นิธิ เอียวศรีวงศ์: รำพึงถึงเจ๊ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ นักประวัติศาสตร์มักทิ้งเรื่องของชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ไว้ในความมืดมัวเสมอ

ที่ว่าไม่ตั้งใจก็เพราะคนข้างล่างมักไม่ทิ้งหลักฐานอะไรไว้ให้ได้ศึกษา อย่างเก่งก็ถูกอ้างถึงในหลักฐานของคนชั้นสูง ซึ่งจะเชื่อได้แค่ไหนก็ไม่แน่ ที่ว่าตั้งใจก็เพราะหน้าที่หลักของนักประวัติศาสตร์คืออธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นักประวัติศาสตร์ (และคนอื่นๆ อีกมาก) ไปสรุปเสียแต่แรกแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมเป็นผลของการกระทำหรือไม่กระทำของคนชั้นสูง ซึ่งจับจองอำนาจการปกครอง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไว้ในมือตนเอง จึงเป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไว้แต่ฝ่ายเดียว

และด้วยเหตุดังนั้น นักประวัติศาสตร์จึงไม่พยายาม หรือไม่พยายามเพียงพอที่จะเจาะลงไปหาความหมายอื่นที่มีอยู่ในหลักฐานอันเบาบางที่เกี่ยวกับชนชั้นล่าง

อย่างไรก็ตาม ถึงยอมรับตามนั้น คนระดับล่างก็มีบทบาทสำคัญในความเปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง เพราะความเปลี่ยนแปลงที่คนชั้นบนสร้างขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อคนชั้นล่างซึ่งจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไปได้หลายอย่าง ปฏิกิริยาเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการกบฏหรือแข็งข้อด้วย ย่อมมีผลให้ชนชั้นนำต้องปรับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นไปในทางที่ชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่พอรับได้

ตัวอย่างที่รู้กันดีก็เช่น ราคาค่าแรงไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังขึ้นมากกว่ากับอุปทานของแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของชนชั้นล่าง เช่น คุมกำเนิดมาอย่างต่อเนื่อง (ครับ ตัดสินใจเรื่องอื่น ไม่ใช่ค่าแรง)

ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันก็ยิ่งเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่า ข้อสรุปว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมย่อมมีกำเนิดจากชนชั้นสูงฝ่ายเดียว ไม่เป็นที่ยอมรับอีกแล้ว เพราะในหลายกรณีหรือเกือบทุกกรณีของความเปลี่ยนแปลง ชนชั้นล่างล้วนมีบทบาทอยู่ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม และไม่มากก็น้อยเสมอ

ผมรำพึงเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ข้างต้น ก่อนจะรำพึงถึงเจ๊ก ก็เพราะในงานวิชาการเกี่ยวกับจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผู้ศึกษาและเผยแพร่ผลงานมามากต่อมากแล้ว สิ่งที่ขาดหายไปอย่างเด่นชัดคือเรื่องของจีนระดับล่าง เช่น “เจ๊กลากรถ”, กุลีโรงสี, กุลีสร้างทางรถไฟ, กงซีล้ง (บริษัทรับเก็บ “ขยะกลางคืน” คือถังส้วม), เจ๊กปลูกผัก ฯลฯ ยกเว้นแต่เมื่อคนเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้เป็นเจ้าสัว หรือพ่อเจ้าสัว

จะว่าขาดหายไปสิ้นเชิงก็ไม่ใช่นะครับ เพราะนักวิชาการทุกคนก็อ้างถึงคนเหล่านี้ผ่านสถิติ (ซึ่งเก็บโดยประเมินอย่างหยาบ, อย่างละเอียด, หรือการแจงนับ แล้วแต่เป็นเอกสารของยุคสมัยใด) รวมถึงผ่านการอ้างถึงอย่างผ่านๆ ของหลักฐาน แต่ไม่มีงานศึกษาใดที่เจาะลงไปดูชีวิตความเป็นอยู่, การจัดองค์กร, การต่อสู้และการจำยอม, การกลืนกลาย ฯลฯ ของคนเหล่านี้เลย ซึ่งถึงอย่างไรก็คงแตกต่างจากเจ้าของโรงสี, นายธนาคาร, นายทุนเงินกู้, ผู้ส่งออกข้าว-ดีบุก-ยางพารา, เจ้าภาษี, กะปิตันจิน่า, หรือเจ้าเมือง อย่างแน่นอน

(ทั้งนี้ ยกเว้นสิงคโปร์ แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่พึงคาดหวังอยู่แล้ว นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จีนและลูกจีนคือประชากรส่วนใหญ่สุดของสิงคโปร์ เรื่องของจีนอพยพในสิงคโปร์จึงไม่ต่างอะไรจากเรื่องของจีนในเมืองเซี่ยงไฮ้หรือกึงตั๋ง ดังนั้นประวัติศาสตร์สังคมสิงคโปร์จึงให้รายละเอียดเกี่ยวกับจีนชั้นล่างมากกว่าประวัติศาสตร์สังคมของภูมิภาคโดยทั่วไป)

พ่อค้าจีนและจีนอพยพมีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่โบราณ เรื่องนี้มีคนเขียนตำรับตำราไว้มากมายแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะขีดเส้นใต้ไว้ ก็คือจีนอพยพในสมัยต้นอยุธยากับจีนอพยพหลังกลางอยุธยาลงมาแตกต่างกันมาก และยิ่งเปรียบกับจีนอพยพหลังสมัยอาณานิคม ก็ยิ่งต่างมากขึ้นไปอีก ข้อนี้ต้องเตือนไว้แต่แรก เพราะหลายคนมักคิดถึงเจ๊กจีนสำเพ็ง-เยาวราชเป็นแบบอย่างย้อนกลับไปจนไกลสุดกู่

ก่อนถึงกลางอยุธยา จีนเกือบทั้งหมดที่เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักเป็นพ่อค้า ขายสินค้าและซื้อสินค้าเสร็จก็กลับ ไม่มีใครคิดจะลงหลักปักฐานในเมืองท่าของภูมิภาคนี้ แต่อาชีพค้าสำเภาบังคับให้พ่อค้าต้องอยู่รอมรสุมครึ่งปี จึงเป็นธรรมดาที่บางคนอาจได้เมียและลูก ความผูกพันต่อกันอาจทำให้บางคนต้องลงหลักปักฐาน เพราะถึงไม่กลับเมืองจีน ก็ยังมีช่องทางทางเศรษฐกิจเหลืออยู่ในภูมิภาค นั่นคือตั้งตัวเป็นพ่อค้าท้องถิ่น ขายสินค้าที่สำเภานำมา (เช่น เครื่องถ้วย, ผ้าไหม) แล้วซื้อสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของสำเภาเก็บไว้ขายขึ้นสำเภาไปเมืองจีนในฤดูสำเภา

แต่เมื่อราชวงศ์หมิงห้ามพ่อค้าจีนมิให้เดินทางออกนอกประเทศใน ค.ศ.1567 เป็นต้นมา พ่อค้าจีนที่ทำการค้าในภูมิภาค “หนันหยาง” ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะกลับ (ซึ่งเสี่ยงที่อาจถูกประหารชีวิตด้วย)

ส่วนใหญ่คือพวกที่อยู่ต่อ

จีนที่ตัดสินใจอยู่ต่อ ไม่ใช่จีนไร้สมบัติ อย่างน้อยก็มีทุนรอนพอจะตั้งตัวเป็นพ่อค้า “นำเข้าและส่งออก” ได้ นอกจากนี้ ยังผสมกลมกลืนเข้าไปกับคนพื้นเมือง จนแทบไม่เหลืออัตลักษณ์จีนมากนัก จำนวนมากของลูกหลานจีนอพยพซึ่งผมขอเรียกว่าเจ๊กเป็นลูกผสมและบางครั้งก็พูดภาษาจีนไม่ได้เสียแล้ว ตัวอย่างชัดเจนของ “เจ๊ก” ประเภทนี้คือ “บ้ะบ๋า” หรือที่ภาษามลายูเรียกว่า “เปอะระนักกัน” หันมานับถือศาสนาอิสลาม กินอาหารที่ผสมระหว่างจีนและพื้นเมือง นุ่งห่มแบบผสมคือยังสวมเสื้อจีน แต่นุ่งโสร่ง

