอนุมัติพระราชกําหนดนั้น หรือถ้าวุฒิสภาไม่อนุมัติและ สภาผู้แทนราษฎรยืนยันการอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร ให้พระราชกําหนดนั้นมีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป

การอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกําหนด ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีไม่อนุมัติ ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การพิจารณาพระราชกําหนดของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภา และการยืนยันการอนุมัติ พระราชกําหนด จะต้องกระทําในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภานั้น ๆ

นอกจากนี้ มาตรา 173 ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า 

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกําหนดใด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าพระราชกําหนดนั้น ไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ประธานแห่งสภานั้นส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นเพื่อวินิจฉัย และให้รอการพิจารณาพระราชกําหนดนั้นไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และให้ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ส่งความเห็นนั้นมา

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกําหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ให้พระราชกําหนดนั้นไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพระราชกําหนดใดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

นอกจากนี้ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ยังออกเอกสารอธิบาย 'การตราพระราชกำหนด' ตามรัฐธรรมนูญ 2562 เขียนโดย แดนชัย ไชวิเศษ นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ ระบุไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์จะทรงตราขึ้นให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติโดยการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งไม่สามารถตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)มาใช้บังคับให้ทันต่อสถานการณ์เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตรา พ.ร.บ.นานพอสมควร ซึ่งอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

ผังแสดงการตรา พ.ร.ก.

ที่มาผัง : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร 'การตราพระราชกำหนด' ตามรัฐธรรมนูญ 2562 เขียนโดย แดนชัย ไชวิเศษ นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ 

เอกสารอ้างอิง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net