ชำนาญ จันทร์เรือง: แม้มิใช่เชิงวิชาการ ก็ต้องวิจารณ์คำพิพากษาได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เราจะได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า การวิจารณ์คำพิพากษานั้นสามารถทำได้ แต่ “ต้องเชิงวิชาการ” นะ ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นศาลได้ ซึ่งปัญหาก็คือว่าอะไรคือ “วิชาการ” แล้วถ้ามิใช่วิชาการล่ะ จะวิจารณ์ไม่ได้เลยหรือ

คำว่า “วิชาการ” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า “น. วิชาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา เช่น บทความวิชาการ สัมมนาวิชาการ การประชุมวิชาการ.” ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องเกี่ยวข้องกับ “ความรู้” และเป็นที่เข้าใจว่าต้องมีระบบระเบียบวิธีการวิจารณ์อย่างเป็นทางการหรือกระทำโดยนักวิชาการเท่านั้น หากเป็น “ความเห็น”ของประชาชนคนธรรมดาก็จะไม่ถือว่าเป็นวิชาการ

เมื่อเรากลับมาดูรัฐธรรมนูญฯปี ุ60 พบว่าได้มีบทบัญญัติไว้ในหลายมาตราในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยรับรองไว้ เช่น

“มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น…”

“มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของ  ปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น”

แต่เราไม่เคยนำบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาเลย การติชมหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำพิพากษานั้นเราจะดูแต่เพียงว่าเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เข้าข่ายหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นตามกฎหมายอาญาหรือไม่ เข้าข่ายละเมิดตามกฎหมายแพ่งหรือไม่ ฯลฯ

ว่ากันโดยเฉพาะแล้วการวิจารณ์เชิง “วิชาการ” นั้น ก็มีแต่เฉพาะกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา ุ64 เท่านั้นที่บัญญัติยกเว้นไว้ว่าหากวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตหรือวิธีการเชิงวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ ซึ่งการติชม แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้น อาจเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำวินิจฉัยในคำพิพากษาโดยไม่เกี่ยวกับศาลหรือตุลาการซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยนั้นเลยก็ได้

และ พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.25ุ61 มาตรา 38วรรคท้าย ที่บัญญัติให้การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล ซึ่งก็ไม่ได้กล่าวถึงการวิจารณ์เชิง “วิชาการ” โดยตรง และยังมีปัญหาข้อถกเถียงในการออกข้อกำหนดฯ ปี ุ62 ในข้อที่ 10 ว่าการวิจารณ์ฯ จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อย่างไรในเมื่อคดีมันจบไปแล้ว (ถ้าหมิ่นศาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

อันความผิดฐานหมิ่นศาลหรือตุลาการนั้นมีในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1ต8 กับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 13ุ6 ฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 32ุ6 ถึงมาตรา 328 และฐานดูหมิ่นตามมาตรา 3ต3 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการกล่าวใส่ความดูหมิ่นตัวบุคคลโดยตรง แม้ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 13ุ6 นั้น จะมีองค์ประกอบที่ว่าซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ก็เป็นการกระทำต่อตัวเจ้าพนักงานโดยตรง คือดูหมิ่นเจ้าพนักงานนั้นโดยตรง ซึ่งผู้พิพากษาหรือตุลาการเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรานี้

“คำพิพากษา”เป็นผลผลิตของการกระทำการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นตุลาการหรือผู้พิพากษา ไม่มีบทกฎหมายฉบับใดห้ามการติชมแสดงความเห็น หรือวิจารณ์คำพิพากษาและกำหนดโทษอาญาไว้ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการใส่ความ (ตัว) ผู้พิพากษาหรือตุลาการต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นได้แต่เพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32ุ6 ถึง มาตรา 328 ซึ่งความผิดฐานนี้มีการยกเว้นความผิดไว้ในมาตรา 32ต ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใดแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
 

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเอง หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
 

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
 

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
 

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
 

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า หากกระทำโดย “สุจริต” และการแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริตนั้นเป็นไปเพื่อเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งในสี่อนุมาตรานี้ ผู้นั้นย่อมได้รับยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งผมเห็นว่าย่อมหมายรวมถึงการยกเว้นความผิดฐาน “หมิ่นศาล” ด้วยเช่นกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การติชม แสดงความเห็นหรือการวิจารณ์ คำพิพากษาโดยสุจริต ไม่ใช้ถ้อยถ้อยคำเสียดสีหรือหยาบคายหรือดูถูกดูหมิ่น ย่อมกระทำได้ แม้มิใช่ “เชิงวิชาการ” ที่จำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงอันจำกัด และเป็นสิทธิเสรีภาพโดยแท้ของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอำนาจอธิปไตยซึ่งหนึ่งในการจำแนกการใช้อำนาจอธิปไตยก็คืออำนาจตุลาการนั่นเอง    

 

----------------

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท