Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวเปิดเวทีเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "การปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย" ซึ่งมีกว่า 30 กลุ่มองค์กรภาคประชาชน และพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยพิชายระบุถึง ที่มาของการเสวนาในวันนี้ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีอัตลักษณ์อนุรักษนิยม เป็นรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ และลดอำนาจของประชาชน การที่หลายภาคส่วนมาร่วมกันในวันนี้เป็นเพราะมีความต้องการเดียวกันคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มสิทธิ และขยายอำนาจให้กับประชาชน ส่วนประเด็นว่าจะมีการเพิ่ม หรือขยายอย่างไรนั้นจะต้องผ่านกระบวนการพูดคุยกันอีกหลายครั้ง

พิชาย กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับการปฎิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากเป็นกลไกในการจัดสรรโครงสร้างอำนาจของสังคม หากทบทวนประวัติศาสตร์ของสังคมไทย จะเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าปี 2540 มาก ตอนนี้มีการต่อสู้ทางความคิด และการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ที่หลากหลาย อีกทั้งมีปรากฎการณ์เชิงอุดมการณ์ที่เด่นชัดกว่าอดีต อดีตที่ผ่านมาอาจมองเป็นบทเรียนได้ แต่ในแง่ของการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์

“เมื่อปี 2540 พลังในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก วมีเพียงบรรดานักการเมืองบางกลุ่มที่อาจจะเป็นนักการเมืองในระดับกลุ่มอำนาจท้องถิ่น แต่ทั้งสังคมและพรรคการเมืองอีกจำนวนมากในสภาได้ให้การสนับสนุบ แต่ในวันนี้มีพลังบางอย่างที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ… ในสายตาของผมไม่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการจุดชนวนให้เกิดการนองเลือดอีกครั้งของสังคมไทย แต่ควรอาศัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป็นประเด็นที่กลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมจะได้มานั่งคุยและเจรจากันว่าต้องหาทางออกร่วมกันอย่างไรที่จะทำให้เกิดดุลอำนาจที่สมดุลกันมามากขึ้น” พิชาย กล่าว

เขากล่าวต่อว่า สาเหตุที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดสิทธิ โดยยกตัวอย่างเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง ว่า มีการคววบรวมการเลือกนักการเมือง และพรรคการเมืองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เคยแยกเลือกนักการเมืองในพื้นที่ และพรรคการเมืองที่ชอบได้ ส่วนระบบการคำนวณคะแนนเองก็สร้างความไร้เสียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง และประเด็นเรื่องความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีความพยายามแก้ไขตั้งแต่อดีตในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. และสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤตและโอกาสมาหลายครั้งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 พฤษภาคม 2535 แต่วิกฤตและโอกาสที่เปิดขึ้นในแต่ละครั้ง พลังของฝ่ายประชาชนยังไม่ได้หยิบโอกาสนั้นมาขับเคลื่อนอย่างเต็มที

“ผมเองเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นมาตลอด เมื่อมาพิจารณาตัวเองว่า ทำไมในช่วงที่มีโอกาสเหล่านั้นเราจึงไม่สามารถผลักดันได้ คงมีหลายเหตุปัจจัย แต่สิ่งที่สำคัญคือความรู้ ประสบบการณ์ และไม่สามารถรักษาพลังที่จะขับเคลื่อนเอาไว้ได้ เช่นหลัง 14 ต.ค. พลังของนักศึกษาพี่น้องประชาชน ชาวนา เกิดขึ้นอย่างมหาศาล แต่ก็ถูกตีโต้และทำลายไป ในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ส่วนในปี 2535 เมื่อ กรป. และองค์การอื่นๆ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากทหาร แน่นอนว่ามีโอกาส และโอกาสนั้นเปิดกว้างมาก เพราะหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เวลานั้นประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างถึงราก แต่จริงๆ แล้วทำการเปลี่ยนแปลงได้บางระดับเท่านั้น และในที่สุดก็นำมาสุดการตีโต้ที่ใช้เวลายาวนานกว่าที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะตีกลับมาได้ แต่ก็ต้องถึงว่าผลคือทำให้เราถอยหลังลงคลองไปไม่ใช่น้อย”

เขากล่าวด้วยว่า การเเก้รัฐธรรมนูญตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องยกาที่จะทำได้ตามขั้นตอนเหล่านั้น แม้จะมีการริเริ่มแล้วจากหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ตามโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่เคยได้คาดหมายมาก่อน ซึ่งโอกาสจะมาจากวิกฤตเสมอ

“ตอนนี้รัฐบาลกำลังอ่อนแอ ตรงนี้เราไม่ได้พูดถึงกองทัพ หรือสถาบันอนุรักษนิยมต่างๆ ในระบบราชการที่ค้ำจุนรัฐบาลชุดนี้อยู่ โดยตัวรัฐบาลเองมีความเปราะบาง และความเปราะบางนี้อาจจะเป็นโอกาสก็ได้ รวมทั้งสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าทั้งภายใน และภายนอกประเทศก็อาจจะก่อให้เกิดวิกฤต และเปิดโอกาสการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่” สมชาย กล่าว

สมชาย กล่าวต่อว่า เวลานี้อาจจะต้องวางแนวทางของการปฏิรูปไว้ ที่ผ่านมามีการวางแนวทางไว้หลายเรื่อง แต่มีบางเรื่องที่ยังไม่มีการพูดถึง หรือจะไม่กล้าพูดถึง เช่น เรื่องปฎิรูปกองทัพ การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังไม่มีการพูดถึงหรือศึกษาอย่างรอบด้าน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า ตอนแรกได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเวทีนี้ เนื่องจากติดประชุมที่พรรค แต่เมื่อเห็นรายชื่อผู้เข้าร่วมทั้งหมด ก็บอกกับตัวเองใหม่ว่าเวทีนี้ต้องเข้าร่วม เพราะหลายคนในเวทีนี้มีบทบาท และมีอิทธิพลทางความคิดต่อตนเอง ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาแต่ละคนจะเติบโต มีความความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย แต่สำหรับวันนี้ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทุกคนมีจุดยืนร่วมกันนั่นคือต้องการให้มีการแก้ไข เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกทางเดียวสำหรับประเทศไทย เพราะหากไม่ทำ รัฐธรรมนูญที่เหมือนระเบิดเวลา ถ้าไม่รีบถอดสลัก เมื่อถึงวันระเบิดจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวด้วยว่า วาทกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามดิสเครดิตเราเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ หลักๆ แล้วจะมีอยู่ 2 ข้อ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องรอง และ 2.การแก้รัฐธรรมนูญและการนำมาซึ่งความรุนแรง วาทกรรมแรก ประโยคที่ว่า ประชาชนกำลังอดตาย ให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องดีกว่าไหม เรื่องนี้จริงเพียงแค่ครึ่งเดียวตรงที่ประชาชนกำลังอดตายแล้วในขณะนี้ แต่ขอยืนยันว่า ทั้งเรื่องปัญหาปากท้องและการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 อย่างทำควบคู่กันได้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลัก ส่วนเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องบริหารแก้ปัญหา สำหรับวาทกรรมที่ 2. การแก้รัฐธรรมนูญจะนำมาสู่ความรุนแรง ยังเป็นเรื่อง ที่เห็นต่าง ประวัติศาสตร์บ้านเมืองบอกเราชัดเจนว่า ที่ใดที่มีการกดขี่ ที่นั้นจะเกิดการต่อสู้ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน หากไม่แก้ไข ความรุนแรงนั้นจะมีแต่เพิ่มมากขึ้น

"เราทุกคนเห็นตรงกันว่า หลักการพื้นฐานที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อำนาจอธิปไตยยึดโยงกับประชาชน ได้แก่ อำนาจฝ่ายบริหาร อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ รัฐธรรมนูญ คือ ข้อตกลงร่วมกันของสังคมว่าจะจัดสรรให้กับ 3 อำนาจนี้ได้อย่างไร ประชาธิปไตย คือ การยินยอมของประชาชน ไม่ได้มาจากอำนาจปลายกระบอกปืน อำนาจรถถัง แต่มาจากการยินยอมของประชาชน ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นระบบที่ดีที่สุด เพราะประชาชนเลือกผู้ปกครองของเขาเอง หากแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อครอบงำการแบ่ง 3 อำนาจนี้ไว้ เพื่อไม่ให้อำนาจประชาชนได้มีส่วนร่วม เห็นได้จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายทิศทางของประเทศนั้น มีที่มาจาก คสช. รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้ อีกทั้งฤทธิ์เดชของ ส.ว. หนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมาชัดเจน เราต่อสู้กันมาเท่าไรเพื่อให้ทั้งสภาบนและสภาล่างมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พาเรากลับไปสู่จุดเดิม และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระอื่นๆ ที่มีอำนาจตุลาการ เช่น ปปช. ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นก็เป็นอิสระจริงๆ แต่เป็นอิสระจากประชาชน คือประชาชนไม่สามารถตรวจจสอบถ่วงดุลได้ แม้กระทั่งคณะกรรมการที่นั่งอยู่องค์กรอิสระเหล่านี้ ก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เช่นกัน" ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้มีพรรคร่วมทั้งหมด 19 พรรคการเมือง โดยออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระแล้ว 2 ไม่มีทั้งเอกภาพทางอุดมการณ์ นโยบายหรือความคิดอะไรเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ เพื่อที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ซึ่งในขณะเดียวกัน ฝ่ายอำนาจนิยมก็ได้ติดกับดักจากกฎกติกาที่ตนได้เขียนเอาไว้เองแล้ว ดังนั้น การรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกร่วมกันของสังคม ตนขอกล่าวทิ้งท้ายถึงเช้าวันวันที่ 31 ต.ค. เมื่อ 13 ปีที่แล้ว นวมทอง ไพรวัลย์ ได้เสียชีวิตลง ประวัติศาสตร์นั้นสอนให้เราเรียนรู้ว่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่ร่างจากการเห็นพ้องกันจากทุกฝ่าย ประเทศจะเกิดแต่ความเสียหาย และรัฐธรรมฉบับปัจจุบันได้สร้างกฎกติกาที่ผู้ร่างไม่มีวันแพ้ เมื่อพลเอกประยุทธ์ชนะประชาชนคนไทยแพ้ เราต้องร่วมกันออกแบบกฎกติกาที่ทุกฝักทุกฝ่ายจะยอมรับร่วมกันได้ การนี้จะทำให้สังคมไทย เดินหน้าร่วมกันอย่างสันติ วันนี้คือโอกาสที่เรามาหาทางออกร่วมกัน

สุทิน คลัง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีความความศักดิ์สิทธิ เพราะเห็นชัดแล้วว่ามีการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจะต้องธำรงไว้ซึ่งความศักดิ์ของรัฐธรรมนูญ และไม่ให้ถูกฉีกง่ายๆ อีก คนละเมิดจะต้องไม่ลอยนวล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net