“เปอะระนักกัน” ในความหมายถึงลูกผสมที่ใช้วัฒนธรรมผสมระหว่างพื้นเมืองกับจีนกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วภูมิภาค เฉพาะที่ผสมวัฒนธรรมมลายู (บ้ะบ๋า) มีตั้งแต่ตอนใต้ของไทย ตลอดไปถึงมาเลเซียและสุมาตราฝั่งตะวันออก ยังมีที่ผสมกับวัฒนธรรมชวาอีก ในฟิลิปปินส์พวกนี้ถูกสเปนเรียกว่า Sangley (เซ็งลี้ในภาษาฮกเกี้ยน) คือพ่อค้า ตั้งภูมิลำเนาในอ่าวมะนิลา หันมานับถือศาสนาคาทอลิกและพูดตากาล็อกได้คล่องเหมือนชาวพื้นเมืองทั่วไป เพราะโตมากับแม่ซึ่งเป็นชาวพื้นเมือง

“เจ๊ก” หรือ “เปอะระนักกัน” เหล่านี้เข้าไปมีบทบาทเด่นๆ ในประวัติศาสตร์ของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง ผู้สถาปนาอาณาจักรมะตะรัม (ที่สอง) ในชวา ก็มีตำนานว่าเป็นโอรสของเจ้าหญิงจีนซึ่งถูกส่งมาสมรสกับกษัตริย์ราชวงศ์มัชปาหิต ในบาหลีมีตำนานเรื่องของเจ้าหญิงพื้นเมืองไปแต่งงานกับทหารในกองทัพของเจิ้งเหอ

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เสนอว่า มีร่องรอยที่อาจทำให้เชื่อได้ว่าพระเจ้าอู่ทองซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยานั้นเป็น “เจ๊ก” หรือลูกหลานจีนเหมือนกัน นักวิชาการบางคนเชื่อว่า ศาสนาอิสลามในจามปา เป็นอิสลามที่นำลงมาจากจีน

ระหว่างที่จีนปิดประเทศ ก็ยังมีพ่อค้าจีนลักลอบค้าขายอยู่บ้าง ตลอดจนความวุ่นวายปั่นป่วนในจีนปลายสมัยราชวงศ์หมิงและต้นราชวงศ์ชิง ทำให้มีชาวจีนอพยพหนีภัยทั้งการเมืองและธรรมชาติลงมาตั้งภูมิลำเนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น พอถึงปลายศตวรรษที่ 17 รัฐบาลราชวงศ์ชิงก็เปิดให้พ่อค้าเดินทางออกมาค้าขายได้อีก จำนวนมากของชุมชนจีนและโอกาสเสรีที่จะติดต่อกับบ้านเกิด ทำให้จีนอพยพในรุ่นนี้ยังคงรักษาความเป็นจีนไว้ได้อย่างเข้มข้น อย่างน้อยก็ในหนึ่งหรือสองชั่วอายุคนแรก (เช่น ไว้เปียเหมือนจีนในเมืองจีนภายใต้ราชวงศ์ชิง)

ยิ่งกว่านี้ ยังเป็นประเพณีของเจ้าผู้ครองเมืองท่าของภูมิภาค ที่มักจะแยกชุมชนของชาวต่างชาติออกจากกันทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และในเชิงการเมือง เจ้าอาณานิคมฝรั่งรับเอาประเพณีนี้ไปใช้สืบมาในเมืองท่าของตน (หรือฝรั่งเองก็ทำอย่างนี้ในยุโรปมาแล้ว ผมไม่ทราบเหมือนกัน) ผลก็คือชุมชนต่างชาติรักษาอัตลักษณ์ของตนได้เหนียวแน่นมากขึ้น เพราะต่างก็ถูกกันไปอยู่ในชุมชนของตนเอง

