Skip to main content
sharethis


คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา (แฟ้มภาพ)

5 ต.ค. 2562 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง 'ขอเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมคลี่ปมเบื้องหลังกรณีผู้พิพากษายิงตัวเอง' โดยระบุว่าตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่านายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองบนบัลลังก์ศาล พร้อมกับมีการเผยแพร่ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว และคำแถลงความเพื่อฟ้องสาธารณชนว่า ตนถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา ให้เปลี่ยนคำตัดสินคดีสำคัญคดีหนึ่ง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันของสังคมไทยในขณะนี้นั้น

การกระทำดังกล่าวอาจไม่เคยมีปรากฎในกระบวนการพิพากษาอรรถคดีต่างๆในองค์กรตุลาการของไทยมาก่อน อันอาจเนื่องมาจากสังคมไทยให้ความยำเกรงและเคารพในความเที่ยงตรงของศาลสถิตย์ยุติธรรมมาอย่างยาวนาน แม้ข้อเท็จและข้อจริงอาจจะไม่สามารถไปด้วยกันได้ก็ตาม

คดีที่ผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง พบ 'ศรีวราห์' เคยลงไปแถลงจับกุมปี 61 - กอ.รมน.ยันไม่เคยแทรกแซง
เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน
ศาลยะลา : 'ผู้พิพากษา' ยิงตัวเองสาหัส หลังลงจากบัลลังก์ พิจารณาคดี

แต่บัดนี้เสียงกระสุนปืน 1 นัดที่ศาลจังหวัดยะลา ได้ปลุกให้สังคมไทยหันมาเพ่งมองระบบการพิจารณาอรรถคดีต่างๆในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมีข้อสงสัยว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ม.188 วรรคสอง ที่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดยะลานั้น สะท้อนความจริงอีกมุมหนึ่งว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีจริงหรือ หรือกระบวนการยุติธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายและคำพิพากษาได้ หากผู้บังคับบัญชาของศาล นักการเมือง และผู้มีบารมีชี้ธงให้ศาลพิพากษาตามที่ตนต้องการ ใช่หรือไม่ ? เมื่อข้อสรุปในคำแถลงของท่านคณากร เพียรชนะ ได้ระบุไว้ชัดว่าต้องส่งคำตัดสินคดีให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าคนหนึ่งพิจารณา ซึ่งตนยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่ภายหลังกลับมีบันทึกส่งมาให้ตนเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา แต่ถ้าหากไม่ทำ ก็ให้ทำหนังสือส่งไปอธิบายว่าทำไมถึงไม่ทำ

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรีบตั้งเรื่องเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องของท่านคณากร เพียรชนะ คือ 1)ให้ออกกฎหมายห้ามแทรกแซงการพิพากษา และห้ามให้มีการตรวจคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และ 2)ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ส่วนท่านประธานศาลฎีกาและหรือสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบและลงโทษเอากับผู้ที่มีพฤติการณ์แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาในกรณีดังกล่าวและสั่งให้มีการตรวจสอบ รื้อฟื้นคดีต่าง ๆ ที่สังคมมีข้อสงสัยว่ามีคำพิพากษาที่อาจขัดต่อหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหลาย ๆ อรรถคดีทั่วประเทศ ให้สมกับม๊อตโต้ของท่านคณากรที่ได้ฝากทิ้งท้ายถึงประชาชนคนไทยที่รักความยุติธรรมทุกคนว่า "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net