Skip to main content
sharethis

สื่อเอียงซ้ายของสหรัฐฯ สัมภาษณ์นักวิเคราะห์การเมืองที่เติบโตในจีนถึงกรณีการที่เจ้าหน้าที่ทางการยกระดับใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เวลาเดียวกับที่มีการเฉลิมฉลองวันครบรอบ 70 ปีจีนภายใต้คอมมิวนิสต์ โดยระบุว่าความรุนแรงที่เกิดในฮ่องกงอาจจะไม่ถูกยกระดับหนักเท่าการปราบปรามผู้ชุมนุมขนานใหญ่แบบเหตุการณ์ 'เทียนอันเหมิน' แต่การเพิ่มกองกำลังและการข่มขู๋คุกคามของทางการจีนก็น่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังบอกว่าการที่ชาวฮ่องกงชุมนุมนั้นมีสาเหตุในเรื่องความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำอย่างหนักที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย


ที่มาภาพ: wikimedia.org

สื่อเดโมเครซีนาวรายงานว่า ประเทศจีนเพิ่งมีการเดินขบวนสวนสนามกองทัพครั้งใหญ่ที่สุดเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกันก็มีการยกระดับความรุนแรงของตำรวจในฮ่องกงที่มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรกในการประท้วงต่อเนื่องรอบหลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึงมีการจับกุมผู้ชุมนุมหลายคนและตั้งข้อหาจลาจลกับพวกเขา

มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์นี้โดย เควิน ลิน ผู้ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประเด็นจีนจากองค์กรสภาสิทธิแรงงานนานาชาติ (International Labor Rights Forum: ILRF) เขาเป็นคนที่เกิดและเติบโตในจีน เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวด้านแรงงานและภาคประชาสังคมจีนโดยที่เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการประท้วงในฮ่องกงไว้ในสื่อฝ่ายซ้าย

ลินให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเดโมเครซีนาวระบุว่ากรณีการยิงผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริงล่าสุดนั้นถือเป็นการยกระดับความรุนแรงครั้งใหญ่ของตำรวจ โดยที่ผ่านๆ มาตำรวจจีนก็เพิ่มความรุนแรงโดยใช้กำลังเชิงบีบคั้นผู้ชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ทั้งวิธีการจับกุมโดยพลการ ทุบตีทำร้าย และทารุณผู้ประท้วงในที่คุมขัง

อย่างไรก็ตามลินมองว่าการปราบปรามของทางการจีนจะไม่ยกระดับรุนแรงไปถึงขั้นเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินแบบที่ผู้คนหวาดกลัวกันเพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากรวมถึงมีโอกาสทำให้ฮ่องกงสูญเสียสถานะความเป็นพื้นที่กึ่งอิสระจากจีนและสูญเสียเสรีภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตามการเพิ่มกองกำลังของจีนและการข่มขู่คุกคามก็น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ลินยังพูดถึงเรื่องสงครามข้อมูลข่าวสารจากทางการจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่พยายามควบคุมเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง การรายงานข่าวอย่างอิสระในฮ่องกงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย มีสื่อที่ผู้ชมรับชมได้แหล่งเดียวเท่านั้นคือสื่อของรัฐบาลซึ่งสื่อรัฐบาลก็ไม่ให้ข้อมูลใดๆ ต่อเรื่องบริบทหรือสาเหตุของการชุมนุมเลย นั่นทำให้มีบรรยากาศชาตินิยมมากขึ้นในหมู่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่และทำให้พวกเขามีความเป็นปฏิปักษ์ต่อการประท้วงในฮ่องกง

ลินบอกว่าถึงแม้จะมีความกังวลเรื่องอิทธิพลของสหรัฐฯ และอังกฤษ หรือเรื่องการต่อต้านการปฏิวัติซึ่งเป็นความกังวลที่เขามองว่า "ชอบธรรม" แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการประท้วงในฮ่องกงเองถือเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนหมู่มากที่มีความชอบธรรมอย่างมาก และถึงแม้จะพยายามขอการสนับสนุนจากชาติตะวันตกแต่การเคลื่อนไหวของชาวฮ่องกงก็มีพลวัติทางการเมืองและพัฒนาการในตัวมันเอง

ในเรื่องต่อมาที่ลินให้สัมภาษณ์ต่อเอมี กู้ดแมน พิธีกรรายการข่าวของเดโมเครซีนาวคือเรื่องอิทธิพลของสีจิ้นผิงผู้นำคนปัจจุบันของจีน โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าสีจิ้นผิงเป็นที่นิยมเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน แต่ลินก็บอกว่าเรื่องนี้ถูกแค่ส่วนเดียว ลินวิเคราะห์ว่าที่่สีจิ้นผิงได้รับความนิยมในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเพราะสไตล์ของเขาและการตอกย้ำเรื่องการพยายามทำให้จีนส่งอิทธิพลต่อทั้งภายในภูมิภาคและต่อโลก

