Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤติน้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งนี้ (ปี 2562) ที่สร้างความเสียหายจำนวนมากมายมหาศาล และการท่วมขังของน้ำกินเวลายาวนานมากกว่า 1 เดือน จนถึงขณะนี้ยังมีพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่จมอยู่ใต้น้ำ 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ได้กระตุ้นให้เกิดความคิด ความเห็น แนวทาง ข้อเสนอ ที่จะเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี ในอนาคต ซึ่งเท่าที่เห็นก็จะมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 

1. การระเบิดแก่งสะพือ เพื่อเปิดทางน้ำด้านล่างของตัวเมืองอุบลราชธานี ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น

2. โครงการศึกษาบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลฯ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทนช. (สทนช.)

แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี ทั้ง 2 แนวทาง โดยในส่วนแนวทางที่ 1 การระเบิดแก่งสะพือ  ผมได้แสดงความเห็น ว่าไม่เหมาะสม อย่างไร ไว้แล้ว ในส่วนนี้ จึงขอให้ความเห็นต่อแนวทางที่ 2 ดังนี้

โครงการศึกษาบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลฯ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทนช. (สทนช.) ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 กันยายน  2562 โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ว่า ...สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทนช. (สทนช.) ได้วางแนวศึกษา 3 เส้น คือ 

1. ทางผันน้ำเหนือเขื่อนยโสธร จ.ยโสธร จากนั้นผันน้ำผ่านลำเซบาย เซบก เชื่อมต่อห้วยตุงลุง สทนช.จะตั้งงบปี 63 

2. ศึกษา ทางผันน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำเท้อจากแก่งสะพือ บริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร ผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ ผ่านลำน้ำธรรมชาติไปลงลำโดมใหญ่ระยะทางผันน้ำ 90 กิโลเมตร ซึ่งกรมชลฯจะตั้งงบศึกษาปี 64

3. การขุดคลองลัดเพื่อผันน้ำเลี่ยงแก่งต่างๆ เริ่มจากบ้านนาข่า ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร ลงลำน้ำมูลบริเวณห้วยตุงลุง บ้านดอนสวรรค์ อ.โขงเจียม ระยะทางผันน้ำ 90 กม. ตั้งงบศึกษาปี 64

ทั้ง 3 แนวทางที่ สทนช. กำหนดไว้นั้น ผมมีความเห็น ดังนี้ 

ประการที่ 1 น้ำยังไม่ลงสู่แม่น้ำโขง ดังนี้

1.1 แนวทางที่ 1 กับ แนวทางที่ 3 มีปลายทางของน้ำไปรวมกันที่ห้วยตุงลุง โดยปากห้วยตุงลุง อยู่ด้านบนเหนือเขื่อนปากมูล ประมาณ 10 กิโลเมตร ดังนั้นน้ำที่ถูกนำมารวมกับที่ห้วยตุงลุง ก็จะไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ เพราะติดเขื่อนปากมูล กั้นอยู่

1.2 แนวทางที่ 2 มีปลายทางของน้ำมาสุดที่ลำโดมใหญ่ ซึ่งปากลำโดมใหญ่อยู่ด้านบนเหนือแก่งสะพือ ประมาณ 10 กิโลเมตร ดังนั้นน้ำที่ถูกนำมาเข้าลำโดมใหญ่ ก็จะไหลไปรวมกับน้ำที่ไหลมาตามลำน้ำมูนและเพิ่มการอัดเอ่อที่แก่งสะพือมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นที่ 3 แนวทางที่ สทนช.ตั้งใจว่าจะทุ่มงบเพื่อศึกษา แค่ข้อมูลพื้นฐาน ง่ายๆ ดังที่กล่าวมา ก็ไม่ตอบโจทย์ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี แล้วครับ

ประการที่ 2. ก่อปัญหาใหม่ ขยายปัญหาเพิ่ม 

หากมีการดำเนินการตามแนวทางใด แนวทางหนึ่ง หรือทั้ง 3 แนวทาง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ พื้นที่ตามแนวแม่น้ำมูนใหม่ จะมีพื้นที่ที่จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม มากยิ่งขึ้น

ประการที่ 3. เพิ่มน้ำต้นทุน วางระเบิดเวลา

วิกฤติน้ำท่วมอุบลราชธานี ในครั้งนี้ (ปี 2562) เกิดจากการที่ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ทำให้แม่น้ำด้านบนเหนือตัวเมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำมาก ประกอบกับลำน้ำน้อยใหญ่ ของแม่น้ำมูน มีปริมาณน้ำมาก พร้อม ๆ กัน จึงทำให้เกิดน้ำเอ่อขึ้นทั้งด้านบน ตรงกลาง ด้านข้าง และด้านล่างของตัวเมืองอุบลราชธานี และน้ำมาสู่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ 

และยิ่งหากมีการสร้างแม่น้ำมูนใหม่ มูนหลง คลองผันน้ำ ตามแผนการที่ สทนช.คิดไว้ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้างเช่นนี้ น้ำในแม่น้ำมูนใหม่ มูนหลง หรือคลองผันน้ำเหล่านี้ ก็จะต้องไหลเข้าสู่แม่น้ำมูน พร้อม ๆ กัน ก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหารุนแรงมากยิ่งขึ้น

ผมไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางการพัฒนา เพียงแค่อยากจะให้การคิด การวางแผน การดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ต้องไม่เป็นการสร้างปัญหาใหม่ ขยายปัญหาเพิ่ม เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมยังไม่เห็นมีการกล่าวถึง คือ สิ่งกีดขวางทางน้ำก่อนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำมูน ซึ่งก็คือเขื่อนปากมูล ว่าจะแก้ไขอย่างไร

เขื่อนปากมูล ตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว ห่างจากปากแม่น้ำมูน (จุดที่แม่น้ำมูนไหลเข้าสู่แม่น้ำโขง) ประมาณ 5-6 กิโลเมตร แม่น้ำมูนจุดตั้งของเขื่อนปากมูล มีความกว้างประมาณ 300 เมตร แต่ในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ริมตลิ่งฝั่งซ้ายจะกว้างขึ้นอีกเกือบ 100 เมตร ดังนั้นในฤดูน้ำหลากบริเวณที่ตั้งเขื่อนปากมูล จึงเป็นทางน้ำไหลผ่านประมาณ 400 เมตร แต่กลับถูกปิดกั้นให้เหลือเพียง 180 เมตร ที่น้ำจะไหลผ่านได้ (ประตูเขื่อนปากมูลกว้างบานละ 22.5 เมตร X 8 บาน = 180 เมตร) ส่วนพื้นที่อีก 220 เมตร ถูกปิดกั้นไว้ (400 - 180 = 220) ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่ในการระบายน้ำจากแม่น้ำมูน ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ยังไม่มีการกล่าวถึง

ทั้งนี้ การคิดจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี เป็นเรื่องที่ดี ที่เริ่มมีการคิด แต่ไม่อยากให้คิดเฉพาะแค่หน่วยงานราชการ ควรที่จะเป็นเวทีถกเถียง และเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง โดยให้ทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ เข้ามาร่วมคิด น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: สยามรัฐ “เฉลิมชัย” ลุยศึกษาโครงการผ่านน้ำเลี่ยงเมืองอุบลฯ แก้น้ำท่วมซ้ำซากลุ่มน้ำชี-มูล https://siamrath.co.th/n/104553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net