Skip to main content
sharethis

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าแจ้งความข้อหายุยงปลุกปั่นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน อาจารย์ ม.เกษตรฯ และพิธีกร Voice TV หลังจัดเวทีเสวนาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาค-แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ปัตตานี ส่วนศรีสุวรรณยื่นอัยการสูงสุดหวังส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดการกระทำ ด้านวันนอร์จ่อฟ้องกลับทหาร ส่วนเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพพร้อมเป็นทนายความหากจะมีการฟ้องกลับ ยันการแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ     

4 ต.ค. 2562 วานนี้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน ประกอบด้วย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย , ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) , ชลิตา บัณฑุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี , สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ , มุข สุไลมาน อายุ 70 ปี , นิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย , รักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี , อสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี , วันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี

โดยทั้ง 12 คน ได้จัดเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี โดยทางเจ้าหน้าที่กองด้วยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า การจัดเวทีสวนาดังกล่าวของผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวทีเสวนา โดยมีประชาชนร่วมรับฟังประมาณ 150 คน ซึ่งการจัดเสวนาดังกล่าว ได้มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์ Facebook พรรคประชาชาติ และมีการอัพโหลดการจัดเสวนาดังกล่าวลงในช่อง YouTube เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนทั่วไปรับรู้รับทราบ รับชม รับฟัง ลักษณะการจัดเวทีเสวนาดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระทั่งกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

อีกทั้งในวันนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา ได้เดินทางไป ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณากรณี ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวทีสัญจรภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี ของ 7 พรรคฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 โดยระบุว่า “ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้” จนเกิดการการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพื่อให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ชลิดา รวมถึง 7 พรรคฝ่ายค้านเลิกการกระทำดังกล่าว โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง

ด้านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การลงพื้นที่ของ 7 พรรคฝ่ายค้านพบกับประชาชนมีทั้งหมด 4 ภาค โดยภาคใต้ที่ปัตตานีเป็นเวทีสุดท้าย กรณีที่ชลิดาพูดถึงนี้เป็นเพียงความเห็นทางวิชาการ  ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 พรรคฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าจะไม่แก้ไจในหมวด 1 และ หมวด 2 การที่พล.ต.บุรินทร์ ไปแจ้งความนั้น ถือเป็นการข่มขู่ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นการแจ้งความโดยที่ฝ่ายค้านไม่ได้ทำอะไรผิด คงต้องดำเนินการฟ้องกลับ

ขณะที่ วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวถึงกรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) แจ้งจับ 7 พรรคฝ่ายค้าน และนักวิชาการ เพื่อเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เนื่องจากจัดเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ตนได้เห็นข่าวที่ พล.ต.บุรินทร์ ออกมารับงานเรื่องนี้แจ้งความ 12 พรรคฝ่ายค้านนั้น เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ใจไม่เข้าใจว่า พล.ต.บุรินทร์ สับสนบทบาทหน้าที่หรือไม่ คสช. จบไปแล้ว มีแต่รัฐบาลที่มีนโยบายเห็นควรให้แก้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป หรือการอ้างใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กอ.รมน. แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการแห่งรัฐธรรมนูญ

วิญญัติ กล่าวว่า การที่มีข่าวมีการแจ้งความดำเนินคดีกับ 12 คน ที่ได้จัดเสวนา “พลวัฒแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จังหวัดปัตตานี ตนตั้งข้อสังเกตว่า  

1. รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติรับรองและคุ้มครองการสิทธิและเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนมีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน การเสวนาเพื่อหาแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ (ยกเว้นหมวด 1) โดยพูดถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเวทีทางวิชาการและสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน เปิดเผย ไม่มีลักษณะก่อให้ความปั่นป่วนใดๆ จึงไม่จะเข้าข่ายการกระทำผิดกฏหมาย

2. ประชาชนทุกคนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้แล้วเกิดปัญหาได้ ถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเองก็ยังยอมรับว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มอบหมาย พล.ต.บุรินทร์ เข้าแจ้งความเรื่องนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด บิดผันการใช้อำนาจให้สังคมสับสน เกินความจำเป็น และสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

3. พล.ต.บุรินทร์ ย่อมรู้อยู่แล้วว่ามิได้กระทำความผิดเกิดขึ้น สวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาล เจตนาเช่นนี้อาจเป็นการแจ้งความเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาเสียเอง  

วิญญัติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้น บุคคลทั้ง 12 คน อาจใช้สิทธิ์แจ้งความและหรือฟ้องดำเนินคดีกลับได้  ทาง สกสส. ยินดีที่จะเป็นทนายความเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่ ตนในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายและด้านสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้กองทัพ  กอ.รมน. รวมถึง พล.ต.บุรินทร์ หยุดการกระทำที่อาจทำให้สังคมเข้าใจว่าใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก คุกคาม ข่มขู่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ เพราะนั่นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติไม่จบสิ้น ทหารควรควรจะทำหน้าที่ตัวเองอย่างทหารอาชีพในประเทศอื่นทำกัน ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับ กอ.รมน. ก็ควรจะออกมาแถลงแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจคิดได้ว่าเป็นแผนทำลายความมั่นคงของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่

เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ , ไทยโพสต์ออนไลน์ 1 , 2 , แนวหน้าออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net