เว็บสิ่งแวดล้อมประเมินมีคน 6.6 ล้านชุมนุมต้านโลกร้อนช่วงปลาย ก.ย. 

นอกจากกรณีการประกาศกร้าวต่อหน้าที่ประชุมยูเอ็นของนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ เกรตา ทุนเบิร์ก แล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการเดินขบวนประท้วงทั่วโลก โดยมีการเปรียบเทียบว่าจำนวนผู้ประท้วงร่วม 6.6 ล้านคนตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการประท้วงใหญ่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการประท้วงต่อต้านการที่สหรัฐฯ รุกรานอิรักเมื่อปี 2546

ผู้ชุมนุมกลุ่ม Global Climate Strike Bangkok อ่านแถลงการณ์หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อ 20 ก.ย. 2562

สื่อเดอะการ์เดียนและคอมมอนดรีมส์ระบุถึงการประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตสถาพภูมิอากาศโลกตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. มีชาวนิวซีแลนด์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายหมื่นคนนัดหยุดงานและหยุดเรียนประท้วง ซึ่งระบุว่าเป็นครั้งแรกที่มีปฏิบัติการร่วมกันระหว่างคนหลายรุ่นในระดับที่ใหญ่ที่สุด

ทั่วโลกหยุดงาน-หยุดเรียนประท้วงใหญ่ เรียกร้องแก้ไขปัญหาโลกร้อน

มีการเดินขบวนประท้วงมากกว่า 40 เมืองทั่วประเทศนิวซีแลนด์ มีบริษัทห้างร้าน 260 แห่งเข้าร่วม มีคนลงนามในจดหมายเปิดผนึกมากกว่า 11,000 รายชื่อส่งให้รัฐสภาเรียกร้องให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านวิกฤตภูมิอากาศ

ผู้ประสานงานจากกลุ่ม School Strike 4 Climate เรเวน แมเดอร์ กล่าวว่าผู้แทนของพวกเขาควรจะแสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการที่ทันด่วนและมีความหมายเพื่อปกป้องอนาคตของโลกนี้

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่เป็นตัวแทนในการประชุมซัมมิทด้านวิกฤตภูมิอากาศโลกที่นิวยอร์ก ในที่ประชุมเธอพูดในทำนองขอให้มองโลกในแง่เข้าไว้เพราะการมองโลกในแง่ร้ายจะนำไปสู่ความเฉยชา "ถ้าหากพวกเราพูดถึงแต่เรื่องการสูญเสียมวลของภูเขาน้ำแข็งและระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น พวกเราก็เสี่ยงที่จะเชื่อว่าทุกอย่างจบสิ้นแล้ว และทุกอย่างสายเกินไปแล้ว ... ซึ่งมันยังไม่สายเกินไป" อาร์เดิร์นกล่าว

นอกจากนิวซีแลนด์แล้วยังมีการประท้วงในที่อื่นๆ เช่นในเมืองมอนทรีออลประเทศแคนาดาซึ่งมีผู้คนร่วมชุมนุมราว 600,000 คน นอกจากนี้ 350.org เว็บไซต์รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมยังประเมินตัวเลขระบุว่ามีผู้ชุมนุมในที่อื่นๆอีกหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเปรู ปากีสถาน สิงค์โปร์ ไอร์แลนด์ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ชุมนุมตั้งแต่ในระดับหลักพันจนถึงหลักแสน ที่กรุงเทพฯ ก็มีการเดินขบวนไปที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่งแวดล้อม​ เพื่ออ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินทางสภาพแวดล้อม และให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนรวมถึงออกนโยบายอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

ทาง 350.org ระบุว่าจำนวนผู้ชุมนุมที่เรียกว่า โกลบอลไคลเมทสไตรค์โดยรวมทั้งหมดใกล้เคียงเทียบได้กับการประท้วงต่อต้านสงครามอิรักในปี 2546 ซึ่งในครั้งนั้นถือเป็น "หนึ่งในการประท้วงแบบประสานงานร่วมกันทั่วโลกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์"

แอทลาส ซาร์ราโฟกลู ผู้จัดการประท้วงขององค์กรฟิวเจอร์ตุรกีกล่าวว่าที่พวกเขานัดหยุดงาน-หยุดเรียนประท้วงเพราะพวกเขาเชื่อว่าจะไม่มีดาวเคราะห์อื่นที่เหมือนกับดาวเคราะห์โลกอีก พวกเขาจึงควรจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อหยุดยั้งวิกฤตนี้ ไม่เช่นนั้นอนาคตของพวกเขาก็จะสูญไปเช่นเดียวกับอนาคตของเด็กคนอื่นๆ ทั่วโลก

ผู้อำนวยการบริหารขององค์กร 350.org เมย์ บูเวอร์ กล่าวว่าการเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการพัฒนานโยบายในเรื่องนี้ "พวกเราจะต่อสู้ต่อไปจนกว่านักการเมืองจะเลิกละเลยวิทยาศาสตร์ และบริษัทพลังงานจากซากดึกดำบรรพจะถูกทำให้ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่ออนาคตของพวกเรา ในแบบที่ควรจะเป็นมานานแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน" บูเวอร์กล่าว

เรียบเรียงจาก

'Nothing else matters': school climate strikes sweep New Zealand, The Guardian,  Sep. 27, 2019

With Over 6 Million People Worldwide, Climate Strikes Largest Coordinated Global Uprising Since Iraq War Protests, Common Dreams, Sep. 27, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท