Skip to main content
sharethis

ชะตาธิปไตย หนังสารคดีเล่าช่วงเวลาเข้มข้นของการหาเสียงเลือกตั้งปี 54 ของ ชลน่าน ศรีแก้ว, ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ และบัญญัติ เจตนจันทร์ 3 เพื่อนร่วมรุ่นหมอศิริราชผู้ผันตัวเข้าสู่การเมืองแต่สังกัดคนละพรรค พร้อมฟังแต่ละคนเล่าความนึกคิดในปัจจุบัน อย่างหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือไม่ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรนักการเมืองก็ยังมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน

 

 

‘ชะตาธิปไตย’ ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 ของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นคณะแพทยศาสตร์ มหิดลมาด้วยกัน ได้แก่ ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ปัจจุบันย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และบัญญัติ เจตนจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์

ทั้งสามคนเลือกกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อลงสมัครและต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับคู่แข่งในเขตพื้นที่ ไม่เฉพาะเรื่องการหาเสียง ภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นชีวิตหลังฉากของทั้ง 3 คน ทั้งอุดมการณ์ ความนึกคิด ความรู้สึกหลากหลายที่ไหลบ่าหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อพฤษภา 53 ผนวกรวมกับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่ก่อร่างสร้างตัวตนของแต่ละคนขึ้นมา จนถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างอยู่คนละขั้วทางการเมือง

เดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับภาพยนตร์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของทั้ง 3 คน ซึ่งอาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เห็นฟุตเทจที่มีความเป็นธรรมชาติของผู้สมัครทั้ง 3 คน รวมถึงได้ฟังความรู้สึกลึกๆ ของแต่ละคน อย่างที่เราไม่อาจเห็นผู้สมัคร ส.ส. คนไหนเคยเผยมุมเหล่านี้  

ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำนาน 5 เดือน และตัดต่ออีก 2 ปี เสร็จในปี 2556 และเตรียมจะฉาย ก็ดันประจวบเหมาะกับช่วงที่มีม็อบ กปปส. ตามมาด้วยการทำรัฐประหารของทหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงทำให้เดชาต้องตัดสินใจยกเลิกการฉายลงไป

“6 ปีแห่งการพยายามไม่นึกถึงมันอีก 2562 ข้อความหนึ่งปรากฏขึ้นมาใน facebook ‘ยังอยากฉายหนังอยู่มั้ยพี่’ ผมร้องไห้...” คือข้อความตอนหนึ่งที่เดชาเขียนเล่าและถูกโพสต์ลงในเฟสบุ๊คแฟนเพจ Documentary Club

เมื่อชะตาธิปไตยฉายจบลงในรอบสื่อเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา เสียงปรบมือก็ดังขึ้น ผู้กำกับพร้อมตัวละครหลักทั้ง 3 ในเรื่องก็ขึ้นเวทีพร้อมเล่าเรื่องราวนอกจอให้เราฟัง

 


จากซ้ายไปขวา ชลน่าน ศรีแก้ว, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ผู้ดำเนินรายการ), บัญญัติ เจตนจันทร์, ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ, เดชา ปิยะวัฒน์กูล

 

อุดมการณ์ในวัยหนุ่มสู่ความคิดในปัจจุบัน

คนที่ดูจะย้ายพรรคบ่อยที่สุดคือภูมินทร์ที่เดิมทีอยู่พรรคความหวังใหม่ แล้วย้ายไปพรรคไทยรักไทย โดยเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก่อนที่จะพบว่ามีอุดมการณ์ไม่ตรงกับพรรคจึงย้ายมาอยู่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ลงสมัคร ส.ส.เขต แต่ไม่ได้รับเลือก และปัจจุบันอยู่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ภูมินทร์กล่าวว่า จากอุดมการณ์วัยหนุ่มที่ตอนแรกอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่พอถึงตอนนี้ต้องย้อนถามตัวเองว่าเราทำได้อย่างที่เราคิดไว้ตอนเข้ามาสู่สนามการเมืองหรือไม่

“การเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนักการเมืองยังต้องสังกัดพรรคถึงจะทำงานได้ จนกระทั่งวันนี้มาอยู่พรรคพลังประชารัฐก็เพราะอย่างน้อยมันเป็นพรรคหนึ่งที่มีศักยภาพในการจะแข่งกับพรรคที่คู่แข่งสังกัดได้ แต่จริงๆ ถ้าถามตัวผมเอง ณ วันนี้ ผมมีเพื่อนอยู่ในทุกพรรค และผมก็ไม่ได้คิดจริงจังอะไรมากมายกับอุดมการณ์ของพรรคการเมือง แต่ละพรรคไม่ต่างกัน อยู่พรรคไหนก็ได้ อยู่ที่ตัวเรายึดมั่นจะทำอะไร” ภูมินทร์กล่าว

“ถามว่าวันนี้ถ้ารู้ว่าจะมีรัฐประหารอยู่จะยังจะเข้าสู่การเมืองไหม ก็ยังคิด ตราบใดที่คิดว่าเราจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้ ประชาชนยังให้การตอบรับเราอยู่ เราก็ยังหวัง รัฐประหารจะหมดไปได้ก็อยู่ที่นักการเมืองกับประชาชน ถ้านักการเมืองทำให้ประชาชนศรัทธาได้ แล้วประชาชนมีความเข้มแข็ง รัฐประหารก็เกิดได้ยาก แต่สภาพสังคมไทย นักการเมืองเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกก้ำกึ่ง เปิดโอกาสให้ทหารเข้ามาได้ แต่ถ้าถามเราอยากให้ทหารถอยไปให้หมด ควรให้นักการเมืองที่ประชาชนเลือกเป็นคนทำ ทหารถ้าจะเข้าสู่การเมืองก็ต้องลาออกมาเข้าสู่การเมืองให้ประชาชนเลือก” ภูมินทร์กล่าวเสริม

ขณะที่ชลน่านกล่าวว่า จากการทำงานทางการเมืองมา พบว่าสุดท้ายตนทำได้ระดับหนึ่ง ไม่ได้เหมือนที่หวังทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ตนภูมิใจคือในเขตบ้านของตนนั้นสะอาดจริง ปลอดจากอิทธิพล เงิน อำนาจบารมี

“ผมเป็นผู้แทนตลาดล่าง อยู่กับพี่น้องประชาชน เข้ามาทำงานในสภาได้ ขณะที่เลือกไม่ได้คิดว่าเป็นผู้แทนกับหมออะไรดีกว่า แต่มันเป็นชะตา จังหวะ โอกาส ทุกอย่างมาพร้อมกันเลยตัดสินใจเข้ามา” ขลน่านกล่าว

ส่วนบัญญัติมองว่างานด้านการเมืองนั้นไม่มีเหตุ ไม่ต้องมีผล เป็นเรื่องอารมณ์ล้วนๆ บริหารอารมณ์ ใช้แววตา ท่าทาง เขากล่าวติดตลกว่าถ้าตนหนุ่มกว่านี้ หล่อกว่านี้ ก็คงได้คะแนนเยอะกว่า

“นักการเมืองคือคนเลือกบริหารทรัพยากร นักการเมืองเป็นหมากให้ประชาชนเดิน ป้องกันไม่ให้คนเกิดการปะทะกัน ถ้าไม่มีหมากให้เดินก็ต้องรบด้วยอาวุธ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่ว่าสถานการณ์อย่างไรเราก็ต้องลงมาให้เขาเป็นหมาก บางครั้งเราไม่ได้ชั่วอย่างที่เขาคิดว่าเราชั่ว แล้วเราก็ไม่ได้ดีอย่างที่เขาคิดว่าเราดี เราเป็นผลผลิตของความรู้สึกนึกคิดความคาดหวัง ใครจะดูถูกนักการเมือง ผมคนหนึ่งที่จะเห็นอกเห็นใจนักการเมือง” บัญญัติกล่าว

บัญญัติเสริมว่า แม้การเมืองจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่การเป็น ส.ส. เขต ยังสามารถร้องบอกปัญหาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ต่อทุกกระทรวงได้ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ยังอยู่ และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเป็นนักการเมือง

 

ภาพลักษณ์ ส.ส. คือผู้มีอิทธิพล ขณะที่ความเป็นจริงเงินเดือนไม่พอ

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่มักจะถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ชลน่านตอบว่า สิ่งที่อยู่ที่น่าน นักการเมืองไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลเลย น่านไม่เคยมีภาพแบบนั้นมาก่อน อาจเป็นจังหวัดเล็กเกินไปที่ตระกูลทางการเมืองจะถูกสร้าง ขณะที่พื้นที่ภาคกลาง อาจส่อไปอย่างนั้นได้ มีตระกูล มีบารมี มีการดูแล เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้น แต่ทางเหนือมีน้อย เพราะงั้นผู้แทนไม่ผูกขาด

ขณะที่ภูมินตร์เห็นว่าเป็นเรื่องแบบนั้นจริง เท่าที่ตนสัมผัสมาในพื้นที่ จากอดีตนักการเมืองอาจมีสายสัมพันธ์กับวงการอันธพาล มือปืน แล้วเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจสีเทา อยู่ในระบบประมูลฮั้วงาน ร่ำรวย และมีอิทธิพล ดังนั้นการเมืองในต่างจังหวัดก็เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล

แต่ภูมินทร์ก็อธิบายว่า ในความเป็นจริงแล้วเงินเดือนของ ส.ส. อย่างเดียวนั้นไม่พออย่างแน่นอน เพราะในแต่พื้นที่เฉลี่ยต้องมีคนตายอย่างน้อยเดือนละ 150 คน ถ้าไปงานศพแล้วใส่ซอง 300 บาท ก็เท่ากับ 45,000 บาท ยังมีค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง รวมแล้ว 70,000 บาท ส.ส. จึงต้องมีรายรับจากทางอื่นมาช่วยในการทำกิจกรรมด้วย

 

ชะตาธิปไตย ฉายแล้วตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. นี้ ที่ LIDO CONNECT

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net