Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแสดงความกังวลในเรื่องการบังคับให้หายตัวไปของ อ็อด ไชยะวง นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวลาวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทางยูเอ็นแถลงว่าอ็อดอยู่ในสภานะผู้ลี้ภัยและกังวลว่าเขาอาจจะถูกบังคับส่งตัวกลับประเทศแบบเดียวกับที่หลายๆ ประเทศในเอเชียอาคเนย์ทำ ซึ่งจะทำให้อ็อดมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

อ็อด ไชยะวง Od Sayavong ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR

3 ต.ค. 2562 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 ต.ค.) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งยวดในกรณีการหายตัวไปของนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวลาว อ็อด ไชยะวง ผู้ที่หายสาบสูญไม่กี่เดือนขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย หลังจากที่เขาเข้าพบปะกับผู้รายงานพิเศษของยูเอ็น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำให้เกิดความกระจ่างในการเข้าถึงว่าอ็อดอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รับประกันความปลอดภัยของนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวลาวที่มีความเสี่ยงรายอื่นๆ ในกรุงเทพ

อีกแล้ว! ผู้ลี้ภัยชาวลาวหายตัวในไทย เพื่อนหวั่นถูกอุ้ม

HRW เรียกร้องรัฐบาลไทยสืบสวนหลังนักกิจกรรมชาวลาวหายสาบสูญ

อ็อดได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ลี้ภัยจากองค์กรด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็นแล้ว ทั้งนี้ มีผู้พบเห็นอ็อดครั้งสุดท้ายที่บ้านพักของเขาในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานของเขาแจ้งตำรวจเรื่องที่เขาหายตัวไปแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

กลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับการที่รัฐบาลในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ร่วมมือกันในการบีบบังคับให้ผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอลี้ภัยถูกส่งกลับประเทศตัวเอง ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกข่มเหงลงโทษ ประเทศที่ดำเนินการแบบนี้มีทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

อ็อดเป็นอดีตสมาชิกของกลุ่ม "ฟรีลาว" ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติและนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวลาวซึ่งมีฐานอยู่ในไทย เป็นกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศลาว กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีส่วนร่วมกับฟรีลาวในกรุงเทพฯ เปิดเผยว่าพวกเขาตกอยู่ภายใต้การสอดแนมและข่มขู่คุกคามในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมาราพวกเขาวางแผนจะทำคู่ขนานไปกับการประชุมซัมมิทในกรุงเทพฯ ในปี 2560 ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่สมาชิกของฟรีลาว 3 รายถูกตัดสินลงโทษจำคุก 12-20 ปีเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลขณะที่พวกเขาอยู่ในไทย

ฟิลิป อัลสตัน ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในประเด็นความยากจนสุดขีดและสิทธิมนุษยชนเคยพบปะกับอ็อดและนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนลาวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 ก่อนหน้าที่เขาจะเดินทางไปเยือนลาว อัลสตันกล่าวว่า "ถ้าหากการบังคับให้สูญหายของอ็อดเป็นส่วนหนึ่งจากการโต้ตอบการที่อ็อดมีปฏิสัมพันธ์กับระบบของยูเอ็น มันจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งต้องมีปฏิบัติการต่อเรื่องนี้โดยทันที ทุกคนควรเปิดให้มีการเข้าถึงและติดต่อสื่อสารกับภาคส่วนสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นโดยไม่มีการขัดขวาง"

มิเชล ฟอร์สต์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าอ็อดเป็นคนที่แสดงออกอย่างฉะฉานในเรื่องการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และประเด็นสิ่งแวดล้อมในลาว ในขณะที่ประเทศลาวเองมีการจับกุมโดยพละการและการบังคับให้สูญหายเกิดขึ้นมาก

ฟอร์สต์กล่าวอีกว่า เขาหวังให้ทางการไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ปัจจุบันของอ็อดอย่างเร่งด่วน จนกว่าจะถึงตอนนั้นพวกเขาไม่สามารถละเลยความเป็นไปได้ว่าอ็อดอาจจะกลายเป็นบุคคลสูญหายและเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้กลับประเทศซึ่งจะทำให้เขาต้องเผชิญกับการถูกคุกคามความปลอดภัยอย่างมาก

เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นในประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกกล่าวว่าไม่มีใครควรจะตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะพวกเขาแสดงการต่อต้านทางการเมืองโดยดำรงอยู่บนพื้นฐานของกฎและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การหายตัวไปของอ็อดเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมากและอาจจะส่งผลกระทบทำให้คนกลัวที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้

ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นก็เคยแสดงความกังวลในเรื่องการบังคับให้สูญหายและการบีบให้กลับประเทศของบล็อกเกอร์และนักข่าวชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทย นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์หรือสุรชัย แซ่ด่าน และ อิทธิพล สุขแป้นหรือดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปขณะอาศัยลี้ภัยอยู่ในลาว

ลูเซียโน ฮะซัน ประธานกลุ่มคณะทำงานเกี่ยวกับประเด็นบังคับให้สูญหายอย่างไม่เต็มใจ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) กล่าวว่าสภาพการณ์ที่ทำให้อ็อดหายตัวไปนั้นเป็นเรื่องน่าตระหนก และทางการไทยควรจะสืบสวนเรื่องการหายตัวไปในครั้งนี้และใช้ทุกมาตรการเท่าที่จำเป็นในการระบุตำแหน่งที่อยู่ของอ็อด ฮะซันระบุอีกว่ารัฐบาลลาวเองก็ยังไม่ได้มีปฏิบัติการอะไรในการแก้ไขปัญหากรณีการหายตัวไปของ สมบัติ สมพอน นักกิจกรรมด้านสิทธิพลเมืองที่ถูกลักพาตัวตั้งแต่ปี 2555

เพื่อนผู้ลี้ภัยอีกคน (ไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย) สันนิษฐานว่า มีโอกาส 90% ที่อ็อดอาจถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากอ็อดเคยประท้วงที่สถานทูตลาว ทำคลิปวิดีโอวิจารณ์รัฐบาลลาว โดยมีการใช้ตราสัญลักษณ์ราชอาณาจักรลาว ซึ่งน่าจะทำให้รัฐบาลลาวไม่พอใจเป็นอย่างมาก และคาดว่าอ็อดกำลังวางแผนกับเพื่อนบางคน เตรียมการการเคลื่อนไหวประท้วงงานประชุมอาเซียนภาคประชาสังคมในไทยที่มีขึ้นในวันที่ 10-12 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้ถูกคุกคามโดยรัฐ

เรียบเรียงจาก

Thailand/Lao PDR: UN experts concerned by disappearance of Lao human rights defender, OHCHR, Oct. 1, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net