Skip to main content
sharethis

6 ตุลาฆ่าแล้วครอบ – 43 ปี 6 ตุลา นอกจากเตือนสติว่า การให้ร้ายป้ายสี ปลุกความเกลียดชัง ทำลายคนเห็นต่าง ยังไม่หายไปไหน เป็นวิธีการเดิมๆ ที่ใช้อยู่ตลอด เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายอนุรักษนิยม

6 ตุลา 2519 ยังเป็น “ตลกร้าย” ในแง่ที่เป็นประวัติศาสตร์ซึ่งถูกลืม ถูกปิดบังไว้หลายสิบปี คนรุ่นถัดมาแทบไม่รู้ว่าเคยมีการเข่นฆ่าอย่างโหดร้าย กลางเมืองไทยเมืองพุทธ เห็นแต่บ้านเมืองสงบสุข ก็คิดว่าเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมี “เมตตาธรรม”

จนกระทั่งมาเกลียดนักการเมือง เกลียดแม้ว เกลียดม็อบเสื้อแดง ออกใบอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงปี 53 แล้วช่วยกันบิ๊กคลีนนิ่ง จึงรู้ว่าอ้าว บรรพบุรุษไทยก็เคยทำมาแล้วที่สนามหลวง

ว่าที่จริง การ “ฆ่าแล้วสวด” คือกำจัดเสี้ยนหนามอย่างโหดร้าย อยุติธรรม ยึดอำนาจได้แล้วสอนศีลธรรม ก็ทำกันมาทุกยุคสมัย เช่น ใส่ร้าย อ.ปรีดี รัฐประหาร 2490 ยิงทิ้ง 4 อดีตรัฐมนตรี จนรัฐประหาร 2500 ที่เพิ่มคำอวดอ้างว่าเผด็จการทำให้น้ำไหลไฟสว่าง

เพียงแต่หลัง 6 ตุลา อาจซับซ้อนหน่อย เพราะรัฐบาลหอยโดน พล.อ.เกรียงศักดิ์รัฐประหารซ้อน แล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์โดนยังเติร์กโค่น ชู พล.อ.เปรมมาเป็นผู้นำประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทำให้สังคมไทยดูดีขึ้น จนบางคนปลาบปลื้มไม่อยากเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

หารู้ไม่ว่ามันเป็นพัฒนาการต่อเนื่องกัน คือหลังเผด็จการทหารยาวนาน เกิด 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ไม่ได้หมายความแค่การเลือกตั้ง แต่เกิดสหพันธ์ชาวนา เรียกร้องให้ลดค่าเช่า เกิดสหภาพแรงงาน เรียกร้องค่าแรงสวัสดิการ เกิดการเคลื่อนไหวของนักเรียน ที่ไม่ต้องการให้ครูบังคับเสื้อผ้าหน้าผม ขณะที่ประชาชนก็ตื่นตัว ไม่ยอมรับว่าข้าราชการทหารตำรวจเป็น “เจ้าคนนายคน” อีกต่อไป

6 ตุลา “ขวาพิฆาตซ้าย” แต่ความเป็นจริง ขบวนการนักศึกษาไม่ได้เกิดจากฝ่ายซ้าย ความคิดเรื่องเสรีภาพประชาธิปไตย ได้อิทธิพลจากยุโรปอเมริกา ยุคซิกซ์ตี้ ยุคบุปผาชน ต่อต้านสงครามเวียดนาม การเดินขบวนของนักศึกษาฝรั่งเศส ฯลฯ

จนระยะหลังที่ร่วมเรียกร้องกับกรรมกรชาวนา ขบวนการนักศึกษาจึงเริ่มมีอุดมการณ์สังคมเป็นธรรม มีแนวโน้มไปสู่สังคมนิยม แต่ถ้าไม่เกิดการเข่นฆ่า ก็คงไม่มีใครเข้าป่าจับปืน

ชนชั้นนำอนุรักษนิยมไม่สามารถรับมือกับความตื่นตัวของประชาชนได้ ทั้งกระแสประชาธิปไตย กระแสสังคมนิยม ความหวาดกลัวประเทศไทยจะกลายเป็นโดมิโน ต่อจากอินโดจีน จึงก่อการเข่นฆ่า ซึ่งชัดเจนว่าจงใจ ไตร่ตรองไว้ก่อน เอาถนอมบวชเณรเข้ามาจุดชนวน แม้ไม่เกิดการแต่งภาพละครแขวนคอ ก็จะหาเหตุอื่นอยู่ดี

รัฐประหาร 6 ตุลา ไม่เพียงฆ่าคนอย่างโหดร้าย ยังต้องการ “ฆ่าความคิด” ไม่ว่าความคิดเรื่องความเป็นธรรม การเรียกร้องสิทธิต่างๆ ไปจนความคิดเสรี อย่างที่โลกตะวันตกยุคนั้นเปิดกว้าง เสรีภาพ เสมอภาค ทางเพศ ผิว ชาติพันธุ์ การฟอกล้างความคิดความเชื่อเก่าๆ ศาสนา พิธีกรรม

พูดอีกอย่าง ชนชั้นนำอนุรักษนิยมในยุคนั้นไม่ใช่เพียงกลัวคอมมิวนิสต์ แต่ยังกลัวความคิดใหม่ๆ ในยุค “แสวงหา” ของโลกตะวันตก ซึ่งเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่ากัน

หลังจากเข่นฆ่า รัฐประหาร ปิดกั้นความคิดใหม่ ฟื้นความคิดจารีต ปูพรมผ่านระบบการศึกษา และกลไกวัฒนธรรม จนควบคุมสมองคนไทยได้ ก็พอดีโลกเปลี่ยน ทางการเมืองเริ่มหมดยุคสงครามเย็น ทางเศรษฐกิจเข้าสู่เสรีนิยมใหม่ ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ทำให้ไทยโชติช่วงชัชวาล

คนชั้นกลางไทยเติบโต เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบเร่งรีบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จบมหาวิทยาลัยวัยหวานก็ออกมาทำอาชีพ ซื้อรถ ผ่อนบ้านจัดสรร แบบบ้านแทบจะเหมือนกัน ดูละครหลังข่าวเรื่องเดียวกัน อยู่ใต้แบบแผนความคิดเดียวกัน ขณะที่อำนาจอนุรักษนิยมหลังตั้งหลักได้ ก็เปิดรับความคิดใหม่ที่ไม่เป็นภัย เช่น การยอมรับเพศที่สาม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง รู้จักเข้าคิว ฯลฯ กลายเป็นบุญคุณอีกต่างหาก

ปัดโธ่ ขนาดรัฐประหาร 2534 ยังรู้จักอุทิศวิทยุทหาร จส.100 ให้เป็นสื่อจราจรของคนกรุง

นั่นคือวิธีการของอำนาจอนุรักษนิยมในอดีต ฆ่าทิ้งก่อน ใช้อำนาจกวาดล้างก่อน แล้วครอบงำสังคมอย่างแยบคาย อาศัยวัฒนธรรมอ่อนละมุน ทำให้คนชั้นกลางรุ่นหลัง 6 ตุลากลายเป็น neocon

คำถามคือ อำนาจอนุรักษนิยมในปัจจุบันจะทำอย่างไร

99 ศพก็ฆ่ามาแล้ว รัฐประหารก็อยู่นาน 5 ปี รัฐบาลสืบทอดอำนาจก็ตั้งได้ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านยังแข็งแกร่ง มีพลังมากขึ้นทุกที คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาก็ไม่สามารถครอบงำได้ จนโวยวายหาว่าคนรุ่นใหม่คิดไม่เป็น

จะตั้งข้อหาร้ายแรงกับฝ่ายค้าน นักวิชาการที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วไง จะกวาดเข้าคุก? จะยุบพรรค? จะปลุกคนเกลียดจนรุมทำร้าย?

ทำได้หมดนั่นแหละ แต่ไม่สามารถเอาชนะทางความคิด ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2946573

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net