อิรักประท้วงเศรษฐกิจ-คอรัปชันหลายเมือง ปะทะเจ้าหน้าที่ตาย 73

ในอิรักมีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศซึ่งมีคนเข้าร่วมหลายพันคนทั่วประเทศ พวกเขาแสดงความไม่พอใจเรื่องปัญหาการว่างงาน ระบบสวัสดิการสังคม และการทุจริตคอรัปชันของรัฐบาล อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมก็ถูกปราบปรามทั้งจากกระสุนจริง กระสุนยาง ปืนน้ำ และแก็สน้ำตา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 73 ราย

ภาพการชุมนุมในอิรัก (ที่มา:Youtube/VOA News)

5 ต.ค. 2562 ที่ประเทศอิรักมีการประท้วงทั่วประเทศเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ สวัสดิการและการคอรัปชันของรัฐบาล ฝ่ายนายกรัฐมนตรี อเดล อับดุล มาห์ดี ผู้ที่เป็นเป้าหมายถูกประท้วงต่อต้านในครั้งนี้แถลงผ่านโทรทัศน์เรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ เขาบอกว่าเขาเข้าใจเรื่องความไม่พอใจของประชาชนแต่ก็ไม่มี "เวทย์มนตร์ที่ใช้แก้ไขปัญหา" หลายๆ ปัญหาในอิรักได้ มาห์ดีบอกอีกว่าเขาสัญญาว่าจะมีการปฏิรูป ซึ่งผลคือทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกรังเกียจ

เดอะการ์เดียนก็รายงานว่าการประท้วงมีการยกระดับความรุนแรงมากขึ้นหลังจากวันเริ่มชุมนุมเมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งการประท้วงในอิรักลุกลามไปทั่วประเทศโดยที่ไม่มีกลุ่มทางกาารเมืองใดๆ เป็นผู้หนุนหลังสร้างความแปลกใจให้กับฝ่ายรัฐบาล

 

 

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยิงกระสุนจริงใส่ฝูงชนที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม ขณะที่ผู้มีอาวุธปืนบางคนก็ยิงโต้ตอบกลับเป็นครั้งคราว ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายร้อยคนทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม มีข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตจากหลายเมืองไม่ว่าจะเป็นในเมืองหลวงกรุงแบกแดด เมืองบาคูบาทางตอนเหนือของเมืองหลวง และในอีกหลายเมืองทางตอนใต้ของประเทศ เช่น เมืองนาสิริยา เมืองอมรา เมืองฮิลลา เมืองนาจาฟ ในวันนี้ (5 ต.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิรักรายงานแล้วว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิต 73 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 6 ราย บาดเจ็บกว่า 3,000 คน

โดยที่ทั้งผู้ชุมนุมและคนทำงานโรงพยาบาลต่างก็ให้ข้อมูลว่าจำนวนตัวเลขผู้สูญเสียมีสูงกว่าที่ได้รับการเปิดเผย และทางรัฐบาลก็ใช้กองกำลังติดอาวุธหนักร่วมกับตำรวจและหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย มีผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าเขาพบว่ามีการใช้ปืนกลยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

มีการประกาศเคอร์ฟิวในหลายเมือง และทางการอิรักก็ปิดถนนทางเข้ากรุงแบกแดดในทางทิศเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีการส่งกำลังเสริมไปยังพื้นที่ๆ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมากในทางตะวันออกของกรุงแบกแดด รวมถึงมีการส่งกองกำลังทหารไปที่เมืองนาสิริยาที่เกิดเหตุรุนแรงหนักที่สุดด้วย

ผู้ชุมนุมรายหนึ่งตะโกนบอกสื่อโทรทัศน์ที่ถ่ายทำอยู่ว่า "พวกนั้นยิงกระสุนจริงใส่ประชาชนชาวอิรักและนักปฏิวัติ พวกเราจะสามารถข้ามสะพานและนำพวกเขาออกมาจาก 'กรีนโซน' ได้"

กรีนโซนที่ผู้ชุมนุมรายนี้พูดถึงนั้นหมายถึงย่านที่เป็นศูนย์กลางรัฐบาลอิรัก เป็นแหล่งของสถานทูตต่างๆ ของสหรัฐฯ กับชาติตะวันตกอื่นๆ รวมถึงเป็นสำนักงานของบริษัทรับเหมาทางการทหาร โดยที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงเพื่อขับไล่ให้ผู้ชุมนุมออกจากจัตุรัสทาร์รีย์ในกรุงแบกแดดและสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่ย่านกรีนโซน นอกจากนี้กองทัพยังใช้กำลังจากหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมที่พยายามบุกเข้าไปในสนามบินกรุงแบกแดดด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการประท้วงในครั้งนี้เกิดขึ้นช่วงก่อนวันเทศกาลแสวงบุญ 'อาบาอีน' (Arba'een Pilgrimage) ของชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ที่มีผู้เข้าร่วมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 20 ล้านคน ที่มีจำนวนมากกว่าพิธีฮัญจ์ที่กรุงเมกกะ บรรยากาศในช่วงเช้าวันที่ 4 ต.ค. ก่อนการละหมาดวันศุกร์เป็นไปอย่างสงบมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้เว้นแต่มีเหตุที่ตำรวจยังคงยิงกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มเล็กๆ เพื่อสลายการชุมนุมของพวกเขา

การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลอิรักเพราะมาจากกลุ่มอิสลามนิกายชีอะฮ์ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรครัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีอำนาจมากว่า 16 ปี หลังจากที่สหรัฐฯ ทำสงครามกับอิรักจนเกิดการโค่นล้มซัดดัมแต่ก็ล้มเหลวในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างน้ำประปาและไฟฟ้า ในขณะที่ความมั่งคั่งจากการค้าน้ำมันกลับไปเข้ากระเป๋าบรรษัทข้ามชาติและเหล่าลิ่วล้อในประเทศ

การประท้วงในครั้งนี้มาจากความไม่พอใจสภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นเยาว์ที่ต้องเผชิญกับการว่างงานร้อยละ 22 มีนักศึกษามากกว่า 30,000 คนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานทุกปีแต่ก็ไม่มีงานให้ทำ โดยก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงในระดับที่เล็กกว่าเมื่อเดือน ก.ย. ที่่ผ่านมา มีกลุ่มนักศึกษาเรียนจบแล้วหลายร้อยคนนั่งปักหลักประท้วงหน้ากระทรวงพลังงานน้ำมันของอิรักเรียกร้องให้มีการจ้างงาน นอกจากเรื่องนี้แล้วผู้คนโดยมากยังไม่สามารถทนอยู่กับรัฐบาลกระฎุมพีจอมทุจริตได้อีกต่อไป

ทั้งนี้เว็บไซต์เวิร์ลโซเชียลลิสต์วิเคราะห์ว่าการประท้วงล่าสุดในอิรักเป็นหนึ่งใน "การต่อสู้ทางชนชั้น" ที่ผุดขึ้นมาอีกครั้งในตะวันออกกลาง โดยยกตัวอย่างกรณีใกล้เคียงกันคือการประท้วงในเลบานอนเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาซึ่งมีการประสานเสียงคำขวัญว่า "ทุนนิยมจงพินาศ" และ "ประชาชนต้องการให้ระบอบนี้ล่มสลาย" ซึ่งเป็นคำขวัญที่ชาวอียิปต์ใช้ประท้วงโค่นล้มเผด็จการที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ อย่าง ฮอสนี มูบารัก ในปี 2554

เรียบเรียงจาก

Iraq protests: All the latest updates, Aljazeera, Oct. 5, 2019

Iraqi cleric appeals for calm as forces face off with protesters, The Guardian, Oct. 4, 2019

Iraqi protesters gunned down as demonstrations and strikes spread across Middle East, World Socialist Web Site, Oct. 3, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท