Skip to main content
sharethis

การเมืองใน Brexit ของอังกฤษระหว่างจุดยืนฝ่าย 'อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม-สังคมนิยม' โดยที่นักการเมืองในสภามุ่งประโยชน์ทางการค้า-การลงทุน สหภาพยุโรปก็เน้นการค้าเสรีและเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี แต่ตัดสวัสดิการและกีดกันผู้อพยพ ด้านฝ่ายแรงงานและนักสังคมนิยมชูต้านนโยบายเหยียดเชื้อชาติและตัดสวัสดิการของพรรคอนุรักษ์นิยม

ภาพประกอบ: ธงชาติยูเนียนแจ็คของสหราชอาณาจักร และธงของสหภาพยุโรป ในอาคารแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่มา: Dave Kellam/Wikipedia

  • จุดยืนทางการเมืองเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนักการเมืองในสภาล้วนมุ่งไปที่ประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน
  • สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับนโยบายการค้าเสรีและเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี แต่ตัดสวัสดิการและกีดกันผู้อพยพ
  • ขณะที่ฝ่ายแรงงานและนักสังคมนิยมชูการต่อต้านนโยบายเหยียดเชื้อชาติและตัดสวัสดิการของพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ

หลังจากประชาชนในสหราชอาณาจักร (ต่อไปเรียกอังกฤษ) ลงมติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ด้วยผลคะแนน 52% ต่อ 48% เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 จนมาถึงวันนี้ รัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถผ่านข้อตกลงใด ๆ ในรัฐสภา ข้อตกลงที่ต้องเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ว่าจะเป็นการออกแบบใด แม้จะมีข้อเสนอว่า ให้ออกแบบตัดความสัมพันธ์หลายอย่างกับ EU (Hard Brexit) หรือถอนตัวออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) หรือยังมีความสัมพันธ์และใช้กฎเกณฑ์หลายอย่างของ EU (Soft Brexit) ภายในกำหนดคือวันที่ 31 ต.ค.นี้  

เป็นเวลา 2 ปีที่ เทเรซ่า เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรี พรรคอนุรักษ์นิยม (Tory) พยายามบรรลุข้อตกลงกับ EU ว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกอย่างไร แต่ในที่สุด รัฐสภาไม่เห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวถึง 3 ครั้ง  ซึ่งข้อตกลงครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น สิทธิของพลเมืองสหภาพยุโรปในอังกฤษ และพลเมืองของอังกฤษใน EU ข้อกำหนดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 21 เดือนที่เดิมกำหนดไว้เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 62 ถึง 31 ธันวาคม 63 ข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าชดเชยที่ UK จะจ่ายให้แก่สหภาพยุโรป 3.9 หมื่นล้านปอนด์ แผน Backstop ไม่มีด่านศุลกากรในพื้นที่ชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษกับประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของ EU  ส่งผลให้ เมย์ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 62

การผลักดัน No-deal Brexit ของนายกฯอังกฤษ

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จากพรรคอนุรักษ์นิยม ได้ประกาศจะระงับการประชุมรัฐสภาอังกฤษตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2562 จนถึงวันที่ 14 ต.ค.2562 สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงในหมู่นักการเมืองที่ต่อต้านแผนการแยกตัวเองของอังกฤษออกจาก EU เพราะจะไม่มีเวลาพอที่จะสกัดกั้นแผนของจอห์นสัน ที่จะแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการจัดทำข้อตกลงใด ๆ  ทั้งนี้ จำเป็นที่นักการเมืองแต่ละฝ่ายจะต้องอภิปรายในรัฐสภาเพื่อตัดสินใจภายในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

กระทั่ง ศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักรได้ตัดสินเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2562 ว่า การที่นายกรัฐมนตรี จอห์นสัน ถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปิดการประชุมรัฐสภายาวนานกว่ากำหนดนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมายและถือเป็นโมฆะ เพราะเป็นการหยุดไม่ให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ กระทบหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาจึงเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ย.2562

3 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Independent รายงานว่า จอห์นสันพยายามจะระงับการประชุมรัฐสภาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ ส.ส.ไม่พอใจอีกครั้ง แต่เขาตั้งใจจะถอนตัวจาก EU ตามกำหนดในวันที่ 31 ต.ค.นี้ 

ความแตกแยกภายในสภาและการเมืองนอกสภา

บทความของ Tomáš Tengely-Evans นักสังคมนิยม ในเว็บไซต์พรรคสังคมนิยมแรงงานอังกฤษ เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเขาวิเคราะห์ว่า นักการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการยับยั้งการถอนตัวออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง ได้แก่ ส.ส.จากพรรคแรงงาน พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ส.ส.ที่แหกมติพรรคอนุรักษ์นิยม และส.ส.แนวชาตินิยมจากสกอตแลนด์และเวลส์ ส่วนอีกฝ่ายคือ พวกจอห์นสัน และ ส.ส.ของพรรคอนุรักษ์นิยม

ที่น่าสนใจคือ พรรคแรงงาน ผู้นำพรรค เจียรมี คอร์บิน มีจุดยืนต่อต้านการถอนตัวที่ไร้ข้อตกลงกับ EU ซึ่งเข้าไปอยู่ในแนวเดียวกันกับพวกเหยียดเชื้อชาติและพวกสนับสนุนนโยบายตัดสวัสดิการ (Austerity)

Mark Gillespie นักสังคมนิยมออสเตรเลีย ซึ่งเขียนบทความลงในนิตยสาร Solidarity เมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เขา มองว่า วิกฤตของพรรคอนุรักษ์นิยมสามารถเป็นโอกาสทองของพรรคแรงงานที่จะเอาชนะได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้นำพรรคให้ความสำคัญกับการลงมติต่อต้านการถอนตัวจาก EU แบบไร้ข้อตกลงก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ กลายเป็นแนวร่วมกับนักธุรกิจและนักการเมืองแนวเสรีนิยม ก่อนลงประชามติ Brexit สมาชิกของพรรคแรงงานสนับสนุนการอยู่กับ EU เพื่อปรับปรุง EU ให้ก้าวหน้าและสร้างประโยชน์แก่แรงงาน แต่กฎระเบียบของ EU แท้จริงสนับสนุนการตัดสวัสดิการ ตลาดเสรี และการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี แต่ต่อต้านการเข้ามาจากคนภายนอก ดังเห็นได้จากผู้อพยพลี้ภัยเสียชีวิตจมน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากนโยบายของ EU นั่นเอง

ในขณะที่ผู้สนับสนุนของพรรคแรงงานหลายคน โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมตอนเหนือลงคะแนนถอนตัวออกจาก EU เพราะนโยบายตลาดเสรีไม่ให้ประโยชน์ต่อคนงาน

สำหรับขบวนการแรงงาน ฝ่ายซ้ายสังคมนิยมนั้นจากบทความ Tomáš Tengely-Evans มีจุดยืนต่อต้านการถอนตัวออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง เพราะจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในอังกฤษและแรงงานข้ามชาติ แน่นอนว่า ฝ่ายซ้ายต้องการถอนตัวออกจาก EU อยู่ก่อนแล้ว แต่เหตุผลนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพวกอนุรักษ์นิยมและนายทุน ซึ่งการพยายามออกจากการเป็นสมาชิก EU แบบไร้ข้อตกลงของรัฐบาล มีนัยถึงการสร้างโอกาสที่จะผลักดันนโยบายการตัดสวัสดิการและเหยียดเชื้อชาติมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย Priti Patel กล่าวว่า รัฐบาลสามารถยกเลิกเสรีภาพในการเดินทางตอนกลางคืนของแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ ฝ่ายทุนที่ต่อต้านการถอนตัวโดยไม่มีข้อตกลงกับ EU มักให้เหตุผลในแง่ข้อดี-ข้อเสียในการทำธุรกิจของพวกบรรษัทข้ามชาติ แม้แต่พรรคแรงงานเองก็เข้าไปอยู่ในฝักฝ่ายนี้

กล่าวคือ นายทุนรายใหญ่และพันธมิตรของนายทุนในรัฐสภาไม่สนใจผลกระทบที่จะมีต่อคนธรรมดา เนื่องจากพวกเขายังคงดำเนินนโยบายตัดสวัสดิการ แปรรูปกิจการสาธารณะและค้าเสรี นั่นหมายความว่า ไม่ว่าการถอนตัวในรูปแบบใด เช่น hard หรือ soft หรือไม่มีดีลหรือมีดีล ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนงานตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ดังนั้น ข้อเสนอของฝ่ายซ้าย คือ การออกจาก EU เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานเท่านั้น 

สำหรับจุดยืนของพวกนายทุน บทความของ Tomáš Tengely-Evans ข้างต้น ระบุว่า สืบจากหนังสือพิมพ์ Financial times และนิตยสาร the Economist ไม่พอใจรัฐบาลจอห์นสัน และต้องการให้คอร์บินมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลแทนเพื่อยับยั้งการถอนตัวออกจาก EU ชั่วคราว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึง วิกฤตภายในชนชั้นปกครองของอังกฤษและการแตกแยกกันระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมและนายทุน เพราะนายทุนรายใหญ่ต้องการที่จะอยู่กับ EU เนื่องจากได้ประโยชน์จากการมีตลาดเดียว กล่าวคือ รายงานของ BBC อธิบายว่า การมีสหภาพศุลกากรยุโรป คือทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างอังกฤษและ EU ไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน แต่บังคับให้มีอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศนอกสมาชิกในสินค้าทุกชนิด ขณะที่ตลาดเดียวยุโรปทำให้อังกฤษเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานและเงินทุนอย่างเสรีภายในสหภาพยุโรป 

จากข่าว BBC เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา รายงานว่า สืบจากกฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อสกัดการถอนตัวโดยไร้ข้อตกลงได้ผ่านสภาล่างแล้ว หากการเจรจาระหว่างอังกฤษกับ EU ไม่เป็นผลภายในวันที่ 19 ต.ค.นี้ และ ส.ส.ไม่เห็นชอบการออกจาก EU โดยไร้ข้อตกลง จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีจะต้องขอเลื่อนการถอนตัวจาก EU กับสภามนตรี EU อีกครั้งตามกฎหมายใหม่ดังกล่าว 

แต่หากจอห์นสันสามารถเจรจาข้อตกลงใหม่กับ EU และ ส.ส.เห็นชอบก่อนวันที่ 31 ต.ค.นี้ ก็ไม่จำเป็นที่จะขยายเวลาออกไป

ข้อตกลงใหม่ที่รัฐบาลจอห์นสันต้องการจะเจรจาคือ ยุตินโยบาย Backstop ซึ่งเป็นนโยบายไม่มีด่านตรวจชายแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ทว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ และการขยายเวลาออกไปก็ไม่รับประกันว่า EU จะเห็นด้วย   

การที่รัฐสภาอังกฤษไม่เห็นชอบข้อตกลงที่ทำกับ EU นำไปสู่ความเสี่ยงที่จอห์นสันจะใช้วิธีออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลง ซึ่งทำให้นักการเมืองและนักธุรกิจจำนวนมากกังวลว่าจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ 

ความเดือดร้อนของแรงงานและประชาชนใต้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม

Frances Ryan คอลัมนิสต์ของ The Guardian ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้เตือนภัยความยากจนอย่างรุนแรงหากอังกฤษถอนตัวออกจาก EU และงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนได้รับผลกระทบจาก Brexit แล้วคือ มีรายได้ 1,500 ปอนด์ต่อปีซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนลงประชามติ 

ในบทความอ้างถึงคำสัมภาษณ์ของ มาร์ติน วัย 62 ปี คนว่างงานที่เพิ่งออกจากหน่วยลงคะแนนประชามติ เขากล่าวว่า เขาต้องแชร์ค่าห้องกับคนแปลกหน้า 8 คน และการถอนตัวจาก EU อาจทำให้ชีวิตเขาแย่ แต่ในความเป็นจริงมันก็แย่อยู่แล้ว มันคงจะไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีก ซึ่งสะท้อนถึงความเดือดร้อนที่เกิดจากนโยบายตัดสวัสดิการของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม และเขาต้องการเปลี่ยนแปลง พวกเขาไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้ว ในขณะที่กลุ่มคนรวยและคนสูงอายุสนับสนุนการถอนตัวจาก EU เพราะไม่ต้องการแรงงานอพยพย้ายถิ่นฐานมาที่อังกฤษ แม้จะมีผลเสียหายทางเศรษฐกิจตามมาก็ตาม

ในส่วนของพรรคสังคมนิยมแรงงาน มองว่า การถอนตัวออกจาก EU นั้น สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชนชั้นแรงงานได้ และต่อต้านนายจ้างได้ทุกที่ เนื่องจากชนชั้นปกครองของอังกฤษอยู่ในวิกฤต เพราะนายทุนส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษอยู่ต่อ เพื่อได้ประโยชน์จากความมั่นคงและสถียรภาพของตลาด ที่พวกเขาสามารถคาดการณ์ได้ว่า ลงทุนแล้วได้กำไรกลับมาเท่าไหร่ แต่การออกจาก EU สร้างความไม่แน่นอนอย่างใหญ่หลวงให้แก่นายทุน 

เหตุผลของการถอนตัวมีหลายเหตุผลแต่จุดยืนของพรรคสังคมนิยมแรงงานที่รณรงค์ให้ถอนตัวนั้น เพราะ EU เป็นก๊วนของนายทุนที่เหยียดเชื้อชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้อพยพ  

ส่วนเหตุผลของพรรคอนุรักษ์นิยมที่แตกออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนใหญ่ลงมติให้คงอยู่ แต่สำหรับจอห์นสันและพวกในคณะรัฐมนตรีพยายามผลักดันการถอนตัวแบบไร้ข้อตกลง เพราะจะเปลี่ยนเกาะอังกฤษให้กลายเป็นตลาดเสรีดึงดูดนายทุนทั่วโลกที่ต้องการมาลงทุนแบบไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย และขูดรีดแรงงาน จำกัดเสรีภาพในการเดินทางและเข้า-ออกของแรงงานข้ามชาติ พร้อมกับโทษแรงงานข้ามชาติ (แม้จะเป็นผู้สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ) และผู้อพยพว่าเป็นสาเหตุให้ถอนตัวออกจาก EU ด้วยนโยบายตลาดแรงงานเสรี แม้แต่พรรคแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานก็หลงไปกับประเด็นนี้ 

นอกจากนี้ EU ไม่ปกป้องสิทธิแรงงาน รวมทั้งยังคงนโยบายตัดสวัสดิการ เช่น ในกรีซ ในประเทศที่มีรัฐบาลฝ่ายขวา 

ทางออก

Tomáš Tengely-Evans มองว่า ฝ่ายซ้ายต้องการให้สหภาพแรงงานออกมาประท้วงและขับไล่จอห์นสัน รวมทั้งล้มระบอบพรรคอนุรักษ์นิยมที่ตัดสวัสดิการและเหยียดเชื้อชาติ การที่พรรคแรงงานและผู้นำแรงงานวิจารณ์การระงับการประชุมรัฐสภาของจอห์นสันว่า เป็นการทำรัฐประหาร แต่มันเป็นแค่โวหารเพราะไม่ได้แสดงการต่อต้านอะไรออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วควรรณรงค์ให้นัดหยุดงานทั่วไปด้วยซ้ำ ส่งผลให้ตอนนี้ แรงงานถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนการอยู่กับ EU และถอนตัวจาก EU ด้วยเหตุนี้ การตั้งเป้าหมายว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะต้องออกไปให้พ้นจากรัฐบาล และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที รวมทั้งการชูคำขวัญ “ไม่เอานโยบายตัดสวัสดิการ” “ไม่เอาการเหยียดเชื้อชาติ” สามารถที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่คนธรรมดาได้

แปลและเรียบเรียงจาก :

  1. The Independent.  Boris Johnson to suspend parliament again next week ahead of Queen’s Speech.  3 October 2019,  https://www.independent.co.uk/news/uk/politics/boris-johnson-suspend-parliament-prorogue-queens-speech-brexit-a9133381.html
  2. BBC News.  What happens now?. 30 September 2019, https://www.bbc.com/news/uk-politics-46393399
  3. BBC News.  Brexit: All you need to know about the UK leaving the EU.  16 September 2019,  https://www.bbc.com/news/uk-politics-32810887
  4. Mark Gillespie.  Tory crisis as Boris threatens Brexit crash out.  In the Solidarity.  12 September 2019, https://www.solidarity.net.au/international/tory-crisis-as-boris-threatens-brexit-crash-out/
  5. Tomáš Tengely-Evans.  How to make sense of the Tory crisis over Brexit.  2 September 2019.  In the Socialist Worker Party, https://socialistworker.co.uk/art/48871/How+to+make+sense+of+the+Tory+crisis+over+Brexit
  6. Frances Ryan.  The suffering caused by austerity help fuel Brexit - and will only get worse. 23 May 2019. In the Guardian, https://www.theguardian.com/commentisfree/2019/may/23/austerity-brexit-suffering-eu-anger
  7. Socialist Worker Party.  A Brexit for Workers, not for Bosses.  https://www.swp.org.uk/sites/all/files/A%20Brexit%20for%20workers%20not%20bosses.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net