ชาวฮ่องกงประท้วงเพราะต้องการต่อต้านความไม่เท่าเทียม

การประท้วงในฮ่องกงส่งผลให้เกิดการถกเถียงในหมู่ฝ่ายซ้ายโลกตะวันตกที่ฝ่ายซ้ายอำนาจนิยมบางส่วนมักจะกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นพวกกลุ่มที่ต้องการต่อต้านการปฏิวัติคอมมิวนิสต์และเป็นลิ่วล้อคนรวย ขณะที่ฝ่ายซ้ายโลกตะวันตกสายเสรีนิยมจะสนับสนุนผู้ชุมนุมมากกว่า

อย่างไรก็ตามจากคำสัมภาษณ์ลิน เขาบอกว่าสาเหตุที่ชาวฮ่องกงประท้วงเพราะต้องการต่อต้านความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นอย่างหนักในระบบปัจจุบัน บวกกับปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นการที่คนรุ่นเยาว์ไม่มีทุนทรัพย์มากพอในการเป็นเจ้าของบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยของตนเอง อนาคตเกี่ยวกับหน้าที่การงานดูมืดมน ลินเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่งอิทธิพลให้เกิดการประท้วงในฮ่องกง

ฮ่องกงในฐานะที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษมาหลายร้อยปีถูกจัดวางให้เป็นท่าเรือพาณิชย์และเป็นศูนย์กลางการเงินในเวลาต่อมา เรื่องนี้ส่งผลให้กลุ่มทุนการเงินและผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีอำนาจมากมายมหาศาล ทำให้ฮ่องกงมี "ความเหลื่อมล้ำสูงสุดในลักษณะเฉพาะตัว" ซึ่งจากการสำรวจของอ็อกแฟมระบุว่าฮ่องกงมีระดับความเหลื่อมล้ำสูงสุดในรอบ 45 ปีที่ผ่านมา

อีกข้อโต้แย้งหนึ่งที่ซ้ายอำนาจนิยมในตะวันตกมักจะอ้างต่อต้านผู้ชุมนุมฮ่องกง คือการที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนถือธงชาติสหรัฐฯ และธงอาณานิคมอังกฤษ ทำให้มีการกล่าวหาว่าพวกเขารับอิทธิพลตะวันตก ลินกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าจริงอยู่ที่มีคนบางกลุ่มในกลุ่มผู้ประท้วงที่หลากหลายที่ต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ในระยะยาวแล้วการขอการสนับสนุนแบบนี้จะไม่ทำให้เกิดความก้าวหน้า อย่างไรก็ตามเขาก็เข้าใจว่ามันเป็นความรู้สึกแบบไร้หนทางอื่นในการจะต่อกรกับรัฐบาลจีนและฮ่องกงที่ร่วมมือกันแล้วมีอำนาจมาก

กระนั้นการที่อ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้รับอิทธิพลจากตะวันตกก็ไม่เป็นความจริง เพราะถึงแม้จะมีการที่ทูตประเทศตะวันตกเข้าพบแกนนำเยาวชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยบางคน แต่คนเหล่านั้นก็เป็นแกนนำตั้งแต่สมัยขบวนการร่มปี 2557 พวกเขาไม่มีส่วนในการเคลื่อนขบวนใดๆ ในการประท้วงปัจจุบัน แค่สนับสนุนการประท้วงนี้เท่านั้น

นอกจากนี้ลินยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนเริ่มมีการกดขี่ข่มเหงนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองมากขึ้นหลังจากที่สีจิ้นผิงเข้ามาเป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มการเคลื่อนไหวหลายประเด็นที่ถูกปราบปรามไม่ว่าจะเป็น กลุ่มแรงงาน กลุ่มสตรีนิยม กลุ่มคนที่ต่อต้านการเหยียดอัตลักษณ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพทางศาสนา มีการข่มเหงปราบปรามกลุ่มคนเหล่านี้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้ชาวฮ่องกงกลัวว่าการข่มเหงปราบปรามเหล่านี้จะแผ่ขยายมาถึงฮ่องกงด้วย

เรื่องนี้ทำให้ผู้คนแปลกใจที่ทำไมชาวฮ่องกงถึงออกมาเคลื่อนไหวมหาศาลขนาดนี้เพราะผู้คนมักจะมองว่าฮ่องกงโดยเฉพาะคนรุ่นเยาวเป็นคนที่ไม่สนใจการเมืองแต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่จริง มันแสดงให้เห็นว่าผู้คนในฮ่องกงมีส่วนร่วมอย่างมากในการพยายามต่อต้านปฏิบัติการของรัฐบาลจีนที่ไร้ความชอบธรรมออกไป


เรียบเรียงจาก
Hong Kong Youth Face Military Crackdown While Fighting “One of the Most Unequal Societies Anywhere”, Democracy Now!, 02-10-2019
https://www.democracynow.org/2019/10/2/hong_kong_protests_chinese_militarization

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net