Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เชื่อมาโดยตลอดตามที่ได้เรียนหนังสือกันมาว่า กระบวนการยุติธรรม (โดยเฉพาะศาลยุติธรรม ) ไม่อาจถูกแทรกแซงได้  

แต่จากตามที่เป็นข่าวสังคมโดยส่วนรวมอาจมีความเห็นไปแล้วว่า การทำคำพิพากษาของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นอาจถูกแทรกแซงโดยอธิบดีผู้พิพากษา

เรื่องนี้จะมีการแทรกแซงทางการทำคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษา ได้จริงหรือไม่ มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้ 

1. ผลของคำพิพากษา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้าตามความเห็นของตน ไม่ได้ทำตามความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษาคือ ลงโทษจำเลยที่ 1,3,4 ประหารชีวิต ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2,5 ตลอดชีวิต  

2. ความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษา ที่ต้องการให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทำคำพิพากษาใหม่ตามความเห็นของตน อธิบดีผู้พิพากษาทำความเห็นเป็นหนังสือ “ ลับ” ซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรตอบโต้กันไปมาระหว่างอธิบดีผู้พิพากษากับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน หากต้องการแทรกแซงและต้องการทำให้เรื่องเป็นความลับจริง การใช้วิธีการเรียกให้เข้าพบพูดคุยย่อมจะดีกว่าที่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีหลักฐาน นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่า มีผู้พิพากษาที่อาวุโสสูงกว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทำความเห็นเช่นเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษา

3. พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 บัญญัติว่า ”...อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น...มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้นหรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ “ เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงว่า กฎหมายให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาสามารถทำความเห็นแย้งกับคำพิพากษาของผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นได้เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจอธิบดีในการสั่งให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทำคำพิพากษาตามความเห็นแย้งของตนได้ (เหตุที่กฎหมายอนุญาตให้มีการทำความเห็นแย้งโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาคนั้น ก็เพื่อต้องการให้ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาถึง แง่มุมหรือประเด็น ที่เห็นต่างไปจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เพราะคดีที่มีการทำความเห็นแย้ง จะเป็นคดีสำคัญหรือคดีที่มีอัตราโทษสูงเช่น คดีประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ความเห็นแย้งก็ไม่ผูกมัดให้ศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษาตามความเห็นแย้ง เพียงแต่เป็นประเด็นแง่มุมที่ศาลอุทธรณ์ใช้ประกอบดุลพินิจในการทำคำพิพากษาเท่านั้น) แม้หากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่เห็นด้วยกับความเห็นแย้งของของอธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนก็สามารถทำคำพิพากษาต่างไปจากความเห็นแย้งได้โดยได้ความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องความอิสระในการทำคำพิพากษา

4.อำนาจในการให้คุณให้โทษหรือสั่งย้ายผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น กระทั่งออกจากราชการ (ไม่ได้รับบำเหน็จ) เป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ 2561 อธิบดีผู้พิพากษาไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษเช่นนั้นแก่ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตน แม้ประธานศาลฎีกาก็ไม่อาจกระทำได้ 

5.เจ้าของสำนวนยังไม่ได้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือถูกสั่งย้ายออกจากพื้นที่ โดยผลของคำสั่งจากการไม่ทำคำพิพากษาตามความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษา

หรือเรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงความเห็นต่างใช่การแทรกแซง

หากมองในเเง่อุดมการณ์ของท่าน ย่อมน่าชื่นชม หากมองในวิธีการของท่าน เราไม่ควรยกย่อง 



ข้อควรรู้ การด่าหรือถล่ม ผู้เขียนอย่างมีเหตุผล ผู้นั้นจะถือเป็นคนสุภาพครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net