Skip to main content
sharethis

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ม.รังสิต ชี้สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจนขึ้น มาตรการชิมช้อปใช้เฟสสองและมาตรการต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ผ่านสภา ต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุนและสร้างงาน ปรับโครงสร้างภาคการผลิต ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน 


ที่มาภาพประกอบ: Wutthichai Charoenburi (CC BY 2.0)

6 ต.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมิน สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยชัดเจนขึ้น ตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐฯและอียูชะลอตัวลงชัดเจน ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 47.8 ในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 จากระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะการหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ภาคการผลิตของสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะหดตัวในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 35 เดือน การขยายตัวของการจ้างงานในสหรัฐฯ ก็ลดลงอย่างชัดเจน 

ส่วนทางอียูนั้นดัชนีภาคการผลิตของเกือบทุกประเทศล้วนอยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนถึงการหดตัว ภาคการผลิตของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 41.7 ในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2552 จากระดับ 43.5 ในเดือน ส.ค. โดยดัชนีพีเอ็มไอยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของเยอรมนี ยังคงเผชิญภาวะหดตัว โดยเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลงของการจ้างงาน ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2553 และปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 มีเพียงไม่กี่ประเทศในอียู เช่น ฝรั่งเศสที่ตัวเลขภาคการผลิตอยู่สูงกว่า 50 แต่ก็ขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพราะดัชนีพีเอ็มไออยู่ที่ 50.1 ขณะที่ Brexit จะเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและอียูเพิ่มเติม 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นดัชนีภาคการผลิตของจีนยังขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแต่ปีนี้เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวไม่ถึง 6% การลงทุนของต่างชาติลดลงย้ายฐานไปประเทศอื่น หลบผลกระทบสงครามการค้าจีนสหรัฐยืดเยื้อ มีผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นล่าสุด บ่งชี้ว่า บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นจำนวนมากเตรียมปรับโครงสร้างเครือข่ายการจัดหาระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานใหม่ ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่น 1,000 แห่งที่เข้าไปทำธุรกิจในจีน พบว่า 23% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าควรลดการลงทุนในจีนในช่วงที่สหรัฐและจีนกำลังมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ริโก้ ผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร ได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศไทย เช่นเดียวกับบริษัทเซรามิคส์ และเคียวเซรา ที่ย้านฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม ฟาสต์รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าลำลองยี่ห้อยูนิโคล่ เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเวียดนาม นินเทนโด (บริษัทผลิตเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น) และบริษัทฟ๊อกซ์คอน (บริษัทไต้หวัน) ก็วางแผนย้ายออกจากจีนเช่นเดียวกัน ซัมซุงจะปิดโรงงานผลิต Smart Phone ในจีนเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองกำลังหามาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้บรรษัทข้ามชาติคงใช้จีนเป็นฐานการผลิตต่อไป 
 
จากการรวบรวมข้อมูล ตัวเลขและการคาดการณ์จากสำนักวิจัยชั้นนำของโลกหลายแห่งโดยสรุป พบว่า ผลกระทบสงครามทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตอาจทำให้จีดีพีของเศรษฐกิจโลก ลดลง 0.6% ผลผลิตจากภาคการผลิตของจีนจะลดลง 1.6% ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐที่แท้จริงจะลดลง 1.1% ตัวเลขการลงทุนโครงการใหม่ทั้งระบบช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่บรรษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ลดลงเหลือเท่าระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพร์มสหรัฐ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ เปิดเผยอีกว่าการปะทุของข้อพิพาททางการค้าจากประเด็นการตัดสินขององค์การการค้าโลกกรณีแอร์บัส ทำให้ความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯอียูรุนแรงขึ้น กระทบการค้าโลกปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า โดยปีนี้การค้าโลกอาจเติบโตแค่ 1.2% (เป็นการปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมของ WTO ค่อนข้างมาก เดิมคาดการณ์การค้าโลกขยายตัว 2.6% ปรับลดลงถึง 1.4%) หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์จากแอร์บัสตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการของ WTO คาดว่า อียูต้องยกเลิกมาตรการการให้การอุดหนุนแอร์บัสหรือคงจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าหลายประเภทตอบโต้สหรัฐฯ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับอียูจะมีแรงกดดันต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยเพิ่มเติม 

นอกจากนี้มาตรการชิมช้อปใช้เฟสสองและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลขณะนี้ไม่เพียงพอต่อการรับมือการชะลอตัวและถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ผ่านสภาต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเพื่อการลงทุนและสร้างงาน ปรับโครงสร้างภาคการผลิต ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน จัดสรรงบประมาณและทรัพยากรใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบโจทย์อนาคตสังคมไทย ควรทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากยอดขาดดุลอีกอย่างน้อย 30-50% หรือปรับลดงบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยโยกงบประมาณจัดซื้ออาวุธมาใช้ในการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงานใหม่ๆแทนและดูแลความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชนแทน ขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างนิติรัฐนิติธรรมเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศและความมั่นใจต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net