แม้กระนั้น จีนอพยพก็ไม่สามารถดำรงรักษาความเป็นจีนของตนไปได้นานนัก เพราะยังไม่มีผู้หญิงจีนอพยพลงมาด้วยจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะฉะนั้น ลูกหลานของเขาในชั่วสองหรือสามอายุคนจึงเปลี่ยนเป็นคนพื้นเมืองตามแม่หรือยายของตน ละทิ้งอัตลักษณ์จีนไปจนไม่เหลือ (เช่น ตัดเปีย) ไม่ใช่สร้างวัฒนธรรมผสมขึ้นเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของตนเองดังพวกเปอะระนักกันรุ่นก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16

เหตุที่พวกเปอะระนักกันยังรักษาร่องรอยความเป็นจีนไว้อย่างมั่นคง ตามเหตุผลของ Anthony Reid ก็เพราะ ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 พวกเปอะระนักกันยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพ่อค้าจีนกับเจ้าเมืองท่า และจึงเป็นหัวหน้าของชุมชนพ่อค้าจีนไปโดยปริยาย ด้วยเหตุดังนั้น การรักษาอัตลักษณ์จีนไว้บ้างจึงมีความจำเป็นหรือมีประโยชน์แก่ตน แต่เมื่อการค้ากับจีนกลับฟื้นมาใหม่ในศตวรรษที่ 17 เปอะระนักกันได้สูญเสียสถานะนี้ไปแล้ว

วัฒนธรรมผสมหมดความจำเป็น อย่างน้อยก็หมดความจำเป็นในทางเศรษฐกิจ

ในศตวรรษที่ 18 จนถึง 20 มีเหตุจำเป็นหลายอย่างในเมืองจีน ที่ทำให้คนจีนทางใต้จำนวนมากต้องอพยพลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเป็นคนจากหลากหลายอาชีพและสถานะ ไม่ใช่พ่อค้าเพียงอย่างเดียว ประจวบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดความต้องการแรงงานมากกว่าที่ประชากรอันเบาบางของภูมิภาคจะจัดให้ได้ รัฐบาลและธุรกิจของรัฐต่างๆ ในภูมิภาคจึงนำเข้าและเปิดรับแรงงานจีนอพยพจำนวนมาก

ทำให้จีนและลูกหลานหรือเจ๊กกลายเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากในหมู่ประชากรของทุกรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานศึกษาเกี่ยวกับจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ที่มีผู้ศึกษาไว้จำนวนมาก หากคำถามที่อยู่เบื้องหลังหัวสมองยังเป็นเรื่องของบทบาททางการค้าและเศรษฐกิจของเจ๊ก-จีนโพ้นทะเล ผลของการศึกษาก็จะได้เรื่องของเจ้าสัวจำนวนมาก ในขณะที่เจ๊กระดับล่างซึ่งไม่มีทั้งเงินและอำนาจ แต่มีจำนวนมากกว่ามาก ก็จะเหลือเป็นเพียงฉากหลังเท่านั้น

แต่หากคำถามที่อยู่เบื้องหลังหัวสมองเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ เช่น การเมือง หรือวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในรัฐต่างๆ ของภูมิภาคนี้ ก็จะปฏิเสธบทบาทของเจ๊กหรือจีนได้ยาก คำถามในการศึกษาเจ๊ก-จีนในอุษาคเนย์ ก็จะหันมาสู่คำถามว่าคนเหล่านี้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นในสังคมพื้นเมือง ไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

เจ๊กรุ่นนี้จำนวนมากได้กลืนกลายตนเองเป็นคนชั้นกลางพื้นเมืองไปอย่างสนิท ฉะนั้น แม้มีบทบาทมาก แต่กลับถูกมองเป็นตัวละครพื้นเมืองมากกว่าเป็น “ยิวแห่งบุรพทิศ”

ลูกหลานของพวก Sangley ในฟิลิปปินส์กลายเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลป้อนตลาดอเมริกัน และช่วงชิงบทบาทนำด้านชาตินิยมไปจากชาวบ้านระดับล่างได้ กลายเป็นนักการเมืองที่ทะเลาะกันเองเพื่อครองอำนาจทางการเมืองในฟิลิปปินส์สืบมาจนทุกวันนี้ ในเมืองไทยก็ดูจะไม่ต่างจากกันนัก

ผมขอยกตัวอย่างการศึกษาเพียงเรื่องเดียว ที่นักวิชาการมักลืมเจ๊กไปเสมอ คือความเคลื่อนไหวทางชาตินิยม

เรามักย้ำกันเสมอว่า ชาตินิยมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มจากคนที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ จึงได้รับอุดมการณ์นี้มาจากตะวันตก กลายเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างรัฐชาติขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตน

ก็มีส่วนเป็นความจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้นะครับ แต่ตะวันตกคือด้านเดียวของชาตินิยม ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นสภาวะอันเกิดภายใน และให้พลังแก่การเคลื่อนไหวได้มากกว่าอุดมการณ์ชาตินิยมของตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ศัตรูของนักชาตินิยมอุษาคเนย์อยู่ภายในมากกว่าเจ้าอาณานิคมภายนอก งานศึกษาของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า พ่อค้าและนักธุรกิจ “ไทย” เชื้อสายจีนไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม เพราะไม่บำรุงพ่อค้า “ไทย” ให้มีกำลังที่จะแข่งขันกับพ่อค้าเจ้าอาณานิคมได้ นักชาตินิยมฟิลิปปินส์รุ่นแรกๆ (ก็เชื้อสายจีนอีกนั่นแหละ) ไม่พอใจองค์กรสงฆ์ของสเปน ซึ่งถือครองที่ดินจำนวนมาก และบางส่วนก็ปกป้องชาวบ้านมิให้คนกลุ่มนี้เอาเปรียบ ที่ร่วมมือกับอเมริกัน ก็มุ่งจะยึดที่ดินของวัดเป็นของตนเองในภายหลัง

กลุ่ม Sarekat Islam ซึ่งเป็นองค์กรมวลชนองค์กรแรกของอินโดนีเซีย เกิดขึ้นในหมู่ผู้ผลิตผ้าบาติกชาวพื้นเมือง ซึ่งกำลังถูกพ่อค้าจีนแย่งตลาดไป ดูเหมือนเจ๊กจะเป็นศัตรูมากกว่าดัตช์เสียอีก แม้กระนั้น อุตสาหกรรมการพิมพ์ในระยะแรกก็เติบโตได้ด้วยการพิมพ์นิยายจีนแปลในภาษามลายูตลาด (ซึ่งจะพัฒนามาเป็นภาษาอินโดนีเซีย) เช่นเดียวกับสำนึกชาตินิยมมลายูในมาเลเซียระยะแรก ก็เกิดจากความหวั่นวิตกต่อภัยคุกคามอัตลักษณ์มลายูของชุมชนจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

เราแทบจะไม่อาจพูดถึงชาตินิยมเอเชียอาคเนย์ได้โดยไม่พูดถึงเจ๊ก-จีน ทั้งไม่ใช่เจ๊ก-จีนที่เป็นเจ้าสัวด้วย แต่เป็นระดับรองลงมาซึ่งชื่อเสียงของเขาหายไปในหมู่สามัญชนหมดแล้ว

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คำถามทางประวัติศาสตร์ของเราไม่ได้นำเอาเจ๊ก-จีนเข้ามาแต่แรก พวกเขาจึงดูเหมือนไม่มีบทบาททางด้านอื่นอีกเลย นอกจากการค้าและการเป็นเจ้าสัว

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_234172

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท