ผลวิจัยชี้ประชากรสิทธิบัตรทองมีอัตราป่วยลดลง เหตุเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น

อาจารย์แพทย์ ม.วลัยลักษณ์ เผยผลวิจัยชี้ชัด ประชากรสิทธิบัตรทอง อัตราป่วยลดลงหลังเปรียบเทียบประชากรกลุ่มสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ เหตุเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ด้านสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีอัตราขยับเพิ่มต่ำกว่ากลุ่มประชากรกลุ่มอื่น 1 พันบาท/เดือน เหตุจากปัจจัยเหลื่อมล้ำอื่นนอกระบบสุขภาพ

6 ต.ค. 2562 ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงการศึกษาวิจัย “ผลทางเศรษฐกิจของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีศึกษาโครงการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ว่า การศึกษานี้ได้แนวคิดมาจากงานวิจัยในต่างประเทศที่มีข้อมูลว่าการลงทุนด้านสุขภาพมีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศหรือจีดีพีที่เป็นรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยในส่วนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อดูผลที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสุขภาพและรายได้ของประชาชน

เบื้องต้นการศึกษาได้ตั้งสมมติฐานของผลที่เกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 2 ส่วน คือ ระบบบัตรทองได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิมีสุขภาพดีขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันการมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนที่ได้รับสิทธิบัตรทองส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจาก ผู้ที่มีสุขภาพดีขึ้นย่อมมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น 

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่ากระบวนการศึกษาวิจัยเป็นการการเปรียบเทียบและประเมินผลใน 2 กลุ่มประชากร คือ กลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นที่มีมาก่อน อาทิ สิทธิประกันสังคม สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลผลสำรวจประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการประเมินผล เปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง 2 ปี คือ ปี 2544 ซึ่งเป็นปีก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปี 2556 หลังดำเนินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นปีที่ข้อคำถามในการสำรวจข้อมูลสุขภาพและรายได้ใกล้เคียงกับปี 2544 มากที่สุด

เมื่อดูอัตราการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโดยนำมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น พบว่า “กลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในทางที่ดีมากกว่ากลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น” ทั้งในกลุ่มประชากรอายุ 0-20 ปี เป็นกลุ่มเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอัตราความเจ็บป่วยยิ่งลดลง โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ตอบว่าป่วยในช่วง 2-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาดีกว่ากลุ่มประชากรที่ใช้สิทธิสวัสดิการอื่นๆ ร้อยละ 18 ขณะที่กลุ่มประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีอัตราความเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ตอบว่าป่วยในช่วง 2-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาดีกว่าประชากรที่ใช้สิทธิสวัสดิการอื่นๆ ร้อยละ 10 ที่เป็นผลจากการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นผลการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า ประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นโดยเปรียบเทียบเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในสิทธิอื่น

ส่วนสมมติฐานในเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาที่ได้ไม่ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ จากข้อมูลพบว่าประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอัตราการเพิ่มของรายได้ต่ำกว่าประชากรสิทธิรักษาพยาบาลในสวัสดิการอื่นประมาณ 1,000 บาท/เดือน และเมื่อเปรียบเทียบรายได้โดยเฉลี่ยพบว่ามีรายได้ที่ต่ำกว่าประชากรสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการอื่นๆ ประมาณ 3,000 บาท/เดือน สรุปได้ว่าประชากรที่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีอัตราและสัดส่วนของรายได้ที่ต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่มีสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการอื่น

“ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรที่มีสิทธิรักษาพยาบาลทั้ง 2 กลุ่ม อาจจะอธิบายได้ว่าเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำของสังคมในมิติอื่น นอกระบบสุขภาพ เช่น เศรษฐกิจ อาชีพ เป็นต้น ประกอบกันในกลุ่มที่มีสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการอื่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราชการและพนักงานเอกชน ต่างจากกลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ จึงทำให้รายได้ระหว่างกลุ่มประชากรยังมีความแตกต่าง แม้ว่าจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นก็ตาม” 

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ผลจากการศึกษานี้เป็นข้อมูลที่เปรียบเทียบลงไปในระดับประชากร ซึ่งในส่วนผลหลักประกันสุขภาพที่เกิดกับรายได้นั้น หากจะให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน จะต้องทำการศึกษาที่แยกกลุ่มรายได้เพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นส่วนที่สามารถต่อยอดหลังจากนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปหลักประกันสุขภาพทีมีต่อรายได้ประชากรที่ชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท