ประจักษ์ | พยาน นิทรรศการ 6 ตุลา สู่พิพิธภัณฑ์ความรุนแรงทางการเมือง-วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ฟังภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เล่าถึงที่มานิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน สู่เป้าหมายพิพิธภัณฑ์ความรุนแรงทางการเมืองสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ที่ต้องมาจากการตระหนักถึงความสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะจึงจะเกิดขึ้นได้จริงและดำเนินการได้ในระยะยาว ซึ่งจะจัดแสดงในวันที่ 5-6 ต.ค.นี้ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

“เราไม่ได้หวังเพียงแค่จะให้มีการรื้อฟืนคดี แต่เราหวังว่าจะมีการรื้อฟื้นเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังเห็นด้วยว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนมีอำนาจลอยนวลพ้นผิด และมีกระบวนการทางกฎหมายที่ช่วยกันปกป้องคนในกลุ่มเดียวกันให้ไม่ต้องรับผิด ถ้าคนรุ่นใหม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา จะรู้ว่าสังคมไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่ถูกพร่ำสอนกันมา เหตุการณ์ 6 ตุลา ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เกิดจากมวลชนธรรมดาที่ร่วมมือกันกลายเป็นมือสังหารให้กับรัฐในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกันเอง”

คือคำพูดที่พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมโครงการบันทึก 6 ตุลาเคยอธิบายไว้ถึงที่มาของแนวคิดการจัดนิทรรศการวัตถุพยานของ 6 ตุลา และในระยะยาวจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

นิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน ซึ่งจัดแสดงวัตถุพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่จะจัดแสดงในวันที่ 5-6 ต.ค.นี้ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นคณะทำงานส่วนหนึ่งจากโครงการบันทึก 6 ตุลา ได้แก่ ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, เบญจมาส วินิจจะกูล สถาปนิก, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการบันทึก 6 ตุลา

“โครงการนี้มาจากความตั้งใจของคณะทำงานส่วนหนึ่งของโครงการบันทึก 6 ตุลา ที่นอกเหนือจากงานข้อมูล งานจดหมายเหตุออนไลน์แล้ว ก็อยากให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุพยาน เอกสารหลักฐานจริง มีพื้นที่จัดเก็บ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็นระหว่างคนทำงานและผู้สนใจ มีพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ โดยเฉพาะระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านการละเมิดสิทธิ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” ภัทรภรอธิบายถึงที่มาของโครงการ


ภัทรภร ภู่ทอง

ประจักษ์ | พยาน

ภัทรภรเล่าว่า วัตถุจัดแสดงสามชิ้นได้แก่ 1)ประตูแดง ซึ่งเคลื่อนย้ายมาจากมาจากจังหวัดนครปฐม ประตูนี้เป็นที่แขวนคอช่างไฟฟ้าสองนาย คือ ชุมพร ทุมไมยและวิชัย เกษศรีพงษา ซึ่งติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร 2) ลำโพงที่มีรอยกระสุนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 3) กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาชั้นที่ปีที่สอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ดนัยศักดิ์ใส่กางเกงยีนส์ตัวนี้ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยครอบครัวของดนัยศักดิ์เก็บกางเกงยีนส์ตัวนี้ไว้ตลอดช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา

 

 

ลำโพงที่มีรอยกระสุน
หนึ่งในวัตถุพยาน นิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน

ลำโพงตัวนี้ตั้งอยู่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ รอยกระสุนที่ปรากฏบนลำโพงมาจากกระสุนปืนลูกซองยาวขนาด 12 ประมาณ 3-4 นัด ซึ่งเมื่อยิงออกไป ลูกกระสุนจะกระจายออกเป็นม่านกระสุนลูกปราย จากวิถีกระสุน ลำโพงแขวนอยู่บนที่สูง ผู้ยิงอาจมีคนเดียวหรือมากกว่าหนึ่งคนช่วยกันระดมยิง ผู้ยิงอยู่ตำแหน่งด้านล่างของลำโพง ยิงจากซ้ายไปขวาและยิงเข้าไปในตัวกรวยลำโพงเพื่อทำลายตัวกระจายเสียง

กางเกงยีนส์ของดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง
หนึ่งในวัตถุพยาน นิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน

ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงใส่กางเกงยีนส์ตัวนี้ในวันที่มาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดนัยศักดิ์เสียชีวิตด้วยบาดแผลถูกกระสุนปืนที่เส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากดนัยศักดิ์เสียชีวิต ครอบครัวเก็บกางเกงตัวนี้ไว้ที่บ้านของครอบครัวที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงทุกวันนี้

 

แต่นอกจากของสามชิ้น ทางโครงการก็ต้องการรวบรวมวัตถุพยานชิ้นอื่นๆ ด้วย ซึ่งความยากของการรวบรวมของเหล่านี้มานั้น ภัทรภรคิดว่า อย่างแรกมาจากความไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ใครครอบครอง หรือบางชิ้นกลายเป็นคอลเลคชันส่วนตัว หรือบางชิ้นจัดเก็บโดยหน่วยงานภาครัฐ หรืออีกหลายชิ้นถูกทำลายหรือโยกย้ายไปจากที่เดิมแล้ว เช่น ต้นไม้ที่ถูกใช้เป็นที่แขวนคอคนห้าคนในวันที่หกตุลา แม้พอจะรู้จุดบางจุด แต่ต้นไม้มีอายุมากขึ้นหรือถูกย้ายไปจากที่เดิมเสียแล้ว

อย่างที่สองคือ เวลา ทำให้สถานที่เกิดเหตุถูกปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์หรือกลบเกลื่อนร่องรอยไปแล้ว เวลาผ่านไป 40 กว่าปี หากไม่รู้เรื่องหกตุลามาก่อน จะไม่รู้เลยว่า สถานที่นี้มีคนเสียชีวิต สถานที่นี้คือพื้นที่ที่ความรุนแรงโดยรัฐหรือมวลชนที่ถูกจัดตั้งเกิดขึ้น เนื่องจากเราไม่เคยมีหมุดหมายย้ำเตือนหรือสื่อสารถึงความรุนแรงลักษณะนี้มาก่อน

“นี่คือความท้าทายของเรา ดังนั้น ในการทำงานรวบรวม จัดเก็บและทำทะเบียน เราอาจไม่ได้วัตถุพยานมาทั้งหมด แต่เราจะทราบว่าวัตถุพยานบางชิ้นอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่จุดเกิดเหตุ สิ่งเหล่านี้เคลื่อนย้ายไม่ได้และถูกกลบร่องรอย แต่สำหรับเราคือประจักษ์พยานหนึ่งที่เราจะบันทึกในทะเบียนเช่นกัน” ภัทรภรกล่าว

 

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ขอรับบริจาคและรับซื้อเอกสาร ไฟล์เสียง ภาพเคลื่อนไหว สิ่งพิมพ์ ภาพถ่ายและวัตถุพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์อื่นเพื่อให้เป็นสมบัติสาธารณะและเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมือง โดยจัดแสดงผ่านนิทรรศการชั่วคราวและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และการจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ท่านสามารถติดต่อได้ที่ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา 81 ซอยรัตนาธิเบศร์ 28 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000  Email: 6oct1976museum@gmail.com

 

นิทรรศการสู่พิพิธภัณฑ์ความรุนแรงทางการเมืองเล่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลานี้แบ่งการทำงานเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นในประเทศไทย

ในระยะแรกนี้จะมีกิจกรรมหลักๆ คือ การพยายามสื่อสารและหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งครอบครัวผู้เสียหาย อดีตนักศึกษาและนักกิจกรรม นักวิชาการ นักกิจกรรม นักธุรกิจและองค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาความร่วมมือและการสนับสนุน

“เราเก็บรวบรวม ทำทะเบียน จัดเก็บเอกสาร สื่อ วัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์  ได้แก่ เอกสาร สิ่งพิมพ์ ไฟล์เสียง ไฟล์ภาพ ข้าวของของผู้เสียชีวิต เช่น เสื้อผ้า เอกสารประจำตัว และวัตถุต่างๆ รวมทั้งข้อมูลสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และข้อมูลที่อยู่และบุคคลติดต่อ เพื่อขอบริจาค จัดซื้อและอาจขอยืมมาจัดแสดง รวมทั้งดำเนินการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ และเพื่อให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่สนใจสามารถนำไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ ได้” ภัทรภรกล่าว

นอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีงานเสวนา ‘วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล’ ซึ่งโครงการจัดร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. นี้เช่นกัน โดยเชิญญาติของผู้เสียชีวิตและนักวิชาการที่ทำงานด้านการจัดการความทรงจำ ความรุนแรงจากภาครัฐมาร่วมเสวนา ให้สาธารณะตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและอาชญากรรมรัฐ

หลังจากนี้ ภัทรภรกล่าวว่า จะมีกิจกรรมที่ทำแน่นอนคือจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเชิงจดหมายเหตุแก่องค์การ กลุ่ม บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อให้เหตุการณ์การละเมิดสิทธิและความรุนแรงทางการเมืองในพื้นที่และช่วงเวลาต่างๆ ได้มีการบันทึกอย่างเป็นระบบอันจะนำไปสู่การเรียกร้องความยุติธรรมและการค้นหาความจริงจากสาธารณะต่อไปนั้น ซึ่งกำลังวางแผนจัดกิจกรรมนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นโครงการนำร่อง และจะเริ่มหาพื้นที่สำหรับพิพิธภัณฑ์ ระดมความเกี่ยวกับแบบร่างขั้นต้น และภูมิสถาปัตย์สำหรับพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะนำไปสู่การระดมทรัพยากร ทั้งด้านการเงินและการสนับสนุนรูปแบบต่างๆ 

ส่วนในระยะยาว ทางโครงการวางแผนว่าจะยังคงสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณะอย่างต่อเนื่องถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่สื่อสารถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านทั้งนิทรรศการ ภาพยนตร์สารคดี งานเสวนา งานประชุม การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ วงคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ในแง่มุมต่างๆ เช่น ภาพถ่าย ความทรงจำและขบวนการฝ่ายขวา วัตถุพยาน เป็นต้น

“เราคาดหวังถึงการมีนิทรรศการหมุนเวียนในส่วนภูมิภาคหรือไปไกลกว่านั้น และเตรียมงานสำหรับนิทรรศการในงานระลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ปีถัดไป รวมทั้งการระดมทุนและหาพื้นที่ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ จะเห็นว่างานในระยะยาวก็ไม่ต่างจากงานระยะสั้น ประเด็นสำคัญคือโครงการจะต้องสื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในที่สุดแล้ว จะมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอาคารเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ก็ตาม แต่ฟังก์ชั่นหรือการทำงานของพิพิธภัณฑ์ได้เกิดขึ้นแล้ว”

 

พิพิธภัณฑ์ที่ต้องมาจากการเห็นความสำคัญและการสนับสนุนของสาธารณะ

‘เข้าเนื้อ’ อาจเป็นวลีที่ใช้อธิบายได้ดีที่สุดเมื่อถามภัทรภรถึงเงินทุนตั้งต้น เพราะโครงการนี้ริเริ่มจากแนวคิดที่ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองและอาชญากรรมของรัฐ แต่ปราศจากเงินจากแหล่งทุนใดๆ และแน่นอนว่าไม่อาจหวังทุนจากภาครัฐที่ไม่เคยสนใจในประเด็นนี้ได้ ผู้ริเริ่มทั้งสี่คนจึงต้องควักเงินออกกันเองทั้งสิ้นในระยะแรก แต่เมื่อเริ่มประชาสัมพันธ์โครงการ ก็เริ่มมีเงินบริจาคไหลเข้ามาจากผู้สนใจ

“มีเด็ก ม.ปลายคนหนึ่งส่งข้อความมาบอกเราว่า หนูอยากช่วยมาก อยากมีส่วนร่วม หนูอยากให้มันเกิดขึ้นจริงๆ หนูคิดว่ามันสำคัญมาก แล้วเขาก็โอนเงินมาให้ 500 บาท ซึ่งสำหรับเรามันยิ่งใหญ่มาก มันมีคุณค่ากับเรา อันนี้ไม่ได้พูดเว่อร์ เพราะเขาตระหนักในสิ่งที่เราทำอยู่จริงๆ” ภัทรภรเล่าให้ฟังถึงกำลังใจของเหล่าคนทำงาน

ภัทรภรคิดว่า การจะมีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นได้และทำงานได้ในระยะยาวนั้น การตระหนักในคุณค่าและการสนับสนุนจากสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ขณะที่รัฐยังไม่สนับสนุนแนวคิดและกิจกรรมเช่นนี้

“เราคิดว่าพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสังคมไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่สื่อสารความรุนแรงทางการเมือง ความรุนแรงจากรัฐอย่างครอบคลุม ลำพังเราสี่คนจะสร้างพิพิธภัณฑ์คงใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นการสนับสนุนจากคนที่อยากเห็นการมีพิพิธภัณฑ์แบบนี้เกิดขึ้นจึงสำคัญมาก หากเริ่มจากภาคประชาชนมันจะเกิดขึ้นได้จริง และดำเนินการได้ในระยะยาว เพราะมันเกิดจากการเรียกร้อง เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่า และให้การสนับสนุนจากประชาชน” ภัทรภรกล่าว

 

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เป็นความพยายามที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งข้อมูลปรากฎการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางการเมืองซึ่งมีรากเหง้ามาจากความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม และเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านวิธีการจัดการ จัดแสดง และอภิปรายองค์ความรู้ ที่มา เหตุการณ์แวดล้อม และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเหตุการณ์อื่นในประเทศไทย

สำหรับผู้สนใจสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา สามารถสนับสนุนได้ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา หมายเลขบัญชี 172-0-31365-2 ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท