Skip to main content
sharethis

 

ภาพจากเพจ ไข่แมวx

6 ต.ค.2562 เนื่องในวาระครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบและสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 นั้น

วันนี้ แฮชแท็ก #6ตุลา ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ในทวิตเตอร์อยู่หลายชั่วโมง และติดเทรนด์ตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่เป็นการแชร์ข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมทั้งรายงานข่าวกิจกรรมรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนี้ด้วย

นอกจากนั้นคำว่า "6 ตุลา" ยังติดอันดับ 2 ของเทรนด์การค้นหาในวันนี้ของ google ประเทศไทยด้วย 

ที่มา เว็บไซต์ trends24.in/thailand/ 

ที่มา https://trends.google.co.th/trends/trendingsearches/daily?geo=TH

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรมรำลึกที่มีทั้งการจัดนิทรรศการและงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันวันนี้ยังมีผู้เข้าชมแน่นหอประชุมศรีบูรพา และจากที่สังเกตุพบมีผู้เข้าชมเข้าร่วมกิจกรรมที่อายุน้อยจำนวนมากด้วย

เกี่ยวกับ เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สนามหลวง และบริเวณโดยรอบเป็นโศกนาฏกรรมของการฟาดฟันกระแสสังคมนิยมที่เริ่มแพร่หลายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมถูกใช้ในการวิพากษ์ระบบชนชั้นที่กดขี่และความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ดังที่เห็นได้จากการพูดถึงในหมู่นักศึกษา แรงงาน ชาวนา ทั้งยังมีพรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งเข้าสภาถึง 3 พรรครวม 37 ที่นั่ง กระแสหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมในยุคสงครามเย็นทำให้ฝ่ายรัฐสร้างนโยบาย เรื่องเล่า และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อตอบโต้ มีการโจมตีพรรคสังคมนิยม กลุ่มแรงงาน นักศึกษาว่าเป็นพวกขายชาติ หนักแผ่นดิน เป็นสายลับเวียดนาม โซเวียต ฯลฯ

การกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ ที่ถูกประชาชนขับไล่ไปเมื่อปี 2516 ในฐานะพระภิกษุในวันที่ 19 ก.ย. 2519 และข้อความของสถานีวิทยุยานเกราะที่บอกว่าการกลับมาไม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ทั้งยังเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านถนอมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนซึ่งถูกตอบโต้จากกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปท่ามกลางการลอบฆ่าและลอบทำร้ายผู้นำแรงงาน ชาวนาและนักศึกษา ที่ได้ยินกันบ่อยคือชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐมที่ถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน

ในวันที่ 4 ต.ค. กลุ่มนักศึกษาใน มธ. รณรงค์ให้นักศึกษางดสอบแล้วมาร่วมประท้วงขับไล่ถนอม ในการรณรงค์มีการแสดงละครที่มีฉากการแขวนคอสะท้อนถึงเหตุการณ์ 2 ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม ฉากดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งหน้าของผู้ถูกแขวนคอ (อภินันท์ บัวหภักดี) บังเอิญไปคล้ายกับพระบรมโอรสาธิราช จากนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามจึงได้เผยแพร่ภาพการแขวนคอต่อ พร้อมมีข้อความโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำลายสถาบันกษัตริย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการคอมมิวนิสต์ สถานีวิทยุทหารทุกแห่งขยายข้อความด้วยการปลุกระดมให้ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ใน มธ. นำมาซึ่งการปิดล้อม มธ. โดยกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่นกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพลในตอนดึกวันที่ 5 ต.ค. ก่อนที่เช้าวันที่ 6 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมใน มธ. ตามมาด้วยการปราบปรามใหญ่ด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ถูกปลุกระดม (ข้อมูลจากเว็บบันทึก 6 ตุลา)

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ 2519
https://prachatai.com/category/6-ตุลาคม-2519

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (1): สำรวจแบบเรียน-ความเข้าใจของนักเรียนไทยในปี 2562
https://prachatai.com/journal/2019/01/80694

ฉันไม่รู้จัก 6 ตุลา (2): นักสืบประวัติศาสตร์ผู้(กำลัง)ทำงานแข่งกับเวลา
https://prachatai.com/journal/2019/01/80738

บันทึก 6 ตุลา
https://doct6.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net