Skip to main content
sharethis

พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวเลขเลิกจ้างสูงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ถึง 24%

น.ส.วรรณวิภา ไม้สน และนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวกรณีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลต่อผู้ใช้แรงงาน จากเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอยรุนแรง ปัญหาการเลิกจ้างงาน การไม่ปรับค่าแรง และปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ที่ขยายตัวในปี 2562 พร้อมเรียกร้องรัฐบาลออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรงในปี 2562 นี้ ไม่ว่าจะเป็นภาคส่งออก ท่องเที่ยวหรืองานด้านบริการ ส่งผลให้ไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน จากข้อมูลที่ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุการเลิกจ้าง เดือน ม.ค. - ก.ค.2552 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกับปี 2562 ในช่วงเดือนเดียวกัน พบว่าปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้างสูงกว่าปี 2552 ถึง 24% โดยในปี 2552 มีผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 152,751 คน ในขณะที่ปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 190,002 คน

นอกจากนี้ น.ส.วรรณวิภา ยังระบุข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 มีอัตราผู้ว่างงาน 436,000 คน ส่วนปี 2562 มีผู้ว่างงานถึง 490,000 คน ซึ่งมากกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ถึง 54,000 คน สถานการณ์เช่นนี้ พบว่ามีการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องในหลายกรณี และอาจเป็นการเลิกจ้างโดยละเมิดกฎหมายแรงงาน เช่น เลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ลูกจ้างควรได้รับ นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างงานที่ขัดกับเงื่อนไขการจ้าง หรือ ลดทอนสวัสดิการของแรงงาน เป็นต้น

“นายจ้างบางราย ฉวยโอกาสเลิกจ้างพนักงาน โดยอ้างเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับการอุดหนุนการลงทุนและสิทธิพิเศษจากรัฐบาล ปล่อยให้ลูกจ้างถูกลอยแพโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย” น.ส.วรรณวิภา ระบุ

ด้าน นายสุเทพ ระบุว่า ภาครัฐเป็นตัวอย่างของการไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่ปฏิบัติตามแนวทางการจ้างงานที่มีคุณภาพ เห็นได้ว่าการส่งเสริมการจ้างงานแบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง ซึ่งจ่ายค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการจ้างงานที่ต่ำกว่าพื้นฐาน มีการเลิกจ้างจากภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างถึงงบประมาณ นอกจากนี้ การเลิกจ้างยังส่งผลถึงแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองที่น้อยอยู่แล้ว

สำหรับการผลักดันประเด็นดังกล่าว ในส่วนของคณะกรรมาธิการการแรงงาน และคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ทำหน้าที่เป็นประธาน กมธ. และรองประธาน กมธ. นั้น มีรายงานว่า มีการผลักดันเรื่องนี้ทั้งแนวทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

ระยะสั้น ภายใน 30 วัน ประธานกรรมาธิการแรงงาน จะประสานเข้ากรรมาธิการโดยด่วน เพื่อให้ดำเนินการต่อนายจ้างที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ปรับเปลี่ยนลดวันหยุด ปรับเปลี่ยนสภาพงานที่ขัดกับเงื่อนไขการจ้าง ในยุคสมัยที่พรรคอนาคตใหม่เป็นประธานกรรมาธิการแรงงานนี้ นายจ้างที่จงใจละเมิดกฎหมายแรงงานจะต้องโทษจำคุก และปรับสูงสุดอย่างเดียวเท่านั้น และจะทำการขึ้นบัญชีดำนายจ้าง, เรียกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีลูกจ้างไม่ใช่ข้าราชการกมากกว่า 9 แสนคน ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย เจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บริหารที่ปฏิบัติต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน จะต้องถูกเรียกมาชี้แจง และคณะกรรมาธิการจะทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป

ระยะกลาง ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่เพิ่มสวัสดิการแรงงาน และการต่อรองรวมตัว ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้นำเสนอญัตติเรียบร้อยแล้ว, ผลักดันให้รัฐบาลไทย รับอนุสัญญา ILO 87-98 ทั้งฉบับ ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่

ระยะยาว ผลักดันการปฏิรูปภาษี ทำลายกลุ่มทุนผูกขาด สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มา: ThaiPBS, 4/10/2562 

ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวกว่า 1.5 พันคน ทำงานผิดประเภท

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการที่กรมการจัดหางานได้สั่งการให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เร่งรัดลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินคดีคนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย โดยประสานตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง และ ฝ่ายปกครองตรวจเข้มทุกพื้นที่นั้น

ปรากฎว่า ตั้งแต่วันที่ 1มิถุนายน–30 กันยายน 2562 ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยทั่วประเทศ จำนวน 17,184 คน ดำเนินคดี จำนวน 1,539 คน ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 1,000 คน รองลงมาเป็นเวียดนาม 171 คน ลาว 162 คน กัมพูชา 151 คน อินเดีย 37 คน จีน 5 คน และอื่นๆ 13 คน ซึ่งลักลอบทำงานขายของหน้าร้านมากที่สุด จำนวน 1,052 คน

ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก รองลงมาเป็นงานเร่ขายสินค้า 275 คน และงานอื่นๆจำนวน 212 คน ได้แก่ งานจำหน่ายอาหาร (คนต่างด้าวเป็นเจ้าของเอง) นวดแผนไทย งานบริการ (คาราโอเกะ) งานเสริมสวย ขับขี่ยานพาหนะ (วินมอเตอร์ไซค์) งานก่ออิฐช่างไม้หรืองานก่อสร้างอื่น พนักงานรักษาความปลอดภัย งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย และได้ปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินจำนวน 7,695,000 บาท ผลักดันส่งกลับจำนวน 1,539 คน

ทั้งนี้ คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงาน นอกเหนือ จากสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาทและถูกผลัก ดันส่งกลับ ซึ่งผู้พบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 4/10/2562 

สื่อประชาชาติธุรกิจสำรวจพบคนตกงานเพิ่ม 2-3 เท่าตัว ใน 8 จังหวัดแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

สื่อประชาชาติธุรกิจ ได้สำรวจตัวเลขประชากรว่างงานจากแรงงานจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะ 8 จังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เปรียบเทียบช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี 2562 พบว่าหลายจังหวัดตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ดังนี้ จังหวัดสระบุรี ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 3,926 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,958 คน, จังหวัดลพบุรี ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 2,617 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 9,559 คน, จังหวัดระยอง ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 3,345 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 6,609 คน จังหวัดชลบุรี ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 1,544 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 3,570 คน, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 6,094 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 7,299 คน, จังหวัดฉะเชิงเทรา ไตรมาส 1 พบว่า มีจำนวนประชากรว่างงาน 1,282 คน แต่ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเป็น 2,191 คน เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนใหญ่ประมาณ 6,000 โรงงาน เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ประมาณ 70-80% กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากยอดการส่งออกที่ลดลง ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาก ประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (GSP) จากประเทศผู้นำเข้า ภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบให้หลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง

“โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง หลังจากต้องเผชิญกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเมียนมาและเวียดนามเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออก การที่ค่าเงินบาทแข็งกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า ขณะเดียวกันฝ่ายการเมืองพยายามจะปรับขึ้นค่าแรง โดยไม่ฟังเสียงของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ผู้ผลิตระดับ SMEs มีปัญหาธุรกิจมีแต่ทรงกับทรุด หลายจังหวัดประสบปัญหาเหมือนกัน โดยรูปธรรมที่เห็นชัด เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวบริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์ลายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโรงงาน 2 แห่งตั้งอยู่ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ได้มีการบอกเลิกจ้างพนักงานประมาณ 200 คน โดยให้เหตุผลว่า เป็นพนักงานที่ไม่ผ่านการทดลองงาน แต่สาเหตุหลักมาจากยอดการผลิตลดลง ขายไม่ได้ เงินทุนจม จึงต้องปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง

นางอัธยา อ่ำหนองโพ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยว่า มีอัตราว่างงาน 3,000 กว่าคน มีลูกจ้างมาร้องเรียนกรณีถูกเลิกจ้าง 13 กรณี จำนวนแรงงาน 31 ราย

นายสมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดค่อนข้างแย่ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งลดกำลังการผลิต จาก 100% เหลือ 70% แต่ยังไม่มีการปิดตัวของโรงงาน แต่จะเป็นการชะลอตัวของแต่โรงงาน โดยใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือการที่นายจ้างแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว โดยจะจ่ายเงินให้กับพนักงานในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว ร้อยละ 75 ของค่าแรง แต่ในส่วนของการลดจำนวนพนักงานนั้น จะเป็นการให้พนักงานสมัครใจในการลาออก

นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจในจังหวัดขอนแก่นได้รับผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยอดการผลิตลดลง ผู้ประกอบการการลดต้นทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วลดลงกว่า 30% แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตต้องปิดกิจการ

นายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจมีความกังวลอย่างมากจากตัวเลขดัชนีทางด้านเศรษฐกิจทุกตัวปรับลดลงหมด แต่โรงงานในพื้นที่ระยองยังไม่ถึงขั้นปิดตัว ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐล่าช้า โดยเฉพาะเรื่องอีอีซีที่หลายคนมองว่าระยองมีความได้เปรียบกว่าจังหวัดอื่น เพราะภาครัฐทุ่มงบประมาณลงมาดำเนินโครงการต่าง ๆ แต่ในทางปฏิบัติคนในพื้นที่ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวทั้งการลงทุนภาครัฐ และการเข้ามาลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงกรณีนักธุรกิจจีนย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศไทยก็ยังไม่เห็นรูปธรรมในการลงทุนจริง ที่จะส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สะท้อนออกมา ที่ผ่านมามีแต่เห็นโรงงานของต่างประเทศบางแห่งย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไปหาต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าไทย

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจโรงแรมจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ช่วงโลว์ซีซั่นที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนและคนไทยที่ลดลง ส่งผลให้บางโรงแรมมีการให้พนักงาน ลาพักร้อนหยุดไปเลย 1-2 เดือนโดยไม่รับเงินเดือน (leave without pay) เพื่อลดต้นทุนรายจ่ายด้านเงินเดือน เมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจะเรียกพนักงานเหล่านี้กลับมาทำงานต่อ

ส่วนข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า เดือน ก.ค.มีผู้ว่างงาน 4.36 แสนคน

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 3/10/2562 

ผลวินิจฉัยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ปี 2562 รวม 60,713 ราย

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การดำเนินงานผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานประจำปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจำนวน 60,713 ราย โดยข้อมูลในปี 2561 (ม.ค.- ส.ค.) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนจำนวน 56,050 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 4,663 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 8.32

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ขอแนะนำในกรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้าและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2558 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ลักษณะการประสบอันตรายฯ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือ มีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐสามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/10/2562 

ผู้ประกอบการโรงงานร้องนายอำเภอแม่สอดสอบเอ็นจีโอต่างชาติที่ปลุกปั่นแรงงานเมียนมา

วันที่ 2 ต.ค. 2562 ที่ว่าการอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นายธวัชชัย รอดแก้ว เจ้าของโรงงาน และนางอุไรรัตน์ ยะเขียว ผู้จัดการโรงงานแห่งหนึ่งที่ผลิตสายไฟฟ้า ในพื้นที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด เพื่อให้ตรวจสอบ และดำเนินการกับกลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติ ที่ไปยุยงปลุกปั่นแรงงาน สัญชาติเมียนมา ตามสถานประกอบการในอำเภอแม่สอดหลายแห่ง และมีพฤติกรรมข่มขู่แรงงานเพื่อให้ลงนามเรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่นค่าแรง และค่าอื่นๆ ในการกดดันโรงงาน จนลูกจ้างชาวเมียนมาไม่สามารถทำงานได้ ขอลาออก เพราะเกรงว่า จะได้รับอันตราย เนื่องจากกลุ่มเอ็นจีโอดังกล่าวขู่จะร้ายร่างกาย และข่มขืน หากเป็นแรงงานสตรีเพศ

นายธวัชชัย แจ้งว่า เอ็นจีโอกลุ่มดังกล่าว ได้ทำการปลุกปั่นให้ขึ้นค่าแรง และเรียกร้องจนทางโรงงานไม่สามารถปฏิบัติได้ ต้องปิดสถานประกอบการไปแล้ว 4-5 แห่ง จากนั้น จะมีการเรียกร้องขอเงินชดเชยจากสถานประกอบการ ผ่านสวัสดิการแรงงานจังหวัดตาก โดยหวังผลประโยชน์เป็นค่านายหน้า ซึ่งนายชัยพฤกติ์ ได้รับหนังสือไว้ และแจ้งว่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่งหมดประชุมหารือ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่า มีการกระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฏหมายต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/10/2562 

เร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานผู้ถือบัตรคนจน ตั้งเป้า 5 พันรายต่อยอดอาชีพได้อย่างยั่งยืน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะฝีมือจนผู้ถือบัตรฯ สามารถนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบและมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืนได้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ จะสนับสนุนผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ทั้งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบุคคลทั่วไปที่สนใจจะประกอบอาชีพเพื่อให้ได้รับความรู้ทางการเงิน และเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่อเดือนไว้ที่ 0.75% ทั้งนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่ผ่านการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหากต้องการนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ สามารถขอสินเชื่อผู้ใช้แรงงาน สินเชื่อสตรีทฟู้ด สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สินเชื่อ Smart Home Stay หรือ ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น กับธนาคารออมสินได้

สำหรับความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในครั้งนี้ จะมีการดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะเป็นผู้ประกอบการและสมัครขึ้นทะเบียนช่างประชารัฐ กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ 77 แห่ง ซึ่งธนาคารออมสินตั้งเป้าในปี 2562 ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถต่อยอดอาชีพได้จำนวน 5,000 ราย

ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งออกเป็นเพื่อประกอบอาชีพอิสระในสาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ ช่างเชื่อม ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างทำผม เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 270,167 ราย และช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) สาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างปูกระเบี้อง และช่างประปา มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 15,434 ราย รวมทั้งสิ้น 285,601 ราย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้บูรณาการร่วมกับธนาคารออมสินเพื่อการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือสาขาความรู้เบื้องต้นการประกอบธุรกิจสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง โดยนำร่องฝึกอบรมไปแล้วในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 43 ราย และจะขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศจากเป้าหมาย 5,000 ราย ในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะฝีมือ และเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงิน จนสามารถนำไปประกอบอาชีพ รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/10/2562 

'ซีพีเอฟ-ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป' ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุน SeaBOS ในการต่อสู้กับแรงงานทาสยุคใหม่

การเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและปกป้องมหาสมุทรสมาชิกของ SeaBOS จะร่วมกันต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงาน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการต่อสู้กับแรงงานทาสยุคใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองบริษัทปราศจากแรงงานที่ผิดกฎหมาย ในการประชุมประจำปีของ SeaBOS ที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งสองบริษัทแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า "แรงงานทาสยุคใหม่ เป็นความท้าทายระดับโลก ซี่งมีความพยายามร่วมมือเพื่อขจัดให้หมดไป ในการทำงานระหว่างปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง"

"เรามีความก้าวหน้าในการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญในทุกเรื่องเช่น การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้เสีย การประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ เราพร้อมจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับประชาคมโลก และร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้แรงงานทาสยุคใหม่กลายเป็นปัญหาในอดีต"

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า "การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการจ้างแรงงานและการจัดสวัสดิการ ทั้งยังให้การสนับสนุนศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Centre : FLEC) ซึ่งมีการจัดอบรมและกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานประมง ตลอดจนการยึดปฏิบัติตามนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของบริษัท โดยกำหนดเป้าหมาย 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทที่นำมาใช้จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ(Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารย่อยสลายได้ (Compostable) ภายในปี 2568"

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าวว่า "ที่ไทยยูเนี่ยน เรามุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่เรามีวิธีในการดำเนินการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และเรายังมีการดำเนินการตรวจสอบคู่ค้าของเราโดยหน่วยงานจากภายนอก แต่เราทราบดีว่า เราไม่สามารถต่อสู้ปัญหากับปัญหานี้ได้เพียงลำพัง ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราต้องใช้วิธีการความร่วมมือกันและทำงานกับผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง"

ดร. อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวในที่ประชุม SeaBOS เกี่ยวกับ การที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยจากการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนจึงเป็นผลให้เกิดการพัฒนาด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดร. อดิศร กล่าวอีกว่า ใบเหลืองได้ถูกยกเลิกเมื่อต้นปี 2562 แต่อย่างไรก็ดี ใบเหลืองได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการซึ่งปัจจุบันมีการบังคับใช้อยู่ เพื่อลดการทำประมง IUU และการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทย

SeaBOS เป็นองค์กรที่นำนักวิทยาศาสตร์จาก Stockholm Resilience Centre ของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ราชบัณฑิตสภาทางวิทยาศาสตร์ (Royal Academy of Sciences) ของประเทศสวีเดน และบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 บริษัท SeaBOS มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีต่อการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร

การประชุมปีนี้ของ SeaBOS มีไทยยูเนี่ยน และซีพีเอฟ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่องานว่า Global Connectivity – Consolidating and Accelerating Change ผู้ร่วมประชุมตกลงที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงทางวิทยาศาสตร์และภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนยังตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงาน การปรับปรุงการตรวจสอบย้อนกลับของอาหารทะเล และการทำงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนการจัดการการทำประมง

สมาชิกของ SeaBOS ทุกคนได้มีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดการผลกระทบสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุตสาหกรรมอาหารทะเล พร้อมกับการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพจากการรับประทานอาหารทะเลมากขึ้น ซึ่งขณะเดียวกันยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตอาหาร

ที่มา: newswit.com, 1/10/2562 

ยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้าน รุ่นแรก 8 หมื่นคน

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมสบส.กำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาและยกระดับ อสม.ให้เป็นหมอประจำบ้าน ให้สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชน โดยได้จัดทำหลักสูตร อสม.หมอประจำบ้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของ อสม.ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ ไร้รอยต่อ ลดการรอคอย และลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการให้ความรู้ด้านสมุนไพรและการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ก.ย. 2562 นี้

สำหรับหลักสูตร อสม.หมอประจำบ้าน ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ 1.วิชา อสค.และบทบาท อสม.หมอประจำบ้าน 2.วิชาการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ 3.วิชาส่งเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 4.วิชาภูมิปัญญาไทย สมุนไพร และการใช้กัญชาทางการแพทย์ 5.วิชาเทคโนโลยีการสื่อสารทางการแพทย์ โทรเวชกรรม และแอปพลิเคชั่นด้านสุขภาพ และ6.การเป็นผู้นำการสร้างสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อสม.หมอประจำบ้าน ที่ผ่านการอบรมแล้วจะต้องมีหน้าที่ คือสนับสนุนให้มี อสค.ทุกครอบครัวทั้งในกลุ่มที่มีผู้ป่วย ติดบ้านติดเตียง กลุ่มภาวะพึ่งพิวและกลุ่มครบอครัวทั่วไปในละแวกบ้านของอสม. หมอประจำบ้าน เป็นพี่เลี้ยงให้ อสค.ดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคในพื้นที่ ลดโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต อุบัติเหตุ ใช้เครื่องมือสื่อสารและเป็นการแกนในการดูแลสุขภาพ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี แข็งแรง พึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมจะทำการฝึกอบรมครู ก. จังหวัดละ 5 คน ครู.ข.อำเภอละ 2 คน เพื่อให้เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้สู่ อสม. หลังจากนั้นจะเริ่มอบรม อสม. จำนวน 80,000 คน ใช้ระยะเวลาการอบรม 18 ชั่วโมง และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในทุก 6 เดือน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/9/2562 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net